1040 1392 1360 1866 1925 1262 1101 1728 1917 1364 1815 1809 1981 1594 1952 1830 1371 1517 1143 1433 1101 1014 1380 1566 1908 1788 1015 1086 1070 1135 1187 1014 1187 1290 1914 1399 1418 1218 1155 1094 1714 1786 1479 1725 1552 1572 1826 1298 1117 1344 1311 1047 1156 1527 1048 1375 1503 1492 1033 1532 1076 1324 1691 1917 1210 1840 1003 1250 1152 1472 1399 1964 1007 1885 1672 1626 1521 1651 1573 1019 1828 1305 1747 1992 1333 1099 1309 1634 1518 1357 1936 1937 1935 1668 1154 1290 1548 1813 1151 สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

หลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บรรยากาศทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูงและมีการชุมนุมขนาดใหญ่ต่อเนื่องยาวนานเงียงสงบลงไป ท่ามกลางสถานการณ์ที่ มีผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 คน มีผู้ที่ถูกจับกุมอย่างน้อย 362 คน จำนวนผู้ที่ถูกเรียกและถูกจับรวมกันอย่างน้อย 976 คน มีผู้ถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอย่างน้อย 134 คน สถิติการเรียกรายงานตัวและการจับกุมมากน้อยขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง และปริมาณกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในช่วงเวลานั้นๆ 

ระหว่างการควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎอัยการศึก ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติ หรือทนายความ ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว นอกจากนี้ก็จะถูกสอบสวนเพื่อหาข้อมูล หาหลักฐานในการดำเนินคดี มีการพูดคุยเพื่อ "ปรับทัศนคติ" ถูกบังคับใช้เซ็นเอกสารยินยอมยุติการแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายคนถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีหลังการควบคุมตัว มีรายงานการซ้อมทรมานระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 28 กรณี 

 

มีเครื่องมืออย่างน้อยสองชิ้น ที่คสช.ใช้เพื่อสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เงียบสงบ 

เครื่องมือชิ้นแรก คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ซึ่งประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ให้ทหารมีอำนาจจับกุมบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล สามารถเข้าจับกุมได้แม้ในที่รโหฐาน ในเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่มีสิทธิติดต่อญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความ

เครื่องมือชิ้นที่สอง คือ การออกคำสั่งของ คสช. เรียกให้บุคคลมารายงานตัว โดยมีทั้งการประกาศออกอากาศทางโทรทัศน์ การโทรศัพท์เรียก การส่งจดหมายเชิญ หรือการไปตามหาตัวที่บ้านพัก คนที่มีลักษณะเป็นแกนนำการเคลื่อนไหว หรือถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจะถูกเรียกไปพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ หรือ ขอความร่วมมือให้ยุติความเคลื่อนไหวเพื่อความสงบ บางคนถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก 

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ เริ่มบันทึกสถิติการเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวและการจับกุมบุคคล ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยเก็บข้อมูลจากคำสั่งคสช. เรื่องให้บุคคลมารายงานตัว รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ การส่งข่าวจากเครือข่ายในพื้นที่ต่างจังหวัด การสัมภาษณ์ผู้ถูกจับกุมและถูกเรียกรายงานตัว การเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุมตามสถานที่คุมขังและเรือนจำ ฯลฯ โดยบันทึกเฉพาะข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถยืนยันจากต้นทางของข้อมูลได้เท่านั้น ข้อมูลที่บันทึกได้จึงเป็นตัวเลขขั้นต่ำ “เท่าที่ทราบ” เท่านั้น ไม่ใช่สถิติที่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น

 

110

 

ทวนความจำ เกิดอะไรขึ้นบ้างหลัง 22 พฤษภาฯ

 

พฤษภาคม : ยึดอำนาจพร้อมประกาศเรียกรายงานตัว ห้ามชุมนุม ห้ามต่อต้าน

หลังการรัฐประหาร คสช. ประกาศเรียกให้แกนนำกลุ่มทางการเมือง นักการเมือง และนักกิจกรรมเข้ารายงานตัว นอกจากนั้นยังจับกุมแกนนำของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมไปถึงจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร คนจำนวนมากถูกควบคุมตัวไว้ 7 วันตามกฎอัยการศึก หรือมากน้อยกว่านั้น นอกจากนี้ ผู้ถูกเรียกรายงานตัวบางคนก็เปิดเผยภายหลังว่า พวกเขาถูกสอบสวนอย่างหนักระหว่างถูกควบคุมตัว

