เปิดคำฟ้องคดี 112 ทำโพลขบวนเสด็จ #ตะวันแบม ถูกตั้งข้อหาแม้ตัวโพลไม่ได้ชี้นำผู้ร่วมทำโพล

นับถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ก็นับเป็นเวลา 27 วันแล้วที่ตะวัน-ทานตะวันและแบม-อรวรรณ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม- 6 กุมภาพันธ์ 2566 ประกาศอดอาหารและน้ำจนกว่าข้อเรียกร้องสามข้อได้แก่ การปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมือง การปฏิรูประบบยุติธรรม และการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับ 116 จะได้รับการตอบรับ ตะวันและแบมยื่นคำร้องขอยกเลิกสัญญาประกันของตัวเองซึ่งส่งผลให้ทั้งสองต้องเข้าเรือนจำเพื่อคัดค้านการคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองหลายๆคน เช่น ใบปอ-ณัฐนิชและเก็ท-โสภณที่กำลังทำกิจกรรมอดนอนอยู่ในเวลานี้ รวมถึงนักกิจกรรมทะลุแก๊ซที่ทยอยได้รับการประกันตัวระหว่างที่ตะวันและแบมอดอาหารและน้ำ ซึ่งส่งผลให้สภาพร่างกายของทั้งสองอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วงจนถูกส่งตัวมาอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 

ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวันและแบมตามลำดับด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ตามคำร้องที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นผู้ยื่นโดยที่ตัวจำเลยทั้งสองไม่ทราบเรื่อง

การอดอาหารของตะวันและแบมก่อให้เกิดผลกระทบในหลายมิติ ด้านหนึ่งการเคลื่อนไหวบนท้องถนนก็กลับมาเข้มข้นขึ้น นอกจากกิจกรรมยืนหยุดขังที่ “ลานอากง” หน้าอาคารศาลฎีกาและที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาที่มีนักกิจกรรมถูกคุมขังในเรือนจำแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เช่น กลุ่มทะลุฟ้าประกาศระดมพลยืนหยุดขังที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพตั้งแต่เวลา 01.12 น. ของวันที่ 22 มกราคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 26 ม.ค. 66 เวลา 17.12 น. ก่อนที่จะประกาศปักหลักชุมนุมต่อ โดยในวันที่ 26 มกราคม 2566 อานนท์ นำภา นักกิจกรรมและจำเลยคดีมาตรา 112 ที่อยู่ระหว่างการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขห้ามร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายก็ประกาศว่าจะกลับขึ้นเวทีปราศรัยอีกครั้งแม้จะสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดเงื่อนไขของศาล นอกจากนั้นในวันที่ 27 มกราคม 2566 กลุ่มทะลุแก๊ซก็ทำกิจกรรมจุดพลุ 23 ดอก ที่ด้านนอกบริเวณเรือนจำคลองเปรมเพื่อให้กำลังใจ 23 ผู้ต้องขังคดีการเมือง ประเด็นสิทธิในการประกันตัวและสถานการณ์ด้านสุขภาพของตะวันและแบม ยังถูกนำไปหารือในรัฐสภาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วย 

ในขณะที่ประเด็นสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองและประเด็นสุขภาพของตะวันกับแบมเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมสนใจ ประเด็นเกี่ยวกับสาระสำคัญของคดีที่ทั้งตะวันและแบมตกเป็นจำเลยอยู่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สมควรถูกพูดถึงควบคู่ไปกับประเด็นสุขภาพของตะวันและแบม เพื่อไม่ให้การแสดงออกซึ่งจุดยืนหรือข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ทั้งสองถูกดำเนินคดีถูกหลงลืมไป

คดีขบวนเสด็จของตะวันและแบมมีมูลเหตุมาจากการทำกิจกรรมทำโพลขบวนเสด็จของกลุ่ม “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ในวันดังกล่าวนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีตะวันและแบมรวมอยู่ด้วยไปรวมตัวกันที่สยามพารากอน นักกิจกรรมถือป้ายกระดาษแข็งเขียนข้อความว่า “เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยที่ขบวนเสด็จสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชน” และใต้ข้อความดังกล่าวมีการตีเส้นแบ่งพื้นที่ให้ประชาชนนำสติกเกอร์มาติดแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย 

ในการทำกิจกรรมครั้งนั้นผู้ร่วมกิจกรรมยังพยายามไปถือป้ายที่หน้าร้าน “SIRIVANNAVARI” ซึ่งอยู่ในบริเวณห้าง ตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรมจะมีทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าสกัดขัดขวาง แต่กิจกรรมก็ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ ในตอนท้ายผู้ร่วมกิจกรรมร่วมกันเดินไปที่วังสระปทุมซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อนำโพลสำรวจความคิดเห็นมาส่ง ระหว่างทางมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเข้ามาแย่งกระดาษที่ใช้ทำโพลจนฉีกขาดนอกจากนั้นก็มีเหตุชุลมุน การตะโกนด่าทอระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้ามาแย่งป้ายที่ใช้ทำโพลด้วย หลังจากนั้นกิจกรรมยุติและยังไม่มีใครถูกจับกุมตัว  

