รวมคดีประชาชนสู้กลับ ฟ้องเพิกถอนข้อกำหนด ‘ห้ามชุมนุม’ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เครือข่าย People Go ฟ้องเพิกถอนข้อกำหนด “ห้ามชุมนุม” อ้างจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินสมควรแก่เหตุ  

คำขอ : เพิกถอนการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเพิกถอนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เครือข่าย People Go Network โดยนิมิตร์ เทียนอุดม, แสงศิริ ตรีมรรคา, ณัฐวุฒิ อุปปะ, วศิน พงษ์เก่าและอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเพิกถอนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 เรื่องห้ามชุมนุม ในคำฟ้องระบุว่า ข้อกำหนด “ห้ามชุมนุม” ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 อีกทั้งในขณะที่มีการฟ้องคดี ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศเป็นเวลามากกว่า 43 วันจึงแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์คลี่คลายเบาบางลงจนไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจฉุกเฉิน รวมถึง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หรือกฎหมายอื่นสามารถดำเนินการป้องกันโรคระบาดแทนได้ ข้อกำหนด “การห้ามชุมนุม” ดังกล่าว จึงถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับ 

คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 โดยให้เหตุผลว่า ได้มีการออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้โจทก์ทั้งห้ากลับมามีเสรีภาพในการชุมนุม จึงไม่มีเหตุให้ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ภายหลังจากศาลจำหน่ายคดีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงออกข้อกำหนดมาจำกัดการชุมนุมเพิ่มเติม และมีเนื้อหากว้างขวางกว่าเดิมอีกหลายฉบับ

นิสิต-นักศึกษาขอให้เพิกถอน ‘สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง’ เหตุเป็นเครื่องมือสยบเสียงประชาชน

คำขอ : ให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  และบรรดาประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 ที่ 2/2563 ที่ 4/2563 ที่ 6/2563  คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ที่ 2/2563 ที่ 3/2563 ที่ 6/2563 และประกาศฯ หรือคำสังฉบับที่จะออกมาในภายหลัง

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ศุกรียา วรรณายุวัฒน์, หนึ่งฤทัย กิจการศุภฤกษ์, อชิตะ กิตติวัณณะกุล, ทอภพ เล้าโลมวงศ์, อภิสิทธิ์ สุทธิสนธ์ และชนธัณ อัศวฐานนท์ ขอให้จำเลยนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายในการทำละเมิด จำกัดเสรีภาพของโจทก์ทั้งเจ็ดคนละ 500,000 บาท และให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและประกาศ, คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ข้อเท็จจริงในคดีนี้สืบเนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ทั้งเจ็ดคนใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เข้าร่วมการชุมนุมของคณะราษฎร ซึ่งมีข้อเรียกร้องสามข้อ คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การชุมนุมก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล เป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ การจัดการชุมนุมที่โจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนเข้าร่วม ซึ่งส่วนมากเป็นยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธ ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์จลาจลหรือเป็นภยันตราย ที่กระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม ถือเป็นการชุมนุมที่สุจริต โดยสงบปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักสากลตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ออกประกาศ คำสั่งที่มีผลในการจำกัดเสรีภาพ เช่น ผู้บัญชาการทหารสูงสูดในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงออกประกาศกำหนดสถานที่ควบคุมในกรณีที่มีการจับกุม ไม่ใช่สถานที่ควบคุมตามปกติ และห้ามนำยานพาหนะบางประเภทและสิ่งของเข้าพื้นที่ควบคุม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม อาคารหรือสถานที่ ก่อนจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่ออกมา แม้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้ดุลพินิจภายใต้ข้อเท็จจริงและถูกต้อง มิใช่ใช้อำนาจและดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ โดยพฤติการณ์การใช้อำนาจของจำเลย ได้แก่ การสลายการชุมนุม การประกาศปิดสถานที่หรืออาคารสถานีของระบบขนส่งมวลชนหรืออาคารอื่นๆ การจับกุมควบคุมตัวประชาชน สื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษาแบบสุ่มหรือโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย การปิดทางสัญจรของประชาชนและของรถพยาบาล การห้ามไม่ให้ใช้วิทยุ โทรคมนาคม โทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในการเสนอข่าวสาร ภาพ เสียง หรือข้อเท็จจริงต่างๆ การสั่งให้ระงับการออกอากาศหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าว ซึ่งการดำเนินการของจำเลยทั้งสาม เป็นการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นมิให้โจทก์และประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

