1589 1174 1641 1898 1574 1118 1332 1340 1224 1872 1541 1789 1523 1206 1205 1782 1814 1949 1346 1124 1647 1048 1141 1072 1253 1887 1148 1460 1590 1819 1793 1589 1556 1060 1384 1823 1428 1010 1260 1934 1025 1308 1496 1845 1435 1881 1263 1834 1006 1721 1079 1422 1414 1075 1515 1187 1830 1715 1265 1411 1222 1928 1761 1304 1656 1158 1567 1241 1012 1655 1326 1067 1339 1482 1342 1304 1185 1050 1993 1714 1378 1382 1452 1927 1941 1992 1424 1424 1842 1367 1799 1749 1902 1930 1152 1542 1515 1476 1548 อัครเดช: น้ำตาลูกผู้ชาย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

อัครเดช: น้ำตาลูกผู้ชาย

โดย นายกรุ้มกริ่ม

    

501

 

“สองปีครึ่งเหรอพี่ โอเคอ่ะ ผมคงอยู่ได้แหละ ไม่เป็นไร ห่วงแต่ที่มหาลัยเขาจะยอมให้ผมดร็อปหรือเปล่า”

เจ้าหนุ่มมาดกวนพูดแบบเปรยๆ สายตาเหม่อลอย ขณะที่ปากก็อัดบุหรี่แล้วพ่นควันออกไปทางหน้าต่าง

“มีใครรู้หรือยังว่าถูกจับ ให้ช่วยโทรบอกใครไหม” ผมถาม

“บอกพ่อแล้วพี่ พ่อกำลังมา” เขาตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉย

“ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ได้กินข้าวบ้างหรือยัง” ผมถามต่อ

“ตำรวจซื้อให้แล้วพี่” เจ้าหนุ่มอัดบุหรี่ต่ออย่างไม่สนใจใยดี

เช้ามืดของวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่าสิบนายบุกไปที่บ้านหลังหนึ่งย่านชานเมืองกรุงเทพ เพื่อจับตัวอัครเดช เด็กหนุ่มวัย 24 ปี ซึ่งกำลังเรียนวิศวะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในชั้นปีที่สี่ หมายจับที่ตำรวจแสดงกับเจ้าตัวระบุความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตำรวจจับตัวอัครเดชและยึดคอมพิวเตอร์กับโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในบ้าน และนำตัวมาสอบสวนที่สน.สุทธิสารตลอดวัน

เป็นช่วงค่ำแล้ว ที่ผมได้รับโทรศัพท์ที่โทรต่อกันมา 3-4 ทอดเพื่อหาคนแวะไปดูสวัสดิภาพของอัครเดช ผมไม่เคยรู้จักกับเขามาก่อนเลย เช่นเดียวกับคนที่โทรมาแจ้งก็ไม่มีใครรู้จักเขามาก่อน เนื่องจากที่ทำงานอยู่ในระยะพอนั่งมอเตอร์ไซค์วินไปได้และมีประสบการณ์การเข้าเยี่ยมคนถูกจับ จึงรีบไปให้ถึงตัวเขาก่อน

“ผู้ต้องหารับว่าเป็นเจ้าของอีเมล์และเฟซบุ๊กจริง แต่ปฏิเสธว่าข้อความที่โพสนั้นไม่เป็นความผิด ผมก็บันทึกไว้ตามนี้นะ ก็ไปว่ากันในศาลต่อแล้วกัน” พนักงานสอบสวนบอกกับทนาย ซึ่งมาถึงตอนสามทุ่มเศษๆ

“ยังไงถ้าอยากขอประกันตัวชั้นตำรวจเลยได้ไหมคะ น้องเขาก็ยังเรียนอยู่ แล้วเราจะได้ไปสู้ในชั้นศาล” ทนายความถามตำรวจ

“แหม่... เรื่องประกันตัวนี่ผมช่วยไม่ได้จริงๆ นะ สน.นี้ก็เพิ่งจะเจอคดีแบบนี้เป็นครั้งแรก ผมว่าให้ศาลเป็นคนสั่งดีกว่า เอาเป็นว่าผมจะไม่คัดค้านการประกันตัวแล้วกัน” ตำรวจตอบ

“ตอนนี้ญาติเขายังเตรียมเงินประกันตัวไม่ทัน อย่าเพิ่งรีบไปศาลได้ไหมคะ ขอเวลาอีกหน่อย” ทนายยังอ้อนวอนเพื่อขอต่อเวลาอีกสักหน่อย เพราะหากไปถึงขั้นตอนการฝากขังต่อศาลแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือเรือนจำทันที

“จริงๆ ผู้ใหญ่เขาอยากให้ไปพรุ่งนี้เลย แต่ผมจะพยายามช่วย ไปมะรืนเช้าแล้วกันนะ คุณก็เขียนคำร้องบอกศาลไปว่ายังเรียนอยู่ มีหลักทรัพย์อะไรก็ยื่นไปละกันนะ เผื่อศาลจะเมตตา” ตำรวจบอกอย่างมีความหวัง

คดีของอัครเดชดูเหมือนจะไม่ร้ายแรงนัก ต้นตอของการจับกุมครั้งนี้มาจากสเตตัสเฟซบุ๊กความยาวไม่ถึงหนึ่งบรรทัด เป็นประโยคคำถามลอยๆ ไม่มีคำหยาบคาย ไม่มี Hate Speech ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง เป็นเหมือนการระบายอารมณ์อึดอัดจากการถกเถียงแบบเกรียนๆ ตามประสาเด็กวัยรุ่นกับคนไม่รู้จักในสเตตัสก่อนหน้านั้น

โพสเจ้าปัญหามีคนกดไลค์นิดหน่อยกับสองสามคอมเม้นต์ ซึ่งไม่น่าจะทำให้สถาบันสูงสุดของชาติไทยสั่นคลอนไปได้ เมื่อโพสไปสักพักก็ไม่มีใครสนใจมันอีก รวมทั้งตัวเขาเองด้วย ยกเว้นใครคนหนึ่งที่ไม่ชอบเขาเอามากๆ แล้วเอาข้อความนั้นไปแจ้งความกับตำรวจตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557

บรรยากาศทางการเมืองหลังการรัฐประหารบีบให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเร่งทำคดี 112 อย่างหนัก ตำรวจสน.สุทธิสารจึง “ทำตามหน้าที่” โดยการลากตัวเจ้าหนุ่มคนหนึ่งมาขังไว้

“มีข้าวผัดกล่องนึง ขนม แล้วก็โค้กนะ” เช้าวันรุ่งขึ้นผมแวะเอาข้าวมาส่งให้ เด็กหนุ่มที่นอนเหงาๆ อยู่ในห้องขังของสน.สุทธิสาร

“ขอบคุณครับ นี่พี่มาเยี่ยมผมเหรอ พี่มาเยี่ยมจริงเหรอ” เด็กหนุ่มถามกลับ ด้วยสีหน้ามีรอยยิ้ม

“เออดิ ก็บอกไว้แล้วว่าจะมา” ผมตอบ เพราะเมื่อคืนก่อนแยกย้ายกันประมาณสี่ทุ่มกว่าๆ พ่อเขาบอกว่าคงต้องวิ่งวุ่นเพื่อหาเงินมาประกันตัวทั้งวัน ผมเลยรับอาสาทำหน้าที่ซื้อข้าวซื้อน้ำให้วันนึง

“ข้างในมีหมอน มีที่นอนไหม” ผมถามอีกครั้ง

“เขามีที่นอนให้อยู่พี่ ผมโอเค ผมนอนที่ไหนก็ได้” เขาตอบแบบวางฟอร์มเหมือนเดิม

“โค้กกระป๋องนี่เอาเข้าไม่ได้นะครับ” ตำรวจที่เฝ้าหน้าห้องขังบอก

“อ้าว เหรอครับ” เป็นความรู้ใหม่อีกอย่างในวันนั้น

“โค้กเขาไม่ให้ว่ะ เอาน้ำอย่างอื่นแทนไหม ที่ไม่ใช่กระป๋อง?”

“ผมขอน้ำเปล่าขวดนึงแล้วกันพี่ ข้างในมันร้อน” เด็กหนุ่มร้องขอ เป็นครั้งแรกที่เขาเอ่ยปากบอกความต้องการ

“เดี๋ยวจัดให้สองเลย” ผมตอบแล้วรีบวิ่งไปซื้อน้ำจากร้านหน้าสน.

อัครเดชเป็นเด็กหนุ่มมาดกวน ผมหยักสก ผิวสีดำแดง ร่างท้วมๆ เกือบอ้วน ถ้าเดินสวนกันริมถนนคนทั่วไปคงเข้าใจว่าเขาเป็นเด็กแว้นนักบิด ประเภทที่พร้อมจะมีเรื่องกับคู่อริที่ไม่ชอบหน้ากันได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาเป็นคนสนใจเรื่องราวทางสังคมการเมือง เขาเล่าว่าเคยไปร่วมชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งเคยเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่หน้าห้างเมเจอร์รัชโยธิน เขาสามารถเล่าเหตุผลวิธีคิดในการเข้าร่วมการชุมนุมแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจนเป็นระบบ

เราไม่เคยรู้จักอะไรกันมาก่อน และผมเองก็ไม่เก่งเรื่องทำตัวเนียนเป็นพวกเดียวกันเท่าไรนัก อัครเดชกับผมจึงคุยกันแบบรักษาฟอร์มตลอด เขาทำทีเป็นคนเข้มแข็งไม่ยี่หระกับการต้องสูญเสียอิสรภาพเพราะเข้าใจดีถึงภาระที่ “เหยื่อ” จากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลานั้นต้องแบกรับ ในความทรงจำของผมภาพของอัครเดชจึงเป็นเด็กหนุ่มมาดกวน ที่พร้อมเผชิญหน้าปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อย่างสงบนิ่งด้วยมุมมองแบบเด็กวัยรุ่นเฮ้วๆ คนหนึ่ง

“วันนี้ได้มาแค่นี้ ลองก่อนได้ไหม?” พ่อของเด็กหนุ่มถาม

“มีแค่นี้ก็ต้องยื่นแค่นี้ล่ะค่ะ” ทนายสาวตอบ

20 มิถุนายน 2557 ตำรวจพาอัครเดชไปศาลอาญาเพื่อขอฝากขังเป็นครั้งแรก พ่อของเขาหอบเงิน 150,000 บาทที่ไปหยิบยืมเพื่อนฝูงมาที่ศาลเพื่อขอประกันตัว ทนายยื่นคำร้องประกอบชี้แจงความจำเป็นที่อัครเดชต้องกลับไปเรียนต่อ ซึ่งเหลืออีกเทอมเดียวก็จะจบการศึกษาแล้ว แต่วันนั้นศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

“ไม่เป็นไรนะลูก เดี๋ยวอีกอาทิตย์สองอาทิตย์พ่อหาเงินได้เพิ่มแล้วยื่นประกันใหม่” พ่อตะโกนบอกเขา ผ่านลูกกรงสองชั้นใต้ถุนศาลอาญา

“ครับพ่อ” เจ้าหนุ่มยืนเกาะลูกกรงนิ่ง โยนคำตอบแบบมีฟอร์มเหมือนเดิม ขณะที่เสียงเริ่มนิ่งและสั่นเครือ

“ไปหาเพื่อนใหม่สักพักนะลูก ข้างในอากาศมันร้อน เช็คทำความสะอาดที่นอนดีดีนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้พ่อไปเยี่ยม” พ่อตะโกนสั่งความ

“อ้าว! พ่อ เคยเข้าไปเหรอครับ?” ผมถามปนยิ้ม

“สมัยวัยรุ่นน่ะ ไปอยู่สถานพินิจ เขายกพวกตีกันพ่อมีอาวุธไปด้วย เลยโดนข้อหาอาวุธ” คุณพ่อตอบปนยิ้มเหมือนกัน

“พ่อ ...น้องรู้ยัง?” เด็กหนุ่มถาม

“เดี๋ยวพ่อบอกๆ”

“พ่อ ...บอกน้องนะว่าไม่ต้องเป็นห่วง ฝากเก็บของที่ห้องนอนให้ด้วย แล้วบอกเพื่อนผมให้มันไปบอกมหาลัยให้ด้วย” เป็นคำสั่งเสียสุดท้ายของอัครเดช หนุ่มมาดกวนไม่เหลือฟอร์มอีกต่อไป ลูกผู้ชายในวัยที่ชีวิตกำลังจะออกโลดแล่นยืนเกาะลูกกรงเหล็กใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดงก่ำ เขาหลั่งน้ำตาเล็กๆ ออกมา ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สั่งให้เข้าแถวขึ้นรถไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

“พฤติการณ์ของคดีเป็นการเผยแพร่ข้อมูลสู่อินเทอร์เน็ต ผู้ต้องหาศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาถือว่ามีวุฒิภาวะในขณะกระทำแล้ว คดีมีความร้ายแรงจึงเกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนีหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว” คือ เหตุผลที่ศาลไม่ให้อัครเดชประกันตัว

“สบายดีไหม?” ผมถาม

“ดีครับพี่” เด็กหนุ่มตอบ

“ข้างในมีเพื่อนไหม?”

“ก็พอมีครับ”

“อยากกินขนมหรืออะไรไหม?”

“ไม่เป็นไรครับ พ่อซื้อให้แล้ว”

“มีอะไรขาดเหลือบอกได้นะ?”

“ขอบคุณครับพี่”

หลายวันต่อมาผมไปเยี่ยมอัครเดชที่เรือนจำ บทสนทนาเดินไปอย่างเรียบๆ ถามคำตอบคำ เด็กหนุ่มซึ่งบัดนี้ผอมลงไปถนัดตายังคงวางฟอร์มนิ่งๆ และเรียบเฉย เจ้าหนุ่มซึ่งเคยฉายแววกร้านโลกเมื่อครั้งอยู่ที่สถานีตำรวจกลายร่างเป็นเด็กน้อยไร้พิษสงหลังลูกกรงขนาดใหญ่ ขณะที่เขายังคงวางมาดขรึมไม่เดือดร้อนต่อชะตากรรมที่เขากำลังเผชิญอยู่ หลังจบ 3-4 คำถามพื้นฐาน ผมรีบเปลี่ยนให้พ่อเขามาคุยต่อและเดินห่างออกมาเพื่อให้พื้นที่ส่วนตัวสำหรับครอบครัว แต่ก็ยังแอบเห็นเด็กหนุ่มคนนั้นมีน้ำตาพรั่งพรูออกมาโดยที่ไม่รู้ว่าเขาคุยไปถึงเรื่องอะไรกัน

พ่อของอัครเดชและทนายความยื่นขอประกันตัวอีก 4 ครั้ง ก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคมทนายตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ด้วย โดยหวังว่าศาลอุทธรณ์จะเมตตาให้เขาได้กลับไปเรียนทันเปิดเทอม และกลับไปเป็นเด็กหนุ่มที่มีอนาคตทางหน้าที่การงาน แต่ศาลก็ยืนยันไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ความตั้งใจที่จะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ค่อยๆ จางลง

ตอนแรกอัครเดชเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เมื่อสถานการณ์บีบคั้นเพราะถูกปฏิเสธการประกันตัวรวมทั้งจากประเมินว่าภายใต้บรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ โอกาสชนะคดีน่าจะแทบเป็นศูนย์ อัครเดชจึงตัดสินใจกลับคำให้การต่อศาลเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ศาลพิพากษาจำคุกอัครเดชเป็นเวลาห้าปี ตามมาตรา 112 แต่เนื่องจากเขารับสารภาพจึงเหลือโทษจำคุกสองปีหกเดือนซึ่งอัตราโทษที่ได้รับก็เป็นไปตามคำทำนายที่ผมเคยคุยกับเขาตั้งแต่วันแรกที่เราเจอกัน

หลังจากอัครเดชเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้ไม่นาน เรือนจำทั่วประเทศเปลี่ยนกฎการเยี่ยมใหม่ ให้ผู้ต้องขังแต่ละคนแจ้งชื่อมีสิทธิเข้าเยี่ยมสิบคน กฎใหม่นี้ทำให้ผมไม่สามารถไปเยี่ยมอัครเดชได้อีก ต้นปี 2558 ผมเจอคุณพ่อของอัครเดชอีกครั้งที่หน้าห้องเยี่ยมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วที่คุณพ่อแวะเวียนมาเยี่ยมลูกชายอย่างสม่ำเสมอทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ พ่อของอัครเดชก็นิสัยเดียวกับลูกของเขา ยิ้มแย้มแจ่มใส วางมาดและรักษาฟอร์มกับคนไม่คุ้นเคยอยู่เสมอ

“พ่อได้คิวรอบกี่โมงครับวันนี้ เผื่อผมจะขอทักทายน้องด้วย” ผมถาม

“เอาสิๆ รอบแปด เนี่ยจะเข้าแล้ว” คุณพ่อตอบ “นั่นๆ เปิดแล้ว ขอตัวก่อนนะ”

นักโทษการเมืองถูกจัดให้คุยกับญาติในห้องเยี่ยมหมายเลข 9 เสมอ เด็กหนุ่มกับพ่อนั่งประจันหน้าแทบจะเอาหัวชนกันอยู่ที่มุมหนึ่งของห้องโดยมีซี่กรงเหล็กและแผ่นพลาสติกใสกั้นขวางไว้อย่างแน่นหนา เสียงที่พวกเขาคุยกันต้องวิ่งผ่านโทรศัพท์ที่ติดเครื่องดักฟังเท่านั้น ถัดออกมาคือประตูห้องเยี่ยมและกระจกบานเกร็ดกั้นห้องออกจากทางเดิน ถัดออกมายังมีลูกกรงอีกชั้นกั้นไม่ให้คนนอกเข้าถึงทางเดินได้

ผมเกาะลูกกรงชั้นนอกสุดโบกมือไหวๆ ให้คนข้างใน เด็กหนุ่มมาดกวนหนึ่งในนักโทษคดีประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยหยุดคุยแล้วเงยหน้าขึ้นมาสบตาจากระยะไกล คุณพ่อเอี้ยวตัวกลับมามอง ทั้งสองคนโบกมือกลับมาให้ผม

อีกเกือบๆ สองปีเราคงจะได้พบกันอีกครั้ง

 

 

 

*อัครเดชได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 รวมเวลาถูกคุมขังในเรือนจำสองปี สามวัน ก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาสองปีหกเดือนเพราะได้รับการลดโทษ

อ่านรายละเอียดคดีของอัครเดชในฐานข้อมูลของเรา >>> http://freedom.ilaw.or.th/case/577

 

ชนิดบทความ: