RECAP112: ชวนรู้จักคดีของบอส ฉัตรมงคล ผู้ถูกตั้งข้อหา ม.112 จากการคอมเมนท์บนเพจปกป้องสถาบันฯ

1) ภายหลังการเกิดขึ้นของม็อบราษฎร 2563 ที่มีการ “ปฏิรูปสถาบัน” เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กำหนดโทษการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ฯก็ถูกรัฐบาลนำกลับมาใช้เพื่อดำเนินคดีกับประชาชน และไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐ สถานการณ์ดังกล่าวยังนำมาซึ่งปรากฏการณ์ “โต้กลับ” ทางกฎหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยมปกป้องสถาบันฯ ด้วย

2) ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่พุ่งสูงขึ้นเกิน 250 คดี (นับถึงวันที่ 27 มีนาคม 2566) มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 120 คดีมีจุดเริ่มต้นมาจาก “ประชาชน” ทั่วไปที่ไปริเริ่มร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีประชาชนด้วยกัน 

3) หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม “ศรีสุริโยไท” ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น “กลุ่มประชาชนอาสาปกป้องสถาบันกองร้อย – ‘ประชาชน’ รักษาพระองค์” พวกเขามักปรากฏตัวในชุดสีดำล้วน เสื้อดำแขนยาว ปักตราธงชาติและคำว่า “สุริโยไท” สีเหลือง พร้อมกับสวมหมวกและหน้ากากสีดำ โดยจากข้อมูลบนเพจเฟซบุ๊กที่ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2021 พวกเขามักเรียกตัวเองว่า “ชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไท” และ “กลุ่มนักรบสุริโยไท”

4) นอกจากการสวมเครื่องแบบในลักษณะคล้ายคลึงกันและไปปรากฏตัวในพื้นที่ชุมนุมแล้ว ผลงานที่ผ่านมาของกลุ่มศรีสุริโยไทยังมีทั้งการร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน เข้ายื่นหนังสือต่อภาครัฐเพื่อสกัดกั้นกลุ่มกิจกรรมที่พวกเขาเชื่อว่าสนับสนุนข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อคัดค้านการย้ายตัว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และสิริชัย นาถึง จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ออกไปรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และการเรียกร้องให้กองทัพออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

5) สำหรับผลงานการริเริ่มคดีนี้ของกลุ่มศรีสุริโยไท ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. เพจศรีสุริโยไท ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

“เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ หัวใจของเราคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สิ่งที่พวกเราต้องการที่สุดคือกำลังใจ ไม่มีแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งสี”

6) เวลาผ่านไปสองชั่วโมง มีแอคเคาท์เฟซบุ๊กหนึ่งเข้ามาคอมเมนต์ข้อความในโพสต์ดังกล่าว โดยในคำบรรยายฟ้องที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ ระบุว่าข้อความดังกล่าวทําให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจได้ว่า “พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 นั้นเป็นคนไม่ดี มักมากในกามารมณ์” 

7) เหตุการณ์นี้ทำให้ นัธทวัฒน์ ชลภักดี ผู้ก่อตั้งเพจศรีสุริโยไทเห็นว่า เนื้อหาที่แอคเคาท์ดังกล่าวคอมเมนท์เป็นการหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงตัดสินใจไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เพื่อให้ดำเนินคดี

8) จากนั้น หมายเรียกมาตรา 112 จาก สภ.เชียงรายก็เดินทางไกลมาหา ฉัตรมงคล วัลลีย์ หรือบอส อดีตนักกิจกรรมวัย 27 ปี ผู้เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาที่นำโดย จ่านิว – สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ในช่วงยุค คสช. และการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในช่วงปี 2561 เนื่องจากแอคเคาท์ที่เข้าไปคอมเมนท์บนเพจ เป็นชื่อเดียวกันกับชื่อนาม-สกุลจริงของฉัตรมงคล

9) ในปัจจุบัน ฉัตรมงคลได้ลดการเคลื่อนไหวทางการเมืองลงเนื่องจากต้องหารายได้และดูแลครอบครัว โดยเขาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในย่านจังหวัดปทุมธานีมาเกือบๆหนึ่งปีแล้ว และเมื่อเกิดคดีนี้ ฉัตรมงคลก็ต้องเดินทางไป-กลับจากที่พักในกรุงเทพฯ เพื่อต่อสู้คดีที่จังหวัดเชียงรายตามนัดศาลมากกว่าสี่ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าการเดินทางและค่าที่พัก อีกทั้งยังต้องลางานอย่างน้อยสองวันสำหรับเดินทางอีกด้วย 

10) ในการสืบพยานระหว่างวันที่ 19-23 ธันวาคม 2565 ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด โดยมีหลักฐานเป็นเพียงการบันทึกภาพหน้าจอจากแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กในโทรศัพท์มือถือ ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์อีกคนหนึ่งระบุว่า ได้นำชื่อเฟซบุ๊กของฉัตรมงคลไปค้นหาในทะเบียนราษฎร์ และพบว่าหน้าตาเหมือนกับรูปที่ใช้เป็นรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊ก จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด

11) ด้านฉัตรมงคลเบิกความระบุว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวตามที่อยู่ในภาพหลักฐาน แต่ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันในอีกแอคเคาท์ซึ่งมีรูปโปรไฟล์ที่ต่างกัน นอกจากนั้นพยานฝ่ายจำเลยซึ่งประกอบอาชีพนักคอมพิวเตอร์ยังเบิกความชี้ว่า การบันทึกภาพหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือมาเป็นหลักฐานนั้นมีความน่าเชื่อถือน้อย สามารถผ่านการตัดต่อได้ง่าย โดยการเก็บหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือ ควรต้องมี URLs เพื่อระบุแหล่งที่มาของเว็บไซต์ และนำไปตรวจสอบการมีอยู่จริงของหน้านั้นด้วย

ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 เวลา 9.00 น.

12) คำพิพากษาสรุปได้ว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ ไม่มีพยานบุคคลและหลักฐานที่ยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดจริง ส่วนที่โจทก์เชื่อว่าจำเลยกระทำผิด เมื่อพิจารณาการนำสืบชี้ให้เห็นว่า หน้าเฟซบุ๊กมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่ายโดยไม่ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประกอบกับการตรวจสอบเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กก็กระทำได้โดยยาก ตามที่โจทก์ส่งไปตรวจสอบกับกระทรวงดีอีฯ แล้ว ก็ไม่สามารถยืนยันผู้ใช้งานได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังฟังได้ไม่เพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

13) ทั้งนี้ นอกจากคดีมาตรา 112 ของฉัตรมงคลแล้ว กลุ่มศรีสุริโยไทยังเคยริเริ่มคดีมาตรา 112 อย่างน้อยอีกหนึ่งคดี โดยมี กวิน ชาตะวนิช หัวหน้าชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไท เป็นผู้ไปยื่นเรื่องกล่าวหา พัชรพล (สงวนนามสกุล) จากการแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของเพจกรมประชาสัมพันธ์เรื่องลงนามถวายพระพร 

อ่านรายละเอียดคดีของฉัตรมงคล https://database.tlhr2014.com/public/case/1897/lawsuit/672/