1947 1853 1626 1676 1142 1855 1019 1810 1388 1540 1520 1130 1811 1848 1210 1924 1508 1081 1785 1815 1798 1890 1997 1277 1015 1573 1558 1771 1242 1162 1825 1610 1862 1465 1449 1574 1951 1064 1163 1330 1159 1713 1607 1085 1102 1302 1333 1259 1603 1842 1004 1300 1880 1902 1707 1221 1136 1582 1418 1593 1916 1447 1807 1445 1430 1462 1703 1390 1126 1626 1524 1699 1782 1404 1950 1721 1891 1115 1875 1106 1848 1740 1331 1133 1422 1291 1607 1607 1271 1590 1007 1085 1480 1596 1761 1660 1271 1158 1530 เยือน “ดาวเคราะห์น้อย B 612” ของรามิล นักกิจกรรมเจ้าของคดีหมิ่นกษัตริย์ด้วยศิลปะ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เยือน “ดาวเคราะห์น้อย B 612” ของรามิล นักกิจกรรมเจ้าของคดีหมิ่นกษัตริย์ด้วยศิลปะ


รามิล-ศิวัญชลี วิชญเสรีวัฒน์ จาก “ดาวเคราะห์น้อย B 612” เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักกิจกรรมที่แสดงออกความคิดทางการเมืองในคลื่นการชุมนุมของนักเรียนและนักศึกษาตั้งแต่ปี 2563 คลื่นลูกนั้นพัดพาเขาไปยังดาวโลกอันเป็นที่ประทับของพระราชา แสดงศิลปะจนเป็นเหตุให้เขาต้องเผชิญกับคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 สองคดี  ในการดำเนินคดีรามิลยืนต่อหน้าศาลที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของ ‘พวกผู้ใหญ่’ ที่ทำให้หลายครั้งเราต้องสวมความเอาจริงเอาจัง เคร่งขรึม แต่ไม่ใช่กับรามิลและคดีความโทษหนักเช่นนี้ไม่ได้เจือจางตัวตนที่มีชีวิตชีวาของเขาไปได้ เป็นงานของพวกเราที่จะเล่าเรื่องชีวิตของผู้ที่ถูกตรวนตราด้วยคดีหมิ่นกษัตริย์ จึงนัดหมายไปเยือนห้อง “ดาวเคราะห์น้อย B 612” ของเขา

 

ชีวิตก็บิดๆ เบี้ยวๆ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

 

การเตรียมงานสัมภาษณ์ค่อนข้างเป็นไปตามแบบขนบ มีคำถามพื้นฐานที่ถามจำเลย 112 มาแล้วหลายสิบคน มีเพื่อนรุ่นน้องช่วยถ่ายภาพ ส่วนรามิลเป็นเจ้าของเรื่องเล่าวันนี้ พวกเรานัดกันบ่ายสามที่ร้านกาแฟ วันนั้นรามิลเปลี่ยนสีผมจากสีดำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนเป็นสีทองตามแบบฉบับเจ้าชายน้อย จากนั้นขับรถมอเตอร์ไซต์ที่เขามานะขนขึ้นรถไฟจากนราธิวาส บ้านเกิดมาใช้งานที่เชียงใหม่นำทางพวกเราไปที่ห้อง “ดาวเคราะห์น้อย B 612”  ตอนที่พวกเราไปถึงถุงพระราชทานที่ภายในบรรจุหนังสือจำนวนมากตั้งเด่นอยู่ที่หน้าประตูรอการกลับมาของเจ้าของห้องอยู่ รามิลลากมันไปไว้ในห้องที่หน้าชั้นหนังสือ ที่สะดุดตาคือ หนังสือ “เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมฝรั่งเศสของอ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรีที่มีฉบับแปลหลายภาษาวางเรียงรายและของสะสมอย่างกระเป๋าผ้าและโมเดลเจ้าชายน้อยขนาดเล็ก 
 

2827

 


“เราอ่านมันไงเราก็เลยชอบมัน...คือมันเลิกชอบไปแล้ว มันเรียกคลั่งรัก” เขาตอบคำถามที่ว่า ทำไมถึงชอบวรรณกรรมเรื่องนี้มากจนสะสมของหลายอย่าง รามิลมีหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับแปลในภาษาอื่นๆ อีกหลายเล่ม ซื้อหาเองบ้าง เพื่อนๆ ให้มาบ้าง นอกจากนี้ภาพของเจ้าชายน้อยยังถูกนำมาใช้ทำสมุดทำมือและโปสการ์ดเป็นงานอดิเรกและบางครั้งงานฝีมือเหล่านี้ก็กลายมาเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้แก่เขา ฉันเดินเข้ามาในห้องสักพักก็ฉุกใจว่า ห้องของเขาเรียบร้อยจน ‘ปลอม’ เขาตระเตรียมพื้นที่สำหรับการสัมภาษณ์งานในวันนี้เป็นอย่างดี ที่พื้นริมหน้าต่างภาพเจ้าชายน้อยผมทองและสุนัขจิ้งจอกนั่งหันหลังดูพระอาทิตย์ตกถูกวางตากแดดยามสี่โมงเย็นเพื่อให้สีแห้งสนิท และเป็นโชคดีที่เวลาในชีวิตจริงของพวกเราขณะนั้นใกล้เคียงกับเวลาตามภาพ ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่สุนัขจิ้งจอก ซึ่งถูกทำให้เชื่องกำลังตื่นเต้นอย่างถึงที่สุดแล้ว
 

2826

 

2830

 

ช่างภาพของเรากำลังเดินวุ่นกับการหาที่ถ่ายภาพ ขณะที่รามิลกำลังยุ่งอยู่กับการจัดอุปกรณ์บนโต๊ะศิลปะของเขาเตรียมพู่กัน สี กระดาษปอนด์สำหรับงานศิลปะและสเตนซิล (แม่พิมพ์กระดาษฉลุ) เจ้าชายน้อย เมื่อเรียบร้อยเขาเรียกฉันไปทำโปสการ์ดเจ้าชายน้อย เวลานี้ฉันเริ่มตระหนักว่า การสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนงานครั้งอื่นๆ ฉันกำลังถูกทำให้เชื่องแบบที่สุนัขจิ้งจอกร้องขอเจ้าชายน้อยทำ หากครั้งนี้เราไม่ได้ร้องขอรามิล และคำว่า “เชื่อง” ในที่นี้คือการใช้ศิลปะสร้างความสัมพันธ์ ทลายกำแพงความแปลกหน้า  ฉันลงมือทำตามคำสั่งของรามิลอย่างเชื่องๆ เขาสั่งให้พับกระดาษฉันก็พับ “แกคิดดูสิ ฉันพับ...พับครึ่งยังไม่สมมาตรกันเลยนะ” ฉันร้องบอกปนคาดหวังว่า เขาจะทนไม่ไหวและสั่งให้หยุด “ไม่เป็นไรหรอก ชีวิตมนุษย์คนเรามันก็เป็นแบบนี้แหละ” เขาตอบพร้อมสอนปรัชญาชีวิต ฉันโชคร้ายที่ต้องทำโปสการ์ดต่อไปเพราะเขาไม่เหมือน ‘พวกผู้ใหญ่’ ที่ทำให้เด็กชายวัยหกขวบในวรรณกรรมเจ้าชายน้อยต้องพับเก็บศิลปะงูเหลือมในพงไพร 


