Stand Together ครั้งที่สาม ส่งกำลังใจให้จำเลยมาตรา 112 ที่รอคำพิพากษาส่งท้ายปี

11 ธันวาคม 2566 เวลา 15.30 – 17.00 น. iLaw จัดงาน “Stand Together 3 : ฟังเสียงผู้ต้องหา ก่อนฟังคำพิพากษาคดี ม.112” ณ อาคาร All Rise ชวนฟัง พูดคุย และส่งกำลังใจให้กับผู้ต้องหาคดีทางการเมือง มาตรา 112 ท่ามกลางเดือนสุดท้ายของปี 2566 ที่มีการนัดฟังคำพิพากษามากถึง 13 คดี
งาน Stand Together ประจำเดือนธันวาคม 2566 มี อติรุจ “โจเซฟ” “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ เป็นผู้ร่วมวงเสวนา ในตอนท้ายมีรักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เช่นกัน มาร่วมพูดคุยและให้กำลังใจคนที่ถูกดำเนินคดี
คำพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่จะอ่านในเดือนธันวาคม 2566 นอกจากจะส่งผลให้อาจจะต้องมีผู้เดินเข้าเรือนจำเพิ่มโดยไม่ได้ฉลองวันปีใหม่กับผู้อื่นแล้ว ยังมีโอกาสทำให้ สส. หนึ่งคนต้องเสี่ยงหลุดจากตำแหน่ง แม้ว่าจะได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนก็ตาม

อติรุจ: 112 จากการตะโกนใส่ขบวนเสด็จ ถูกค้นบ้าน-ส่งตรวจจิตเวช

อติรุจเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองว่าเรียนจบจากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ช่วงดังกล่าวอติรุจระบุว่ากระแสการชุมนุมอ่อนตัวลงมากและมีแกนนำหลายคนถูกจับกุม จุดเริ่มต้นที่ทำให้อติรุจสนใจการเมืองเป็นเพราะการ “ถูกอุ้ม” บังคับสูญหายของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ในต่างประเทศ ซึ่งทางการไทยและต่างประเทศไม่ได้มีท่าทีแสดงออกแต่อย่างใด ทำให้อติรุจคิดว่าการเมืองใกล้ตัวคนทุกคนมาก เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองก็ถูกเล่นงานแบบนี้ได้

อติรุจจึงเริ่มไปชุมนุมตามโอกาสต่างๆ ส่วนตัวแล้วเขาประทับใจการชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการวางรากฐานข้อเสนอทางการเมืองให้แก่การเคลื่อนไหวต่อมา 


คดีของอติรุจถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จในงานสัปดาห์หนังสือเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ตอนนั้นเขาอายุ 25 ปี ก่อนเกิดเหตุนั้นอติรุจถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยืนล้อมอยู่เป็นระยะเวลา 10 นาทีตำรวจนอกเครื่องแบบถามเขาว่า “จะไปนั่งไหม” แล้วเมื่อถามว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหนก็ไม่มีการตอบรับ อติรุจจึงตะโกนถ้อยคำดังกล่าวแล้วถูกบังคับใช้กำลังไปขังในห้องของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกหนึ่งชั่วโมง ต่อมาเขาจึงถูกพาไปยังสถานีตำรวจลุมพินี กรุงเทพมหานคร ระหว่างนี้เขาถูกฝากขังที่ สน. หนึ่งคืนเนื่องจากศาลไม่เปิดวันเสาร์ อย่างไรก็ตามมีหมายค้นจากศาลส่งมาที่บ้านในวันเสาร์ ซึ่งย้อนแย้งจากข้อกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามการค้นบ้านอติรุจไม่พบสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับคดี

ต่อมาในวันเสาร์อติรุจถูกส่งไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อตรวจหาว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่ ซึ่งเขาถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมัดกับเก้าอี้เพื่อเข็นเข้าไปยังแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล จนกระทั่งต้องให้เพื่อนกับญาติมาที่โรงพยาบาลเพื่อปฏิเสธการรักษา การถูกนำตัวมาโรงพยาบาลจิตเวชเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าอติรุจขัดขืน ใช้กำลัง และขณะถูกจับกุมที่ สน. ก็แสดงท่าทีขัดขืนด้วยการวางเท้าขึ้นบนโต๊ะสอบสวน จึงระบุไปในสำนวนคดีว่าอติรุจอาจจะป่วยทางจิตเวช

อติรุจเสริมว่า ในสหราชอาณาจักรเคยมีผู้ปราศรัยซึ่งหน้าใส่กษัตริย์ชาร์ลแห่งอังกฤษ ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีลงโทษจำคุกแต่ถูกปรับเพียงเรื่องของการใช้เครื่องเสียงเท่านั้น ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับคดีของตนที่มีลักษณะ “ซึ่งหน้า” เช่นเดียวกัน แต่กลับถูกลงโทษอย่างรุนแรง แม้ว่าประเทศไทยจะอ้างว่านำกฎหมายหรือการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาจากสหราชอาณาจักรก็ตาม

อติรุจยกตัวอย่าง การประกันในคดีมาตรา 112 ของเขาต้องใช้เงินประกันถึง 300,000 บาท พอๆ กันกับการวางเงินประกันของคดีพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เขาเน้นย้ำว่าคดีการเมืองมาตรา 112 มีแต่โทษจำคุกไม่มีโทษปรับ การตัดสินว่าผิดต้องนำไปสู่การจำคุกซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพ จึงควรตัดสินอย่างเคร่งครัด หากอยากตีความอย่างกว้างขวางก็ควรเปลี่ยนเป็นคดีแพ่ง ทั้งหมดนี้ชี้แล้วว่ามาตรา 112 มีปัญหาในทุกมิติ

ไชยอมร: บทเพลงประท้วงแห่งยุค ผู้ที่ทำให้เรือนจำหวาดกลัวพลังความคิดนักโทษการเมือง

ไชยอมรระบุว่า ตัวเองอาจจะถูกจับกุมได้ในวันที่ศาลนัดพร้อม เพราะในระยะหลังเริ่มมีการใช้วิธีการแบบนี้ในการจับกุมผู้ต้องหาทางการเมือง ทำให้ไชยอมรกล่าวว่าตัวเขามีโอกาสต้องเข้าเรือนจำในเร็ววันนี้เช่นเดียวกัน

ไชยอมรเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเริ่มสนใจการเมือง เขาระบุว่าเริ่มมาจากการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ที่เป็นโรงเรียนเอกชนจึงทำให้ไม่ต้องเรียนตามหลักสูตรวิชาตามที่รัฐกำหนด ทำให้ไชยอมรได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 จึงรู้สึกผูกพันธ์กับเหตุการณ์การเมืองมาตลอด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอาชีพนักร้องนักดนตรีที่มักมีกฎเหล็กว่าห้ามแสดงออกทางการเมืองมิเช่นนั้นจะอยู่ต่อไปในอุตสาหกรรมลำบาก ไชยอมรก็เริ่มเข้ามาชุมนุมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาคนที่เขารู้จักเป็นการส่วนตัว รุ่นน้องของเขา Hothacker ศิลปินแรปที่มีผลงานร่วมกับกลุ่มแรปการเมืองชื่อดัง Rap Against Dictatorship หรือ R.A.D. ถูกจับกุม เขาจึงติดตามไปชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ส่งผลให้เขาเริ่มถูกชักชวนให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองในระยะหลังต่อไป

“การกล้าแหกกฎเหล็กของวงการดนตรีนั้นก็เป็นเพราะอยากเป็นตัวอย่างให้ศิลปินรุ่นหลังและชนชั้นกลางที่ไม่ได้เดือดร้อนโดยตรงจากปัญหาทางการเมืองหันมาสนใจให้มากขึ้น”

ส่วนที่มาของท่อนการเมือง “1-2-3-4-5 I hear Too” เป็นความบังเอิญจากการร้องเพลงนี้ในสถานการณ์ชุมนุมแล้วถูกกลุ่มของ “ไผ่ ดาวดิน” หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นผู้แปลงเนื้อเพลงแล้วร้องกลับมา จนทำให้กลายเป็นที่นิยมต่อไป

ไชยอมรเล่าถึงคดีของเขา ที่ศาลธัญบุรีนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ว่า ถูกดำเนินคดีจากการร้องเพลงดังกล่าวที่หน้าศาลธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 เพื่อเรียกร้องการปล่อยตัวสิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมกลางดึกตามหมายจับในคดี 112 กรณีพ่นสีข้อความ “ภาษีกู”“ยกเลิก 112” ตอนนั้นมีผู้ชมร้องแปลงจากเนื้อเพลงเดิมจากคำว่า “I Hear Too” เป็นเนื้อความอย่างอื่น จนถูกคดีมาตรา 112 ซ้ำร้ายคดีนี้ศาลยังไม่ยอมเบิกตัว อานนท์ นำภา ซึ่งเป็นทนายความของคดีนี้ มาว่าความให้ไชยอมร

นอกจากนี้ ไชยอมรเคยถูกดำเนินคดี มาตรา 112 อีกหนึ่งคดี เขาเป็นนักโทษการเมืองคนแรกๆ ที่ถูกส่งไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งการไปถึงครั้งแรกก็ถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าเพื่อถ่ายรูป ไชยอมรมองว่าการส่งไปเรือนจำอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ที่เป็นหมุดหมายของนักโทษการเมืองทั่วไป อาจจะหมายความถึงการอยากให้ถูกกลั่นแกล้งจากนักโทษภายใน อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันนักโทษคดีอื่นๆ ก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์นักโทษคดีการเมือง ไม่เหมือนในอดีต บรรยากาศในเรือนจำมีเพียงความหวาดกลัวจากเจ้าหน้าที่เท่านั้นยามที่ไชยอมรจับกีต้าร์ จับดินสอ หรือเริ่มพูดอะไรที่มีคนมาล้อมวงฟังเป็นจำนวนมาก 

การถูกดำเนินคดีทำให้คิวงานของไชยอมรถูกยกเลิกเป็นจำนวนมากแม้จะมีส่วนที่ไปแสดงสดร่วมกับนักดนตรีคนอื่น แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังทำให้ไม่มีงานใหม่ๆ ออกมา อย่างไรก็ตามเมื่อไชยอมรรู้ว่ากำลังอาจจะถูกจำคุกก็ได้เขียนเพลงใหม่อยู่อีก 15 เพลง ซึ่งต่อให้เขาต้องกลับเข้าเรือนจำก็ยังมีเสียงของเขาวนเวียนต่อไปอยู่ในสังคม รวมทั้งเขายังต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าด้วยศิลปะหรือดนตรี ในการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือนักโทษคดีการเมืองที่กำลังติดอยู่ในเรือนจำ ยังเป็นช่องว่างที่เขาจะพยายามให้มากขึ้นก่อนอาจจะต้องสูญเสียอิสรภาพ

โจเซฟ: “ตาสว่าง” เพราะความเหลื่อมล้ำ ปราศรัยด้วยความกล้าและความสุข

โจเซฟเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้สนใจทางการเมืองโดยเฉพาะประเด็นของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเริ่มจากเมื่ออายุ 14 เพิ่งกลับจากประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีระบอบการปกครองที่ใกล้เคียงกันกับไทย คือ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วได้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ทำให้เขารู้สึกเศร้าใจไปอีกหลายวัน ต่อมาเขาได้พบเห็นเหตุการณ์การต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดงกับอำนาจเผด็จการ ซึ่งมีลักษณะของผู้คนจากหลายจังหวัดที่ควรจะได้รับการดูแลจากรัฐเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆ 

หลังการสังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 โจเซฟได้เจอกับ “ป้าดา” หรือ ดารุณี กฤตบุญญาลัย ผู้ตั้งคำถามกับโจเซฟว่า รู้หรือไม่ว่าใครมีส่วนร่วมกับการสังหารหมู่คนเสื้อแดงบ้าง ทำให้โจเซฟ “ตาสว่าง” ทางการเมืองทันที ประกอบไปกับการไปฟังคำปราศรัยของ อานนท์ นำภา ทนายความและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ทำให้ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกยกขึ้นมาพูดคุยอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา มากกว่าที่เคย

ในปี 2563 โจเซฟมีโอกาสได้ไปเกือบทุกการชุมนุม ส่วนตัวของเขาประทับใจการชุมนุม #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์ และ การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10 สิงหาคม 2563 เพราะเป็นการนำเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้เป็นหมุดหมายของฝ่ายประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน

คดีล่าสุดที่โจเซฟกำลังถูกพิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 หากเขาถูกตัดสินลงโทษจำคุก ก็ต้องถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี ที่โจเซฟยืนยันอีกครั้งว่าเรือนจำนี้ค่อนข้างเกรงกลัวนักโทษคดีการเมืองด้วยเช่นเดียวกับที่ไชยอมรบอกไว้ข้างต้น โดยคดีที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีเป็นคดีการปราศรัยในวันจักรีปี 2565 ร่วมกับ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ “เจ๊เขียว กิโยติน” เกี่ยวกับการขึ้นมามีอำนาจของรัชกาลที่หนึ่งเมื่อ 240 กว่าปีที่แล้ว มีเนื้อความว่า มีการใช้ลัทธิเทวราชย์สร้างสิทธิธรรมให้แก่ผู้ปกครองมากดขี่ประชาชน ผ่านมุมมองของชนชั้นแรงงานแนววิพากษ์

ปัญหาสำคัญ คือ ศาลธนบุรีอาจจะไม่ได้ยึดกฎหมายมาตรา 112 ตามตัวบทกฎหมาย คำพิพากษาของศาลที่ผ่านมาก็มีทั้งสองรูปแบบตั้งแต่การตีความอย่างเคร่งครัดและการตีความแบบขยายขอบเขต ทำให้โจเซฟถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จนต้องเข้ารับฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 นี้ และหากศาลธนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษก็จะยิ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายมาตรานี้มีปัญหา

โจเซฟระบุว่า พยานฝ่ายโจทก์ที่แจ้งความเอาผิดเขาในคดีดังกล่าวต่อมาได้มาขอโทษเขาในห้องน้ำศาล พร้อมยกเหตุผลว่าด้วย “เครื่องแบบ” ทำให้เขาไม่สามารถเข้าข้างโจเซฟได้ สิ่งนี้โจเซฟระบุว่า แม้แต่ในกระบวนการยุติธรรมและราชการก็ยังมีความกระอักกระอ่วนในการใช้มาตรา 112 มากขึ้นเรื่อยมาเช่นเดียวกัน แต่เขาก็ยืนยันว่าจะยังใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุขต่อไป เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมีความสุขบนความทุกข์ของเขาอย่างแน่นอน

รักชนก ศรีนอก: ความพยายามถามหาความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม กับคดีการเมือง

ในช่วงท้าย รักชนก ศรีนอก เขามากล่าวให้กำลังใจคนที่ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 รวมถึงอัพเดทคดีของตัวเอง ระบุว่า เป็นหน้าที่ของทุกคนในการทำให้ทุกคนเข้าใจว่ากฎหมายมาตรา 112 คืออะไร ทำงานอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง แม้คนจำนวนมากในการชุมนุมจะรู้แล้วแต่ก็ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องพูดคุยกันด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรมากขึ้น แม้ว่าพวกเขาอาจจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ตาม 

รักชนกจะต้องไปฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเปิดสมัยประชุมสภาพอดี แม้ว่าจะขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาไปแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีผลการพิจารณาออกมาอย่างไร ซึ่งอาจจะทราบผลได้ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ก่อนเวลาเลิกงานราชการ

หากวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ศาลพิพากษายกฟ้อง รักชนกก็จะกลับไปทำงานตามปกติ แต่หากศาลสั่งลงโทษแต่รอลงอาญารักชนกก็จะสามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นเดิม แต่หากสั่งลงโทษแล้วไม่ให้รอลงอาญา ก็ต้องได้รับการประกันตัวในเย็นวันนั้นก่อนถูกส่งตัวไปเรือนจำ เพราะหากถูกส่งตัวไปเรือนจำแม้เพียงวันเดียวก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทันที ซึ่งรักชนกมองว่าตำแหน่ง สส. เป็นตำแหน่งที่ประชาชนในเขตเลือกตั้งลงคะแนนมาให้แล้วโดยตรง หากกระบวนการยุติธรรมใช้เทคนิคทางกฎหมายในการสกัด สส. ออกจากตำแหน่ง ก็หวังว่าเรื่องนี้จะถูกพูดคุยเป็นวงกว้างต่อไป

อย่างไรก็ตาม รักชนกมองว่าประเทศนี้มีกระบวนการยุติธรรมแต่อาจจะไม่ได้มีความยุติธรรมในความหมายของสากลโลก จึงคาดหวังให้ผู้ที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมจะปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากคดียังไม่สิ้นสุดก็ต้องไม่ปฏิบัติตัวเสมือนเขาเหล่านั้นเป็นนักโทษ เนื่องจากรักชนกก็เพียงใช้สิทธิในการแสดงออกทางการเมืองตามที่ประชาชนไทยมีแต่เพียงเท่านั้น

สุดท้ายนี้ iLaw ได้มอบภาพวาดเหมือนให้แก่ผู้ร่วมวงเสวนาทั้งสี่ท่าน และถ่ายรูปร่วมกันเพื่อเป็นกำลังใจว่า เดือนนี้พวกเขาไม่ได้ถูกพิพากษาแต่เพียงลำพัง