ศาลอุทธรณ์พิพากษา ‘มีชัย’ ผิดมาตรา 112 เหตุตั้งคำถามการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์

วันที่ 27 กันยายน 2566 เวลา 9.40 น. ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ‘มีชัย’ ผิดมาตรา 112 โดยเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากหลักฐานและคำอธิบายของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้สามารถขอใช้สิทธิในการประกันตัวได้ และนายประกันกำลังทำเรื่องขอประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป
ศาลเริ่มด้วยการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จากนั้นจึงพิพากษายืน เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยระบุว่า แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเป็นการเฉพาะเจาะจงในคำว่า “ระบอบกษัตริย์” แต่หากพิจารณาด้วยความคิดแบบ “วิญญูชน” แล้วจะทำให้เข้าใจว่าจำเลยหมายถึงรัชกาลที่ 10 ด้วย ดังที่โจทก์ได้เห็นข้อความของจำเลยบนสื่อออนไลน์ จึงเกิดการร้องทุกข์กล่าวโทษขึ้นตามมา
สำหรับสิ่งที่จำเลยกล่าวว่าเป็นการตั้งคำถามบนฐานหลักการนั้น ศาลอุทธรณ์ระบุว่าจำเลยยกหลักฐานมาจากเว็บไซต์ที่ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ ศาลจึงลงความเห็นว่าไม่มีน้ำหนักที่เพียงพอ
ขณะเดียวกันศาลอุทธรณ์ระบุว่า แม้ว่าจำเลยจะขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ความเห็นส่วนตัว” แต่การจะออกความเห็นต่อบุคคลใดได้นั้นก็ต้องมีการพิจารณาบุคคลนั้นๆ เสียก่อน ซึ่งทำให้สังคมจะเข้าใจผิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทำธุรกิจผูกขาด ทั้งที่ในโลกปัจจุบันธุรกิจที่ได้รับการยอมรับคือระบบตลาดเสรี จึงเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเอาไว้แต่แรก
‘มีชัย’ วัย 51 ปี มีอาชีพเป็นพ่อค้าอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ถูกแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษ ณ สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ โดย ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ประชาชนที่พักอยู่ใน จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เนื่องจากศิวพันธุ์กล่าวหาว่า ‘มีชัย’ โพสต์ข้อความตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้เงินภาษีของพระมหากษัตริย์ ที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนสองข้อความ
ข้อความดังกล่าว คือ “ความเห็นส่วนตัว สถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษี ปชช. เพราะกษัตริย์มีธุรกิจผูกขาดอยู่มากมาย” และ “ปชช.มอบเงินให้ระบอบกษัตริย์ 2-3 หมื่นล้านต่อปี กษัตริย์มอบอะไรให้กับ ปชช.” 
ต่อมา ‘มีชัย’ ถูกศาลสั่งให้ฝากขังระหว่างการพิจารณาคดี และต้องใช้เงินประกันตัวจากกองทุนราษฎรประสงค์ถึง 150,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวออกมา แม้ว่า ‘มีชัย’ จะเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม
ต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 อัยการสั่งฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาว่า ‘มีชัย’ มีความผิดตามคำฟ้องทั้งสองกรรม ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 112 จำคุกสี่ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกสองปีแปดเดือน เนื่องจากศาลระบุว่า ทั้งสองข้อความเป็นการกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการผูกขาดการค้า การกล่าวหาเท็จว่าพระมหากษัตริย์นำงบประมาณไปใช้ส่วนพระองค์ และการใช้คำว่า “ระบอบกษัตริย์” ย่อมหมายความรวมตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่งไปจนถึงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการทำให้เสื่อมพระเกียรติ
ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมจำนวน 150,000 บาท และเพิ่มหลักทรัพย์อีก 75,000 บาท รวมทั้งหมด 225,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ จึงได้รับการประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม
วันนี้ (27 กันยายน 2566) ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น แต่ยังอนุญาตให้มีการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นฎีกา และขณะนี้นายประกันกำลังทำเรื่องขอประกันตัวอยู่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่สังคมควรให้ความสนใจต่อไป
คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่มีการแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษข้ามจังหวัด จนทำให้เกิดความลำบากในการต่อสู้คดี รวมทั้งยังมีการตีความกฎหมายที่กว้างขวางจนง่ายต่อการเอาผิด และมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นประชาชน “คนหน้าเดิม” ที่มักคอยร้องทุกข์กล่าวโทษประชาชนด้วยมาตรา 112 เป็นประจำ