จำคุก 4 ปี ‘ทนายอานนท์’ กรณีปราศรัยเรื่องการสลายการชุมนุมโดยพาดพิงรัชกาลที่สิบ

26 กันยายน 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เขาถูกกล่าวหาว่ากล่าวคำปราศรัยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ระหว่างร่วมการชุมนุม #คณะราษฎร63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นอกจากความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯแล้ว อานนท์ยังถูกกล่าวหาในความผิดฐานอื่นๆด้วย ได้แก่ ความผิดฐานชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดฐานกีดขวางการจราจร ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงความผิดฐานทำลายทรัพย์สินจากกรณีที่เขาบอกให้ผู้ชุมนุมย้ายกระถางต้นไม้ของกรุงเทพมหานครออกจากฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ศาลพิพากษาว่าทนายอานนท์ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯและฐานร่วมกับผู้อื่นฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุกทนายอานนท์เป็นเวลาสี่ปีในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯและปรับเงิน 20,000 บาท ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
บรรยากาศก่อนเวลา 9.00 น. มีเพื่อนๆและประชาชนที่สนใจมารอฟังคำพิพากษาคดีของอานนท์ที่หน้าห้องพิจารณา 811 ประมาณสิบคนก่อนที่จะมีคนทยอยเดินทางมาสมทบประมาณ 40 – 50 คน เนื่องจากห้องพิจารณาคดี 811 มีขนาดเล็กจนไม่สามารถรองรับผู้ที่มาร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ศาลจึงให้เฉพาะทีมทนายความ สมาชิกในครอบครัว ตัวแทนสถานทูตและสื่อที่ส่งหนังสือแจ้งขอเข้าร่วมฟังการพิจารณามาให้ศาลเข้าร่วมฟังการห้องพิจารณาในห้องพิจารณาคดีหลัก ส่วนประชาชนคนอื่นๆ เจ้าหน้าที่ศาลอาญาให้ไปนั่งฟังการพิจารณาคดีผ่านระบบวิดีโอที่ห้องพิจารณาคดี 812 ซึ่งอยู่ติดกัน
เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาไปได้ประมาณสามถึงสี่นาทีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ห้องพิจารณาคดี 812 เกิดขัดข้อง ศาลซึ่งอ่านคำพิพากษาอยู่ที่ห้องพิจารณาคดี 811 จึงหยุดอ่านคำพิพากษาไว้ครู่หนึ่ง เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ซ่อมระบบคอมพิวเตอร์ที่ห้อง 812 จนใช้งานได้ปกติจึงอ่านคำพิพากษาต่อ โดยคำพิพากษาของศาลอาญาพอสรุปได้ว่า
ที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ชนะสงครามมาเบิกความว่า ก่อนการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม จำเลยกับพวกได้จัดการแถลงข่าวที่สนามหลวง รวมถึงโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อถึงวันเกิดเหตุตั้งแต่ช่วงเช้ามีผู้ชุมนุมและรถเครื่องเสียงทยอยเข้ามาบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนิน โดยประมาณการณ์ว่าน่าจะมีผู้ชุมนุม 1,000 คน รวมตัวกันอยู่ทั้งบนพื้นถนนและทางเท้าใกล้ร้านแม็คโดนัลด์ พยานโจทก์ให้การสอดคล้องกันว่า ไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีการจัดตั้งจุดคัดกรอง ไม่มีการตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และในพื้นที่การชุมนุมก็มีผู้ชุมนุมรวมตัวกันในลักษณะแออัดหลายจุด 
ขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่มีวัคซีนรักษาโรคโควิด19 และไม่มียารักษาโรค การที่นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด19 และออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุม จึงเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค เมื่อข้อเท็จจริงทั้งจากคำให้การของพยานและภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุปรากฎให้เห็นว่าในพื้นที่การชุมนุมผู้ชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีการตั้งจุดบริการเจลล้างมือ มีภาพของผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยรวมทั้งตัวของจำเลยและแกนนำบางส่วนที่ขึ้นปราศรัยก็ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย แม้จำเลยจะอ้างว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท และในวันเกิดเหตุไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด19 ในประเทศ แต่การไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศไม่เป็นเหตุให้ละเว้นมาตรการควบคุมโรค เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคที่รัฐกำหนด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด
ที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความตรงกันว่าหลังจำเลยกับพวกประกาศนัดหมายชุมนุมทางเจ้าหน้าที่ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการรับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องใช้เส้นทางสัญจรรวมถึงการใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสืบสวนหาข่าวในพื้นที่การชุมนุม โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานตำรวจหลายหน่วยงาน 
เมื่อถึงวันเกิดเหตุจำเลยปราศรัยถึงสามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ได้แก่การเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างการปราศรัยจำเลยยังได้กล่าวถ้อยคำตามฟ้องทำนองว่า หากมีการสลายการชุมนุมในวันดังกล่าวพระมหากษัตริย์น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ข้อนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข และมาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ  ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ขณะที่มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย  พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  และศาล  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ประชาชนย่อมเข้าใจว่าการควบคุมดูแลการชุมนุมเป็นเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้บริหารจัดการ ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการหาข่าว การดูแลความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม การที่จะมีการสลายการชุมนุมหรือไม่เป็นเรื่องของทางตำรวจ ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ 
ที่จำเลยอ้างว่ากล่าวถ้อยทำนองว่าหากมีการสลายการชุมนุมให้ทราบโดยทั่วกันว่าเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจสลายการชุมนุม จำเลยเป็นทนายความ เป็นนักฎหมาย ย่อมทราบว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ ในการดูแลการชุมนุม ไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณะ หากมีผู้ชุมนุมกระทำการรุนแรงจนเกิดความวุ่นวายตำรวจย่อมมีอำนาจสั่งให้ยุติการกระทำ และย่อมมีอำนาจใช้กำลังตามความเหมาะสมของสถานการณ์โดยคำนึงถึงความจำเป็นของสถานการณ์และความสมควรแก่เหตุ ซึ่งการดำเนินการข้างต้นไม่เกี่ยวข้องใดๆกับพระมหากษัตริย์ ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก ทั้งเป็นการบิดเบือน ให้ร้ายองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าการสลายการชุมนุมเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
ให้ลงโทษจำคุกอานนท์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลาสี่ปี ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษปรับเป็นเงิน 20,000 บาท
ส่วนที่อานนท์ถูกฟ้องในความผิดฐานทำลายทรัพย์สินจากกรณีที่บอกให้ผู้ชุมนุมย้ายกระถางต้นไม้ที่วางอยู่บนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออกมาเรียงบนพื้นถนน ศาลให้ยกฟ้องเพราะเห็นว่าตัวจำเลยได้ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายต้นไม่ได้ความระมัดระวังและผู้ชุมนุมก็ได้นำมาเรียงด้วยความระมัดระวัง แม้ก็มีต้นไม้บางส่วนที่ได้รับความเสียหายแต่ก็ไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนความผิดฐานวางสิ่งกีดขวางบนผิวจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำการโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงให้ยกฟ้องในส่วนนี้
หลังศาลมีคำพิพากษา ประชาชนที่นั่งฟังคำพิพากษาอยู่ในห้องพิจารณาคดี 812 มารวมตัวกันหน้าห้องพิจารณาคดี 811 เมื่ออานนท์เดินออกมาหลายคนชูสัญลักษณ์สามนิ้วและตะโกนเพื่อให้กำลังใจ  ขณะที่อานนท์ก็ชูสัญลักษณ์สามนิ้วตอบรับก่อนถูกเจ้าหน้าที่นำตัวลงไปควบคุมที่ห้องขังไต้ถุนศาลเพื่อรอคำสั่งประกันตัว
คดีมาตรา 112 จากการปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกของอานนท์ที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาโดยเขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 14 คดี ทั้งจากการปราศรัยและการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 
สำหรับการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นอกจากจะเป็นมูลเหตุของคดีนี้แล้วยังเป็นมูลเหตุของคดีขัดขวางขบวนเสด็จที่เอกชัย   หงส์กังวานกับพวกอีกสี่คนถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ว่าขัดขวางขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีระหว่างที่เคลื่อนผ่านถนนพิษณุโลกบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาลแต่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดในคดีดังกล่าว สำหรับบรรยากาศและสถานการณ์ในวันเกิดเหตุนับเป็นอีกวันหนึ่งที่มีความตึงเครียดเพราะบริเวณถนนราชดำเนินนอกจากจะมีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 63 และยังมีประชาชนและข้าราชการที่สวมเสื้อสีเหลืองมารอเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและจะทรงเสด็จผ่านถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่การชุมนุมด้วย
ตลอดวันมีกระแสข่าวเรื่องการสลายการชุมนุมออกมาเป็นระยะขณะเดียวกันนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วในวันนั้นยังมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาอยู่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นจุดที่ผู้ชุมนุมประกาศจะเคลื่อนตัวไปปักหลักชุมนุมค้างคืนด้วย การชุมนุมจบลงในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 หลังพล.อ.ประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเข้าทำการยึดพื้นที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลคืนจากผู้ชุมนุม อานนท์ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมจากพื้นที่การชุมนุมก่อนถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงใหม่จากกรณีที่เขาเคยขึ้นปราศรัยเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ไว้ก่อนหน้านั้น