เลื่อนสืบพยานคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เหตุไม่สามารถสืบพยานลับหลังจำเลย

วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในคดีการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 คดีนี้มีจำเลย 13 คน ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการอ่านแถลงการณ์สามภาษาและการปราศรัยระหว่างการชุมนุมวันดังกล่าว ระหว่างการสืบพยานปากแรกศาลสอบถามเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังในคดีที่มีอัตราโทษเกินกว่าสิบปีจะกระทำไม่ได้ ทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานปากแรกในนัดต่อไป
บรรยากาศการสืบพยาน หลังจำเลยทั้ง 12 คนมาพร้อมกันยกเว้นเบนจา อะปัญ เวลา 10.18 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และเรียกชื่อจำเลยแต่ละคนให้ยืน ทนายความของเบนจายื่นขอการพิจารณาคดีลับหลังในวันนี้เนื่องจากเบนจาติดภารกิจการเรียนที่มหาวิทยาลัย ศาลถามย้ำเพื่อความแน่ใจว่า ตัวจำเลยอยู่ในประเทศไทยใช่หรือไม่ ทนายจำเลยรับว่า ใช่และอธิบายว่า ขอพิจารณาลับหลังเฉพาะวันนี้ เวลาประมาณ 10.20 น. เริ่มการสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่งคือ พ.ต.ท. อนันท์ วงศ์คำ  ในฐานะผู้กล่าวหา เขาเบิกความเล่าสถานการณ์การชุมนุมในปี 2563 และการรับมือการชุมนุมของตำรวจในวันดังกล่าว
ระหว่างที่การสืบพยานเริ่มได้ประมาณ 20 นาที ศาลขอให้หยุดและถามถึงการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังของเบนจา พร้อมทั้งอธิบายว่า  ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ ที่ทำให้การสืบพยานไม่จำเป็นต้องมีทั้งโจทก์และจำเลยอยู่พร้อมหน้ากันก็ได้ตามศาลเห็นสมควร แต่คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษเกินสิบปีไม่สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า เช่นนั้นแล้วจึงจำเป็นต้องขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไป ศาลถามอัยการว่า ค้านหรือไม่ อัยการไม่ค้าน จึงเลื่อนการสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 14 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นกำหนดนัดเดิม พร้อมกำชับว่า การนัดหมายครั้งหน้าจำเลยจะต้องมาพร้อมกัน
คดีนี้วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับผู้ปราศรัยและผู้ร่วมอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูตเยอรมนี หลังพล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะใช้กฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2563 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้ต้องหาทั้ง 13 คน เพิ่มเติม หมุดหมายสำคัญของการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีคือ เพื่อทำการสอบถามว่า รัชกาลที่สิบมีการใช้พระราชอำนาจเหนือดินแดนเยอรมนีหรือไม่