คุยกับสามว่าที่ส.ส. ที่กำลังจะเข้าสภา พร้อมระเบิดเวลาคดีมาตรา 112

12 มิถุนายน 2566 ที่สำนักงาน iLaw จัดเวทีเสวนาพูดคุยกับสามว่าที่ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นนักกิจกรรมและกำลังต่อสู้คดีมาตรา 112 ในชั้นศาล ว่าคดีของพวกเขากำลังดำเนินไปอย่างไร และจะมีความเสี่ยงกระทบต่อที่นั่งในสภาและการจัดตั้งรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน ร่วมพูดคุยกับชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ส.ส. ปทุมธานี เขต 3, รักชนก ศรีนอก ว่าที่ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 28 และ ปิยรัฐ จงเทพ ว่าที่ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 23 ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 

2566-06-12 21

ไอซ์-รักชนก ถูกดำเนินคดี ม.112 จากรูปภาพที่คนอื่นส่งในไลน์กลุ่ม

รักชนก ศรีนอก เล่าถึงคดีของตนว่า คดีที่โดนฟ้องเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 2563 – 2564 ตนได้รับหมายศาลคดี มาตรา 112 ควบคู่กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  สถานการณ์คดีของตนตอนนี้สืบพยานปากสุดท้ายไปเมื่อเช้า ตอนนี้สืบพยานเสร็จสิ้นเหลือรอคำพิพากษาที่จะออกมาในเดือนตุลาคมนี้ 

รักชนกเล่าถึงประสบการณ์ว่า เมื่อย้อนกลับไปตอนไปศาลครั้งแรก เท่าที่จำความได้มีการไปรายงานตัวเพื่อรอประกัน ซึ่งตนนั่งรอตั้งแต่แปดโมงเช้า เหมือนติดคุกไปหนึ่งวัน จะขอเอาหมอนเข้าไประหว่างนั่งรอเพราะตนมีอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ก็เอาเข้าไปไม่ได้ การกำหนดท่านั่งที่ต้องนั่งหลังตรงเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะร่างกาย

ส่วนที่มาของคดี มาตรา 112 รักชนกเล่าว่า มีคนส่งรูปไปในกลุ่มไลน์ โดยในภาพที่ส่งนั้นไม่ใช่ข้อความที่ตนโพสต์แต่มีชื่อแอคเคานต์ของตนติดอยู่ จากนั้นก็มีผู้นำภาพข้อความดังกล่าวไปแจ้งความ ซึ่งในศาลตนก็ได้พิสูจน์ไปว่าไม่ใช่คนโพสต์ โดยส่วนตัวรักชนกมองคดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า หลักฐานอ่อนมาก มีเพียงรูปใบเดียว ไปหาหลักฐานโพสต์ต้นทางก็ไม่เจอ แม้โดยสภาพจะดูหลักฐานอ่อน ตนก็ต้องถูกดำเนินคดีเพราะมีคนกล่าวหา 

ว่าที่ ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 28 กล่าวต่อไปว่า ในทางปฏิบัติแล้ว คดีมาตรา 112 ศาลจะรับฟ้องทั้งหมด และคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่หลายคนทราบว่ามีปัญหาด้วยสัดส่วนการกระทำผิดกับโทษมันไม่ได้สัดส่วน แล้วกฎหมายมาตรานี้ข้อความค่อนข้างคลุมเครือ ตีความได้หลายระดับ เช่น คำว่าหมิ่นประมาท หรือคำว่าแสดงความอาฆาตมาดร้าย

รักชนกเล่าต่อไปว่า การถูกดำเนินคดี ด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจภายใน ทำให้รู้สึกเหมือนมีโซ่ตรวนมาล่ามขา ผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี ทำให้ตนต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยาเพื่อแก้อาการเครียดวิตกกังวล แม้ผลคดีจะยังไม่จบ ต้องรอว่าจะออกเป็นอย่างไรแต่ด้วยความที่ไม่เคยโดนคดีมาก่อนจึงทำให้เกิดความเครียด 


อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่ง ก็มองว่าตนได้เรียนรู้ว่าถ้าหยุดแสดงความคิดเห็นมันก็จะเป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ การที่เราเห็นความย่ำแย่ของประเทศเป็นแบบนี้เราก็ต้องสู้กลับ แสดงให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไร แต่คุณไม่สามารถทำลายความหวังของเราได้ และเมื่อได้พูดคุยกับนักเคลื่อนไหวคนๆ อื่นที่สู้มาก่อนและโดนคดีมากกว่า รักชนกเห็นแววตาของพวกเขาที่ไม่มีความหวาดกลัวหากเทียบกับตนที่โดนแค่คดีเดียวเป็นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ที่สู้มาก่อนทำมาก่อนโดนมาก่อน 

“ถ้าสมมติต้องโดนคดียัดข้อหาต้องติดคุกเสียเวลาชีวิตไปห้าปีสิบปี แต่ถ้าสุดท้ายแล้วมันสามารถไปสั่นกระดิ่งในใจของผู้คนได้ว่านี่แหละคือความไม่ยุติธรรม แล้วทำให้เขาตื่น มันทำให้เขาตาสว่าง ยอมมองอะไรที่มันเป็นอยู่มากขึ้น แล้วเราต้องเสียชีวิตไปห้าปีสิบปีก็ไม่เป็นไร”

“เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง หลายๆคนเสียสละมากกว่าเยอะ แค่นี้มันเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่นที่เขาทำมาก่อนสู้มาก่อนโดนมาก่อน”


ลูกเกด-ชลธิชา เจอศาลเลื่อนเวลาสืบพยานเร็วขึ้นแม้ทนายไม่ว่าง จนต้องสืบพยานโดยไม่มีทนาย


ชลธิชา แจ้งเร็ว กล่าวว่า ตนถูกดำเนินคดีทั้งหมด 28 คดี แต่สำหรับคดี มาตรา 112 มีสองคดี
โดยคดีแรกเกิดจากเหตุการณ์เข้าร่วมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ทำกิจกรรมราษฎรสาส์น ส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์และโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในประเด็นที่เขียนคือเรื่องของผู้ที่ถูกอุ้มหายเจ็ดคนในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ซึ่งเป็นหนึ่งกลุ่มที่เคยพูดถึงเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  ชลธิชากล่าวว่า รู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะโดนดำเนินคดี มาตรา112 แต่ตัดสินใจโพสต์เพราะทนไม่ได้ว่าจะต้องอยู่ในสังคมเดิมๆ ที่รู้ถึงต้นตอปัญหาที่สมควรได้รับการพูดถึงแต่ไม่เคยได้รับการพูดถึง ทำใจไว้อยู่แล้วว่าต้องโดนดำเนินคดีและต้องติดคุกแน่นอน แต่คดีนี้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแค่ไปรับทราบข้อกล่าวหาปกติ

ต่อมาในปี 2565 ชลธิชาประกาศตัวว่าจะลงสมัคร ส.ส.ปทุมธานี ก็ส่งผลให้ถูกเรียกตัวถี่ขึ้นจากทุกหนึ่งเดือนเป็นทุก 15 วันและเป็นการฟ้องคดีมาตรา 112 คดีแรกที่ถูกศาลตั้งเงื่อนไขการประกันตัวให้ติดกำไล EM และติดเคอร์ฟิว ซึ่งในระหว่างกระบวนการเคยได้ทำหนังสือคัดค้านว่าไม่ประสงค์จะติดกำไล EM และตามหลักการแล้ว ศาลควรพิจารณาตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประกันตัวเป็นอย่างไรมีการหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ ในเมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่าตนจะมีพฤติการณ์อย่างนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอยู่แล้วที่ตนต้องเข้าเงื่อนไขนี้ ซึ่งต่อมา ชลธิชาก็ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านยกเลิกการบังคับใช้กำไล EM แก่ผู้ต้องหาทางการเมืองซึ่งไม่เข้าเหตุที่จำเป็นต้องติดเงื่อนไขประกัน สุดท้ายได้ถอดกำไล EM ก่อนเลือกตั้งไม่กี่เดือน 