บนโต๊ะทำงานศิลปะเต็มไปด้วยร่องรอยอารยธรรมของสีต่างๆ โต๊ะตัวนี้มันตั้งอยู่ตรงช่องหน้าต่างพอดีกับแสงอาทิตย์ตอนเย็นสาดเข้ามาสะท้อนกับสี ฉันยกกล้องขึ้นมาถ่ายวิดีโอเก็บไว้และเรียกรามิลอย่างตื่นเต้น “แกดูสีในกล้องสิ” ได้รับคำตอบว่า “เออในกล้องมันจะตอแหลกว่าข้างนอก” จบการสนทนาไปอย่างเงียบๆ จากนั้นฉันใช้สเตนซิลค่อยๆ ประกอบร่างเจ้าชายน้อยตามชุดคำสั่งของรามิล “เอาคลิปหนีบกระดาษก่อนและระบายไป” “เวลาทาต้องระวังนิดนึง เราจะต้องทาตรงขอบก่อน” “ทาให้มันเรียบๆ” และทิ้งท้ายด้วยการบ่นว่า “พู่กันอันนึงหลายบาทนะ” 
 


ว่าด้วยความรัก ครอบครัวและคำถามถึงความศรัทธา

 

การใช้สเตนซิลประกอบร่างเจ้าชายน้อยต้องค่อยๆ ทาสีแต่ละส่วนและรอสีแห้งจึงจะทาสีส่วนต่อไปได้ เวลาว่างระหว่างการรอคือ พื้นที่พูดคุยของพวกเราสามคนที่พูดไปเรื่อย หัวข้อเดียวกันบ้างหรือสามคนสามหัวข้อไม่สนใจกันบ้าง น่ารำคาญบ้าง แต่บนดาวเคราะห์น้อยแห่งนี้ไม่มีใครชี้นิ้วตัดสินกัน จากนั้นรามิลเริ่มเล่าว่า เขาเป็นคนสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส แต่ไปเติบโตที่สุคิริน 
 


“เราเป็นลูกบุญธรรมของแม่ เป็นลูกของเพื่อนของแฟนเก่าแม่ ฉันเคยได้ยินเขาพูดว่า ประมาณถูกชะตากับฉันก็เลยอยากได้ฉันไปเลี้ยง ทีนี้ช่วงนั้นแม่ยังอยู่กับแฟนเก่า อยู่ที่สลัมในสุไหง โก-ลก เป็นที่ดินรถไฟ ตอนนั้นประมาณสามสี่ขวบ แม่ก็มีแฟนใหม่ เป็นมุสลิม ตอนนั้นเราก็ต้องเป็นมุสลิมด้วย เราก็ต้องเข้าศาสนาตั้งแต่ประมาณห้าขวบ ก็โตที่สุคิริน เรียนอนุบาลสอง ประถม มัธยมที่สุคิรินเลย เสาร์อาทิตย์เรียนตาดีกา ตอนกลางคืนต้องไปเรียนกุรอาน ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวกับเขาหรอก เหมือนคนที่เรียนกุรอานแบบที่อ่านได้ ผสมคำได้ แต่ไม่รู้ความหมาย สิ่งที่มันติดหัวมาอย่างหนึ่งคือ การสะกด…ได้แค่นั้น คำง่ายๆ”
 


รามิลเป็นเด็กเรียนดีได้ทุนการศึกษาในช่วงมัธยมฯ เป็นเงินก้อนปีละ 30,000 บาท “ได้ปีแรกเราก็ซื้อคอมพิวเตอร์ติดเน็ตเลย เราเป็นคนแรกๆ ในอำเภอที่เล่นเฟซบุ๊กในสมัยที่ไฮไฟฟ์ยังได้รับความนิยมอยู่ เราก็เล่นเฟซบุ๊ก เพราะว่า อยากเล่นแฮปปี้คนเลี้ยงหมู เรื่องของเรื่องอยากขโมยหมู” ฉันถามว่า “ตอนนั้นแกเป็นมุสลิมอยู่ โดนแกล้งป่ะว่า เลี้ยงหมูได้ไงอ่ะ?” เขาขำและบอกว่า “มึงมันเป็นหมูในเกม อันนี้มันประสาท ด่าคนประเภทนี้ได้ป่ะ?” ฉันพยักหน้าทำนองช่วยพูดแทนหน่อย เขาร่ายต่อ “ชีวิตแบบไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า multicultural หรอ?” ตอนที่สำรวจชั้นหนังสือ ฉันสังเกตเห็นรูปเคารพวางอยู่ในช่องหนึ่งของชั้นและค่อนข้างแน่ใจว่า เขาผ่านจุดเปลี่ยนที่สองในเรื่องศาสนามาแล้ว
 


“ตอนนั้นพ่อแม่เลิกกัน แม่ก็กลับมาเป็นพุทธ เรารู้สึกว่า มันก็มีหลุมขนาดใหญ่ในความรู้สึกของแม่ คือช่วงที่ยายเสีย แม่ต้องไปงานศพยาย ตอนนั้นแม่เป็นมุสลิม แม่ไม่ได้สวด ไม่ได้ทำอะไร เราคิดไปเองว่า มันเป็นหลุมในใจของแม่ คือตอนที่เขาเปลี่ยนกลับมานับถือพุทธเขาก็ทำบุญทำในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำมานาน เราก็คุยกันกับแม่ว่า มันเป็นชีวิตของแม่ เราก็ได้คุยกันมันจะเป็นยังไงว่า ถ้าเลือกแบบนี้ [เลิกกับพ่อเลี้ยง] วันที่มันเกิดเรื่องทะเลาะกันในบ้าน เราก็เป็นคนพาแม่ออกมาจากบ้านเอง เหมือนพ่ออยู่ฝั่งหน้าบ้าน แม่อยู่ฝั่งในห้อง การที่แม่จะออกมาได้ต้องผ่านพ่อไป เราก็เป็นคนพาแม่ออกมาเอง เราก็คุยกันว่า ชีวิตคนเรามันคนละชีวิตกัน เราเป็นแม่ลูกกันมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ด้วยกันมันไม่หมดความเป็นแม่ลูกกัน ชีวิตมันเป็น Rhythm เป็นจังหวะของมัน คือ คนเราไม่ได้รักกันจะอยู่ด้วยกันทำไม”
 
“เป็น Dilemma [สภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก] ในชีวิต เป็นช่วงที่เป็นหลุมขนาดใหญ่ในชีวิต ที่เราก็กลับมาทบทวนชีวิตหลายๆ เรื่อง เรื่องหนึ่งคือเรื่องความเชื่อ พอเรามาทบทวนเราก็ค้นพบว่า เราไม่ศรัทธา มันก็ตั้งคำถามอยู่นะ เพราะเราโตมาในวิถีชีวิตแบบมุสลิมสามจังหวัด ก็ถ้าเราไม่มีศรัทธาเราอยู่ด้วย Sense [ความรู้สึก] แบบไหน อยู่ยังไง อยู่ทำไม จนวันหนึ่งเราก็ค้นพบว่า เราไม่ต้องการ...ตอนนั้นประมาณ 17-18”
 
“เราไม่ได้คิดว่า มันเป็นปัญหา เราเซอร์ไพรส์มาก คือ เราเป็นเด็กเหี้ยอยู่แล้ว พอทีนี้เกิดเรื่องนี้ก็เป็นเด็กเหี้ย เหี้ยแบบ official [ทางการ] เราเป็นเด็กทุน ถึงแม้จะเหี้ยแต่ผลการเรียนดี พอมีปัญหานี้เกิดขึ้นก็แปลกเนอะเป็นปัญหาที่บ้านเรา แต่รู้ทั้งอำเภอเลย อำเภอมันไม่ได้ใหญ่ แต่เล่ากันปากต่อปาก ครูก็พูดกับเราคำหนึ่งว่า ครูเข้าใจเธอล่ะนะว่า เธอเป็นเด็กมีปัญหา ฉันก็เลยเท้าสะเอวถามว่า มันมีปัญหายังไงและก็ไปด่าครู” 

 

เบ้าหลอมตัวตน : เจ้าชายน้อย ปรัชญา รัฐประหาร
 

ในช่วงที่เรียนมัธยมฯ เขาเริ่มเข้าค่ายและทำกิจกรรมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและส่งอิทธิพลในการเรียนรู้ของเขา “ช่วง ม.4 เริ่มอ่านหนังสือจริงๆ จังๆ เล่มแรกที่เราอ่าน มันคืองานแปลของอมาตยา เซนเราเข้าใจว่า มันเป็นอิทธิพลของการได้รู้จักสถาบันสิทธิฯ แต่เล่มที่เรารู้สึกว่า มันส่องประกายคือเจ้าชายน้อย เราอ่านช่วง ม.4 เหมือนกัน” ช่วงเวลาเดียวกันเข้าเรียนรู้ปรัชญาและเริ่มซื้อหนังสือมาอ่าน
 

 
“ครึ่งหลังของชีวิตมัธยม เราก็เริ่มซื้อหนังสือมาอ่าน ตอนนั้นซื้อโลกของโซฟีครั้งแรกสามร้อยบาท เจ้าชายน้อยสองร้อยบาท แม่เครียด คือหนังสือแถวนั้นมันไม่ได้มี เราอยู่สุคิริน เราต้องขับรถมาสุไหงโกลกเพื่อซื้อหนังสือเล่มละสองร้อย เป็นเงินที่เยอะ...ตอนนั้นเราอ่านปรัชญากะทัดรัด โลกของโซฟีเราอ่านบ้าง ยังไม่ได้อ่านแบบเฉพาะเรื่อง อ่านแบบคร่าวๆ รวมๆ เพราะตอนนั้นเราค่อนข้างจะมั่นใจแล้วว่า เราจะเรียนต่อปรัชญา [อ่านปรัชญาตะวันตกใช่ไหม?] ใช่ สนุกนะ [อ่านปรัชญาตะวันออกแล้วสนุกไหม?] ไม่เคยยุ่งเรื่องปรัชญาตะวันออกเลย คือมันก็ได้เรียนนะ ที่เรียกแบบตะวันออกก็คือ ปรัชญาเซนก็เรียนๆ ให้มันรู้ๆ ไป เราไม่ได้ไปแนวปรัชญาตะวันออก”
 


‘พวกผู้ใหญ่’ ที่ฉันเจอบ่อยๆ ชอบตัวเลขและมักมีคำถามกับสาขาความรู้ที่ไม่ได้มีเส้นทางการทำงานหรือรายได้ในอนาคตที่ชัดเจน ฉันจึงถามคำถามโง่ๆ ออกไปว่า แม่โอเคไหมกับทางเลือกนี้ “แม่มีสิทธิไม่โอเคด้วยหรอ เอาจริงๆ แม่เราเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับการพยายามที่จะเรียนรู้แล้วปรับเปลี่ยน คือเราก็คิดว่า ข้างในของแม่ต้องต่อสู้กับความคร่ำครึ สิ่งที่เขาเคยเติบโตมา แล้วก็มาเจอลูกที่แบบวินาศสันตะโรแบบนี้”

 

2831

 

ช่วงต้นของการรัฐประหาร 2557 เขาเรียนอยู่มัธยมฯ “โรงเรียนฉันนะ ปิดโรงเรียนไปเดินขบวนกัน เราก็ไม่ไป เราด่าเพื่อนทุกคนที่ไป เราบอกกับเพื่อนเลยว่า ราคายางมึงถูกแน่ ตอนนั้นมีพี่นิว[สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์] ออกมาชูสามนิ้วอะไรแบบนี้ ฮังเกอร์เกม ไม่เคยดูต้องไปโหลดเถื่อนมาดู ตื่นเต้นมาก ตอนเขาอ่านหนังสือในที่สาธารณะ ตอนนั้นเป็นรัฐบาลคสช.แล้ว ก็บ้าอ่านอยู่คนเดียว ยืนอ่าน อยากมีส่วนร่วม ตอนที่เขากินแซนด์วิช ชีวิตไม่กินแซนด์วิชนะ ไปซื้อแซนด์วิชมากิน” รามิลบอกว่า เมื่อรู้เรื่องการเมืองมากขึ้นก็อยากเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าสอบเข้าไม่ได้ก็วางแผนไว้ว่า จะเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง “เราไม่อยากเรียนที่ใต้ คือเบื่อขี้หน้าเพื่อนด้วย คนแถวๆ บ้านจะเรียนยะลา สงขลา มอ.หาดใหญ่ ไม่อยากเรียนแล้วเราไม่รู้จักโซนอีสานเนอะก็เรียนกรุงเทพ เรียนรามก็ได้” แต่ท้ายสุดก็มาจบที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ตอนนั้นมันมีโครงการหนึ่งยูนิแกงค์และไปเจอรอบรับตรง รับพอร์ท เราเลยสมัครมาก็เลยติด มช. ปรัชญาตรงเลย ก็เลยมาเรียน มช.”
 


