RECAP : ย้อนที่มาการถอนประกัน-อดอาหารแลกเสรีภาพของ #ตะวันแบม


 
“ตะวันมีอาการหัวใจจะหยุดเต้นจากการขาดโพแทสเซียม” คำชี้แจงล่าสุดกรณีการอดอาหารและน้ำของตะวัน-ทานตะวัน และแบม-อรวรรณ ในช่วงค่ำ ของวันที่ 25 มกราคม 2566 ทั้งสองตัดสินใจอดอาหารและน้ำมาตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566 จนถึงปัจจุบันเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มขาดโพแทสเซียมที่จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ หากเจ้าของชีวิตที่กำลังจะปลิดปลิวได้ทุกเมื่อเลือกที่จะอดต่อไป ไม่รับสารอาหารทางอื่นใด ชวนย้อนอ่านที่มาที่ไปก่อนการอดอาหารและน้ำของตะวันและแบม

สายปริศนาจากศาลชงคำร้องถอนประกันนักกิจกรรม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565  ในนัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันตัวคดีมาตรา 112 ของใบปอ-ณัฐนิช จากกลุ่มทะลุวังและเก็ท-โสภณ จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เพราะทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมช่วงการประชุมผู้นำเอเปค 2022 ศาลเห็นว่า เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวในคดี 112 ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามกระทำการลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 ห้ามร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายต่อบ้านเมือง และห้ามกระทำการที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ระหว่างการไต่สวนพนักงานสอบสวนสน.บางซื่อเบิกความว่า มีโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาล แผนกประกันตัวโทรมาแจ้งว่า ใบปอและเก็ทอาจทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวจากการร่วมชุมนุมวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่แยกอโศก แม้พนักงานสอบสวนสน.บางซื่อจะไม่ได้เป็นผู้พบเห็นหรือตรวจสอบการชุมนุมที่เกิดขึ้น และไม่ได้ทำอะไรต่อเนื่องจากเหตุเกิดนอกพื้นที่สน. แต่การไต่สวนถอนประกันก็ยังคงเกิดขึ้น

ในการไต่สวนตะวัน-ทานตะวัน นักกิจกรรมอิสระ พร้อมด้วยผู้ชุมนุมจำนวนมากต่างมาติดตามการไต่สวนในห้องพิจารณาคดีจนที่นั่งในห้องพิจารณาไม่พอ ก็ต้องนั่งรอด้านนอกหรือสลับเดินเข้าเดินออก ช่วงท้ายของการไต่สวนระหว่างการรอศาลและทนายความตกลงวันนัดไต่สวนฝ่ายจำเลย มีมือหนึ่งยื่นสติ๊กเกอร์ทางการเมืองมาให้ตะวัน ตะวันกับเพื่อนปัดมือนั้นออกแล้วบอกว่า  “จะติดทำไม อย่าหาเรื่อง” และกลับไปนั่งตั้งใจฟังอย่างสงบนิ่ง ไม่มีทีท่าก่อความไม่สงบเรียบร้อย ศาลนัดหมายไต่สวนต่ออีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2565 วันดังกล่าวปรากฏว่า อยู่ๆ ก็มีนัดไต่สวนคำร้องถอนประกันในคดีของตะวันเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคำร้อง ทนายความที่เพิ่งได้รับทราบจึงขอเลื่อนการไต่สวนไปเป็นวันที่ 9 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ศาลอาญานัดอ่านคำสั่งคดีของใบปอและเก็ท

วันที่ 9 มกราคม 2566 ตะวันยังคงเป็นอิสระ คดีของตะวันไม่ถูกไต่สวน เนื่องจากฝ่ายอัยการก็ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงของคดีจึงยังไม่ได้เตรียมสำนวนมาไต่สวนด้วย ศาลระบุว่า คำร้องของตะวันศาล ‘เห็น’ ข้อมูลจากคดีใบปอและเก็ท จึงชงเรื่องขึ้นมาใหม่ ศาลเลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ส่วนใบปอและเก็ท ถูกสั่งให้สูญเสียอิสรภาพก่อนมีคำพิพากษาอีกครั้ง วันนั้นตะวันจึงทำได้เพียงอไปยืนรอส่งเพื่อนขึ้นรถผู้ต้องขังไปเรือนจำ 

ความรุนแรงนอกสำนวน : กระสุนยาง เลือดอาบใบหน้า รองเท้าคอมแบทกระทืบย่ำสื่อ

ในคดีของใบปอและเก็ท เจ้าหน้าที่สืบสวนสน.ลุมพินีเบิกความว่า เขาติดตามการเคลื่อนไหวของการจัดชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ใบปอไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตของประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอเปค การยื่นหนังสือต่อสถานทูตไม่ได้มีเหตุการณ์วุ่นวาย เมื่อยื่นหนังสือจบผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกัน เช่นเดียวกันกับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ทั้งสองใช้เวลาอ่านแถลงการณ์ไม่นาน จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับและเหตุการณ์ปกติ ซึ่งข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์การชุมนุมก็เป็นเช่นนั้น ผู้ชุมนุมพยายามต่อรองเข้าไปยื่นหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ แต่ตำรวจไม่ให้เข้าก็ยอมอ่านแถลงการณ์และแยกย้ายกันที่แยกอโศก ไม่มีเหตุความวุ่นวายระหว่างการชุมนุม 

ซึ่งเมื่อพยานโจทก์ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงใดๆ ที่มีน้ำหนักเพียงพอให้ขอถอนประกันของทั้งคู่ได้ ใบปอและเก็ทจึงไม่ได้ขึ้นเบิกความเพิ่มเติม แต่กลับกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลให้ถอนประกันเพราะศาลพิเคราะห์หลักฐานว่า ทั้งสองร่วมชุมนุมวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 และการชุมนุมมีการปะทะกัน รวมทั้งยังมีการนำกลุ่มมวลชนไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 19  พฤศจิกายน 2565 ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานโจกท์หรือแสดงให้เห็นถึงเหตุผลในการกระทำ….ครั้งนี้ศาล ‘ไม่เห็น’ เหตุผลของการกระทำจำเลย 
 
ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกตการณ์ชุมนุม คือ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ใบปอและเก็ทไปร่วมชุมนุมจริง เป็นผู้อ่านแถลงการณ์จริง การชุมนุมมีเหตุการณ์เผชิญหน้ากับตำรวจจริง แต่เป็นภายหลังจากที่ทั้งสองอ่านแถลงการณ์จบแล้ว และประกาศยุติการชุมนุมออกจากพื้นที่แล้ว ทั้งการเผชิญหน้าเป็นลักษณะของการปาขวดน้ำและสาดน้ำ ไม่ได้เป็นพฤติการณ์ที่เกิดอันตรายต่อร่างกาย เหตุการณ์การปะทะกันด้วยกำลังนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 บริเวณถนนดินสอ ซึ่งตำรวจสลายการชุมนุม “ราษฎรหยุดเอเปค2022” อย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บอย่างน้อย 31 คน และเป็นคนละเหตุการณ์กับการยื่นขอถอนประกันทั้งสองคน

  • มีผู้ชุมนุมตาบอดจากกระสุนยาง : “ผมไม่รู้ว่าเป็นกระสุนยาง แต่มันแปลบจนวิ้งสว่างขึ้นมาแล้วหูก็อื้อ…ก่อนที่จะพบว่ามีเลือดไหล พอจับที่ตาก็รู้ว่าโดนตาแน่ๆ เราเสียเลือดมาก มีความรู้สึกอยู่ดีๆ ก็หนาวขึ้นมา” 
  • มีนักข่าวบาดเจ็บถูกตำรวจกระทืบ ถูกสะเก็ดขวดแก้วที่ขว้างจากแนวตำรวจเข้าที่ตาด้านขวาและถูกตำรวจตี พร้อมท้า “มึงเข้ามาดิ”
  • มีตำรวจคลั่งแค้น : “….พวกกูนี่ของจริง มึงจำไว้ บอกเพื่อนพี่น้องมึง…มึงจำไว้”

หลังวันเกิดเหตุมีตำรวจควบคุมฝูงชนได้รับรางวัล ขณะที่การพิจารณาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมยังคงไม่คืบหน้า ไม่ทราบชะตากรรมของความรับผิดรับชอบ แต่ผลพวงจากการปราบผู้ชุมนุมยังเดินหน้า มีผู้ชุมนุม 25 คนถูกดำเนินคดี ต้องเดินขึ้นศาลในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บต้องเข้าการรักษาแรมเดือน 

ความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ทั้งใบปอและเก็ท ไปร่วมชุมนุมในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเรียกร้องคำขอโทษจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 และตลอดมา

ร่างกายคืออาวุธสุดท้ายเมื่อเผชิญหน้าความไม่เป็นธรรม 

ผลพวงของการชุมนุมช่วงการประชุมผู้นำเอเปค เป็นเหตุให้มีการบาดเจ็บ มีคดีความโดยตรงต่อผู้ชุมนุมและโดยอ้อมคือ คำร้องขอถอนการประกันตัวของทั้งสามคนที่ศาลชงเรื่องขึ้นมาเอง ต่างจากการขอถอนประกันตัวคดีอื่นๆ ที่โดยมากแล้วจะเป็นตำรวจหรือประชาชนกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ เป็นคนริเริ่ม ขณะที่กระบวนการในการไต่สวนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดกฎหมายในการสลายการชุมนุมไม่คืบหน้า สิ่งนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ปี 2564 ศักยภาพในการตามหาตัวผู้ต้องสงสัยของตำรวจมีความรวดเร็ว ยิ่งเป็นเหตุการณ์ที่กระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ก็จับกุมใครสักคนได้ในเวลาเพียงข้ามวัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมไม่เคยพบว่า มีกระบวนการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดกฎหมาย จนถึงวันนี้ผู้ชุมนุม “ทะลุแก๊ซ”  ที่คดียังไม่สิ้นสุดยังคงอยู่ในเรือนจำ เหล่านี้คือกลุ่มก้อนความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่สั่งสมมาต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับนักกิจกรรมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ ที่เผชิญหน้ากับ “ไม้ตาย” ทางเสรีภาพอย่างข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ทั้ง ตะวัน ใบปอ เก็ท และแบม-อรวรรณ คงเห็นการเรียกร้องที่เกี่ยวกับการประกันตัวนักกิจกรรมในคดีนี้หลายระลอกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ศาลไม่ให้ประกันตัวแกนนำการชุมนุม เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ท้ายสุดพวกเขาเรียกร้องผ่านอาวุธเดียวที่มี คือ ร่างกายตั้งแต่การอดอาหารและ “ยืนหยุดขัง” จนนำมาสู่กระบวนการใหม่อย่างการไต่สวนคำร้องเพื่อมีคำสั่งให้หรือไม่ให้ประกันตัว หากให้ประกันตัวก็ต้องรับเงื่อนไขการประกันตัวที่จะตามมา 

ในช่วงที่ “รุ่นพี่” ถูกคุมขัง ตะวันออกมาร่วมชุมนุม และถูกตำรวจไล่ยิงด้วยกระสุนยางและเตะ ใบปอเริ่มออกมาเคลื่อนไหวแบบคาร์ม็อบกลางเมือง จนกระทั่งปี 2565 พวกเขาทั้งสี่คนออกมาเคลื่อนไหวเองในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ต้องเผชิญกับคดีมาตรา 112 เงื่อนไขการประกันและการถอนการประกัน ทั้งหมดนำไปสู่คำขวัญที่พวกเขากล่าวว่า “เลือดแลกเลือด” 

สำหรับพวกเขานั้นการตัดสินใจเคลื่อนไหวที่ยกระดับการเรียกร้องสูงเช่นนี้ เกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออีกและแทบไม่มีเวลาเหลือแล้ว หากตะวันไม่ตัดสินใจถอนประกันตัวเองในวันที่ 16 มกราคม 2566 เธอก็ต้องเผชิญกับการไต่สวนนัดชี้เป็นชี้ตายอีกครั้งในวันที่ 1 มีนาคม 2566 หากแบมไม่ตัดสินใจทำก็ต้องพยายามหาเลี้ยงชีวิตต่อกับกำไลอีเอ็มที่ทำให้ชีวิตยากขึ้นไปอีก และต้องนับถอยหลังสู่วันพิพากษาที่อาจต้องโทษหนักและไม่ได้ประกันตัวระหว่างสู้คดีในศาลสูง

ความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่พวกเขาเผชิญสะท้อนผ่านสามข้อเรียกร้อง คือ หนึ่ง ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพการแสดงออกเป็นอย่างแรก ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี สอง ยุติการดำเนินความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง และสามพรรคการเมืองทุกๆ พรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116