“ต้องบอกตามตรงว่าหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้เกดได้ถอดกำไล EM ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นเพราะน้องตะวันกับน้องแบม และผู้ต้องหาคดีทางการเมืองหลายคน เยาวชนคนหนุ่มสาวหลายๆคนที่ออกมาพยายามเรียกร้องแสดงจุดยืนให้สังคมเห็นความเน่าเฟะของกระบวนการยุติธรรม ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงผู้พิพากษามากขึ้น”

สำหรับคดีนี้ ค่อนข้างซับซ้อนเนื่องจากมีปัญหาว่าศาลสั่งเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น ว่าที่ ส.ส. ปทุมธานีเล่าว่า การสืบพยานในคดีแรก เดิมมีนัดสืบพยานช่วงต้นปี 2567 หลังจากที่อัยการฟ้องช่วงมิถุนายน 2565 ศาลก็นัดพร้อม ซึ่งการนัดพร้อมและนัดไต่สวนพยานหลักฐานและเป็นวันที่กำหนดว่าสืบพยานวันไหน  และได้กำหนดร่วมกับอัยการว่า วันนัดสืบพยานปี 2567 เนื่องจากทนายความของชลธิชาติดภารกิจคดีอื่น และมีการแจ้งพร้อมยื่นพยานหลักฐานให้ศาลทราบเรียบร้อย แต่มาเกิดความผิดปกติในคดีนี้คือ ศาลสั่งเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้นเป็นเดือนมิถุนายน 2566 ทั้งๆ ที่ทนายความแจ้งไปแล้วว่าติดภารกิจที่ศาลอื่น แต่ศาลก็ยืนยันที่จะให้มีการสืบพยานต่อ ชลธิชาจึงขอปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้นและขอเปลี่ยนผู้พิพากษาทั้งองค์คณะแต่โดนยกคำร้องและศาลใช้วิธีสืบพยานต่อไปโดยที่ไม่มีทนายความของจำเลยนั่งอยู่ในห้องพิจารณาความ ผลสุดท้ายศาลยอมให้เลื่อนวันนัดสืบพยานออกไป

“ปกติแล้วถ้าจะเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น คุณควรที่จะต้องปรึกษาหารือสองฝ่าย ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเพื่อให้ได้วันนัดที่ตรงกันสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นความผิดปกติในคดีนี้คือ… ผู้พิพากษาให้เจ้าหน้าที่ศาลโทรหาอัยการเพื่อแจ้งว่าจะเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้นเป็นมิถุนายนปี 66”

“เจ้าหน้าที่ศาลโทรหาทนายความของเกดถามคำถามเดียวกันว่าสะดวกไหม ถ้าจะเลื่อนสืบพยานให้เร็วขึ้น ทนายความก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่าไม่สะดวก มีหลักฐานแน่นอนเพราะมีเอกสารที่ลงนามโดยเจ้าหน้าที่ศาลอาญารัชดาเองอยู่ในสำนวนคดี”
ทั้งนี้ ชลธิชาย้ำว่า สิทธิในการคุ้มครองจำเลยสำคัญมาก แต่โฆษกศาลกลับออกมาชี้แจงทำนองว่า ในกฎหมายเขาแค่ระบุว่าการสืบพยานต้องสืบต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่าให้สืบพยานต่อหน้าทนายความ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทย  


“ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในเคสเราและเข้าใจว่าเป็นคดีแรกที่ศาลยังดันทุรังให้มีการสืบพยานต่อไป โดยไม่มีทนายความจำเลยนั่งอยู่ในห้องพิจารณาความ”

“สิ่งที่เกดกังวลก็คือว่าถ้าเรายอมมันอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับคดีของคนอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีผู้ต้องหาทางการเมือง แต่ประชาชนคนทั่วไปคุณก็อาจเจอในลักษณะนี้ได้ แล้วบอกเลยว่าจะไม่ยอมเป็นหนึ่งในคนที่สร้างบรรทัดฐานต่ำๆ ให้กับกระบวนการยุติธรรม”

ส่วนคดีที่สอง เกิดขึ้นปลายปี 2564 จากการขึ้นปราศรัยหน้าศาลธัญบุรีเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน ชลธิชากล่าวว่า ทุกครั้งที่ตัดสินใจไม่เคยกลัวที่จะโดนดำเนินคดีแต่อย่างน้อยที่สุดอยากให้กระบวนการยุติธรรมสู้ได้อย่างเป็นธรรมจริงๆ ซึ่งท่อนที่มีปัญหาและถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยประเด็นการแก้ไขกฎหมายสองฉบับที่กระทบต่อสถานะกษัตริย์ คือ พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และพ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับมีการแก้ไขและออกภายใต้รัฐบาล คสช. อย่างไรก็ดี ท่อนที่มีปัญหาและนำมาสู่การดำเนินคดี คือส่วนที่เอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการดูหมิ่นสถาบัน โดยตนเชื่อว่าสู้คดีนี้ได้เพราะตอนที่ปราศรัยคือพูดถึงการแก้ไขกฎหมายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสองคดีอยู่ในระหว่างการสืบพยาน และมีมหากาพย์ต่างกันไป 

“วันที่เกดตัดสินใจเดินหน้าลุยต่อ ถึงแม้จะรู้ว่าเสี่ยงมากที่จะหลุดออกจากส.ส. หนึ่งในเหตุผลคือว่า ไม่ใช่แค่เคสเกดที่ศาลพยายามเลื่อนคดีการสืบพยานมาตรา 112 ให้เร็วขึ้น เท่าที่ทราบจะมีประมาณ 4-5 คดีความที่เขาพยายามเลื่อนให้เร็วขึ้น”

โตโต้-ปิยรัฐ ศาลเลื่อนเวลาสืบพยานเร็วขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ปิยรัฐ จงเทพ ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 สามคดี คดีแรกเกี่ยวกับการปราศรัยที่จังหวัดอุบลราชธานี สิ่งที่ตนปราศรัยคือพูดเหมือนกับสิ่งที่ปิยบุตร แสงกนกกุล พูดในสภาทุกอย่าง ต่างกันแค่ว่าปิยบุตรพูดในสภาแต่ตนพูดนอกสภา ตอนแรกเจ้าหน้าที่จะไม่ได้ดำเนินคดีเรื่องนี้เพราะอย่างไรก็ยากที่จะเข้าองค์ประกอบ 

คดีที่สอง เกิดจากการแชร์โพสต์ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องวัคซีน คดีนี้ เป็นคดีที่ไปแจ้งความตนถึงในเรือนจำ ขณะที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ไฟในเรือนจำดับทำให้สอบปากคำไม่เสร็จสิ้นยังไม่ได้เซ็นอะไร แต่ตำรวจรวบรัดจนกระบวนการ ถือว่าเสร็จสิ้นแล้วและส่งเอกสารให้ตนภายหลัง แต่พอโดนปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลับออกหมายจับ ทั้งๆ ที่ศาลก็เข้าใจว่าตนพึ่งออกมาจากเรือนจำ

คดีที่สาม พูดถึงสนามหลวง ตำรวจเห็นว่าไม่เป็นความผิด แต่คนที่ไปแจ้งความขนมวลชนไปกดดันตำรวจให้มีการฟ้อง มาตรา 112 เรื่องนี้จึงโดนไปอีกหนึ่งคดี หลังจากที่มีการนัดสืบพยานของชลธิชาก็เลยมีการเร่งรัดคดีของตนตามมา สิ่งที่ทำให้การดำเนินคดีนี้ช้าไม่ใช่เพราะตนเองที่ช้าแต่เป็นเพราะบริษัทวัคซีนไม่ยอมส่งพยานเอกสารมา จึงถูกเลื่อนคดีมาเรื่อยๆ อีกทั้งก็มีคดีที่เลื่อนมาโดยที่ตนไม่รู้เช่นกัน โดยศาลเลื่อนนัดเองทั้งที่ตนและทนายไม่ทราบมาเป็นนัดสืบพยานวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน สร้างความเสียหายแก่ตนมากเพราะถ้าตนไม่เห็นหมายไม่ได้ไปสืบพยานแล้วศาลออกหมายจับเพียงวันเดียวก็ทำให้ตนหลุดจากการเป็นส.ส. ได้


ก้าวขาเข้าคุกวันเดียวก็หลุด ส.ส.ทันที


รักชนก ศรีนอก กล่าวว่า ในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ห้ามโดนโทษจำคุก ถ้าเมื่อไรมีคำพิพากษาว่าโดนโทษจำคุกแม้แต่หนึ่งวันก็จะหลุดจากสถานะส.ส. ด้านปิยรัฐ จงเทพ เสริมว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) กำหนดห้ามผู้สมัครส.ส. ต้องคำพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และในมาตรา 101 (6) สำหรับผู้ที่เป็นส.ส.แล้ว ก็ยังอยู่ในเงื่อนไขตามมาตรา 98 หากต้องคำพิพากษาจำคุก และถูกคุมขัง ก็หลุดจากสถานะ ส.ส.


ปิยรัฐ ยังอธิบายต่อว่า สมมุติหากศาลพิพากษาลงโทษจำคุกสองปีไม่รอลงอาญาแล้วศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวก็ส่งศาลอุทธรณ์ให้พิจารณา ถ้าศาลมีคำสั่งไม่ทันภายในวันเดียวกัน รออ่านคำสั่งวันถัดไป ส.ส. แม้ติดคุกวันเดียวไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็หลุดสถานะเป็น ส.ส. ทันที แม้ภายหลังศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวก็ตาม


“รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ถ้าผู้สมัครส.ส.ถูกต้องคำพิพากษาให้จำคุกก็หลุดเลย แต่พอเป็นมาตรา 101 (6) เป็นส.ส.แล้วนะ แต่ถูกเงื่อนไขตาม 98 (6) ก็หลุดส.ส.ทันที …พูดง่ายๆ ว่า ขาก้าวเข้าคุกวันเดียวหลุดเลย”


“ถ้าวันนี้พิพากษาจำคุกสองปีไม่รอลงอาญาแล้วศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวหรือไม่กล้าให้ประกันแล้วส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ศาลอุทธรณ์ลงคำสั่งไม่ทันวันนี้ รออ่านคำพิพากษาพรุ่งนี้ ติดคุกวันเดียวไม่ถึง 24 ชั่วโมงด้วย ถ้าศาลอุทธรณ์ให้ประกัน คุณออกมาคุณหมดสภาพการเป็นส.ส.ทันที นี่คือสิ่งที่มันจะเป็น”


ด้านชลธิชา เสริมเพิ่มเติมว่า คดี 112 จำนวนหนึ่งศาลชั้นตั้นมักจะไม่กล้าที่จะเป็นคนลงคำสั่งว่าจะให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน โยนให้ศาลอุทธรณ์ โดยปกติกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งมันจะใช้เวลา 2-3 วัน ซึ่งสองสามวันนั้นแหละคือเราหลุดจากการเป็นส.ส. ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน (รัฐธรรมนูญมาตรา 105 ประกอบมาตรา 102)