เวลาต่อมาตะวันและแบม รวมถึงผู้ร่วมกิจกรรมในวันนั้นรวมเก้าคนได้รับหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาจากการทำกิจกรรมในเดือนมีนาคม 2565 ก่อนที่อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องคดีในเดือนมิถุนายน 2565 คำฟ้องของอัยการพอสรุปได้ว่า

ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งแปดคน (ไม่นับรวมเยาวชน) ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างวาระ

1.จำเลยทั้งแปดกับพวกร่วมกัน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท โดยร่วมกันนำป้ายขนาดใหญ่ที่ปรากฎข้อความว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่” และส่วนล่างของป้ายมีการแบ่งเป็นสองช่องด้านซ้ายมือของผู้อ่านทำให้ปรากฎข้อความว่า “เดือดร้อน” ส่วนช่องด้านขวามือทำให้ปรากฎข้อความว่า “ไม่เดือดร้อน” และมีการแจกจ่ายสติกเกอร์สีเขียวให้คนที่สัญจรผ่านไปมาในบริเวณใกล้เคียงนำมาติดในช่องที่เลือก โดยการกระทำดังกล่าวถือเป็นการสื่อความหมายโจมตีเรื่องขบวนเสด็จซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบต่อกันมาในการถวายความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยมีเจตนาสื่อไปถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นการทำให้ปรากฎซึ่งข้อความ หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด ที่ไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่การติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

2.หลังการกระทำตามข้อ 1 จำเลยทั้งแปดกับพวกเดินทางมารวมตัวกันที่หน้าวังสระปทุม ผู้กำกับการสน.ปทุมวันซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและจับผู้กระทำความผิดทางอาญาสั่งให้จำเลยทั้งแปดกับพวกยุติการกระทำและไม่ให้เดินทางไปร่วมกลุ่มหน้าวังสระปทุม จำเลยกับพวกได้รับทราบคำสั่งแต่ได้บังอาจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามโดยยังคงเดินไปรวมตัวที่วังสระปทุมโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร

3.ภายหลังจำเลยกระทำความผิดตามข้อ 1 และ 2 แล้ว ผู้กำกับการสน.ปทุมวัน ผู้กำกับการประจำกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาลหกกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ตั้งแนวกั้นและวางแผงเหล็กไม่ให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่หน้าวังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยตามพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัยฯ ซึ่งตะวัน จำเลยที่หนึ่งและใบปอ จำเลยที่สอง ร่วมกับจำเลยอีกสี่คนต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายผลักดันแนวกั้น 

นอกจากทั้งสามข้อหานี้ยังมีจำเลยสองคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วย

สำหรับข้อกล่าวหาที่อัยการฟ้องจำเลยคดีนี้ทั้งหมดได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ข้อหาร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำตั้งแต่สามคนขึ้นไปและข้อหาร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร ส่วนข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานจะมีเฉพาะจำเลยที่ตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา

ในส่วนของข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116 อัยการบรรยายฟ้องรวมกันในลักษณะเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หากพิจารณาในรายละเอียดของการบรรยายฟ้องจะพบว่า การทำโพลตามฟ้องไม่ได้ระบุชื่อหรือทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ตัวแผ่นป้ายที่สำรวจความคิดเห็นมีทั้งช่องให้แสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และไม่ปรากฎว่ามีการบรรยายในฟ้องว่ามีจำเลยคนใดคนหนึ่งรวมถึงตะวันและแบมที่กล่าวถ้อยคำในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนที่มาติดสติกเกอร์ให้ความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง รวมถึงไม่ได้กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงว่า ขบวนเสด็จที่พูดถึงหมายถึงขบวนเสด็จของบุคคลใด ทั้งกระดาษที่นำมาใช้ทำโพลก็ไม่มีภาพของบุคคลใดระบุไว้ อัยการยังไม่ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า การทำโพลดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชชินีและรัชทายาทอย่างไร และเมื่อไม่ปรากฎว่าตะวัน แบม รวมถึงผู้ร่วมกิจกรรมดังกล่าวชักชวนให้บุคคลที่มาติดสติกเกอร์ออกความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง หรือข่มขู่คนที่ที่มาแสดงความเห็นในทางใดทางหนึ่งก็น่าจะยังไม่เพียงพอจะสรุปได้ว่า ตะวันและแบมรวมถึงผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นมีเจตนาสื่อไปถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ตามที่อัยการบรรยายฟ้อง เพราะประชาชนย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่าในการกระทำกรรมนี้อัยการบรรยายฟ้องว่าการทำโพลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอัยการตั้งเป็น “ข้อหาสำรอง” ไว้กรณีที่ศาลพิพากษาว่าการกระทำตามฟ้องยังไม่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาลก็อาจมาลงโทษจำเลยในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้ แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำตามบรรยายฟ้องโดยละเอียดก็ไม่ปรากฎว่าอัยการบรรยายว่าการทำโพลดังกล่าวจะเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาก่อความวุ่นวายหรือฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองอย่างไร

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ กับความเติบโตในสายตาของอาจารย์

ชวนฟังมุมมองของอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ผู้ถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112