พฤติการณ์การจับกุมเท่าที่พบเห็น คือพฤติการณ์การจับกุมผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีทั้งการใช้กำลังจับกุมต่อหน้าประชาชน หรือการใช้ภาพถ่ายเป็นหลักฐานและตามไปจับกุมตัวภายหลัง นอกจากการจับกุมแล้ว คสช. ยังใช้วิธีการเรียกบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นแกนนำจัดการชุมนุมไปรายงานตัวเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ให้ปลุกระดมคนออกมาเคลื่อนไหวได้อีก

ตั้งแต่วันที่ 22 – 31 พฤษภาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 139 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 84 คน / กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือ กปปส. และ คปท. 9 คน / กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 7 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 33 คน ยังไม่สามารถระบุได้ 6 คน 

คสช. เรียกบุคคลไปรายงานตัวอย่างน้อย 234 คน โดยไม่ระบุเหตุของการเรียก ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ทั้งหมดถือเป็นอำนาจการตัดสินใจของ คสช. แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งแบ่งเป็นประกาศเรียกผ่านทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ อย่างน้อย 189 คน และมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัวในท้องถิ่น อย่างน้อย 45 คน

 

มิถุนายน : ชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช ผิดกฎหมาย

เดือนมิถุนายน 2557 การแสดงออกเพื่อต่อต้านการรัฐประหารยังคงร้อนแรง มีการรวมตัวแสดงออกในหลายพื้นที่ เช่น ห้างสยามพารากอน ห้างเทอร์มินัล 21 และมีการใช้สัญลักษณ์ “ชูสามนิ้ว” แสดงการต่อต้านการรัฐประหาร มีการนำหนังสือ 1984 และการกินแซนด์วิช มาเป็นสัญลักษณ์ในการจัดกิจกรรมด้วย แม้กลุ่มต่อต้านรัฐประหารจะเลือกวิธีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการชุมนุมใหญ่อย่างที่ผ่านมา แต่ก็ยังถูกจับและเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อหาฐานชุมนุมทางการเมืองได้

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 มิถุนายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 67 คน เป็นกลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 35 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 131 คน โดยประกาศเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ 96 คน และมีหมายเรียกรายงานตัวในท้องถิ่น 35 คน มีอย่างน้อย 3 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลังควบคุมตัวครบ 7 วัน

 

กรกฎาคม : ยุทธศาสตร์ คสช. บรรลุผล ผู้ชุมนุมลดลง แต่การเชิญตัวยังไม่ลด

หลังผู้ออกมาแสดงการต่อต้านรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน ก็มีผู้ถูกเรียกตัวและถูกจับกุมจำนวนมาก โดยไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนว่าใครบ้างที่จะถูกจับกุม จะถูกกักตัวไว้กี่วัน และเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่จะถูกดำเนินคดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ก็ต้องขึ้นศาลทหาร

เงื่อนไขดังกล่าวจึงอาจเป็นปัจจัยให้การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารลดลง สังเกตได้จากจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมในในเดือนนี้ซึ่งมี 2 คน

แต่ทว่า การเรียกพบบุคคลตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเรียกตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น “กลุ่มดาวดิน” เพื่อพูดคุยขอให้ยุติการเคลื่อนไหวในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.เลย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 กรกฎาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 17 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 8 คน / กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 4 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 2 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 28 คน โดยประกาศเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ 7 คน และมีหมายเรียกตามท้องถิ่น อย่างน้อย 21 คน

 

สิงหาคม : ประเด็นไม่เกี่ยวกับการเมือง คสช. ก็ห้ามแสดงออก

ในเดือนสิงหาคม ประชาชนหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกในประเด็นที่ตนสนใจ ซึ่งไม่ใช่การต่อต้านคสช. อย่างเช่น การรวมตัวของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน หรือการรณรงค์ยุติความรุนแรงอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล ประเทศไทย แต่กลุ่มคนเหล่านั้นก็ยังถูกจับกุมและถูกสั่งห้ามเคลื่อนไหวบนท้องถนน โดยทหารระบุว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่กลุ่มอื่นๆ

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 31 สิงหาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 25 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 3 คน กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 2 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 19 คน / ยังไม่สามารถระบุได้ 1 คน

คสช. เรียกให้บุคคลมารายงานตัวอย่างน้อย 5 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จังหวัดเชียงใหม่ และนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในเดือนนี้ อาจกล่าวได้ว่าคณะรัฐประหารเลิกใช้วิธีการออกประกาศเรียกตัวบุคคลอย่างเปิดเผย เพื่อลดแรงเสียดทาน แต่ยังใช้วิธีการเรียกบุคคลมารายงานตัวต่อหน่วยทหารในแต่ละพื้นที่

 

กันยายน : นักวิชาการถูกจับ นักศึกษาถูกเรียก เพราะจัดเสวนาและติดป้ายผ้าสะพานลอย

ในเดือนนี้กิจกรรมการต่อต้านรัฐประหารเบาบางลงมาก เท่าที่มีรายงานการจับกุมมีเพียงกรณีกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ที่เดินเท้าประท้วง ที่เหลือเป็นควบคุมตัวนักวิชาการและนักศึกษาผู้จัดงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 กันยายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 22 คน เป็น กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ อย่างน้อย 11 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 3 คน คือ นิสิตนักศึกษาที่ไปแขวนป้ายผ้าในวันที่ 19 กันยายน ตำรวจจึงเชิญมาให้จ่ายค่าปรับคนละ 1,000 บาท

 

ตุลาคม : รวบเสื้อแดงในงานศพ เรียกตัวแกนนำแรงงานและชาวเขาเผ่ามูเซอ

เจ้าหน้าที่ทหารจับกุม หนึ่ง ที่วัดบางไผ่ หลังจากที่เข้าร่วมงานศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เนื่องจากเป็นบุคคลที่ถูกบันทึกภาพได้ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร  ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หนึ่งถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

เดือนนี้นับว่ามีการเรียกตัวในระดับท้องถิ่นสูงที่สุด มีการเรียกตัวกลุ่มเพื่อนคนงานย่านรังสิตและนวนคร 5 คน ไปชี้แจงต่อทหารกรณีที่ทางกลุ่มฯ วางแผนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาคนงานที่กระทรวงแรงงาน

มีการเชิญ สุกิจ พูนศรีเกษม พร้อมแกนนำชาวเขาเผ่ามูเซอกว่า 30 คน ไปปรับความเข้าใจ หลังพยายามเดินทางเพื่อเข้าร้องเรียนต่อ คสช. ที่กรุงเทพฯ กรณีถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจยึดอาคารและสิ่งปลูกสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ตุลาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 5 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 2 คน / ยังไม่สามารถระบุได้ 3 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 39 คน

 

พฤศจิกายน : กระแสต้านรัฐประหารกลับมาอีกครั้ง นำโดยนักศึกษา

ในเดือนนี้การชุมนุมแสดงออกต่อต้านการรัฐประหารกลับมา และตัวเลขผู้ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบก็เพิ่มสูงขึ้นเท่ากับช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ โดยเริ่มจากกรณีนักศึกษา “กลุ่มดาวดิน” ที่ชูสามนิ้วต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จังหวัดขอนแก่น ตามมาด้วยกิจกรรมของนักศึกษาที่อื่นๆ เช่น กลุ่ม ศนปท. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ทหารยังเข้าจับกุม ผู้จัดงาน “เดิน ก้าว แลก” ปฏิรูปที่ดิน และกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เดินขบวนคัดค้านการทำ EHIA เขื่อนแม่วงก์ด้วย ผู้ถูกควบคุมตัวจากกรณีที่กล่าวมาได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันกับที่จับกุม

นอกจากข่าวการจับกุมนักกิจกรรมเดือนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวอื่นๆอีกมาก ได้แก่การจับกุม พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และเครือข่าย ที่ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ

ขณะเดียวกัน การเรียกบุคคลรายงานตัวก็ยังคงดำเนินต่อไป มีการเรียกบุคคลที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน “ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบูท คสช.” นอกจากนี้ก็มีการเชิญตัวกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนปากมูลไปพูดคุยให้เลิกเคลื่อนไหว รวมทั้งยังมีจดหมายเชิญอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เป็นนักกิจกรรมไปพบด้วย

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 47 คน เป็นกลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 34 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 25 คน

 

ธันวาคม : จับกุมพร้อมตั้งข้อหาใหม่ และเรียกตัวปรามการเคลื่อนไหว

ในเดือนนี้มีการจับกุม ผู้แสดงความเห็นทางเมือง โดยการโพสต์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ เช่น กรณีธนพร ถูกจับเพราะแสดงความเห็นเกี่ยวกับนายทหารที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก เขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน และถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทคนตาย อีกกรณีหนึ่งเป็นคู่สามีภรรยาถูกจับพร้อมกัน โดยสามีถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันฯ และต้องขึ้นศาลทหาร แต่ภรรยาได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง ในภาพรวม การจับกุมบุคคลในเดือนนี้ถือว่าลดลงหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน

สำหรับการเรียกบุคคลรายงานตัว ผู้ถูกเรียกรายงานตัวในเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว เช่น อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 4 คน อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 6 คน นักศึกษาที่โปรยใบปลิวที่มหาวิทยาลัยบูรพา 5 คน คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ใส่เสื้อดําในเดือนธันวาคมและโพสต์รูปลงเฟซบุ๊ค รวมทั้งมีการเรียกตัวแกนนําแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีก 5 คน

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม – 30 ธันวาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 5 คน

คสช. มีคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว อย่างน้อย 23 คน

 

113

 

ประชาชน (ผู้ต่อต้าน) เจออะไรบ้าง?

 

การประกาศเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัว

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม จนถึงต้นเดือนมิถุนายน คสช. ออกประกาศคำสั่งเรื่องให้บุคคลมารายงานตัว
ผ่านทางโทรทัศน์ ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น 34 ฉบับ เรียกให้บุคคลไปรายงานตัว 476 คน โดยให้ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์ บุคคลที่ถูกเรียกเข้ารายงานตัวไม่มีโอกาสทราบเหตุในการเรียก ไม่ได้รับสิทธิติดต่อญาติ หรือทนายความ คนส่วนใหญ่ถูกริบเครื่องมือสื่อสาร หลังจากเข้ารายงานตัว บุคคลที่ถูกควบคุมตัวต่อจะถูกนำตัวขึ้นรถตู้ที่ปิดทึบไปยังสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ กัน เช่น ค่ายทหารในจังหวัดราชบุรีหรืออยุธยา เป็นต้น

หลังการยึดอำนาจได้หนึ่งเดือน คสช. เลิกใช้วิธีการออกประกาศเรียกตัวบุคคลทางโทรทัศน์ แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการให้หน่วยทหารในระดับพื้นที่เรียกตัวบุคคลในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบไปรายงานตัว ซึ่งมีอย่างน้อย 163 คน วิธีการเรียกตัวมีทั้งการส่งจดหมายเชิญ การโทรศัพท์เรียก หรือการไปตามหาตัวยังที่พักอาศัย บางกรณีคนที่ไปรายงานตัวถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วันตามกฎอัยการศึก หรือบางกรณีหลังพูดคุยแล้วก็ปล่อยตัวกลับ

จากการเรียกบุคคลไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 คน มี อย่างน้อย 142 คน ที่ยังไม่มีข้อมูลว่าได้เข้ารายงานตัวตามที่ถูกเรียกหรือถูกจับกุมแล้วหรือไม่ และมีอย่างน้อย 50 คน ที่มีรายงานว่าตัดสินใจไม่เข้ารายงานตัวและยังอยู่ระหว่างการหลบหนี
 

การสอบสวน การปรับทัศนคติ การบังคับให้เซ็นเอกสาร

ระหว่างถูกควบคุมตัว บางกรณีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงจะมาพูดคุยเพื่อ “ปรับทัศนคติ” บางกรณีจะถูกคณะกรรมการจำนวน 5-9 คน สอบสวนเพื่อตั้งข้อหาดำเนินคดี บางกรณีจะถูกสอบถามข้อมูลให้ซัดทอดถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในขบวนการเคลื่อนไหว บางกรณีถูกกักตัวไว้โดยไม่มีการสอบสวนหรือพูดคุย ระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่จะยึดอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ เพื่อนำไปตรวจสอบว่ามีการกระทำที่อาจผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือตรวจสอบเพื่อหาข้อมูลเชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่น

ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวจะถูกซักถามทัศนคติทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทหารจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้เข้าใจเหตุผลของการทำรัฐประหาร ผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่งเล่าว่า ขณะควบคุมตัวถูกถามว่า “คิดว่าการปฏิวัติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่” โดยมีคำตอบให้เลือกสามข้อ ระหว่าง ก.ไม่กระทบ ข.กระทบ และ ค.เฉยๆ พอเงยหน้าขึ้นมา ก็มีทหารสองนายพร้อมอาวุธยืนถือปืนขนาบอยู่ ทั้งซ้ายและขวา ทำให้ต้องตัดสินใจเลือก กากบาทที่ข้อ ก.ไก่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระยะเวลาในการควบคุมตัวของแต่ละคนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือ ความจำเป็นในการสอบสวน และดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

ภายหลังจากการพูดคุยหรือครบกำหนดเวลาที่จะควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ผู้ที่จะถูกปล่อยตัวต้องเซ็นชื่อกับเอกสารการปล่อยตัว โดยมีเงื่อนไขด้วยว่า จะละเว้นการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต และหากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีทันทีและยินยอมถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งเซ็นชื่อยอมรับด้วยว่าระหว่างถูกกักตัวนั้น “ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทำร้ายหรือมิได้ถูกใช้กำลังบังคับ
ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ให้คำสัญญาหรือกระทำโดยมิชอบประการใดๆ”
 

พฤติกรรมการจับกุมตัวบุคคลตามกฎอัยการศึก 

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจพอจะแบ่งได้ ดังนี้

การจับจากการเข้าร่วมชุมนุมหรือแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง

ภิญโญภาพ เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณหน้าเเมคโดนัลด์ราชประสงค์ โดยภิญโญภาพตะโกนว่า อับอายต่อการทำรัฐประหาร จึงถูกเจ้าหน้าที่ทหารฝ่าฝูงชนเเละอุ้มตัวไปท่ามกลางกลุ่มประชาชน จากนั้นจึงจับตัวขึ้นรถพยาบาลกลางแยกราชประสงค์ โดยขณะจับกุมทหารกดหัวเขาลงเพื่อจะให้เขาหยุดตะโกนและลากตัวไปกับพื้น จนทำให้เขาได้รับบาดเจ็บ

วรภพ เข้าร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารที่เเมคโดนัลด์ หรือที่เรียกว่ากิจกรรม "กินเเมคต้านรัฐประหาร" หลังจากกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 5 วัน ขณะที่เขากำลังเดินซื้อของที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องเเบบจับกุมเเล้วนำตัวเขาไปส่งตัวให้ทหารบริเวณหลังห้าง สุดท้ายเขาถูกพาตัวไปสอบสวนที่สโมสรทหารบก

สุนันทา หลังเข้าร่วม “ชูสามนิ้ว” ต่อต้านการรัฐประหารที่ห้างเทอร์มินัล 21 เสร็จเรียบร้อยและกำลังจะเดินทางกลับ มีกลุ่มชายฉกรรจ์ เเต่งกายด้วยชุดธรรมดามาพูดคุยและบอกให้ขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูทะเบียน 422 กทม. แต่เธอไม่ยอม จึงมีการใช้กำลังฉุดกระชากตัวเธอขึ้นรถ โดยมีคนเห็นเหตุการณ์พยายามเข้าช่วยเหลือจำนวนมาก ภายหลังมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอเหตุการณ์ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นกรณีคู่สามีภรรยาทะเลาะกัน เเต่ต่อมาไม่นานก็ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการจับกุมตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่
 

การบุกจับตัวในสถานที่อยู่อาศัย

ณัฐ ถูกประกาศเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนด เวลาประมาณ 1.30 น. ของช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 10 นาย ไปเคาะประตูห้องคอนโดมิเนียมของณัฐ เมื่อณัฐเปิดประตูก็มีไม้สอดเข้ามาทางประตู เจ้าหน้าที่ใช้กำลังผลักประตูเข้ามาและกดตัวณัฐลงกับพื้นพร้อมใช้สายยางรัดข้อมือไว้ด้านหลัง ก่อนจะพาตัวไปยังค่ายทหาร

ครอบครัวของสิรภพ สิรภพเป็นนักเคลื่อนไหวผ่านอินเทอร์เน็ต สิรภพถูกเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนด เจ้าหน้าที่จึงเดินทางไปที่บ้านของสิรภพ ซึ่งมีเพียงลูกสาวเเละหลานที่เป็นทารกอาศัยอยู่เท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่มีอาวุธครบมือ เเต่งกายด้วยเครื่องเเบบทหาร เเละนำรถมาปิดล้อมบริเวณหน้าบ้าน เมื่อทหารเข้าในบ้านก็พยายามข่มขู่ให้ลูกสาวของสิรภพบอกว่าบิดาของตนพักอาศัยอยู่ที่ใด เเต่เนื่องจากลูกสาวไม่รู้ข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่จึงนำตัวทุกคนไปที่ค่ายทหาร ซึ่งรวมถึงทารกน้อยด้วย
 

การจับกุมขณะเดินทาง

ธานัท (ทอม ดันดี) ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนดเนื่องจากติดธุระ จึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทหารว่าจะเข้าไปรายงานตัวในช่วงเย็นของวันดังกล่าว ขณะที่กำลังเดินทางออกจากไร่เพื่อไปส่งหน่อไม้ขาย เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจก็เข้าจับกุมขณะที่เขากำลังขับรถอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ขับรถไล่หลัง เเละเมื่อเลี้ยวรถเจ้าหน้าที่ก็ขับรถเข้าประชิดทันที โดยอ้างว่าเขากำลังหลบหนี

ศิริพร เจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ถ่ายรูปพร้อมกระดาษเขียนว่า “ไม่เอา คสช.” ขณะไปเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวกับเพื่อนและโพสต์ขึ้นบนเฟซบุ๊ก ขณะเดินทางกลับถูกทหารและตำรวจตั้งด่านตรวจค้นรถ หาเสื้อผ้าชุดที่ใส่ขณะถ่ายรูปและขอดูบัตรประชาชน เมื่อทราบว่าเป็นคนที่กำลังตามหาจึงควบคุมตัวไปที่ สน.เชียงดาว

สามีภรรยาคู่หนึ่ง ขณะที่รถติดสัญญาณไฟจราจรอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง มีทหารราว 50 คนพร้อมอาวุธครบมือ ขับรถปิคอัพ รถตู้ และรถเก๋งอีก 2 คัน เข้าปิดแยกและเข้าจับกุมตัวเธอและสามี โดยลากสามีลงจากรถมานอนกับพื้นและมัดมือไขว้หลัง เอาผ้าปิดตาแล้วนำขึ้นรถตู้ของทหาร ส่วนภรรยายังนั่งอยู่ในรถไม่ยอมลงมาพร้อมทั้งเกาะประตูรถไว้แน่นและตะโกนต่อว่าทหาร นอกจากนั้นยังขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่มองดูอยู่ ทำให้ทหารที่ถือปืนยาวสองนาย ขึ้นรถของเธอแล้วจึงพาเธอไปสถานที่ควบคุมตัว
 

การเชิญไปพูดคุยแล้วค่อยจับ

ธนาพล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน หลังจากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านทางเฟซบุ๊ก ก็มีนายทหารโทรมาชวนเขาไปพูดคุยที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะปรับความเข้าใจเท่านั้น เเละยืนยันว่าไม่ได้จะจับกุม เมื่อไปถึงร้านกาเเฟตามนัด ทหารก็ชี้เเจงว่าการโพสต์ในลักษณะดังกล่าวของเขาเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตามที่ทหารตั้งไว้ เพราะเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น กลัวจะทำให้คนมาต้านคณะรัฐประหาร จึงต้องปรามด้วยการนำไปคุมขังอีกครั้งหนึ่ง เเละพาตัวเขาออกไปจากร้านกาเเฟทันที

 

การควบคุมตัวเกิน 7 วัน เกินอำนาจตามกฎอัยการศึก

กริชสุดา ถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน รวมเวลาที่ถูกควบคุมตัว 28 วัน กริชสุดาให้สัมภาษณ์ว่า เธอถูกปิดตาและมัดมือเป็นเวลา 7 วัน ถูกทำร้ายร่างกายโดยโดนตบหน้า ชกที่ใบหน้าและลำตัว ตลอดจนใช้ถุงคลุมหัวทำให้ขาดอากาศหายใจ ทหารต้องการข้อมูลจากเธอว่า ใครเป็นผู้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ต้องโทษในเรือนจำและสนับสนุนอาวุธสงคราม ซึ่งกริชสุดาระบุว่า ผู้สอบสวนต้องการให้เธอยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนดูแลนักโทษและผู้ยุยงส่งเสริมในกระทำผิด

ยงยุทธ ถูกตำรวจและทหารประมาณ 40 – 50 นาย จับกุมที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ตำรวจภูธรภาค 1 แถลงข่าวการจับกุมยงยุทธ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 แต่ต่อมาไม่มีข้อมูลว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 สิงหาคม เขาถูกควบคุมตัวที่ใด ในวันที่ 8 สิงหาคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสอบถามไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ, เรือนจำจังหวัดนนทบุรี, ตำรวจภูธรภาค 1 และกองปราบปราม แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่ายงยุทธถูกควบคุมตัวอยู่สถานที่ใด จึงมีการออกแถลงการณ์ในกรณีนี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557 ในวันที่ 10 สิงหาคม ยงยุทธถูกควบคุมตัวมาที่กองปราบฯ พร้อมตั้งข้อกล่าวหาพกพาอาวุธและวัตถุระเบิด 

 

 

เจริญ ถูกควบคุมตัวไปตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2557 หลังครบ 7 วัน ทหารนำตัวเจริญ ไปแจ้งความในข้อหา ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองที่ สน.มักกะสัน และในวันเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาประกันตัวและพาตัวออกไป ไม่ปรากฏข้อมูลว่าควบคุมตัวไว้ ณ ที่ใด แต่ทางญาติก็ยังสามารถติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ได้ จนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เจริญถูกนำตัวไปขังที่กองปราบปราม และถูกตั้งข้อหาวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง
 

กรณีถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว

ชัชวาล ถูกจับกุมพร้อมภรรยากลางสี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คน พร้อมอาวุธครบมือ ระหว่างควบคุมตัวเขาถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายที่สวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คน จากนั้นถูกนำตัวไปบนรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายอยู่ตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ระหว่างการควบคุมตัว เขาถูกนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก และอีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด เขาถูกควบคุมตัวนานหลายวันก่อนที่จะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุยิงระเบิด M79 หลายเหตุการณ์

กิตติศักดิ์ ผู้ต้องหาคดีชายชุดดำ ถูกชาย 3 คนบุกจับกุมยังที่ทำงานโดยไม่มีหมายจับ ระหว่างการควบคุมตัว ถูกสอบสวนโดยใช้ถุงคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้เห็นหน้าผู้สอบสวน ถูกตบหัวและตบปาก ถูกจับนอนเหยียดตัวและมีคนนั่งทับเท้าทั้งสองข้างและนั่งทับบนตัวทำให้หายใจไม่ออก เพื่อให้รับสารภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 พร้อมทั้งให้ขยายผลไปถึงคนอื่น โดยเขาจะได้รับการเปิดตาในเวลานอนเท่านั้น แต่ก็ยังถูกใส่กุญแจมือตลอดเวลา

บัญชา ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจในเครื่องแบบบุกเข้าจับกุมกลางดึกขณะเสพกัญชาอยู่กับเพื่อนในที่พักระหว่างเดินทางถูกปิดตาและไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าไปที่ใด เมื่อถึงที่หมายเขาถูกเตะ ตบ และถูกข่มขู่เพื่อเอาข้อมูลว่าใครอยู่ในขบวนการค้ายาบ้าง และเมื่อบอกว่าไม่รู้ก็จะถูกรุมเตะ หลังจากโดนทำร้ายอยู่ราว 1 ชั่วโมง จากนั้นเขาถูกถีบลงหลุมและถูกเทดินถมจนเหลือแค่ศีรษะราวครึ่งชั่วโมงจึงถูกนำตัวขึ้นมา เขาถูกทำร้ายตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น จากนั้นถูกนำตัวไปส่งยังสถานีตำรวจเพื่อเสียค่าปรับ ของกลางที่พบในบ้านคือ กัญชา 2 ห่อ และใบกระท่อมอีก 100 กว่าใบ

มีรายงานกรณีการซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 28 กรณี ส่วนใหญ่ผู้ถูกซ้อมทรมานถูกสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงทางการเมือง กรณีส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวเกิน 7 วัน ขณะถูกจับไม่ทราบข้อกล่าวหา ไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว ไม่สามารถติดต่อคนภายนอกได้ หลายคนยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหาเพราะไม่สามารถทนสภาวะที่เผชิญอยู่ได้ และปัจจุบันยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล

 

ดูสรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

สรุปสถานการณ์ปี 2557: การขัดขวางการใช้สิทธิโดยภาคประชาชน ที่ปูทางสู่การยึดอำนาจและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว

สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง 

สรุปสถานการณ์ปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก 

ไฟล์แนบ: 
ประเภทรายงาน: