ชีวิตที่รอวันโบยบินของ ‘ไปป์’ ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ‘หนุ่มเมืองนนท์’ ผู้โดน ม.112 คดีลักกรอบรูปฯ

เสียงเลื่อนเปิดประตูร้านอาหารอีสานย่านนนทบุรีในบ่ายของวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ดังลั่น ทว่าเสียงนี้ไม่ใช่เสียงของการเริ่มต้นการทำงานของคนทั่วไป แต่คือการเริ่มต้นวันของ ‘ไปป์’ ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ผู้ต้องหาคดี ม.112 จากกรณีถูก ‘พลเมืองดี’ ร้องทุกข์กล่าวโทษ เพราะลักเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น ไปโยนทิ้งน้ำที่คลองบางตลาด จังหวัดนนทบุรี ทำให้การเปิดประตูร้านอาหารอีสานที่เพิ่งเปิดกิจการของเขาได้ไม่นานในวันนี้ เป็นอีกเพียงสี่วันสุดท้ายก่อนถูกเรียกไปฟังคำพิพากษา ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2566

เขาอาจจะได้ยินเสียงเปิดประตูร้านตัวเองเช่นนี้ได้อีกไม่นานนักหากศาลตัดสินให้เขามีความผิด แต่การพูดคุยในบ่ายวันนั้นก็แสดงให้เห็นว่าเขายังมีความหวัง แววตาที่เปร่งประกายของความแน่วแน่ในเส้นทางข้างหน้ายิ่งทำให้บทสนทนาเพื่อสำรวจอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของไปป์น่าสนใจขึ้นเป็นเท่าทวี

พวกเรานั่งมองบรรยากาศของร้านอาหารที่เต็มไปด้วยรูปภาพหลายสิบรูป ซึ่งต่อมาภายหลังการสนทนาจะค้นพบว่าเป็นฝีมือการจรดแปรงของเขาเองทั้งสิ้น แม้แต่โต๊ะไม้หลายตัวก็ตอกตะปูด้วยแรงกาย และต้องมือเปรอะเลอะปูนบางจุดด้วยตนเองเพื่อซ่อมแซมอาคารเช่า เรียกได้ว่าบทสนทนาวันนี้กำลังเกิดขึ้น ณ ความฝันอันมีชีวิตและกำลังหายใจของไปป์ ผู้ใช้ทุกหยาดเหงื่อแรงกายในการสร้างฝันให้เป็นจริง

 

นักดนตรี นักศิลปะ และนักทำอาหารมือฉมัง

แม้ว่าสังคมจะจดจำไปป์ในฐานะ ‘หนุ่มเมืองนนท์’ ผู้ลากกรอบรูปพระบรมฉายาลักษณ์ไปตามพื้นถนนเป็นระยะทางกว่า 190 เมตรเพื่อโยนทิ้งน้ำในกลางดึกทั้งที่ยังมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ทว่าชีวิตของเขามีเรื่องราวมากกว่านั้นที่น้อยคนจะรู้จัก บทสนทนาวันนี้จึงไม่รีรอที่จะถามถึงตัวตนของ ‘ไปป์ มือกลอง’ และ ‘ไปป์ พ่อครัว’ มากกว่ารายละเอียดของ ‘ไปป์ หนุ่มเมืองนนท์’ ที่ถูกสื่อพูดถึงประหนึ่งคนห่างไกลตามพาดหัวข่าวทั่วไป

“ผมเป็นนักดนตรีกลางคืน เป็นมือกลองเพลงโฟล์คทั่วไป แต่สากลก็เล่นได้”

เขาตอบเมื่อถูกถามว่าช่วงที่ผ่านมาทำอาชีพอะไรอยู่ เขาหันมาเล่นดนตรีเป็นอาชีพอย่างจริงจังครั้งแรกไม่กี่ปีก่อนเพราะทำให้สามารถได้เงินไวในแต่ละคืน อย่างไรก็ตามวงดนตรีวงแรกที่เขาร่วมเล่นด้วยต้องยุติลงในช่วงปี 2564 เพราะมือกีต้าร์มีความเชื่อทางการเมืองที่อยู่คนละฝั่ง จนสุดท้ายไปป์ก็ได้ไปเจอสมาชิกวงใหม่ๆ ที่เข้ากันได้ดีมากกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของการทำสองอาชีพไปพร้อมๆ กันเพื่อสร้างฐานะ