เผชิญหน้ากับมาตรา 112 จากการแสดงศิลปะ
 

2825


ในการชุมนุมในปี 2563 รามิลเป็นหนึ่งในบรรดาคนรุ่นใหม่ทำกิจกรรมแสดงออก นุ่งโสร่ง สวมเสื้อสกรีนข้อความ “ตากใบ”  อ่านกวีต่อหน้าคนนับพันที่ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่ประตูท่าแพในวันที่อานนท์ นำภาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากคดีตามมาตรา 116 ในเวลานั้น แต่การชุมนุมที่มีผู้คนจำนวนมากพร้อมออกมาร่วมเป็นจำนวนนับไม่ได้เกิดขึ้นตลอด มันมีขึ้นและมีลงเหมือนพระอาทิตย์ หากระยะเวลาการรอการกลับมาอีกครั้งของแสงอาทิตย์บางครั้งอาจสั้นราวกับยืนอยู่บน “ดาวเคราะห์น้อย B 612” แต่หลายครั้งอาจนานกว่านั้นเช่นช่วงต้นปี 2564 ศาลทยอยไม่ให้ประกันตัวแกนนำนักกิจกรรม ขณะที่การชุมนุมก็รวบรวมผู้คนได้น้อยลงด้วยสถานการณ์ของโควิด-19


“การชุมนุมมันมีเวฟของมัน ก็เป็นช่วงที่เรารู้สึกว่า ตัวเองทำอะไรไม่ได้ อีกอันหนึ่งที่เรารู้สึกว่า เป็นชีวิตที่บัดซบที่เราอยู่ในห้องแล้วอ่านข่าวอ่านอะไร ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เพนกวิน รุ้งยังอยู่ในคุก เป็นช่วงที่แม่สุต้องโกนหัว รู้สึกเป็นภาพที่มันบีบคั้นความรู้สึกเรา ก็ไปเพอร์ฟอร์มหน้ามอ [มหาวิทยาลัย] เราคิดด้วยซ้ำว่า ถ้าเราไปเพอร์ฟอร์มหน้ามอ เราอาจจะโดนชาร์จก็ได้เพราะว่า Context (บริบท) มันค่อนข้างที่จะดุ Sense (ความรู้สึก) ของเราทำกับป้ายหน้ามอ ซึ่งมีพื้นที่แคบ พูดถึงความปวดร้าว เจ็บปวดในพื้นที่แคบ”

 

การแสดง Performance art [ศิลปะการแสดงสด] ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564  เขาปีนไปบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และใช้น้ำสีแดงสาดใส่ตัว โดยมีการแสดงท่าทางต่างๆ บนป้ายชื่อ ซึ่งด้านบนมีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ตามคำฟ้องของอัยการระบุว่า เขามุ่งประสงค์ให้น้ำสีแดงกระเด็นไปเลอะพระบรมฉายาลักษณ์ด้านบนและท่าทางในการแสดงไม่ว่าจะการห้อยขา นั่งยอง ๆ แสดงท่าครุฑ และนอนหงายใช้เท้าขวาชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย นอกจากคดีนี้แล้วรามิลยังถูกดำเนินคดี 112 อีกหนึ่งคดีจากการแสดงศิลปะธงคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน

 

ศิลปะว่าด้วยมาตรา 112 ของเขาไม่ใช่แค่จัดแสดงเสร็จแล้วจบไป แต่มันสร้างความหมายด้วยการรอปฏิกิริยาจากสาธารณชน ที่ผ่านมารามิลไม่เคยทำสัญลักษณ์ 112 แล้วขีดฆ่าอย่างที่หลายคนทำ

 
“เราก็เขียน 112 ไม่ได้ขีดฆ่า ร่องรอยของมันจะถูกจารึกไว้ ปรากฏขึ้น มันก็ถูกคิดไว้แล้วแหละว่า มันจะถูกลบ แต่มันไม่ไช่โดยเรา การถูกลบคือ ตัว Perform [การแสดง] ที่เกิดหลังจากการ Perform [การแสดง] เสร็จจากคนที่อยู่ตรงนั้นอาจจะเป็นแม่บ้าน ซึ่งอาจจะไม่ได้แคร์อะไรว่า จะลบหรือไม่ลบ แต่กูถูกสั่งให้มาลบ การปรากฏขึ้นแบบนี้...คนที่คุณลอยตัวกับสิ่งนี้ การปรากฏขึ้นของสิ่งนี้คุณเองก็ต้องการที่ลบมัน ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีงามมากๆมันจะถูกจารึกไว้อย่างนั้น แสดงว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เราไม่รู้เราไม่ได้พูดแบบนั้น มันก็เป็นภาพอีกภาพหนึ่งเลยที่เราอยากให้คนเห็นว่า สิ่งใดสิ่งสิ่งหนึ่งที่มันถูกเทิดทูนเอาไว้ถูกบอกว่า มันเป็นสิ่งที่น่าเคารพสักการะบูชา ยังไงก็ตามแต่ บางอย่างที่มันปรากฏขึ้น ความต่ำทราม ความชั่วช้า ความดีงามที่มันปรากฏขึ้นในท้ายที่สุดคนที่ตัดสินมันคือ สาธารณชน”

 

2824

 

2823


กับศิลปะ...อาวุธที่ยังเหลืออยู่เพื่อเปลี่ยนโลก

 

 

ตอนนั้นเองที่โปสการ์ดเจ้าชายน้อยเริ่มเป็นรูปร่าง ขาดแค่ดวงตาอย่างเดียวแล้ว รามิลควานหาบุหรี่และไฟแช็คเดินไปที่ริมหน้าต่างห้องเตรียมจุดบุหรี่สูบ ฉันถามคั่นคำถามเดิม ๆ ที่เขาตัดบทมาหลายครั้งอย่างความหมายของงาน Performance art [ศิลปะการแสดงสด] และชิ้นงานที่ชอบที่สุด 

 


“ถามว่า เราชอบงานไหน เรารู้สึกว่า เราไม่ถือดีว่า ตัวเองทำอะไรไว้ดีแล้ว ถ้าชีวิตรู้สึกว่า สิ่งที่ทำมาดีแล้วคือชีวิตแม่งไม่มีการพัฒนา รู้สึกว่า ชีวิตมันก็ Challenge [ท้าทาย] ไปเรื่อยๆ ถ้างานไหน ถามคนดูแล้วกันว่า เขาชอบงานไหน ไม่ได้ชอบงานไหน เราไม่ได้แอบอยู่หลังงานตัวเองว่า ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราชอบไม่ได้หมายความว่า คนชมชอบ สิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้หมายความว่า เราเข้าใจตรงกัน”
 
“สมมติมีใครทำงานเกี่ยวกับหมอกควันอะไรแบบนี้ โอะ ศิลปะมันจะนะ หมอกควันอันนี้ เชียงใหม่ เรารู้สึกว่า การที่มึงหยิบปัญหาหมอกควันขึ้นมาได้เพื่อที่จะมาขายตรงงานศิลปะของมึง สิ่งเหล่านี้มึงได้ผลกระทบภาพสังคมการเมืองอยู่แล้ว มันเป็นความกระจอกของมึงที่จะไม่พูดเรื่องสังคมการเมืองอย่างตรงไปตรงมา อุ้ย ด่าชาวบ้านแรงอยู่นะ คือแบบชีวิตคนเรามันไม่ได้แยกขาดออกจากกัน วันนึงเราค้นพบว่า เราแม่งไม่มีปัญญาที่จะจัดงานชุมนุมขนาดใหญ่ขึ้นในเชียงใหม่ได้แล้วแต่เรายังคงมีสิ่งที่จะทำได้อยู่ ซึ่งการทำงาน Performance art [ศิลปะการแสดงสด] เรารู้สึกว่า สิ่งนี้มันควรหยิบมาใช้พูดถึงงานบางอย่างแล้วโลกทั้งสองโลก โลกที่เป็นการเมืองและศิลปะที่เหมือนจะแยกขาดจากกัน มันคือสิ่งที่ต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน เราไม่สามารถเป็นศิลปินคนหนึ่งแล้วเดินออกไปม็อบแล้วบอกว่า ตัวเองกำลังสนับสนุนสิ่งที่กำลังเรียกร้องได้ ถ้าโลกที่ตัวเองรักษาอย่างแข็งขันอยู่นั้นไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากสิ่งนั้นไปด้วย”

 

2822

 


เมื่อด่าชาวบ้านเสร็จ เขาก็จุดบุหรี่ขึ้นมาสูบทอดอารมณ์ แม้จะบอกว่า ไม่ได้ชอบชิ้นไหนเป็นพิเศษแต่ก็มีบางงานที่เขารู้สึกดีจนอยากเล่าให้ฟังคือ การต่อล้อต่อเถียงกับศิลปะที่สนับสนุนรัฐ อย่างเรื่องอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ซึ่งเงินที่รัฐอุดหนุนให้ในปีดังกล่าวอยู่ที่ 21 บาทต่อคนซึ่งไม่เพียงพอ หลายโรงเรียนต้องใช้การสนับสนุนจากภายนอกเพื่อให้ได้อาหารที่เหมาะสมกับเด็กนักเรียน
 


“มันมีอยู่งานหนึ่งที่มาออกแบบอาหารกลางวันเด็ก 21 บาท ทำยังไง มึ้งงงง อาหารกลางวันเด็กประถมคือ 21 บาท มึงกำลังทำ Propaganda [โฆษณาชวนเชื่อ] ให้กับรัฐ สิ่งทีมึงต้องทำคือ เพิ่มเงิน คือตัวมึงเองที่ไปรับใช้รัฐแบบนั้น มันทำให้รัฐดูดีขึ้น ทำไมเราต้องทำสิ่งนี้ด้วย ก็เข้าไปต่อล้อต่อเถียงเลยตัดภาพสวยๆ มาใส่ในถาด ใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้น วันหนึ่งเราเป็นเพื่อนกันคุยกันได้แต่วันหนึ่งมึงไปเป็นเอเจนซี่ให้กับรัฐต้องมาเถียงกูด้วยหรอ สิ่งที่กูพูดมันไม่ใช่ยังไง เป็นมึงมึงกินได้ไหม 21 บาทนะ คำถามเบสิคเลยอ่ะ โอเคล่ะมึงกำลังทำงานเพื่อจะตอบโจทย์แหล่งทุนบางอย่าง แต่ถามว่า 21 บาทตัวมึงยังกินไม่ได้เลย ประสาท”
 

2832

 

บทสนทนาของพวกเราจบลงพร้อมๆ กับที่โปสการ์ดเจ้าชายน้อยเสร็จสิ้น วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 จากการทำ Performance art [ศิลปะการแสดงสด] ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และรอพิพากษาอีกคดีหนึ่งในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 การเดินทางของเขาในห้องที่มีแต่ ‘พวกผู้ใหญ่’ ยังไม่จบสิ้นเช่นเดียวกับใครอีกหลายคน

ชนิดบทความ: