26 มีนาฯ นัดพิพากษาคดีม. 112 แอมมี่และปูน ทะลุฟ้ากรณีเผารูปร. 10 หน้าเรือนจำเมื่อปี 64

วันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดพร้อมเพื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์และวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 217 ตามลำดับของแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues และปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมทะลุฟ้า คดีนี้สืบเนื่องจากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564  โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และศาลอาญากำหนดวันอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 26 มีนาคม 2567 ระบุด้วยว่า เห็นแก่ทั้งคู่ แอมมี่มีนัดหมายแสดงดนตรีและปูนกำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัย
สำหรับนัดพร้อมเพื่อฟังคำวินินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากวันที่ 1 มีนาคม 2566 ระหว่างการสืบพยานทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ข้อความที่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ไม่ได้บัญญัติถ้อยคำอันแสดงถึงคุณธรรมที่เป็นมูลฐานที่กฎหมายต้องการคุ้มครอง คือ อันตรายต่อประชาชนทั่วไปอย่างชัดแจ้ง บัญญัติแต่เพียงว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” แต่ไม่ได้บัญญัติว่า “อันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป”  บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีความแน่นอน เปิดช่องให้ตีความเป็นผลร้ายต่อจำเลยทั้งสอง เนื่องจากมีบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะคุ้มครองทรัพย์ของบุคคลไว้อยู่แล้วตามมาตรา 358 ก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า การกระทำเช่นใดจะเป็นความผิดตามกฎหมายบทใด เมื่อพิจารณาประกอบกับการเผาทรัพย์ที่เป็นการแสดงออกทางศิลปะหรือการประท้วงเรียกร้อง เป็นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ 34 ยิ่งทำให้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ไม่ได้สัดส่วนและเกินสมควรแก่เหตุ 
นอกจากนี้สัดส่วนโทษระหว่างมาตรา 217 มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ 10,000-140,000 บาท ขณะที่มาตรา 258 ซึ่งเป็นการทำลายหรือทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียไปเช่นเดียวกัน กลับมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและยังเป็นความผิดฐานยอมความได้ ดังกล่าวจึงเป็นเหตุโต้แย้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 26 และ 34 หรือไม่ วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566
คดีนี้สืบเนื่องจากแอมมี่และปูน ถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 นำสู่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 หลังเกิดเหตุวันที่ 3 มีนาคม 2564 แอมมี่ถูกจับกุมและไม่ได้ประกันตัวเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 จึงได้รับการประกันตัวในการร้องขอครั้งที่แปด รวมระยะเวลาคุมขังในชั้นสอบสวนของตำรวจ 69 วัน ส่วนปูน จำเลยร่วมคดีนี้ ขณะเกิดเหตุมีอายุ 18 ปีกับอีกเก้าวัน ทำให้เขาไม่ได้ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนกลางและครอบครัว  แม้ทนายจะพยายามต่อสู้ให้ได้ย้ายไปพิจารณาคดีในศาลเยาวชนกลางและครอบครัวตามคำวินิจฉัยพฤติกรรมของแพทย์แล้วก็ตาม ทั้งนี้ศาลให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยของแพทย์ใช้เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจแต่เพียงเท่านั้น
ในชั้นศาล จำเลยทั้งสองรับว่า เป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรมจริงตามที่อัยการฟ้อง แต่การกระทำของทั้งคู่ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการเผาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น 
——————————————————————–
อ่านเพิ่มเติม