“ร้านอาหารเป็นธุรกิจของแฟนที่สืบทอดมาจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ ผมเองก็ชอบกินอาหารอีสานด้วย ตอนนี้อายุก็มากขึ้นแล้วจะไปเล่นดนตรีก็คงทำให้ไม่มีเวลาเยอะ”

เขาอธิบายถึงที่มาที่ไปของร้านอาหารอีสานที่ครอบครัวของเขากำลังทำ ซึ่งเต็มไปด้วยอาหารขึ้นชื่อของภูมิภาค ตั้งแต่จิ้มจุ่ม ลาบก้อย ส้มตำ และที่เด็ดที่สุดคือเนื้อย่างรสชาติฉ่ำ เขายืนยันว่าวัตถุดิบของร้านนี้เป็น ‘โฮมเมด’ ทุกอย่าง ไม่มีการใช้วัตถุดิบสำเร็จรูปมาประกอบ ที่สำคัญสูตรอาหารยังเป็นสูตรที่สืบทอดต่อกันมาทางครอบครัวของแฟนอีกด้วย

การทำสองอาชีพพร้อมกันเช่นนี้ทำให้เขาต้องตื่นเช้าเพื่อเตรียมร้านอาหารให้พร้อมสำหรับการเปิดรับลูกค้าที่จะมาถึงในช่วง 16.00 น. เป็นต้นไป พอตกดึกก็ต้องขับรถกลับบ้านเพื่อนำกลองไฟฟ้าไปเล่นยังร้านอาหารอีกแห่ง ก่อนจะกลับมายังร้านของตนเองเพื่อเก็บของและล้างจาน จนได้นอนไม่ค่อยเพียงพอนัก

อย่างไรก็ตามทั้งการเป็นนักดนตรีและพ่อครัวที่มีร้านอาหารเป็นของตัวเองนั้นยังไม่ใช่อาชีพในฝันของเขาเสียทั้งหมด โดยเขาตอบคำถามนี้ว่า “เกือบถึงฝันแล้ว ตอนเด็กอยากมีร้านอาหารหรือสตูดีโอเป็นของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วผมอยากเป็นศิลปินวาดรูป”

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ไปป์เรียนจบคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจาก ‘ถนอม ชาภักดี’ นักปฏิบัติการทางศิลปะแห่งลุ่มน้ำโขงชีมูล และ ‘สมเกียรติ ตั้งนโม’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอันโด่งดัง ต่อมาเขาได้ทุนเรียนต่อระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยศิลปากรถึงประเทศไต้หวัน แต่ก็ได้ลาออกเมื่อกลับมาประเทศไทยไม่นานนัก

การกลับมาอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ทำให้เขาได้เห็นว่าการเมืองมีผลต่อชีวิตของผู้คนมากขนาดไหน โดยเฉพาะหลังจากถูกแจ้งความในคดีร้ายแรงอย่าง ม.112 ก็ยิ่งเน้นย้ำให้เขาเห็นถึงช่องว่างทางกฎหมาย จนทำให้หลายคนต้องเสียโอกาสในชีวิต

“บางทีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เอามาทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ จนทำให้ชีวิตของใครบางคนเปลี่ยนไปสิ้นเชิงแบบนี้อีก… บางอย่างยิ่งทำให้กลัว มันก็จะยิ่งดื้อยิ่งต่อต้าน แทนที่จะมีไว้แล้วไม่ต้องถูกใช้พร่ำเพรื่อ”

 

จากวันที่โดนจับถึงวันพิพากษา ชีวิตที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรงจนไร้ปีกจะโบยบิน

“เขาก็เคยเตือนแล้วว่า อย่าคิดหรือทำอะไรประหลาดๆ ไร้สติ แต่ช่วงนั้นคนมันแรงและขาดสติ” ไปป์เล่าให้ฟังถึงกำลังใจจากคนรอบข้างในวันที่เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกไปยังที่พัก อย่างไรก็ตามกำลังใจเหล่านี้ยังคงล้นเปี่ยมหลังชีวิตต้องเลี้ยวเข้าสู่การต่อสู้คดีในชั้นศาล

“วันนั้น (วันที่ 10 สิงหาคม 2564) ผมไปฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้ามาก่อนด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเคาะห้องเสียงดังพร้อมเรียกชื่อตอนผมนอนซม ตอนนั้นคิดในใจแล้วว่าใช่แน่นอน” เขาเล่าให้ฟังถึงการจับกุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเดินทางมาหาเขาถึงสามคันรถกับอีกสองรถกระบะ การบุกจับครั้งนี้ไม่มีการแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ แจ้งยศ แสดงหมายค้น หรือหมายจับแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นสภาพของไปป์ที่กำลังตัวร้อนเพราะการฉีดวัคซีนและเพิ่งลุกจากเตียงขณะใส่เพียงกางเกงนอน จึงปล่อยให้เขาได้อาบน้ำแต่งตัวให้เรียบร้อยก่อน และยืนยันที่จะไม่สวมใส่กุญแจมือเพราะทราบมาว่าเขาเรียนจบปริญญาตรี “เจ้าหน้าที่บอกว่า เห็นว่ามีการศึกษาเลยจะไม่จับผมใส่กุญแจมือ”

“ตอนอยู่ใต้ฝักบัวคิดว่า กูโดนแล้วแหละ คนอื่นๆ ที่อาจจะช่วยเหลือได้ก็ยังไม่รู้จัก คิดในใจว่าติดคุกแน่ๆ” นั่นคือวินาทีแรกที่ไปป์ได้อยู่กับตัวเองก่อนอิสรภาพจะถูกริบหายหลังเดินก้าวขาพ้นประตูห้องน้ำ ต่อมาได้มีทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโทรหาเขา เนื่องจากมีเพื่อนบ้านถึงสามคนแจ้งเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้เรื่องราวของเขาไปถึงหูของสังคมด้วยในเวลาต่อมา จุดนี้ไปป์กล่าวว่าต้องขอบคุณเพื่อนบ้านทุกคนที่เป็นหูเป็นตากัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำให้เรื่องของเขาส่งไปถึงทนายสิทธิฯ มิเช่นนั้นเขาคงถูกจับไปแบบเงียบๆ ไม่มีใครรู้

“น้องวันหนึ่ง” หมาพันธ์ยอร์กผสม ผู้ตามไป สภ.รัตนาธิเบศร์ ในวันแรกที่ไปป์ถูกจับกุม

ต่อมาเมื่อถามถึงบรรยากาศของการถูกฝากขังไปป์เล่าว่า เขาไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่นัก แต่บรรยากาศภายในห้องขังกลับเต็มไปด้วยความวังเวง สภาพความเป็นอยู่ก็ไม่ดีเท่าที่ควร ตัวอย่างสำคัญ คือ การมีมดจำนวนมากคอยมาแย่งอาหารและกัดต่อย อย่างไรก็ตามไปป์มีเพื่อนร่วมห้องขังเป็นชาวโรฮิงญาสองคน ชาวเมียนมาอีกสองคน โดยทั้งสี่คนนี้ถูกฝากขังมาก่อนไปป์ถึงสามเดือนแล้ว พวกเขาต่างแบ่งปันอาหารและหมอนให้เขา รวมทั้งยังแบ่งปันยาสีฟันและวิธีไล่มดด้วยผงแป้งให้อีกด้วย ซึ่งไปป์กล่าวว่าสิ่งนี้เป็นหนึ่งในความประทับใจในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด

“ผมถามพวกเขาก่อนได้ออกไปว่าอยากกินอะไรไหม พวกเขาอยากกินลาบและก้อย ผมก็เลยกลับไปทำมาให้พวกเขา ซ่อนบุหรี่หนึ่งซองไปในข้าวเหนียวด้วย พวกเขาน้ำตาไหลเลย เพราะไม่เคยมีใครออกไปแล้วยังกลับมาหากันแบบนี้”

“ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร ช่วงแรกที่โดนคดีจะมีเจ้าหน้าที่คอยขับผ่าน มาดูแล มาทักทายแบบกึ่งเป็นมิตรหน่อย” ไปป์หัวเราะเมื่อถูกถามว่าการถูกร้องทุกข์กล่าวโทษจากพลเมืองดีทำให้วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

“จริงๆ ผมอยากไปเปิดร้านอาหารหรือทำงานศิลปะที่ต่างประเทศ แต่ถ้าผมไปเลยก็เท่ากับผมหนีคดี ผมก็คงไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้อีกเลย” ไปป์พูดถึงความฝันสูงสุดที่เขาอยากทำหากชีวิตไม่ถูกคดีความ ม.112 ติดพันให้ต้องอยู่ต่อสู้คดีที่ประเทศไทยเสียก่อน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเขามีศักยภาพเพียงพอที่จะไปทำตามความฝันได้

“ผมพูดภาษาเยอรมันได้ พูดภาษาอังกฤษก็ได้ มีเพื่อนชาวฝรั่งเศสหรือเยอรมันหลายคนชวนไปอยู่ แต่ผมบอกเขาว่าถ้าไปแล้วจะกลับบ้านไม่ได้อีกตลอดชีวิต คุณแม่ผมก็อายุมากแล้ว ผมอยากอยู่ดูแลครอบครัว”

แสงในแววตาของเขาสั่นคลอนลงเล็กน้อยเมื่อพูดถึงสิ่งที่เสียดายที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิต การมีคดีความติดตัวทำให้เขาไม่สามารถพาชีวิตตัวเองออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในต่างแดนได้แม้มีความสามารถเพียงพอที่จะไปถึง การหลบหนีไปตอนนี้จะทำให้เขาต้องพยายามเข้าสู่สถานะผู้ลี้ภัยและคงไม่ได้กลับมาดูแลครอบครัวอีก สิ่งที่เขายืนยันต่อความฝัน ณ เวลานี้จึงเหลือเพียง ต่อสู้คดีให้จบ แล้วใช้ชีวิตแบบเดินทางไปๆ กลับๆ ระหว่างต่างประเทศและประเทศไทยเพื่อทำมาหากินและดูแลครอบครัวเพียงเท่านั้น

 

ความหวัง ความฝัน และชีวิตหลังพ้นพันธนาการ

“ถ้าผมท้อแท้ผมคงไม่ตัดสินใจเปิดร้านอาหารก่อนถึงวันฟังคำพิพากษา มันต้องมีความหวัง และผมจะใช้ชีวิตปกติตามเดิม”

ไปป์พูดถึงแรงใจของตนเองเมื่อถูกถามว่า กลัวคำพิพากษาของวันที่ 1 มิถุนายน 2566 แค่ไหน โดยสาเหตุของพลังใจทั้งหมดมาจากการที่เขาเชื่อว่า การต่อสู้คดีจะจบลงด้วยดีจากความช่วยเหลือของหลายฝ่าย ขณะเดียวกันหากศาลชั้นต้นพิพากษาให้เขามีความผิด เขาก็ยังยืนยันว่าจะต้องต่อสู้ไปให้ถึงที่สุด พร้อมกล่าวย้ำว่า “ถ้าที่สุดแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร ก็ยังดีกว่าการที่ผมหนีไปเสียเฉยๆ”

“ตอนนี้รอดูศาลพิจารณาอีกที เห็นว่าหลายคดีก็ยกฟ้อง หลายคดีที่ถูกพิพากษาไปแล้วก็ยื่นอุธรณ์ได้ ยื่นประกันได้ ผมก็รอลุ้นให้เป็นอย่างหลัง จะได้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติสักที เพราะผมก็ไม่ได้ทำอะไรรุนแรงอย่างการไปฆ่าคนหรือทำเว็บพนันนี่ครับ”

ปัจจุบันนี้ไปป์ไม่ถือโทษโกรธแค้น ‘พลเมืองดี’ ผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเขาจนทำให้โอกาสหลายอย่างในชีวิตเขาหายไป จากการสอบถามพบว่าก่อนหน้านี้ทั้งคู่ต่างรู้จักกันดีอยู่ โดยประชาชนคนนั้นเป็นหนึ่งในกรรมการหมู่บ้านประชาชื่น ซึ่งพวกเขาได้เจอกันอีกครั้งในชั้นศาลช่วงของการสืบพยาน ไปป์เล่าว่าอีกฝ่ายมีท่าทางตกใจเหมือนเห็นผีเมื่อต้องมองหน้าของเขา 

อย่างไรก็ตามในการสืบพยานครั้งสุดท้ายกรรมการหมู่บ้านคนนั้นไม่สามารถมาร่วมได้เพราะตรวจพบว่า ตนเองกำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย “ช่วงแรกผมโกรธเขานะ แต่ตอนนี้หลายปีแล้วผมก็เฉยๆ แล้ว ถ้าได้เจอกันอีกผมก็คงอยากบอกเขาว่า ผมขอโทษที่ขโมยกรอบรูปเขา แล้วก็ให้ปล่อยวางได้แล้ว เดี๋ยวเขาจะเก็บมาเครียดจนเสียไปด้วยความคิดอะไรก็ไม่รู้ติดไป”

“ตอนนี้ทิศทางการเมืองหลังเลือกตั้งก็เหมือนจะดีขึ้น หรือไม่ก็ซับซ้อนกว่าเดิม ผมไม่แน่ใจ แต่คิดว่าน่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเยอะแน่นอน” ไปป์มองว่าการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2566 จะส่งผลโดยตรงต่อบรรดาผู้ต้องหาคดีการเมือง อย่างไรก็ตามเขายังเผื่อใจเอาไว้บ้างว่า การเมืองอาจจะบีบให้บางครั้งต้องมีการ ‘ดื้อ’ หรือบางครั้งก็ต้องมีการ ‘ตามน้ำ’ บ้าง ทำให้ทั้งตัวเขาเองและคนอื่นๆ ควรจับตามองทั้งรัฐบาลใหม่และท่าทีของศาลต่อไป 

ตอนนี้เขาวางแผนระยะสั้นในชีวิตไว้ว่า หลังคดีจบลงจะกลับมาดูแลร้านอาหารอีสานของครอบครัวอย่างเต็มตัวและอาจจะหยุดเล่นดนตรีกลางคืน ขณะเดียวกันก็โหยหาการกลับไปเดินตามเส้นทางศิลปินทั้งงานวาดรูปและงานปั้นเพื่อสานความฝันครั้งเก่าต่อไป อย่างไรก็ตามไปป์ยืนยันว่าจะไม่หยุดการแสดงออกทางการเมืองแน่นอนแม้จะรอดพ้นจากคดีนี้ไปแล้ว 

“อะไรที่ผมคิดว่าไม่ยุติธรรม หรืออะไรที่ผมคิดว่ายังสามารถทำเพื่อคนอีกหลายคนได้ ก็จะทำไปตลอด ผมคิดมานานแล้วว่าทุกวันนี้สิ่งที่ผมทำไม่ใช่ทำเพราะความสนุก ถ้าทำเพราะความสนุกผมคงไปทำอย่างอื่นแล้ว แต่ผมทำเพราะว่าความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ การโดนเอารัดเอาเปรียบมันเกิดขึ้น และพวกเราก็เห็นกันมาตลอดชีวิต”

สุดท้าย เราได้ถามไปป์ถึง ‘โลกที่ไปป์ใฝ่ฝันถึง’ พร้อมหยอดคำถามพ่วงไปว่า “หากโลกนั้นไม่มาถึงในรุ่นเราตามที่เรามักพูดกัน ไปป์จะรับได้มากน้อยแค่ไหน” ซึ่งทำให้ประกายไฟในแววตาของไปป์กลับมาอีกครั้ง 

“ผมอยากให้ประเทศไทยมีความเท่าเทียมกันมากกว่านี้ อยากเห็นระบบสวัสดิการ อยากเห็นนักการเมืองจัดการปัญหาเรื่องนี้ให้ดี รวมถึงปัญหาเด็กเส้น ตั๋วช้างด้วย รุ่นพ่อรุ่นแม่เรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่พอรุ่นเราทำให้เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นหูเป็นตากันขึ้นมา ก็โดนข้อหากัน โดนติดตาม โดนทำร้ายร่างกาย ผมคิดว่าไม่ควรเกิดเรื่องพวกนี้ขึ้น”

เขาตอบด้วยน้ำเสียงที่แน่วแน่และยืดตัวตั้งตรงตามกระดูกสันหลังขณะตอบคำถาม ความจริงจังและจริงใจของคำตอบเพิ่มขึ้นอีกเท่าทวี  “ถ้าโลกที่ฝันถึงไม่สามารถเป็นจริงได้ในรุ่นเราขึ้นมา ผมก็อยากเป็นประกายไฟเล็กๆ ให้คนรุ่นหลังหากคนรุ่นเราจุดไม่ติด ผมยืนหยัดที่จะต่อสู้ที่นี่ไม่ไปไหน อยู่ที่นี่สู้ที่นี่ เพราะก็มีหลายคนที่จะอยู่สู้เพื่อผมเช่นกัน”

หลังคำตอบสุดท้ายอันเป็นการปิดการสัมภาษณ์ เสียงหัวเราะของเขากลับมาขณะนั่งมองรูปเหมือนของ ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ ที่เขาเป็นคนวาดด้วยตนเอง