วันที่ 25 กันยายน 2565 ศาลแพ่งมีคำพิพากษายกฟ้อง ในทางนำสืบจำเลยระบุว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีการยุยงปลุกปั่นให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การปราศรัย กิจกรรม หรือภาพเขียน ข้อความต่างๆ มีลักษณะเสียดสี จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทย ทำให้กลุ่มบุคคลที่รักและเทิดทูนในสถาบันกษัตริย์ไม่พอใจจนมีการกระทบกระทั่งหรือต่อว่ากัน การชุมนุมมีเหตุขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นไปขวางขบวนรถยนต์ไม่ให้เคลื่อนผ่าน (กรณีนี้นำสู่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา 110 ซึ่งในปี 2566 ศาลมีคำสั่งยกฟ้องแล้ว) เมื่อพิจารณาว่า สถานการณ์มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ดำเนินการไปตามลำดับ “เจรจา” ขอให้ยุติการชุมนุม การขอคืนพื้นที่ชุมนุม การใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามลำดับขั้น การฉีดน้ำเปล่าและการใช้ผสมแก๊สน้ำตาชนิดเหลวในอัตราส่วนต่ำที่ฉีดใส่ผู้ชุมนุมเพียงครั้งเดียวเป็นไปตามหลักสากล การปิดสถานีรถไฟฟ้าเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยและหยุดให้บริการเป็นบางช่วงเวลา เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมยังอธิบายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯให้อำนาจคณะรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศเพื่อให้รัฐสามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้บรรลุผลสำเร็จเป็นไปตามความจำเป็นของสถานการณ์บ้านเมือง “อันเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลย่อมไม่มีอำนาจตรวจสอความชอบด้วยกฎหมายของการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องต่างๆได้” 

ศาลพิเคราะห์ในประเด็นการเพิกถอนประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องตามฟ้องว่า การใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขวิกฤติเป็นที่ยอมรับระดับสากล เป็นการหลักการเลี่ยงหรือระงับการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งที่เท่าที่จำเป็นและไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จากคำเบิกความของตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติอธิบายถึงสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ประกอบกับการเยือนของผู้แทนจีนและกระทบต่อการควบคุมโรคระบาดจึงเห็นควรเสนอให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทั้งนี้ได้ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า การเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยพระราชสถานะของกษัตริย์ที่ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองย่อมส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะเคารพสักการะ นำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและจะนำสู่การบ่อนทำลายการปกครอง จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ในประเด็นเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นอีกเหตุผลของการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อป้องกันการรวมตัวในที่สาธารณะโดยขาดมาตรการป้องกันที่รัดกุมและเหมาะสม ขณะที่บรรดาประกาศคำสั่งที่ออกตามมาเป็นการบังคับใช้เท่าที่จำเป็นและไม่เลือกปฏิบัติหรือกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตจนเกินจำเป็น มีระยะชั่วคราว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นนายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศ ข้อกำหนดและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเวลาที่ใช้เพียงเจ็ดวัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลาฉุกเฉิน ไม่มีเหตุเพียงพอให้เพิกถอนประกาศ

อ่านทั้งหมด https://freedom.ilaw.or.th/sites/default/files/_พ_6023_63_ศาลชั้นต้น_0.pdf

สื่อมวลชนรวมตัวฟ้องเพิกถอนข้อกำหนด “ตัดเน็ต” ระบุการเผยแพร่ข่าวสารสำคัญมากท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด 

คำขอ : ให้เพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ตัวแทนสื่อมวลชนและประชาชนทั้งหมด 12 คน ได้แก่ The Reporters, VoiceTV, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่มีใจความสำคัญห้ามเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และให้อำนาจ กสทช. สั่งระงับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านการสั่งผู้ให้บริการ (ISP) หรือ “ตัดเน็ต” ตามหมายเลข IP Address ที่โพสต์ข้อความ โดยในคำฟ้องระบุว่า ข้อความในข้อกำหนดดังกล่าวที่ว่าห้ามการเผยแพร่ข้อความใด “อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” นั้นกว้างขวางเกินไป และจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในภาวะสำคัญที่กำลังมีโรคระบาด จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36  

ส่วนในข้อ 2 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ซึ่งให้อำนาจ กสทช. สั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นการออกโดยที่มาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจไว้ อีกทั้งในการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ศาลสั่งระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ซึ่งทางโจทก์ที่เป็นสื่อมวลชนและพยานผู้เชี่ยวชาญได้เบิกความไปในทางเดียวกันว่าข้อกำหนดฉบับที่ 29 เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำกัดการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน ทั้งที่บทบาทของสื่อในการนำเสนอข่าวสารมีความสำคัญเป็นอย่างมากท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสของโควิด  

ซึ่งในท้ายที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้วันต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ยกเลิกข้อกำหนดฉบับดังกล่าวไปด้วยตัวเอง และศาลแพ่งจึงสั่งจำหน่ายคดีเพราะเห็นว่า ไม่มีเหตุต้องพิจารณาอีกต่อไปเนื่องจากข้อกำหนดถูกยกเลิกแล้ว

ยิ่งชีพ ครูใหญ่ วาดดาว ไม่เคยมีคนติดโควิดจากที่ชุมนุม และการมีอยู่ของข้อกำหนดเป็นการละเมิดสิทธิอยู่ตลอด 

คำขอ : ให้เพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 3, 5 และ 11

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw, วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, และครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ กลุ่มราษฎรโขง ชี มูล ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 เรื่อง ห้ามการรวมตัวที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ประกาศผบ.สส.) ฉบับที่ 3, 5 และ 11 โดยในคำฟ้องระบุว่า การออกข้อกำหนดและประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม เป็นการจงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นไม่ให้โจทก์ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การควบคุมโรคระบาดนั้นสามารถใช้กฎหมายระดับปกติแก้ไขสถานการณ์ได้ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไม่ใช่เสรีภาพโดยเด็ดขาด ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การจำกัดเสรีภาพจะทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ข้อเท็จจริงคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมโดยอาศัยความตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นห้วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ และยังไม่มีวิธีการรักษา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเพื่อเฝ้าระวังและติดตามการรวมกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดการติดต่อของโรคและป้องกันการกักตุนสินค้า

ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นไปเพื่อการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 แต่เป็นไปเพื่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวพล.อ.ประยุทธ์และของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฝ่ายจำเลยมีเจ้าหน้าที่ทั้งจากสภาความมั่นคงแห่งชาติและกรมควบคุมโรค มาเบิกความยืนยันให้เห็นว่า การกำหนดมาตรการต่างๆเป็นการดำเนินการโดยมีการทำงานเป็นคณะที่มีการกลั่นกรอง และข้อกำหนดที่ออกมาก็บังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกับโจทก์หรือกับผู้ชุมนุม การออกข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีและการออกประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงจึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง

นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสามก็ทราบว่าการชุมนุมในช่วงการระบาดของโรค โควิด-19 เสี่ยงต่อการแพร่โรค พฤติการณ์ในการชุมนุมของโจทก์ทั้งสาม อาจก่อให้เกิดการแพร่โรคโควิดไม่มากก็น้อยเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการการแพร่ระบาดโรค โควิด-19 กรณีจึงอาจถือได้ว่าการชุมนุมของโจทก์ทั้งสามเป็นไปโดยไม่สงบ

รุ้ง เบนจา เอ้ เสกสิทธิ์ ชี้รัฐบาลอ้างโรคเพื่อคุมม็อบ ตำรวจปิดถนนสกัดม็อบโดยไม่มีอำนาจ  

คำขอ : ให้เพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 12

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ, เอ้-กุลจิรา ทองคง และ เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ประกาศผบ.สส.) ฉบับที่ 12 เรื่องการห้ามชุมนุม โดยโจทก์เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะถูกดำเนินคดีจากข้อกำหนดและประกาศเนื่องจากใช้เสรีภาพในการชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพการชุมนุม คำฟ้องระบุว่า ข้อกำหนดดังกล่าวอาศัยข้ออ้างที่มีโรคระบาดเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นการทั่วไป เพื่อประโยชน์ในการรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งขัดกับเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินจำเป็น

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาโดยให้น้ำหนักไปที่ความจำเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด 19 อธิบายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับมานานแล้ว เป็นกรณีที่ใช้เมื่อบทบัญญัติอื่นไม่สามารถนำมาใช้แก้สถานการณ์ที่มีผลต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลายรูปแบบให้ยุติลงโดยเร็วได้ รวมทั้งปัญหาภัยพิบัติสาธารณะ ทำให้ประชาชนเป็นอันตรายได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการบริหารราชการแบบปกติได้ สมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว 

ฝ่ายจำเลยมีแพทย์จากกรมควบคุมโรคเบิกความเป็นพยานว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เริ่มมีการพบผู้ติดเชื้อโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอุบัติใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนที่โรคดังกล่าวจะแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนอันเกิดจากการเคลื่อนย้ายของประชากรและองค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับการบริหารจัดการสถานการณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติโดยเร็วการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องห้ามการชุมนุม และการออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 12 ห้ามการชุมนุมมั่วสุม จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพโดยมีเหตุอันควรในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ฝ่ายโจทก์อ้างว่าการออกข้อกำหนดและประกาศของจำเลยที่หนึ่งและสองไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแต่เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง เป็นการออกประกาศหลายฉบับต่อเนื่องทับซ้อนกันจนประชาชนเกิดความสับสน และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกิดสมควร ศาลเห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ก็ไม่ใช่สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองโดยเด็ดขาด แต่จำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 วรรคสอง กำหนดไว้ จำเลยที่หนึ่งและสองจึงมีอำนาจห้ามการชุมนุมตามมาตรการที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้เพื่อป้องกันสถานการณ์ร้ายแรง 

ทั้งการนำสืบของโทก์ทั้งสี่ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองออกข้อกำหนดและประกาศเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของตนเอง และเมื่อประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวออกมาบังคับใช้เป็นการทั่วไปไม่ได้ใช้เจาะจงกับบุคคลใด จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพเท่าที่จำเป็น ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ทั้งเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ได้มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯในวันที่ 29 กันยายน 2565 เป็นเหตุผลให้ข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องอันเป็นมูลเหตุในคดีนี้สิ้นผลไป พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของจำเลย 

ผู้ประกอบการร้านอาหาร ข้อกำหนดฉุกเฉินแก้โควิด 19 ไม่ได้จริง สร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการ

คำขอ : ให้เพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและประกาศกรุงเทพมหานคร 

ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีที่งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม เจ้าของร้าน A Book With No Name, ธนกิจ สังข์ทอง เจ้าของร้าน Beergasm และณิกษ์ อนุมานราชธน เจ้าของร้าน Teens of Thailand ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น), กรุงเทพมหานคร, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ กรณีการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด ออกข้อกำหนดฯและประกาศฯ สร้างผลกระทบแก่ร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม ทำให้ทั้งสามได้รับความเสียหาย

โดยโจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเงินทั้งหมด 6,116,685 บาท พร้อมค่าเสียหายในอนาคต จนกว่าจำเลยจะยุติการกระทำละเมิดหรือยกเลิกประกาศฯ หรือข้อกำหนดฯ ที่ส่งผลกระทบต่อโจทก์ และขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และประกาศกรุงเทพมหานคร ของพล.อ.ประยุทธ์ จำเลยที่ 1 และกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ตามลำดับ ในคำพิพากษาโดยสรุป คือ การปฏิบัติหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข จำเลยที่สองและสามตามลำดับไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งสองหน่วยงานเป็นจำเลยในคดีนี้เช่นกัน การออกข้อกำหนดฯ และประกาศฯ เป็นการบังคับใช้กับทุกคนในกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มีเหตุผลที่ต้องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง และมิได้กระทำโดยปราศจากความมุ่งหวังให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย

ประเด็นที่ว่าการออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี และประกาศกรุงเทพมหานครไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน และไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่มได้ตามปกติ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย เพราะมีรายได้ลดลง ส่วนจำเลยทั้งหมดนำพยานบุคคลเข้าสืบประกอบพยานเอกสารเกี่ยวกับคำสั่ง ขั้นตอน และมติการออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี และประกาศกรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้นำพยานบุคคลหรือเอกสารมาสืบโต้แย้งว่าคำสั่ง ขั้นตอน และมติการออกข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร 

ประกอบกับจำเลยทั้งหมด มีพยานปากผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มาเบิกความยืนยันว่า สาเหตุที่กรุงเทพมหานครต้องออกประกาศฯ ห้ามมิให้ประชาชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะเกิดเหตุ เพราะจะทำให้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลลดลง ทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ง่าย และการออกประกาศดังกล่าวผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนและรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรอบด้านแล้ว เมื่อข้อกำหนดและประกาศชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยทั้งสี่ถือว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม เป็นผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้อง

พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่คนโดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท บังคับให้โจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน

นิสิต นักศึกษาร้องเพิกถอนข้อกำหนดและประกาศที่ ‘ลักไก่’ ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพิ่มโทษผู้ชุมนุม

คำขอ : ให้เพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 47 และ ประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุดฉบับที่ 15

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สิรภพ อัตโตหิ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผบ.สส. เป็นจำเลย ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 และขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว 

สืบเนื่องจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ “เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม…”

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2565 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกประกาศฉบับที่ 15 ในข้อ 5 ระบุให้นำหลักเกณฑ์การแจ้ง การจัด  รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะหรือพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558  (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)มาใช้ หากฝ่าฝืนให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่โทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีอัตราโทษที่ต่ำกว่าอยู่หลายมาตรา

การออกประกาศดังกล่าว จึงถือเป็นการออกคำสั่งเพิ่มทั้ง “ข้อห้าม” และ “หน้าที่” สำหรับผู้ชุมนุม เกินไปกว่าอำนาจที่ ผบ.สส. มีตามข้อกำหนดฉบับที่ 47 และยังเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้สูงเท่ากับการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผบ.สส. ไม่มีอำนาจออกประกาศเช่นนี้ 

เครือข่าย No NPO ขอศาลเพิกถอนข้อกำหนด-ประกาศจำกัดเสรีภาพผิดเป้าหมายป้องกันโรค 

คำขอ ให้เพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 37 ข้อ 2 และ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 14 

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เครือข่ายคัดค้านพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน นำโดยนิมิตร์ เทียนอุดม, ธนพร วิจันทร์ และภรณ์ทิพย์ สยมชัย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวก ระบุว่า ที่ผ่านมาโจทก์และประชาชนถูกขัดขวางปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มจากข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 37 ข้อ 2 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ประกาศผบ.สส.) ฉบับที่ 14 และถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งทั้งข้อกำหนดและประกาศที่ยกมาในคดีนี้ล้วนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีและประกาศที่อ้างถึงในคดีนี้ในส่วนที่ห้ามการชุมนุมไม่ได้เป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด 19 เห็นได้จากถ้อยคำที่แยกระหว่าง “ห้ามมิให้มีการชุมนุม” แยกออกจาก “การทำกิจกรรม” ไม่ใช่เจตนาเฉพาะต่อการรวมกลุ่มโดยไม่จำเป็นที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่โรคเท่านั้น ข้อกำหนดดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลย จึงเป็นการฉวยใช้ข้ออ้างโรคระบาดเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ขัดกับเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศแต่แรก นอกจากนี้การสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ และยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หลายประการ

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาพฤติการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กลับมีการนำสิ่งของมาปิดกั้นเส้นทางสาธารณะเช่น ตู้คอนเทนเนอร์ อันเป็นการใช้สิ่งของที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์และไม่เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานอันส่งผลกระทบต่อโจทก์และประชาชนที่จำเป็นต้องใช้เส้นทาง ไม่สามารถสัญจรหรือเดินทางใช้เส้นทางสาธารณะได้อย่างปกติสุข รวมทั้งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ในขณะที่โจทก์และประชาชนรวมตัวกันเพื่อใช้เสรีภาพในการชุมนุมในครั้งนี้ในระหว่างการทำกิจกรรมเดินขบวนจากบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็มีการใช้รั้วลวดหนาม แผงเหล็ก ปิดกั้นเส้นทางสาธารณะหลายเส้นทาง 

การออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 ข้อ 3 ฉบับที่ 37 ข้อ 2 และประกาศผบ.สส.ฉบับที่ 14 และความมีอยู่ต่อไปของข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามที่ต้องถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกส่งผลให้โจทก์ทั้งสาม ไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมใดๆได้อีก ทั้งที่การกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *