เยาวชนถูกตั้งข้อหา ม.112 ต้องติดคุกเหมือนผู้ใหญ่ไหม? กระบวนการแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

พุทธศักราช 2563-2566 นับว่าเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่มีสถิติการบังคับใช้มาตรา 112 แบบแปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ จำนวนผู้ถูกตั้งข้อหาในภาพรวมพุ่งสูงเกิน 200 คน, จำนวนคดีต่อคนสูงสุดอยู่ที่ 23 คดี, เกิดคดีการฟ้องทางไกลข้ามจังหวัดระยะทางกว่า 1,800 กิโลเมตร หรือมี “นักร้องหน้าซ้ำ” ที่ไปริเริ่มคดีไว้ที่สถานีตำรวจเดิมด้วยตัวเองมากถึงเก้าครั้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สถิติใหม่หนึ่งที่น่ากังวลใจ คือการนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้กับเด็กและเยาวชนเป็นครั้งแรก โดยจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปีถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วเป็นจำนวนมากถึง 18 คน รวมทั้งสิ้น 21 คดี (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 เมษายน 2566)  
หากใครที่อ่านแล้วเกิดคำถามว่า ทำไมจำนวนตัวเลขของคนและคดีจึงไม่ตรงกัน? คำตอบก็เป็นเพราะว่า “เยาวชนหนึ่งคน อาจถูกตั้งข้อหามากกว่าหนึ่งคดี” นั่นเอง โดยเพชร ธนกร คือเจ้าของสถิติเยาวชนที่ถูกตั้งข้อหามากที่สุดเป็นจำนวนสามคดี รองลงมาคือสายน้ำ (สงวนชื่อจริงและนามสกุล) ที่ถูกตั้งข้อหาเป็นจำนวนสองคดี โดยทั้งสองคนก็ต่างมีคดีที่ศาลมี “คำพิพากษา” แล้วด้วยกันทั้งคู่   
ผู้ใหญ่โดนแจ้งความคดีการเมืองแค่คดีเดียวก็เครียดจะแย่แล้ว เยาวชนที่มี 2-3 คดีจะไม่เครียดได้อย่างไร? ชวนสำรวจเรื่องเล่าความทุกข์ระหว่างกระบวนการยุติธรรมที่เพชรและสายน้ำต้องพบเจอ ไปจนถึงปลายทางของคำพิพากษา เพื่อตอบคำถามว่าเยาวชนที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ต้องติดคุกเหมือนผู้ใหญ่หรือไม่?

(1) แยกฟ้อง-แยกศาล กับคดีผู้ใหญ่

แม้จะยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ธนกร หรือ เพชร เยาวชนอายุ 17 ปีก็ก้าวเท้าขึ้นมาจับไมค์ปราศรัยตั้งแต่เชื้อไฟแห่งความหวังของผู้คนเริ่มต้นขึ้นในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญที่เพชรมีก็ถูกสะท้อนกลับด้วยคดีความโทษสูงอย่างมาตรา 112 จำนวนมากถึงสามคดี โดยมีที่มาจาก 1) ปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา63 บริเวณวงเวียนใหญ่ 2) ปราศรัยในการชุมนุม #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ เมื่อ 10 กันยายน 2563 บริเวณท่าน้ำนนทบุรี และ 3) กิจกรรม #แต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อ 20 ธันวาคม 2563
ในคดีแรก เพชรถูกตั้งข้อหาร่วมกับนักกิจกรรมอีกสองคน ได้แก่ จัสติส-ชูเกียรติ แสงวงค์ และตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยา โดยมีผู้กล่าวหาคนเดียวกันคือ จักรพงษ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้กล่าวหา แต่เนื่องจาก พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 96 ระบุว่า ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชน กระทำความผิดอาญาร่วมกับบุคคลซึ่งมิใช่เด็กหรือเยาวชนให้ “แยกฟ้อง” ต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ดังนั้น คดีของเพชรจึงถูกแยกฟ้องจากคดีของจัสตินและตี้ รวมทั้งยังต้องพิจารณาคดีแยกกันคนละศาลตลอดกระบวนการอีกด้วย (เช่นเดียวกันกับคดีที่สาม ซึ่งเพชรถูกแยกฟ้องจากนักกิจกรรมรุ่นพี่กลุ่มคณะราษฎรอย่าง เพนกวิ้น, รุ้ง, เบนจา และไมค์)
สำหรับสายน้ำ เขาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 เป็นจำนวนสองคดี คดีแรกจากการแต่งกายด้วยเสื้อครอปท็อปไปเดินพรมแดงในกิจกรรม #ม็อบ29ตุลา63 รันเวย์ของประชาชน ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม โดยในคดีนี้ สายน้ำถูกตั้งข้อหาร่วมกับ นิว จตุพร ด้วย (ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในกรณีของนิว เมื่อ 12 กันยายน 2565 ให้จำคุกสามปี ไม่รอลงอาญา ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกสองปี) และคดีที่สอง จากการแปะกระดาษข้อความ “CANCEL LAW 112” ทับที่บริเวณพระพักตร์ และพ่นสีสเปรย์ทับพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา64
สายน้ำเล่าว่า เนื่องจากเขาเป็นเยาวชน ในวันรับทราบข้อกล่าวหาเขาจึงถูกแยกตัวไปสอบปากคำอีกห้อง โดยระหว่างกระบวนการจะมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์มาร่วมสอบสวนภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

(2) คำถามเรื่องเพศและยาเสพติด

ระหว่างเส้นทางพิจารณาคดีของผู้ต้องหาเยาวชน หนึ่งในกระบวนการที่ไม่มีในคดีของผู้ใหญ่ คือขั้นตอนการพูดคุยกับ “นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์” เพื่อเยียวยาและหาทางแก้ไขหรือพัฒนาพฤติกรรมของเยาวชนด้วยวิธีการที่ไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมาย
สายน้ำเล่าว่า “สถานพินิจ” คือปราการด่านแรกที่ผู้ต้องหาเยาวชนต้องพบเจอ โดยใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 36 ได้ให้อำนาจสถานพินิจในการสืบเสาะประวัติ ความประพฤติ การศึกษา สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่-ครอบครัว รวมทั้งสาเหตุแห่งการกระทำความผิด เพื่อนำไปรายงานต่อศาลหรือเพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้ต้องหาเยาวชนจึงมักจะต้องเดินทางไปตามนัดเพื่อเข้าพบเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจอยู่บ่อยครั้ง
“หลังจากประกันตัวเสร็จ วันต่อมาก็จะมีกำหนดนัดว่าต้องไปสถานพินิจวันไหน ต้องมาศูนย์ให้คำปรึกษาวันไหน เมื่อไปถึงสถานพินิจ พอไปนั่งแล้วก็โดนสอบ จะมีเจ้าหน้าที่สถานพินิจและนักจิตวิทยามาถามนู่นถามนี่เรา คำถามก็เช่น ‘เที่ยวกลางคืนมั้ย’ ‘เคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่’ ‘เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่’ คืออยากจะย้ำเตือนเขานะว่าเราโดนคดีอะไร (หัวเราะ)”
สายน้ำเล่าว่า ประสบการณ์เข้าพบเจ้าหน้าที่ที่สถานพินิจและศูนย์ให้คำปรึกษาที่ศาลเยาวชนของเขา มักวนเวียนอยู่กับเรื่องเพศและยาเสพติด ทั้งการเข้ารับแบบประเมินความเสี่ยงเรื่องเพศ หรือการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด นอกจากนี้ เขายังพบว่าสถานพินิจในแต่ละที่มีมาตรฐานการตรวจที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย
“ผมเคยถามเขานะว่าถามไปทำไม เขาก็ตอบว่าระเบียบเป็นแบบนี้ มันมีกระดาษแนวคำถามที่ต้องถาม เช่น เคยเที่ยวกลางคืนมั้ย เคยมีเพศสัมพันธ์มั้ย เคยกับเพศเดียวกันมั้ย เป็นระเบียบที่เขาต้องรู้ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าจะรู้ไปทำไม”
“ศูนย์ให้คำปรึกษาก็ชอบถามคำถามอะไรแบบนี้เหมือนกัน ศูนย์ให้คำปรึกษาอยู่ที่ใต้ถุนศาลเยาวชนฯ เขาบอกว่าเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนที่ถูกดำเนินคดี และผมเองก็ได้ใช้บริการอยู่หลายคดีเหมือนกัน แต่ไม่เคยได้รับคำปรึกษาอะไรเลย นอกจากแบบเจอหน้ากันแล้วก็ยื่นกระป๋องให้ แล้วก็บอกให้ไปตรวจเยี่ยว (หัวเราะ)”
“มาตรฐานของแต่ละศาล แต่ละสถานพินิจ แต่ละศูนย์ให้คำปรึกษาฯ ก็ไม่เหมือนกัน บางศูนย์ฯ เนี่ยบังคับเราตรวจปัสสาวะ แต่บางศูนย์ฯ ถามเราว่าตรวจได้ไหม ถ้าตรวจไม่ได้ก็ปฏิเสธได้นะ เราก็เอ้า ปฏิเสธได้หรอ”

(3) เผชิญกรอบ “เด็กไม่ดี” ที่รัฐนิยาม

“หลังจากไปรายงานตัวกับตำรวจและศาลเยาวชน เราต้องไปพบนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ ตอนที่เราไปรายงานตัวกับศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเขาจะให้ใบนัดมาสองใบ ใบสีชมพูเป็นใบนัดศาล ส่วนใบสีเหลืองเป็นใบนัดพบนักจิตวิทยากับนักสังคมสงเคราะห์ รวมๆ แล้วทุกคดีเราน่าจะไปพบนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์มาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง”
เพชรเล่าประสบการณ์ที่สถานพินิจของตัวเองว่า นักจิตวิทยาคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่พูดคุยกับเพชรระหว่างการถูกดำเนินคดีเคยเขียนรายงานการติดตามความประพฤติว่า “มีทัศนคติการเมืองที่ไม่ดี” หลังเห็นว่าเพชรใช้รูปภาพของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเป็นภาพโปรไฟล์ในแอพลิเคชันไลน์ ซึ่งเพชรเห็นว่า โปรไฟล์ไลน์ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวเพราะจะมีเฉพาะคนที่เขารับเป็นเพื่อนเท่านั้นที่เห็นภาพได้
“นักจิตวิทยาเคยถามเราว่า ไม่ไปชุมนุม ไปดูแลคุณพ่อได้ไหม ตั้งใจเรียนแทนได้ไหม อย่ามาทำอะไรแบบนี้…”
นักจิตวิทยาคนดังกล่าวยังเคยสั่งให้เพชรทำการบ้านด้วยการคัดลายมือเป็น “ข้อความศีลห้าและข้อความอาชีพสุจริต” ด้วย ซึ่งการถูกสั่งเช่นนี้ทำให้เพชรรู้สึกถูกลดทอนมาก นอกจากนี้ เพชรยังต้องเผชิญกับคำถามตีตราในลักษณะเดียวกับสายน้ำ คือมุ่งถามถึงพฤติกรรมที่รัฐนิยามว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายและต้องเฝ้าระวัง
“มีอีกเรื่องที่เรารู้สึกไม่โอเคกับกระบวนการในคดีเยาวชนคือพวกแบบสอบถามที่เราต้องทำ เราคิดว่าคำถามเรื่องทัศนคติหรือพฤติกรรมต่างๆ มันมีลักษณะเป็นการตีตราหรือจัดประเภทเด็กอย่างไม่ยุติธรรม เช่น ถามว่าคุณสักลายไหม คุณกินเหล้าสูบบุหรี่ไหม และมีถึงขั้นว่าคุณเคยมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันไหม หรือถามทำนองว่าถูกจับเพราะอะไร ทำผิดกฎหมายมาตราไหน”
เพชรยอมรับว่า จากการผ่านกระบวนการทั้งหมด เขาพอเข้าใจได้หากเรื่องบางเรื่อง เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และการสัก จะเป็นสิ่งที่รัฐเอามาใช้ในการวัดหรือประเมินความเป็น “เด็กดี” หรือ “เด็กไม่ดี” ในเบื้องต้น ซึ่งก็อาจมีกรณีที่เด็กหรือเยาวชนที่เคยก่อเหตุอาชญากรรมมีพฤติกรรมเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม เพชรสะท้อนเพิ่มว่า ในสังคมก็อาจมีเด็กหรือเยาวชนบางส่วนที่ก่อเหตุอาชญากรรมโดยที่อาจไม่ได้มีพฤติกรรม “ไม่พึงประสงค์” ในสายตารัฐเหล่านั้น และการจัดประเภทหรือการตีตราโดยรัฐ อาจยิ่งเป็นความพยายามในการผลักปัญหาการก่อเหตุอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นให้เป็นแค่ปัญหาส่วนบุคคล ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศหรือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐ

(4) พิจารณาปิดลับ

การพิจารณาคดีแบบ “ปิดลับ” คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน โดยข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ระบุว่า การพิจารณาคดีและการอ่านคำพิพากษาของเด็กหรือเยาวชน จะต้องทำเป็น “ความลับ” โดยจะมีเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี ได้แก่ จำเลย, ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย, ผู้ควบคุมตัวจำเลย, บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย นอกจากนี้ พนักงานศาล, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, ทนายโจทก์พยาน ผู้ชำนาญการพิเศษ, ล่าม, พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นของสถานพินิจ ต้องให้ศาลเห็นสมควรอนุญาตเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีและฟังคำพิพากษา
แม้ว่ากระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวจะกำหนดขึ้นโดยมีเจตนาเพื่อคุ้มครองเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี แต่สำหรับเพชร การปิดลับกลับ “ทำร้าย” เขามากกว่า “คุ้มครอง”
เพชรเล่าว่า กระบวนการในศาลทำให้เขารู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยว เนื่องจากคดีของเพชรเป็นคดีการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นคดีสาธารณะ การมีประชาชนที่สนใจหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาให้กำลังใจในห้องพิจารณาคดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“คดี 112 เป็นคดีการเมือง ถูกเอามาใช้ในสถานการณ์ทางการเมือง แล้วเราจะเชื่อได้ยังไงว่าจะได้รับความเป็นธรรม พอไม่มีคนอื่นอยู่ในห้อง ไม่มีคนร่วมรับรู้ เราจะเชื่อได้ยังไงว่าศาลจะให้ความยุติธรรมกับเราจริงๆ ใจจริงเราอยากให้คนนอกเข้ามานั่งฟังการพิจารณาคดีของเราได้ เราจะได้รู้สึกว่าเราเข้าถึงความยุติธรรมจริงๆ ถ้ามีตัวแทนสถานทูตหรือองค์กรสิทธิฯ มาฟังด้วยมันคงดีกว่านี้ แต่นี่ไม่มีเลย”
ไม่เพียงเท่านั้น การมีเพียงผู้ปกครองอยู่ในห้องพิจารณาคดียังจำกัดแนวทางการต่อสู้คดีของเพชรด้วย เพราะเมื่อเขาต้องการที่จะโต้แย้งกับผู้พิพากษา เขาก็ต้องเผชิญกับความกดดัน เพราะพ่อของเขามีความคิดเห็นต่อแนวทางการต่อสู้คดีที่แตกต่างออกไป พ่อของเพชรเป็นห่วงว่า หากเพชรโต้เถียงกับผู้พิพากษาหรือมีท่าทีแข็งกร้าวเกินไปอาจจะส่งผลเสียในทางคดี
“อีกเรื่องที่เราปวดใจมากคือพอในห้องพิจารณาคดีมีแค่เรา พ่อของเรา ผู้พิพากษาแล้วก็ทนายความ พ่อก็อยากให้เราหลุดคดีหรืออย่างน้อยก็ให้มันเบาที่สุด พ่อเขาก็ไม่อยากให้เราโต้เถียงกับผู้พิพากษา จะไม่พอใจ จะรู้สึกอย่างไรก็ให้เก็บมันไว้ ตรงนี้แหละที่ทำให้เราอึดอัดมาก บางทีการมีผู้ปกครองอยู่ร่วมในห้องกับเราเพียงลำพังมันก็อาจจะไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เราหรือเด็กคนอื่นๆ เสมอไป”
เช่นเดียวกับสายน้ำ ที่ทนายของเขาเคยพยายามยื่นเรื่องขออนุญาตศาลให้คนทั่วไปสามารถเข้าฟังการพิจารณาได้ ทว่าที่ผ่านมา สายน้ำเล่าว่าศาลไม่ได้รับคำร้องแต่อย่างใด
“ตั้งแต่นัดแรก ทนายความก็ขออนุญาตให้คนนอกสามารถเข้าห้องพิจารณาได้แล้ว แต่ไม่เคยเป็นผล เคยถามศาลว่าทำไมถึงไม่ให้คนนอกเข้า ศาลบอกว่าเป็นดุลยพินิจของเขา แต่บางครั้งก็ตอบว่า ‘คดีเยาวชนต้องพิจารณาในที่ปิด’ หรือมีอยู่รอบนึง มีคนจากไหนไม่รู้เดินสุ่มสี่สุ่มห้าเปิดประตูเข้ามาเสียงดัง ปึ้ง! ศาลก็บอกว่า ‘นี่เป็นคดีความมั่นคง คนนอกไม่สามารถรับฟังได้’ สรุปศาลจะเอาคำตอบไหนกันแน่”
“เรารู้สึกว่าอยากให้คนนอกเข้าฟังการพิจารณาคดีของเรา ซึ่งเราบอกต่อศาลนะ แต่ศาลก็ยังไม่ให้เข้า เขาชอบอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก แต่เมื่อทนายต้องการให้มีคนเข้าฟัง ผู้ปกครองก็ต้องการให้มีคนเข้าฟัง และตัวเด็กก็ต้องการให้มีคนเข้าฟัง ถ้าบอกว่าเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็กจริง แต่ทำไมกลับไม่ยอมให้เข้าฟังเลย ถ้าบอกว่าจะไม่เชื่อใจดุลยพินิจของเด็ก แต่พ่อแม่ก็อนุญาตแล้ว ทนายก็อนุญาตแล้ว” สายน้ำตั้งคำถาม

(5) ศูนย์ฝึกอบรมฯ และแผนเเก้ไขบำบัดฟื้นฟู

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น เพชรและสายน้ำต่างก็มีคดีมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาด้วยกันแล้วทั้งคู่ โดยในกรณีของสายน้ำ คดีมาตรา 112 จากการแปะกระดาษและพ่นสีสเปรย์ทับพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ให้ยกฟ้อง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอระบุว่าเป็นผู้กระทำ ขณะที่อีกคดียังอยู่ในระหว่างกระบวนการของศาล
แต่ในกรณีของเพชร มีคดีมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาแล้วจำนวนสองคดี โดยคำพิพากษาในคดีการปราศรัยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่วงเวียนใหญ่นั้น ถือเป็นคดีมาตรา 112 เยาวชน “คดีแรก” ที่มีคำพิพากษาออกมา และมีแนวทางคำพิพากษาที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่การตีความตัวบทมาตรา 112 ที่กว้างเกินขอบเขต และการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 142 (1) เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็น “คุมประพฤติ”
คำพิพากษาโดยสรุปที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ระบุว่า แม้คำปราศรัยของเพชรจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ จึงกำหนดลงโทษจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา
อย่างไรก็ตาม ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเห็นว่า จากรายงานของสถานพินิจ จำเลยควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อขัดเกลานิสัยความประพฤติสักระยะหนึ่งอาจเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่าโทษจำคุก จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ หนึ่งปีหกเดือน ขั้นสูงไม่เกินสามปี ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ โดยภายหลังมีคำพิพากษา เพชรได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 30,000 บาท
คดีต่อมาจากการปราศรัยที่ท่าน้ำนนทบุรี ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาเมื่อ 22 ธันวาคม 2565 ว่า จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 112 แต่ขณะเกิดเหตุ จำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ จึงเห็นควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกหนึ่งปี หกเดือน
อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่าโทษดังกล่าว เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุก (รอลงอาญา) เป็นเวลาสองปี พร้อมให้จำเลย ผู้ปกครอง และพนักงานคุมประพฤติ ร่วมกันกำหนด “เงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติ” ของจำเลยและนำเสนอศาลภายในระยะเวลาสองเดือน เมื่อศาลเห็นชอบ ให้ปฏิบัติตามแผนดังกล่าวเป็นระยะเวลาสองปี โดยอ้างถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ที่มุ่งให้เด็กและเยาวชนอยู่ในขบวนการยุติธรรมให้สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อคำนึงถึงสวัสดิภาพอนาคตของจำเลย
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม https://tlhr2014.com/archives/51763