ศาลอาญา ชี้ถ้อยคำ “…สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมือง…” บิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย ยืนยันปิดเว็บลงชื่อ ยกเลิก112

หมายเหตุ ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 1 มีนาคม 2566

1 มีนาคม 2566 ศาลอาญามีคำสั่ง ยืนยันคำสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ no.112.org ที่คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) ใช้เป็นช่องทางออนไลน์ในการรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะเข้าชื่อให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยให้เหตุผลว่าถ้อยคำที่อธิบายเหตุผลของการยกเลิกว่า “สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมือง” ที่ปรากฎในส่วนเหตุผลของร่างกฎหมายซึ่งอยู่บนเว็บไซต์ เข้าข่ายเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 

ทั้งนี้การระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ no112.org เป็นที่รับทราบโดยสาธารณะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หลังมีผู้ประสงค์ลงชื่อบางส่วนพยายามเข้าถึงเว็บไซต์และพบว่ามีข้อความว่าเว็บไซต์ถูกระงับการเผยแพร่ตามคำสั่งศาล ทางครย.112 จึงได้ไปยื่นหนังสือทวงถามที่กระทรวงดีอีในเดือนสิงหาคม 2565 จนได้ทราบว่ากระทรวงดีอีเป็นผู้ยื่นคำร้องให้ศาลระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ โดยในขั้นตอนดังกล่าวศาลไม่ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ no.112.org ไป เข้ารับการไต่สวนชี้แจงข้อเท็จจริง ทนายอานนท์ นำภา ในฐานะผู้ริเริ่มการเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกมาตรา 112 จึงได้มอบอำนาจให้ทนายความดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาล จากนั้นจึงมีการไต่สวนคำร้องคัดค้านสำสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 



เบื้องต้นศาลนัดอ่านคำสั่งที่ห้องพิจารณาคดี 910 ซึ่งเป็นห้องที่ใช้ดำเนินการไต่สวนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ในวันนี้ศาลนัดพิจารณาคดีอื่นพร้อมกันหลายคดีทำให้มีคนที่ต้องเข้าห้องพิจารณาคดีพร้อมกันจำนวนมาก จึงให้ย้ายไปอ่านคำสั่งที่ห้องพิจารณาคดี 915 ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่

ในเวลา 14.00 น. ศาลอ่านคำสั่งโดยสรุปได้ว่า  

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 (ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลหรือลบข้อมูล) มุ่งระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลเพื่อป้องกันความเสียหายเป็นวงกว้างและรวดเร็ว การไต่สวนฝ่ายเดียวที่ทำไปก่อนหน้านี้แล้วจึงทำได้ เพื่อให้รวดเร็วสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ประกอบกับไม่มีกฎหมายห้ามศาลให้ไต่สวนฝ่ายเดียว

ประเด็นการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยประชาชน แม้จะทำได้ แต่หลักการและเหตุผลในการแก้ไขต้องอยู่บนพื้นฐานความสุจริตและชอบธรรม คำว่า “สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมือง” เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ข้อความดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยกคำคัดค้าน  

ทนายความที่ดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่เดินทางไปฟังคำสั่งที่ศาลอาญาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำสั่งออกมาในวันนี้ ทนายความนำคำแถลงปิดคดีของคดีนี้มายื่นต่อศาลในช่วงบ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีสาระสำคัญคือ

การเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เอาไว้ เนื้อหาที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้มีเพียงร่างกฎหมาย และแบบฟอร์มให้ลงลายมือชื่อ ไม่มีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ไม่มีข้อความใดเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น นอกจากนั้นการตีความข้อกฎหมายยังต้องทำโดยไม่ให้กระทบสาระสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพจนส่งผลให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพได้ ทนายความยังแถลงโต้แย้งกรณีที่ศาลให้ตัดพยานผู้เชี่ยวชาญด้วยว่าไม่ชอบด้วยประมวลวิธีพิจารณาความอาญา 

แต่ปรากฎว่าเอกสารติดค้างอยู่กับส่วนงานที่รับเอกสาร เมื่อถึงเวลานัดอ่านคำสั่ง ศาลสอบถามทนายความว่าไม่ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีใช่หรือไม่ เพราะศาลยังไม่ได้รับ ทนายความจึงแถลงว่า ได้ยื่นคำแถลงแล้วตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ศาลจึงให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ติดตามเอกสารขึ้นมาส่งและนั่งอ่านคำแถลงของทนายความเสียก่อน เมื่ออ่านจบจึงได้กล่าวกับทนายความทำนองว่า พิจารณาแล้วคำแถลงไม่ได้มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จากนั้นศาลจึงอ่านคำสั่งยกคำร้องต่อไป 

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญานัดให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปิดกั้นเว็บไซต์ no112.org มาไต่สวน และนัดหมายให้ทนายอานนท์ นำภา ผู้ยื่นคำร้องคัดค้านในฐานะหนึ่งในผู้รณรงค์ผลักดันการเข้าชื่อเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการระงับการเข้าถึงการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการไต่สวนคัดค้านการปิดกั้นเว็บไซต์ ในนัดนี้มีการไต่สวนพยานเพียงปากเดียวคืออานนท์ นำภา ผู้ยื่นคำร้องคัดค้าน 


การไต่สวนในวันที่ 27 กุมภาพันธ์เริ่มในเวลา 10.10 น. หลังศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีอีกคดีหนึ่งที่นัดหมายในห้องเดียวกันแล้วเสร็จ ก่อนเริ่มการไต่สวนทนายความของอานนท์ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องคัดค้าน กับตัวแทนจากกระทรวงดีอีและเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีดีอีในการยื่นคำร้องขอให้ศาลระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ no.112.org ไปหารือกับศาลที่หน้าบัลลังก์

เบื้องต้นศาลสอบถามฝ่ายผู้ร้องให้ระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ว่าเนื้อหาส่วนใดที่เข้าข่ายเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตำรวจซึ่งเป็นผู้ร้องอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในกรณีที่มีการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งรวมอยู่ด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การชุมนุมเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยคำวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุว่า 

“…การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 – iLaw) จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะเกินควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด”   

ศาลชี้แจงกับฝ่ายผู้ร้องในชั้นต้นโดยสรุปได้ว่า ลำพังการรณรงค์ให้แก้ไขกฎหมาย หรือการยกเลิกกฎหมายโดยปกติเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สำหรับคดีนี้จะต้องดูข้อมูลที่ปรากฎบนหน้าเว็บไซต์ประกอบว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่เข้าข่ายเป็นการผิดกฎหมายหรือมีมูลเหตุให้ระงับการเข้าถึงเนื้อหาหรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านข้อความที่ปรากฎบนเว็บไซต์ในส่วนที่เป็นเหตุผลของการเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ความตอนหนึ่งระบุว่า “…และเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่ใช้ภาษีของประชาชน ถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน และโดยการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต…” ศาลกล่าวว่าข้อความที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมือง น่าจะเข้าข่ายเป็นการบิดเบือน ทนายความจึงขอให้ศาลนำทนายอานนท์เข้าไต่สวนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักการและเหตุผลของข้อเสนอในครั้งนี้

เบื้องต้นศาลตั้งใจจะบันทึกคำเบิกความด้วยระบบวิดีโอเพื่อให้สามารถเก็บคำเบิกความของพยานได้หมด แต่หลังเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่าการเปิดระบบดังกล่าวอาจใช้เวลา 15 – 20 นาที ศาลก็สั่งว่าจะใช้การไต่สวนและบันทึกคำเบิกความ โดยศาลเป็นผู้บันทึกและพิมพ์เป็นกระดาษตามปกติ

อานนท์ นำภา เบิกความโดยสรุปได้ว่า ในคดีนี้เขาเป็นผู้ยื่นคำร้องคัดค้าน และเป็นผู้ร่วมริเริ่มการรณรงค์ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเปิดให้ประชาชนลงชื่อเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 112 เพราะเนื้อหากฎหมายมีความไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยและมีอัตราโทษสูงเกินไป โดยเขาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาร่วมกันลงชื่อ ส่วนเว็บไซต์ no112.org คณะก้าวหน้าเป็นผู้จัดทำ สำหรับตัวร่างกฎหมายที่จะเสนอต่อสภา เป็นการร่วมกันทำโดยหลายภาคส่วนรวมถึงตัวเขาด้วย

เกี่ยวกับการระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ ทนายอานนท์เบิกความว่า กระทรวงดีอีเป็นผู้ขออำนาจศาลระงับการเข้าถึงเว็บไซต์โดยที่ไม่มีการเรียกผู้ถูกปิดกั้นไปชี้แจงข้อเท็จจริง สำหรับการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเป็นการกระทำโดยสันติวิธี ตามกลไกของสภา และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่หนึ่ง หลังจากนั้นเป็นหนัาที่ของสภาที่จะพิจารณาว่าจะดำเนินการกับร่างกฎหมายอย่างไร

อานนท์เบิกความต่อไปว่า ในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้มีกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 112 ของไทย ขออ้างส่งบทความเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นๆ ซึ่งศาลรับไว้ แต่เมื่อทนายขอให้อานนท์อธิบายเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องสถานะอันล่วงละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์และขออ้างส่งบทความของนักวิชาการซึ่งเขียนในประเด็นดังกล่าว ศาลไม่รับเอกสารดังกล่าวเข้าสำนวนโดยให้เหตุผลว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง 

เกี่ยวกับถ้อยคำตามเหตุผลในการเสนอกฎหมายที่ระบุว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมือง อานนท์เบิกความว่าถ้อยคำว่า สถาบันทางการเมือง เป็นถ้อยคำทางรัฐศาสตร์และเป็นถ้อยคำกลางๆ ไม่ได้มีความหมายบวกหรือลบ 

อานนท์เบิกความต่อไปว่า หากมาตรา 112 ถูกยกเลิก การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยสุจริตตามระบอบประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ โดยอาจไปปรับแก้กฎหมายในส่วนของกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แต่อาจกำหนดโทษให้สูงกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป โดยมีสาระสำคัญคือย้ายกฎหมายออกจากหมวดความมั่นคงและให้มีการยกเว้นความผิดสำหรับการติชมโดยสุจริตเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

ในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังเว็บไซต์ถูกระงับการเข้าถึง อานนท์เบิกความว่าเมื่อเว็บไซต์ถูกระงับการเข้าถึงส่งผลให้ไม่สามารถระดมรายชื่อประชาชนได้ ทำให้การรณรงค์ต้องสะดุดและไม่สามารถนำเสนอร่างกฎหมายต่อสภาได้

หลังการไต่สวนอานนท์เสร้จสิ้น ทนายความของผู้ร้องคัดค้านขอนำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะด้านสิทธิเสรีภาพที่ไทยมีพันธกรณีเข้าเบิกความ แต่ศาลเห็นว่า เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายตามหมายไทย จึงไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวน และนัดฟังคำสั่งว่าจะให้เพิกถอนการปิดกั้นเว็บไซต์หรือไม่ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. 

ทั้งนี้ระหว่างการไต่สวนศาลระบุกับทนายอานนท์ในทำนองว่า การเขียนเหตุผลของการเสนอกฎหมายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมือง แล้วทนายอานนท์ระบุว่าเป็นคำกลางๆทางรัฐศาสตร์ ก็เป็นความเห็นในฐานะผู้เสนอกฎหมาย แต่ศาลต้องตีความตามที่วิญญูชนจะเข้าใจเมื่อเห็นข้อความเท่าที่ปรากฎในร่างกฎหมายบนเว็บไซต์ เพราะตัวผู้เสนอร่างดังกล่าวคงไม่สามารถไปอธิบายให้คนที่เห็นข้อความเข้าใจในรายละเอียดได้

การที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านออกมาในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ส่งผลให้เว็บไซต์ no112.org ถูกระงับการเข้าถึงต่อไป ส่วนการดำเนินการขั้นตอนหลังจากนี้ทนายความระบุว่าจะมีการอุทธรณ์คำสั่งต่อไป