Recap คดีดูหมิ่นศาล กรณีนักกิจกรรมปราศรัยเรียกร้องสิทธิการประกันตัวนักโทษการเมืองที่ศาลอาญา

1. วันที่ 17 ตุลาคม 2566 ศาลอาญานัด ณัฐชนน ไพโรจน์ เบนจา อะปัญ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ฟังคำพิพากษาในคดีดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 จากกรณีที่ทั้งสามร่วมชุมนุมและปราศรัยที่หน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับจำเลยคดีการเมืองรวมทั้งคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น

2. การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่เกิดขึ้นในปี 2563 เป็นมูลเหตุให้ตำรวจดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและประชาชนด้วยข้อหาต่าง ๆ รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีบางส่วนได้แก่ ทนายอานนท์ นำภา ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ เพนกวิ้น พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นต้น 

3. พริษฐ์ซึ่งถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563 และศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ประกาศอดอาหารระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีในวันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยพริษฐ์ประกาศว่าเขาจะดื่มเพียงน้ำเท่านั้น

4. การอดอาหารของพริษฐ์ ทำให้มีประชาชนออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องขังคดีการเมือง เช่น กิจกรรมยืนหยุดขัง กิจกรรมล่ารายชื่อและยื่นหนังสือกับผู้บริหารศาลอาญา การจัดงานเสวนาวิชาการ เช่น “เสวนาหน้าศาล” ในหัวข้อ “ความยุติธรรมกับการคืนสิทธิประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข” มันเกิดอะไรขึ้นกับ “กระบวนการ(อ)ยุติธรรม”?? คืนสิทธิประกัน-หยุดใช้กฎหมายปิดปาก รวมถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ เช่น การวางดอกไม้จันทน์หน้าศาลหรือการเผาหนังสือประมวลกฎหมายที่หน้าศาลอาญา แต่ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองและคดีมาตรา 112 บางส่วนรวมถึงตัวพริษฐ์ก็ยังไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว พริษฐ์จึงยืนยันที่จะอดอาหารต่อไป

5. หลังพริษฐ์อดอาหารไปได้ 45 วัน ในวันที่ 28 เมษายน 2564 มีรายงานว่า การอดอาหารของพริษฐ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับที่น่าเป็นห่วง และมีรายงานว่าพริษฐ์ถ่ายออกมาโดยมีชิ้นเนื้อและเลือดปนออกมา จนถูกนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลรามาธิบดีในเวลาต่อมา ความห่วงกังวลต่อสุขภาพของพริษฐ์ ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวทวีความเข้มข้นขึ้น

6. ในวันเกิดเหตุ 30 เมษายน 2564 มีการจัดกิจกรรมเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลอาญา ณัฐชนน ไพโรจน์ จำเลยที่หนึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวอยู่ภายในรั้วศาลอาญาบริเวณที่จอดรถอัจฉริยะศาลอาญาและได้ใช้โทรโข่งปราศรัยกับผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ศาลรับรองสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนจะออกมาร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่นอกรั้วศาลในภายหลัง เบนจา อะปัญ จำเลยที่สองทำกิจกรรมอยู่ด้านนอกรั้วศาลและเป็นคนอ่านแถลงการณ์ “ราชอยุติธรรม” ส่วนสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่สาม ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร่วมชุมนุมและปราศรัยในคดีเดียวกับพริษฐ์ได้ไม่นาน ตามมาร่วมสมทบกับผู้ชุมนุมที่หน้าศาลอาญาหลังเริ่มชุมนุมไปแล้วพักใหญ่ๆ โดยสมยศขึ้นปราศรัยด้วยเครื่องเสียงที่อยู่ด้านนอกบริเวณศาล สำหรับข้อเรียกร้องหลักของกิจกรรมในวันเกิดเหตุคือการเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับจำเลยคดีการเมืองที่ถูกคุมขัง วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมและให้กำลังใจกับญาติของผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในเวลานั้น

7. ในเวลาต่อมา จำเลยทั้งสามคนในคดีนี้ทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับจากการร่วมชุมนุมในวันที่ 30 เมษายน จึงทยอยเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงตัว ณัฐชนนและเบนจาเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.พหลโยธินในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ส่วนสมยศเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ทั้งสามให้การปฏิเสธในตลอดข้อกล่าวหา นอกจากคดีนี้แล้ว ณัฐชนนและเบนจายังถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลจากเหตุการณ์ในวันเดียวกันเพิ่มเติมด้วย โดยคดีละเมิดอำนาจศาลของณัฐชนน ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกสองเดือนก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะแก้โทษเป็นกักขัง 15 วัน ส่วนคดีละเมิดอำนาจศาลของเบนจา ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 500 บาท 

8. ในทางคดีจำเลยทั้งสามถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการร่วมชุมนุมในวันที่ 30 เมษายน 2564 รวม 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่

• ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาศาลในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไปแต่ผู้กระทําไม่เลิกมั่วสุม โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

• พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท

โดยความผิดฐานดูหมิ่นศาลซึ่งเป็นข้อกล่าวหาหลัก โจทย์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามกล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อศาล โดยนำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์มาให้ข้อเท็จจริงของวันเกิดเหตุและเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยมาเบิกความวิเคราะห์คำปราศรัยว่าเข้าข่ายตามความผิดอย่างไร

9. ฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้ โดยมีประเด็นหลักได้แก่ 

• การปราศรัยของจำเลยเป็นไปเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการและองค์กรศาลโดยรวม ไม่ได้เจาะจงที่ผู้พิพากษาคนใดและมีเจตนาเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม 

• กิจกรรมจัดเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ โดยผู้ต้องขังคดีทางการเมืองและคดีมาตรา 112 ในขณะนั้นยังไม่มีบุคคลใดต้องคำพิพากษาเป็นที่สุดว่ามีความผิด นอกจากนั้นกรณีของพริษฐ์ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ

• การรวมตัวกันทำกิจกรรมของประชาชนเป็นไปโดยสงบไม่ได้เกิดเหตุความวุ่นวายระหว่างการทำกิจกรรม

• ไม่มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่สั่งให้ยุติการชุมนุม

10. ศาลอาญานัดจำเลยทั้งสามฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ในเวลา 9.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางมาที่ศาลอาญาในเวลาดังกล่าวเพื่อสังเกตการณ์และร่วมให้กำลังใจกับจำเลยทั้งสามได้ 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *