จำคุกฟ้า-พรหมศร 2 ปี ร้องเพลงพาดพิง ร.10 ยกฟ้องแอมมี่ ชี้จำเลยร้องเพลงตามปกติ ไม่ได้เตรียมให้ตะโกนรับว่าอะไร

28 ธันวาคม 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรี มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือคำสั่ง ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และข้อหาร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 โดยมีจำเลยในคดีนี้สองคน คือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ The Bottom Blues และพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า
คดีนี้สืบเนื่องจากกลางดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 ตำรวจจับกุมตัวสิริชัย นาถึง นักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโดยไม่ให้ติดต่อผู้ไว้วางใจ ทำให้เพื่อนๆ ต้องติดตามตัวเขาอยู่หลายชั่วโมงจนพบตัวในช่วงเวลาประมาณ 01.30 น.ของวันถัดมา สิริชัยถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากการพ่นสีสเปรย์บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ในพื้นที่คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วันถัดมาพนักงานสอบสวนนำตัวเขาไปขออำนาจศาลจังหวัดธัญบุรีฝากขังในชั้นสอบสวน ระหว่างรอคำสั่งการปล่อยตัวชั่วคราว ไชยอมรพร้อมด้วยกลุ่มนักกิจกรรมจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและพรหมศรร้องเพลงรอด้านหน้าศาล
ในคำฟ้องของคดีนี้ระบุว่า ระหว่างที่จำเลยทั้งสองกับพวกชุมนุมที่ด้านหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี พรหมศรเปิดเพลงสดุดีจอมราชาและมีการดัดแปลงเนื้อเพลงเป็นประเด็นเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเงินประกันตัวในคดีมาตรา 112 กับการถวายพระพร และเปิดเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” และดัดแปลงเนื้อหาตั้งคำถามเรื่องการใช้เงินภาษีและการแปรพระราชฐาน ขณะที่ไชยอมรซาวน์เช็คด้วยเพลง 1 2 3 4 5 และพรหมศรกับพวกร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย xx” ไชยอมรร้องต่อว่า 6 7 8 9 และพรหมศรกับพวกร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย xx” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่ 17 มีนาคม 2564 พรหมศรไปรายงานตัวตามหมายเรียกและถูกฝากขังระหว่างสอบสวน 55 วันก่อนได้รับการประกันตัว 
ศาลออกนั่งบัลลงก์พิจารณา ที่ห้องพิจารณาคดีที่สี่ ศาลจังหวัดธัญบุรี เวลา 09.32 น. ศาลกล่าวขอความร่วมมือให้ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ออกไปจากห้องพิจารณาคดีเนื่องจากคดีมีความละเอียดอ่อน แต่ยังมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อยู่ในห้องพิจารณาคดี 
เวลา 09.35 น. ศาลอ่านคำพิพากษา ใจความว่า ส่วนของความผิดฐานร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 จากพยานหลักฐาน พบว่า สถานที่ชุมนุมลานหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีนั้น เป็นพื้นที่โล่งโปร่ง แสงอาทิตย์สามารถส่องถึงได้ แม้จะมีผู้ชุมนุมแต่บริเวณโดยรอบยังคงมีพื้นที่ว่าง ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ ไม่ได้แออัด แม้การชุมนุมดังกล่าวจะไม่ปรากฏว่ามีมาตรการป้องกันโรคระบาด เช่น ไม่ได้จัดให้มีแอลกอฮอล์ล้างมือ แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม จึงให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาดังกล่าว
สำหรับความผิดตามมาตรา 112 และความผิดฐานร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังสืบพยานจำเลยแล้วเสร็จ จำเลยที่หนึ่ง พรหมศร ให้การรับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 การกระทำหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 4 ปี ความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษปรับ 200 บาท เนื่องจากจำเลยที่หนึ่ง ให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ความผิดมาตรา 112 เหลือจำคุก 2 ปี และความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเหลือปรับ 100 บาท แม้จำเลยจะกระทำความผิดครั้งแรก แต่พฤติการณ์ร้ายแรง ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รอการลงโทษ
ส่วนจำเลยที่สอง ไชยอมร พนักงานสืบสวนซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความใจความว่า จำเลยที่สอง พูดว่า “ขอซาวด์เช็คกันหน่อยครับ” พร้อมกับร้องเพลง “1 2 3 4 5” ผู้ชุมนุมร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย xx” ไชยอมรร้องต่อว่า “6 7 8 9” ผู้ชุมนุมร้องต่อว่า “ไอ้เหี้ย xx” จากนั้นไชยอมรพูดต่อไปว่า “อันนี้ผมยังไม่โดน 112 นะ คุณจะมาดันให้ผมโดนเลยเหรอ ใส่พานมาเลย”  ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จำเลยที่สอง ไชยอมร กล่าวข้อความตามพยานหลักฐาน แต่อย่างไรก็ดี ตามเพลงที่ไชยอมรร้องนั้น มีลักษณะร้องตามปกติทั่วไป เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่สอง ร่วมเตรียมการกับพวกเพื่อมีเจตนาทำความผิดมาตรา 112 ไม่ปรากฏว่ามีการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จำเลยเพียงร้องเพลงและไม่ปรากฏว่าตระเตรียมกับพวกให้ร้องรับว่าอย่างไร พยานโจทก์ยังเป็นที่สงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่สอง ส่วนความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ลงโทษปรับ 200 บาท
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 11.45 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพรหมศรระหว่างอุทธรณ์ กำหนดวงเงินประกัน 300,000 บาท ใช้หลักประกันเดิมที่วางไว้ในชั้นพิจารณา และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขประกันใดๆ โดยศาลจังหวัดธัญบุรีไม่ได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา 2565 ข้อ 24 ทำให้จำเลยได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวในขณะที่คดียังไม่ถึงที่สุด
กรณีของไชยอมร นอกจากคดีนี้แล้วเขายังถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 (ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์) อีกหนึ่งคดี ร่วมกับปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมทะลุฟ้า  สืบเนื่องจากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า เผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตามคำฟ้องระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกด้วยประการใดว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกายทรัพย์สินสิทธิเสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณอันไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยมนับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นกษัตริย์  
สำหรับคดีเผา เดิมวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ศาลอาญานัดพร้อมเพื่อฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากจำเลยทั้งสองขอให้ศาลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไชยอมรป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน ศาลพิจารณาใบรับรองแพทย์แล้วเชื่อว่าป่วยจึงเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนนัดการฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกไปเป็นวันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ คดีที่ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 16/2566 ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 
ส่วนของพรหมศร จากข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีตามมาตรา 112 รวมคดีนี้เป็นห้าคดี ได้แก่ คดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา63 หน้ากรมทหารราบที่ 11, คดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่, คดีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง และ คดีปราศรัยในชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์