บทบันทึกปฏิรูปสถาบันฯเดือนสิงหา ‘63 สู่ข้อเรียกร้องยกเลิกม. 112 ที่ยังไปต่อ

เราซุกปัญหานี้ไว้ใต้พรมมาหลายปีแล้ว ไม่มีการเอ่ยอ้างถึงปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งมันนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เราต้องยอมรับความจริงว่า ที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา

เป็นคำปราศรัยตอนหนึ่งของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนระหว่างการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมไม่มากเทียบกับการชุมนุมครั้งก่อนหน้าของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หากการปราศรัยของอานนท์ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ๆ ในการยกข้อถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่เคยปักหลักบนโลกออนไลน์ลงมาบนท้องถนน เขากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์โดยมีฐานข้อมูลหนักแน่นและตรงไปตรงมา หลังจากนั้นการชุมนุมที่เกิดขึ้นตามมาต่างแฝงด้วยข้อเรียกร้องและเนื้อหาปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ในอดีตการกล่าวถึงทำได้อย่างจำกัดด้วยบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในสังคม  อย่างไรก็ตามการขยายเพดานการแสดงออกเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทำให้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ถูกรัฐนำมาใช้อย่างแพร่หลายอีกครั้งหลังจากห่างหายไปตั้งแต่ปี 2561

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 255 คน ใน 275 คดี  ในจำนวนดังกล่าวมีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีจำนวน 20 คน การดำเนินคดีประชาชนด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างกว้างขวางทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นปัญหาของมาตรา 112 จนนำมาสู่การเข้าชื่อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เมื่อความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมาตรา 112 บนท้องถนนดังขึ้นก็เป็นเรื่องยากที่ฝ่ายการเมืองจะละเลย ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงโดยฝ่ายการเมืองเริ่มถูกนำเข้ามาสู่พื้นที่รัฐสภาทั้งเพื่อหารือและหาทางออกของปัญหาเร่งด่วน และเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย กระทั่งหลังการเลือกตั้ง 2566 มาตรา 112 ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายเพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล

บทเริ่ม – ขอบฟ้าที่ไม่อาจปิดกั้นด้วยความกลัวอีกต่อไป

ภูมิทัศน์ทางการเมืองในปี 2563 ความไม่พอใจในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเติบโตขึ้นมาก สุมไฟซ้ำด้วยความไม่เป็นธรรมทางการเมือง ปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจ ทั้งหมดนำสู่การต่อสู้บนท้องถนน จุดตัดสำคัญอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือ การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 นำโดยนิสิตและนักศึกษาที่เคยขยายฐานมวลชนในพื้นที่สถานศึกษาสามารถขยายพื้นที่ชุมนุมและมวลชนออกนอกฐานที่มั่นเดิมได้ ความโกรธเกรี้ยวหลากประเด็นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา แม้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อาจไม่ใช่ประเด็นหลักในตอนเริ่มต้นของเยาวชนปลดแอกหรือการชุมนุมในสถานศึกษา แต่มันมีให้เห็นตามเสียงตะโกนร้องป่าวแทรกเสียงปราศรัยหลัก หรือตามป้ายข้อความที่ซ่อนแอบท่ามกลางคลื่นมวลชน ประกอบกับกฎหมายปิดปากอย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้นำมาใช้แรมปี ว่ากันตามเหตุผลจากนายกรัฐมนตรีคือ เป็นเพราะในหลวงทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ เหล่านี้ล้วนมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการขยายขอบฟ้าที่เคยถูกปิดด้วยความหวาดกลัว

ในเดือนสิงหาคม 2563 การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เริ่มต้นขึ้นผ่านการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย”  เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ธีมของการชุมนุมอิงมาจากวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์กล่าวถึง “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” หรือลอร์ด โวลเดอร์มอร์ที่ตัวละครในเรื่องต่างหวาดกลัวและไม่กล้าเอ่ยชื่ออย่างตรงไปตรงมา สถานการณ์อาจเทียบเคียงได้กับการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่ผ่านมาในสังคมไทย ซึ่งถูกกดปราบด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ การจับกุมคุมขัง หรือการถูกกล่าวหาว่า เป็นคนเสียสติ อานนท์กล่าวถึง “ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัด” จากป้ายข้อความหรือเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ผ่านมา ซึ่งควรแก่การนำมาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุและผลตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีประเด็นดังนี้

  • ข้อสังเกตพระราชทานและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แม้ผ่านประชามติมาแล้ว
  • กฎหมายจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2560 เผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษา โดยไม่ปรากฏว่าหน่วยงานใดจัดทำร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีการพิจารณากันเมื่อใด
  • พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์และการตราพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพล ซึ่งส่งผลให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินและทรัพยากรบุคคลตามพระราชอัธยาศัยถูกขยายออกไป
  • งบประมาณจากภาษีที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

นี่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้การชุมนุมครั้งที่เกิดขึ้นตามมาเต็มไปด้วยเนื้อหาเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และข้อเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมอย่างการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ตัวแทนออกแถลงการณ์สิบข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หนึ่งในนั้นมีข้อเรียกร้องเรื่องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรที่สนามหลวง” การปักหมุดคณะราษฎร 63 ที่ท้องสนามหลวงอันเป็นพื้นที่จัดราชพิธีต่างๆ และย้ำข้อเรียกร้องสิบข้อเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 และการชุมนุมของคณะราษฎร 63 ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 

บทปราบ – ปราบชุมนุมด้วยกำลัง ปิดกั้นพื้นที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย 112

ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ขยายตัวตามด้วยบทปราบแรก รัฐเริ่มใช้กำลังปราบผู้ชุมนุมโดยยกเหตุการณ์ “ขบวนเสด็จฝ่าม็อบ” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563  เป็นสารตั้งต้นความชอบธรรมในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ปราบม็อบ กวาดจับแกนนำ หยุดได้ไหม?…ภาพผู้ชุมนุมเรือนหมื่นเรือนแสนที่ออกมาชุมนุม “ทุกคนคือแกนนำ” ทั่วประเทศเป็นคำตอบ หลังจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้ผล แกนนำเริ่มทยอยถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเปิดหน้าชนเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยตรง เช่น การชุมนุมเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้าพระบรมมหาราชวัง ผู้จัดชวนให้ประชาชนเขียนจดหมายถวายคำแนะนำถึงพระมหากษัตริย์ว่าควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพุ่งเป้าที่ที่การวิพากษ์วิจารณ์พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯซึ่งส่งผลให้ กรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ถูกโอนไปอยู่ใต้การบังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์ในฐานะส่วนราชการในพระองค์   รวมถึงการชุมนุม “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งตรงกับวันที่ตัวแทนภาคประชาชนชี้แจงข้อเสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในสภา 

เมื่อการชุมนุมและเนื้อหาการปราศรัยพุ่งเป้าไปที่พระมหากษัตริย์โดยตรงในหลายๆประเด็น วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563  หรือหนึ่งวันให้หลังสภาปัดตกข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ว่า จะใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นเสมือนการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ปลายปี 2563 เหล่านักกิจกรรมเริ่มถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการปราศรัยในพื้นที่ชุมนุมและการแสดงความเห็นบนโลกออกไลน์ รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปก็ตกเป็นจำเลยในกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน จนสถิติพุ่งขึ้นแตะหลัก 200 คน และคนที่ถูกดำเนินคดีบางส่วนก็ถูกคุมขังก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นเวลานาน 

บทโต้ – มาตรา 112 จากท้องถนนสู่รัฐสภา 

หลังการกลับมาใช้มาตรา 112 “ปิดปาก” ผู้ชุมนุม การเมืองในสภาเริ่มเดินหน้า 10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกล นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เสนอร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกจำนวน 5 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาทหลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นการเสนอยกเลิกมาตรา 112 เดิมและเสนอให้กำหนดหมวดใหม่ขึ้นมาที่ว่าด้วยเรื่องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ระหว่างนี้การคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองระหว่างการพิจารณาคดีเป็นรูปแบบชัดเจนขึ้น คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม 2564 ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เบนเข็มสู่การเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” เคารพในสิทธิประกันตัว 

ท้ายสุดราวกับขบวนเคลื่อนไหวตกผลึกแล้วว่า หากไม่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พวกเขาคงตกในวังวน “ปล่อยเพื่อนเรา” อย่างมองไม่เห็นปลายทางของ “ความฝันเดิม” ประเด็นจึงหวนกลับมาที่การยกหนึ่งในข้อเรียกร้องสิบข้อเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 อย่างการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาผลักดัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาคประชาชนในนาม “คณะราษฎรยกเลิก 112” รวมตัวกันจัดทำร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้ยกเลิกมาตรา 112 และใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 รวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 คน เพื่อเสนอต่อสภาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564  มีผู้ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายในที่ชุมนุม 3,760 ชื่อและในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเว็บไซต์ “no112.org” ถูกเปิดขึ้นเพื่อใช้ระดมรายชื่อออนไลน์ก็มีคนร่วมลงชื่อมากกว่า 100,000 ชื่อในคืนเดียว และพรรคการเมืองฝ่ายค้านในเวลานั้นอย่างพรรคเพื่อไทยออกมาขานรับโดยทันที

พรรคเพื่อไทยเผยแพร่เอกสารที่มีชัยเกษม นิติสิริ เป็นผู้ลงนามในคืนเดียวกันกับที่มีการเปิดตัวการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ของภาคประชาชนโดยมีสาระสำคัญว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมนำข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม และตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ถูกดำเนินคดีได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย ไม่กี่วันให้หลังทักษิณ ชินวัตรโพสต์เฟซบุ๊กทำนองว่า ปัญหาของมาตรา 112 อยู่ที่การบังคับใช้ ไม่ใช่ตัวกฎหมาย ตามด้วยชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุว่า พรรคมีความมุ่งมั่นที่จะรับข้อเสนอจากทุกๆฝ่าย ในการแก้ไขกฎหมายพรรคไม่ได้มีความคิดจะเป็นผู้ยกร่างกฎหมายดังกล่าว แต่หากมีฝ่ายไหนส่งเข้ามาก็จะรับเข้ามาแล้วไปตัดสินกันในสภา 

บริบทปี 2565 นักกิจกรรมแนวแรกต่างถูกตรวนตราด้วยคดีความจำนวนมาก ทำให้การเคลื่อนไหวชะงักงันไปบ้าง แต่ความต้องการในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่เคยจางหายไป ทั้งจำนวนรายชื่อที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 และนักกิจกรรมหน้าใหม่ที่เดินหน้าเรียกร้องต่อ เป็นการชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมไม่มากแต่คำถามและข้อเรียกร้องยังส่งตรงถึงสถาบันกษัตริย์อย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังและนักกิจกรรมอิสระ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตะวันและแบม สองนักกิจกรรมอิสระอดอาหารระหว่างการคุมขัง ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติด่วนต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอให้พิจารณาสิทธิในการประกันตัว รวมถึงเรื่องการใช้กฎหมายล้นเกินในกระบวนการยุติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อผู้แสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกในทางการเมือง เพื่อให้สภาร่วมกันพิจารณาหาทางออก ในครั้งนั้นมีทั้งส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันอภิปรายเพื่อหาทางออกและกล่าวถึงปัญหาของมาตรา 112 เช่น องอาจ คล้ามไพบูลย์ พรรคประชาธิปัตย์

ผมคิดว่า มาตรา 112 นั้นไม่ใช่เป็นมาตราที่ใช้ปัจจุบัน มาตรานี้ได้ถูกใช้มาหลายรัฐบาล ในยุคของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาของการขับเคี่ยวอย่างหนักระหว่างสีต่างๆ ปรากฏว่า มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดี แต่การแก้ไขขณะนั้นคือ มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 ขึ้นมาทำให้สถานการณ์คลี่คลายพอสมควร” และระบุด้วยว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ข้อเรียกร้องครั้งนี้เป็นความจริงที่สังคมประจักษ์ระดับหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

บทสรุป : ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนโฉมสังคมไทยแต่ยังต้องไปต่อ

ในปี 2566 เมื่อมีการยุบสภาและเข้าสู่ช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง มาตรา 112 คือหนึ่งในประเด็นที่ถูกพรรคการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้ในการหาเสียงอย่างกว้างขวางทั้งโดยฝ่ายที่เห็นว่าควรมีการแก้ไขกับฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้ไขหรือแก้ไขเพื่อเพิ่มอัตราโทษ รวมถึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้สื่อข่าวจะต้อง “เค้น” คำตอบจากตัวแทนพรรคการเมืองที่ให้สัมภาษณ์หรือขึ้นเวทีให้ได้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นหากบทสนทนาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไม่ถูกหยิบยกมาบนพูดคุยในที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง 

หลังการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งและรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ 312 เสียง การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลในเวลาดังกล่าวเห็นควรเสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลายเป็นเหตุผลใหญ่ที่ทั้ง “ส.ว.แต่งตั้ง” และส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมใช้เป็นเหตุผลที่ไม่อาจสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในส.ว.ระบุว่า จิตวิญญาณความเป็นส.ว.ของเขาคือ “…การธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บทคุ้มครองฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่เทียบเท่ากับที่เคยเป็นมานับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 มิให้กระทบหรือลดทอนลงไป เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน”

ทำให้การโหวตครั้งนั้นพิธาไม่ได้คะแนนเสียงเพียงพอให้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ซ้ำการโหวตครั้งที่สองยังถูกสกัดด้วยการตีความกฎหมายที่ผิดพลาด ท้ายสุดพรรคก้าวไกลต้องส่งไม้ต่อผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคเพื่อไทย มาตรา 112 กลายเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของส.ว. อีกครั้ง มีการเรียกร้องให้เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทยออกมาย้ำจุดยืนให้ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว วันที่ 1 สิงหาคม 2566 เพจทางการของพรรคเพื่อไทยเผยแพร่คำกล่าวของอนุสรณ์ เอื่ยมสะอาดระบุว่า เศรษฐายืนยันอย่างชัดเจนว่า …ยอมรับการแก้มาตรา 112 ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ พรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไป จะต้องไม่มีเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. และจากหลายๆ พรรค ซึ่งประชาชนเห็นจุดยืนของ เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ที่จะไม่ยกเลิก ไม่แก้ไขมาตรา 112 ชัดเจน และชัดเจนอีกครั้งในวันถัดมาในแถลงการณ์ของพรรค ไล่เรียงมาตั้งแต่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนถึงพรรคเพื่อไทยที่ได้เดินสายหารือพรรคการเมืองต่างๆ และส.ว. ที่เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเงื่อนไขหลักและการไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล โดยพรรคเพื่อไทยและเศรษฐายืนยันว่า จะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นการกลับจุดยืนเรื่อง 112 ที่แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเคยให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนในเดือนสิงหาคม 2563 จนถึงการอภิปรายคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม 2566 รวมถึงกรณีที่ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระซึงเคยเป็นทนายความให้กับสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างความพยายามที่จะเปิดพื้นที่การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยบนพื้นฐานหลักการและเหตุผลกับความพยายามรักษาสถานภาพเดิมที่การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ โดยมีทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และสมาชิกวุฒิสภาชุดแต่งตั้งเป็นกลไกสำคัญ 

ท้ายที่สุดไม่ว่าเส้นทางของการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะเป็นเรื่องที่ดูห่างไกลความเป็นจริงสักเท่าใด ก็คงยากที่จะปฏิเสธว่าบทสนทนาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้วนับจากเดือนสิงหาคม 2563 ขณะที่ข้อเสนอยกเลิกมาตรา 112 ของประชาชนยังรอวันเดินหน้าสู่สภา