ศาลตัดสิน 3 นักกิจกรรมผิดฐานปราศรัยดูหมิ่นศาล รอลงโทษ 2 คน จำคุก 1 คน

17 ตุลาคม 2566 ศาลอาญานัดสามนักกิจกรรม ณัฐชนน ไพโรจน์ เบนจา อะปัญ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ฟังคำพิพากษาในคดีที่ทั้งสามถูกกล่าวหาในความผิดดูหมิ่นศาล จากกรณีร่วมการชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ30เมษา ที่หน้าศาลอาญาเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิน นอกจากความผิดฐานดูหมิ่นศาลแล้วทั้งสามยังถูกกล่าวหาในความผิดอื่น รวมทั้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนก่อความวุ่นวาย โดยศาลอาญามีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามคนทำความผิดฐานดูหมิ่นศาล ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษเฉพาะณัฐชนนและเบนจา แต่ให้ยกฟ้องสมยศ ส่วนความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ศาลให้ยกฟ้องทั้งสามคน

ในส่วนของโทษ ณัฐชนนและเบนจาต้องรับโทษจำคุกรวมหนึ่งปีแปดเดือน และต้องชำระค่าปรับ 30,100 บาท สำหรับโทษจำคุกศาลเห็นว่า ขณะเกิดเหตุณัฐชนนและเบนจายังเป็นนักศึกษาจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้สองปี ให้คุมประพฤติเป็นเวลาหนึ่งปีและทำงานบริการสาธารณะ 24 ชั่วโมง ส่วนสมยศศาลลงโทษจำคุกในความผิดฐานดูหมิ่นศาลเพียงฐานเดียว จำคุกปีสองปีและให้เพิ่มโทษจำคุกอีกแปดเดือน เนื่องจากขณะเกิดเหตุคดีนี้สมยศยังพ้นโทษจำคุกคดีมาตรา 112 ออกมาไม่ถึงห้าปี รวมแล้วสมยศต้องรับโทษจำคุก สองปี แปดเดือน แต่คำให้การของเขาเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ศาลจึงลดโทษจำคุกให้หนึ่งในสามคงจำคุก หนึ่งปี แปดเดือน 40 วัน โดยไม่รอการลงโทษ ซึ่งทนายความของสมยศได้วางเงินประกัน 100,000 บาทเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

สำหรับบรรยากาศที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลอาญา มีเพื่อนๆ ของณัฐชนนและเบนจา และนักกิจกรรมทางการเมืองประมาณ 15 คน ทยอยเดินทางมาถึงศาลตั้งแต่เวลา 9.00 น. ณัฐชนนและสมยศซึ่งเป็นจำเลยที่หนึ่งและสามในคดีเดินทางมาถึงที่ศาลก่อนเวลา 9.30 น. ส่วนเบนจา จำเลยที่สองตามมาถึงในเวลาประมาณ 9.40 น. เนื่องจากเบนจามาถึงห้องพิจารณาคดีช้า ศาลจึงเริ่มกระบวนการสืบพยานคดีอื่นไปพลางก่อน เมื่อเบนจามาถึงศาล ศาลขอพักการพิจารณาการสืบพยานที่กำลังทำอยู่เพื่ออ่านคำพิพากษาในเวลา 9.45 น. โดยก่อนอ่านคำพิพากษาณัฐชนนซึ่งใส่ขาเทียมข้างหนึ่งและสมยศที่หัวเขามีปัญหาแถลงต่อศาลขอนั่งฟังคำพิพากษา ศาลตอบว่าการฟังคำพิพากษาปกติจะต้องยืน อย่างไรก็ตามเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาไปได้ครู่หนึ่งก็บอกให้จำเลยทั้งสามนั่งฟังคำพิพากษาได้ คำพิพากษาของศาลพอสรุปได้ว่า

ตามวันและเวลาตามฟ้อง (30 เมษายน 2564) มีการจัดกิจกรรมที่หน้าศาลอาญาเพื่อให้กำลังใจแม่ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยคดีมาตรา 112 ที่เดินทางมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวลูกชาย ในวันดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมชุมนุมที่หน้าศาลอาญาประมาณ 200 – 300 คน ผู้ชุมนุมมีการอ่านจดหมายเปิดผนึก วางและเผาดอกไม้จันทน์ เผาตำรากฎหมาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดหรือไม่

โจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสน.พหลโยธิน เบิกความว่าได้รับมอบหมายให้รวบรวมพยานหลักฐานกรณีที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดกิจกรรมให้กำลังใจแม่ของพริษฐ์ ผู้ชุมนุมเริ่มมารวมตัวกันทั้งด้านหน้าและในบริเวณศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 – 20.00 น. ในเวลาประมาณ 18.36 น. ณัฐชนนจำเลยที่หนึ่งปราศรัยตอนหนึ่งทำนองว่า ระบบยุติธรรมด่างพร้อย และสมควรถูกตั้งคำถาม และกล่าวทำนองว่าศาลอาญาหมดความชอบธรรมในการพิจารณาคดี เบนจาจำเลยที่สองปราศรัยทำนองว่า การฝากขังผู้ต้องขังคดีการเมืองโดยไม่ให้ประกันตัวเป็นความอยุติธรรมและเป็นความต่ำตมของระบบกฎหมาย ที่กฎหมายถูกใช้ปิดปากผู้เห็นต่าง ส่วนสมยศ จำเลยที่สาม ปราศรัยทำนองว่า ขอให้น้ำตาของแม่ของพริษฐ์เป็นน้ำกรดราดลงบนหัวใจของผู้พิพากษา ให้เห็นว่าอะไรคือความยุติธรรม โจทก์ยังมีพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นนักวิชาการด้านภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครมาเบิกความให้ความเห็นถึงคำปราศรัยของจำเลยทั้งสามคนด้วยว่า ผู้พูดต่อการสื่อความเห็นเชิงลบต่อศาล

นอกจากนั้นโจทก์ก็มีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเบิกความยืนยันว่ามีการประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม เพราะกรุงเทพมหานครมีการออกข้อกำหนดห้ามรวมตัวเกิน 20 คน แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ฟังยังคงชุมนุมต่อไป โจทก์ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมของเขตจตุจักรซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคเบิกความว่า ในขณะเกิดกรุงเทพมหานครมีคำสั่งปิดสถานที่บางประเภทเป็นการชั่วคราวและกำหนดห้ามรวมกลุ่มเกิน 20 คน ผู้ประสงค์จัดกิจกรรมรวมกลุ่มตั้งแต่ 20 – 1,000 คน ต้องทำเรื่องขออนุญาต และมีผู้อำนวยการเขตจตุจักรมาเบิกความว่าผู้ประสงค์ใช้เครื่องเสียง ต้องทำเรื่องขออนุญาตต่อทางเขตแต่ไม่ปรากฎว่ากลุ่มของจำเลยขออนุญาตให้เครื่องเสียงในการจัดกิจกรรมที่เป็นเหตุในคดีนี้        

ศาลเห็นว่า ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เมื่อพิจารณาได้ความเพียงว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุมให้กำลังใจแม่ของพริษฐ์ โดยมีการทำกิจกรรมเขียนจดหมาย วางดอกไม้จันทน์ และโกนศีรษะประท้วง แต่ไม่ปรากฏว่ามีเหตุวุ่นวายหรือผู้ชุมนุมคนใดใช้ความรุนแรง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเข้าข่ายเป็นการมั่วสุมกันก่อความวุ่นวาย และเมื่อจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก ก็ไม่ถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในส่วนนี้

ในความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมในพื้นที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับการอนุญาต ได้ความจากพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าก่อนเกิดเหตุแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดชุมนุมเพื่อให้กำลังใจแม่ของพริษฐ์ จำเลยที่หนึ่งและสองไม่ปฏิเสธว่าเป็นสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทั้งสองยังเป็นเพื่อนกับพริษฐ์ และได้เข้าร่วมการชุมนุม อ่านจดหมายเปิดผนึก รวมถึงได้ร่วมการปราศรัย จึงเชื่อว่าทั้งสองมีส่วนในการจัดกิจกรรมในวันเกิดเหตุและทั้งสองยังเป็นสมาชิกคนสำคัญของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 

จำเลยทั้งสองจึงยากที่จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการและการจัดชุมนุมที่เกิดขึ้น และเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าในการชุมนุมที่เกิดขึ้นแม้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า แต่ก็ไม่ได้มีการเว้นระยะตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อโควิด-19 ทั้งนี้เมื่อไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการขออนุญาตให้เครื่องขยายเสียง จำเลยที่หนึ่งและสองจึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนสมยศ จำเลยที่สามไม่ปรากฏว่ามีความเกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมมาตั้งแต่ต้น มีเพียงข้อเท็จจริงว่าในวันเกิดเหตุได้รับเชิญจาก iLaw ให้ไปร่วมเป็นวิทยากร จึงไม่มีความผิดในส่วนนี้

ความผิดฐานดูหมิ่นศาล โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่หนึ่งและสองจัดการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา มีกิจกรรมคือการเผาหนังสือกฎหมาย วางและเผาดอกไม้จันทน์ การโกนผม และเผารูปผู้พิพากษา นอกจากนั้นก็มีการตะโกนถ้อยคำต่างๆ ทั้งคำว่า ปล่อยเพื่อนเรา มีการตะโกนด่า ตำหนิหรือโห่ไล่ผู้พิพากษาซึ่งถือเป็นการกดดันการใช้ดุลพินิจ คำปราศรัยของจำเลยทั้งสามยังมุ่งตำหนิการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการตำหนิ และเป็นการด้อยค่าการใช้ดุลพินิจ แม้จำเลยทั้งสามจะอ้างว่าไม่ได้เอ่ยชื่อของผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งออกมา แต่ก็ถือเป็นการดูหมิ่นศาล ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต

การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต่างกรรมต่างวาระ ให้ลงทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ลงโทษจำคุกจำเลยที่หนึ่งและสองเป็นเวลาสองปีและปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก หนึ่งปีสี่เดือน ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท

ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุกสี่เดือน ปรับเงิน 10,000 บาท

ความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับเงิน 100 บาท

คงจำคุกหนึ่งปี แปดเดือน ปรับเงิน 30,100 บาท

จำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนทั้งยังเป็นนักศึกษา จึงสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดสองปี ให้คุมประพฤติจำเลยทั้งสองเป็นเวลาหนึ่งปี ให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติคนละสี่ครั้งและให้ทำงานบริการสาธารณะ 24 ชั่วโมง

ส่วนจำเลยที่สามให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานดูหมิ่นศาลเป็นเวลา สองปี และให้เพิ่มโทษอีกแปดเดือนเป็นจำคุกสองปี แปดเดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกหนึ่งปี แปดเดือน 40 วัน

สำหรับเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2564 เมื่อแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายชุมนุมที่หน้าศาลอาญาเพื่อให้กำลังใจแม่ของเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอีกคนหนึ่งที่เดินทางมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ในวันเดียวกันโดยที่ในขณะนั้นมีกระแสข่าวว่าพริษฐ์ที่เริ่มอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการขอปล่อยตัวชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม มีอาการถ่ายเป็นเลือดและสภาพร่างการเริ่มอยู่ในภาวะวิกฤติ

หมายเหตุ ที่สมยศถูกเพิ่มโทษจำคุกแปดเดือนเป็นไปตามความในมาตรา 92 ของประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดว่า ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดใด ๆ อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง โดยสมยศเพิ่งพ้นโทษคดีมาตรา 112 ในวันที่ 30 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึงห้าปีหากนับถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุคดีนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *