สี่ปี คสช. นักโทษคดี 112 ยังอยู่ในเรือนจำ 36 คน

 

ข้อมูลเท่าที่ทราบ เกี่ยวกับคดีมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็น ที่เกิดขึ้นในยุค คสช. และยังคงค้างอยู่จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ครบรอบการอยู่ในอำนาจสี่ปีเต็มของ คสช.

 

คดีที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 

สถานะคดี: คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลฎีกาพิพากษาศาลฎีกา ให้จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
รายละเอียด: เฉลียว อดีตช่างตัดกางเกง ถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 และเดินทางไปรายงานตัวเองเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ระหว่างถูกควบคุมในค่ายทหารถูกสอบสวนโดยใช้เครื่องจับเท็จเกี่ยวกับคลิปเสียง “บรรพต” หลังถูกควบคุมตัวโดยทหารครบเจ็ดวัน ก็ถูกส่งไป บก.ปอท. เพื่อตั้งข้อหาและดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการอัพโหลดคลิปเสียง “บรรพต” ขึ้นเว็บไซต์ 4share ระหว่างการสอบสวนไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว 
 
ต่อมาเมื่อถูกฟ้อง เฉลียวรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือนโดยให้รอลงอาญาโทษจำคุก อัยการยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษเฉลียวสถานหนัก ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ในเวลาต่อมา ให้เพิ่มโทษจำคุกจาก 1 ปี 6 เดือน เป็น 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เฉลียวได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นฎีกา และเมื่อ 9 มิถุนายน 2560 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุกเฉลียว 5 ปี สารภาพลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ขณะนี้ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
สถานะคดี: คดีแรก ที่ศาลทหารกรุงเทพ พิพากษาให้จำคุกเป็น 5 ปี ลดเหลือ 3 ปี 4 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ
คดีที่สอง ที่ศาลอาญา พิพากษาลงให้จำคุก รรมละห้าปีรวมสามกรรมเป็น 15 ปี ลดเหลือ 7 ปี 6 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ
คดีที่สาม ศาลจังหวัดราชบุรีนัดฟังคำพิพากษา 29 มิถุนายน 2561
คดีที่สี่ ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษที่เรือนจำจังหวัดราชบุรี และเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
รายละเอียด: ธานัทถูกจับกุม โดยทหารเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ที่บ้านของเขาในจังหวัดราชบุรี คดีแรก ที่ศาลทหารกรุงเทพ ธานัทถูกกล่าวหาว่า ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 จนถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 เขากล่าวคำปรายศรัยในลักษณะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในเวทีคนเสื้อแดง และมีคนนำคลิปการปราศรัยดังกล่าวเผยแพร่บนระบบอินเทอร์เน็ต 
คดีที่สอง ที่ศาลอาญา เขาถูกกล่าวหาว่า ปราศรัยเข้าข่ายผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยแบ่งงานกันทำกับคนอื่น ธานัทเป็นผู้ปราศรัยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่ ส่วนผู้กระทำความผิดอื่นนำเทปการปราศรัยดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไป
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ระหว่างที่ธานัทกำลังรับโทษสองคดีข้างต้นอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขาถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำกลางราชบุรีโดยไม่ทราบสาเหตุ ในเดือนมกราคม 2561 เขาจึงได้รับคำฟ้องคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นคดีที่สาม ของเขา โดยคดีนี้ธานัทถูกกล่าวหาว่า กล่าวคำปราศรัยที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2553 ระหว่างการชุมนุมของพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดราชบุรี และหลังจากนั้นเขายังถูกกล่าวหาเป็นคดีที่สี่ จากกรณีกล่าวปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่จังหวัดลำพูน เมื่อปี 2554
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ
สถานะผู้ต้องหา: ไม่ได้รับประกันตัว ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
รายละเอียด: สิรภพ ขณะถูกจับอายุ 52 ปี เป็นนักกิจกรรมเสื้อแดงที่เน้นทำการณรงค์ผ่านอินเทอร์เน็ตผ่าน โดยใช้นามแฝง “รุ่งศิลา”หรือ “Rungsira”  เขาถูก คสช. เรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไป สิรภพถูกควบคุมตัวโดยทหารขณะกำลังเดินทางผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ไปยังจังหวัดอุดรธานี และถูกดำเนินคดีฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ต่อมากองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อายัดตัวไปสอบสวนต่อในข้อหาหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ 
 
สิรภพถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการเขียนบทความและบทกลอนลงบล็อกจำนวน 3 ชิ้น ซึ่งถือเป็นความผิดรวม 3 กรรม สิรภพยื่นประกันตัวหลายครั้งแล้ว แต่ศาลทหารกรุงเทพไม่ให้ประกันตัว เขายืนยันที่จะต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสารภาพ จนถึงวันนี้ยังสืบพยานโจทก์ไปได้แค่ 4 ปาก
 
สถานะคดี: คดีแรกถึงที่สุดด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก 6 ปี คดีที่สองถึงที่สุดด้วยคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุก 8 ปี รวมสองคดีต้องโทษจำคุก 14 ปี จำเลยยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
รายละเอียด: ปิยะ เป็นอดีตนายหน้าขายหุ้น ถูกจับเมื่อ 11 ธันวาคม 2557 และถูกกล่าวหาในคดีแรกว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน” โพสข้อความหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ปิยะปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้ และต่อสู้คดี โดยยอมรับด้วยว่า เคยเปลี่ยนชื่อเป็นพงศธร บันทอน ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 9 ปี ลดเหลือ 6 ปี ปิยะอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 
วันที่ 28 มกราคม 2558 ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในคดีแรก พนักงานสอบสวนดีเอสไอ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่สองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยในคดีที่สองปิยะถูกกล่าวหาว่า ส่งอีเมล์ให้ธนาคารกรุงเทพ มีข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ สองฉบับ โดยหลักฐาน คือ มีการลงชื่อท้ายอีเมล์ด้วยชื่อของเขา ปิยะให้การปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งอีเมล์ทั้งสองฉบับนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปิยะมีความผิดจากการส่งอีเมล์หนึ่งฉบับ พิพากษาให้จำคุก 8 ปี ต่อมาปิยะยื่นอุทธรณ์และขอถอนอุทธรณ์ในภายหลัง
 
สถานะคดี: คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก 50 ปี ลดโทษเหลือ 25 ปี เพราะให้การรับสารภาพ
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างรับโทษที่เรือนจำคลองเปรม
รายละเอียด: เธียรสุธรรมขณะถูกจับกุม อายุ 58 ปี มีภรรยาและลูกสองคนที่กำลังศึกษาอยู่ที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดู ถูกตำรวจจับกุมที่บ้านเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ใหญ่ แดงเดือด” โพสต์วิจารณ์ คสช.และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ ทั้งหมด 5 โพสต์ จำเลยให้การรับสารภาพทันที ศาลทหารสั่งให้ลงโทษจำคุกโพสต์ละ 10 ปี โทษเมื่อรวมแล้วจึงเป็นโทษจำคุก 50 ปี สูงที่สุดเที่บันทึกได้ในขณะนั้น 
 
สถานะคดี: คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี เพราะให้การรับสารภาพ 
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษที่เรือนจำคลองเปรม
รายละเอียด: พงษ์ศักดิ์ ถูกจับกุมตัววันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่สถานีขนส่งพิษณุโลก และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เผยแพร่รูปภาพและข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊กชื่อ “Sam parr” จำนวน 6 ข้อความ ซึ่งถือเป็นความผิดจำนวน 6 กรรม ตามความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำเลยรับสารภาพทันที ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ให้ลงโทษจำคุกโพสต์ละ 10 ปี เมื่อรวมแล้วจึงเป็นโทษจำคุก 60 ปี สูงที่สุดเที่บันทึกได้ในขณะนั้น 
 
สถานะคดี: คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลทหารสระแก้วพิพากษาลงโทษจำคุก 18 ปี ลดเหลือ 9 ปี เพราะให้การรับสารภาพ
สถานะผู้ต้องหา: คาดว่า รับโทษอยู่ที่เรือนจำในจังหวัดสระแก้ว 
รายละเอียด: ชโย อัญชลีวัชร ขณะถูกจับกุมอายุ 59 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Uncha Unyo” เผยแพร่รูปภาพและข้อความในกล่องสนทนาที่มีลักษณะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 
 
ชโยถูกจับกุมเมื่อเดือน มกราคม 2558  โดยเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังบูรพาเกือบ 30 นาย  มาควบคุมตัวชโยหน้าที่ว่าการอำเภอ ขณะชโยเดินไปทำงาน กระทั่งถูกดำเนินคดีเรื่อยมาที่ศาลทหาร ในจังหวัดสระแก้ว และถูกศาลทหารลงโทษจำคุก 18 ปี สารภาพลดโทษเหลือ 9 ปี 
 
สถานะคดี: ถูกฟ้องตามมาตรา 112 ทั้งหมด 29 กรรม อยู่ระหว่างสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ
สถานะผู้ต้องหา: ไม่ได้รับประกันตัว ถูกจำคุกที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
รายละเอียด: อัญชัญเป็นข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งและประกอบธุรกิจขายตรงบนอินเทอร์เน็ต เธอถูกทหารพร้อมอาวุธบุกเข้าจับกุมที่บ้าน ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และถูกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถึง 29 กรรม จากคลิป 29 คลิป โดยเคยยื่นขอประกันตัวแล้วแต่ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้ประกันตัว อัญชัญให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ซึ่งคดีของอัญชัญยังดำเนินไปอย่างช้าๆ เพราะมีการเลื่อนการสืบพยานหลายครั้ง
 
สถานะคดี: คดีสิ้นสุดแล้ว ศาลพิพากษาให้จำคุก 35 ปี ลดเหลือ 18 ปี 24 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษที่เรือนจำคลองเปรม
รายละเอียด: ธาราเอาลิงก์คลิปเสียงของบรรพตที่อาจมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาฝังไว้บนเว็บไซต์ www.okthai.com ที่เขาเป็นเจ้าของ เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 และต่อมาถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) (5) เป็นจำนวนหกกรรม เบื้องต้นเขาปฏิเสธ และต้องการต่อสู้คดีว่า เขาทำเว็บไซต์ด้านสุขภาพเพื่อหารายได้จากโฆษณา ซึ่งเขาเอาลิงก์คลิปเสียงมาใช้เพราะมีเรื่องสุขภาพอยู่ด้วย และไม่ได้ฟังทุกคลิปก่อนเอามาใช้ แต่ธาราไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และการสืบพยานใช้เวลานานกว่าหนึ่งปีแล้วยังไมีความคืบหน้า ธาราจึงเปลี่ยนใจรับสารภาพ
 
9 สิงหาคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยกรรมละ 5 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือกรรมละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยกระทำความผิดคิดเป็น 6 กรรม รวมโทษจำคุกเป็น 18 ปี 24 เดือน
 
สถานะคดี: สิ้นสุดแล้ว ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 5 ปี
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษจำคุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง
รายละเอียด: “ทวีสิน” และ “ขวัญใจ” เป็นชื่อสมมติของจำเลยร่วมในคดีเผยแพร่คลิปเสียงใน “เครือข่ายบรรพต” ซึ่งตอนแรกมีจำเลย 12 คนร่วมกันในคดีเดียว แต่ทั้งสองปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ขณะที่จำเลยคนอื่นรับสารภาพ ศาลทหารกรุงเทพจึงจำหน่ายคคดีทั้งสองออกจากคดีเครือข่ายบรรพต และให้อัยการทหารฟ้องแยกเป็นคดีใหม่สำหรับจำเลยสองคน
 
ต่อมา “ทวีสิน” เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 10 ปี และลดเหลือ 5 ปี และหลังจากนั้นไม่นาน “ขวัญใจ” ก็กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ และได้รับโทษเช่นเดียวกัน ทั้งสองคนเปลี่ยนใจเป็นรับสารภาพเนื่องจากเห็นว่าการต่อสู้คดีใช้เวลานานเกินไป และรับโทษจำคุกตามที่ศาลตัดสินและลดโทษให้
 
สถานะคดี: คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้ 56 ปี ลดโทษเหลือ 28 ปี เพราะให้การรับสารภาพ
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 
รายละเอียด: ศศิวิมล หรือ อีกชื่อหนึ่ง คือ ศศิพิมล อายุ 29 ปี เป็นพนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้มีความสนใจทางการเมือง ไม่ได้ติดตามข่าวสารทางการเมือง เธอถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 7 ข้อความ ซึ่งชื่อของรุ่งนภาเป็นคนที่มีปัญหากันในทางชู้สาว 
 
คดีนี้เป็นข่าวเศร้า เมื่อศศิวิมลถูกพิพากษาให้จำคุกนาน 28 ปี เพราะเธอมีลูกเล็กสองคนและแม่ที่แก่ชราอีกหนึ่งที่เธอยังต้องทำหน้าที่เลี้ยงดู ทำให้ลูกสองคนต้องอยู่กับยายแทน โดยที่จริงแล้ว เธอต้องการปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำความผิด แต่ทนายอาสาที่ศาลตั้งให้ไม่มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือคดี จึงต้องตัดสินใจรับสารภาพ 
 
สถานะคดี: คดีถึงที่สุดแล้วศาลทหารกรุงเทพ พิพากษาให้จำคุก 14 ปี 60 เดือน ลดเหลือ 7 ปี 30 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ
สถานะผู้ต้องหา: รับโทษอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
รายละเอียด: ก่อนถูกจับกุมชญาภา อายุ 48 ปี เป็นพนักงานบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ตอนที่ถูกจับเธอถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า จะมีการปฏิวัติซ้อน และคดีนี้เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นคดีที่โพสต์ข่าวลือการปฏิวัติซ้อน แต่ต่อมาเมื่อถูกตั้งข้อหา เธอถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กบางข้อความด้วย ตำรวจและทหารบุกเข้าจับกุมที่บ้านเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ระหว่างการพิจารณาคดีชญาภาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกฟ้องรวม 5 กรรม 
 
ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 เธอถูกพาตัวมาที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ไม่มีญาติและทนายความาด้วย ชญาภายังไม่ได้มีโอกาสปรึกษากับทนายความว่า จะต่อสู้คดีหรือไม่อย่างไร ทั้งที่เธอเห็นว่า ข้อความที่เธอโพสต์ไม่ใช่ข้อความที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อมาศาล ชญาภาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและศาลมีคำพิพากษาทันที
 
14. ณัฏฐธิดา 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ
สถานะผู้ต้องหา: ไม่ได้ประกันตัว อยู่ทัณฑสถานหญิงกลาง
รายละเอียด: ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน ขณะถูกจับอายุ 37 ปี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ถูกฟ้องในข้อหาโดยแจ้งข้อหา ก่อการร้าย, อั้งยี่ซ่องโจร, ใช้และครอบครองอาวุธสงครามโดยไม่ได้รับอนุญาต, พยายามฆ่า ศาลเหตุการณ์มีคนปาระเบิดใส่อาคารศาลอาญา ต่อมาณัฏฐิดาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดีดังกล่าว แต่ถูกอายัดตัวต่อเพื่อดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 จากการส่งข้อความในกลุ่มไลน์ ขณะที่จำเลยยืนกรานว่า ข้อความที่ถูกเอามาฟ้องไม่ใช่ข้อความของเธอ และขอต่อสู้คดี ศาลทหารกรุงเทพก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างสู้คดี
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารขอนแก่น
สถานะผู้ต้องหา: ไม่ได้ประกันตัว อยู่เรือนจำในจังหวัดขอนแก่น
รายละเอียด: ผู้ต้องหา 5 คน ถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยฝ่ายความมั่นคงออกข่าวว่า มีผู้ต้องสงสัยร่วมกันวางแผนก่อความวุ่นวายในกิจกรรม Bike for Dad และเตรียมประทุษร้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง 2 คนแต่ต่อมาถูกออกหมายจับในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการพูดคุยกันขณะถูกคุมขังในเรือนจำด้วยคดีทางการเมืองคดีอื่น ไม่เกี่ยวกับกิจกรรม Bike for Dad ช่วงแรกผู้ต้องหาคดีนี้ถูกควบคุมในเรือนจำพิเศษในมทบ.11 ซึ่งทนายความประสบปัญหาถูกคุมคามเวลาเข้าเยี่ยม ต่อมาคดีถูกโอนไปพิจารณายังศาลทหาร ในจ.ขอนแก่น 
 
ผู้ต้องหาทั้งห้าคน ได้แก่ ประธิน, พาหิรัญ, วีระชัย, วัลลพ, ธนกฤต ต่างปฏิเสธและขอต่อสู้คดี โดยยืนยันว่า พวกเขาถูกใส่ร้าย ไม่ได้พูดจาในลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามที่ถูกฟ้อง โดยยื่นประกันตัวแล้วศาลทหารขอนแก่นไม่อนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่การพิจารณาคดีก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารขอนแก่น
สถานะผู้ต้องหา: ไม่ได้ประกันตัว อยู่เรือนจำในจังหวัดขอนแก่น
รายละเอียด: ณัฐพล รู้จักกับ จ.ส.ต.ประธิน จำเลยคดีผู้ต้องหาป่วนกิจกรรม Bike for Dad ทั้งสองรู้จักกันในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น หลังถูกปล่อยออกมาทั้งสองยังติดต่อกันและถูกจับกุมอีกครั้งในเดือน พฤศจิกายน 2558 ทั้งคู่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการส่งไลน์พูดคุยกัน และจากการที่จ.ส.ต.ประธินจดบันทึกลงในสมุดโน็ตส่วนตัว หลังถูกจับ ทั้งสองถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษแขวงนครชัยศรี ค่ายมทบ.11 กว่าสามเดือน ก่อนที่จะขอโอนคดีกลับไปต่อสู้ที่ศาลทหารขอนแก่น
 
ณัฐพล ปฏิเสธและขอต่อสู้คดี แต่ศาลทหารขอนแก่นไม่ให้ประกันตัว และดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอย่างล่าช้า
 
สถานะคดี: คดีสิ้นสุดแล้ว ศาลพิพากษาให้จำคุก 70 ปี ลดเหลือ 30 ปี 60 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษที่เรือนจำคลองเปรม
รายละเอียด: วิชัย เป็นคนเชียงใหม่ ขณะถูกจับอายุ 33 ปี เขาถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ, แอบอ้างสร้างชื่อบัญชีเฟซบุ๊กปลอม และนำภาพถ่ายคนอื่นไปใช้รูปประจำโปรไฟล์ในเพจปลอม และโพสต์ข้อความและภาพถ่ายรวมทั้งแชร์ข้อมูลในลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 10 ครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคม 2558 ก่อนถูกจับกุมในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีไม่ได้ยื่นขอประกันตัวเพราะไม่มีหลักทรัพย์ และถูกคุมขังตลอดมา โดนญาติได้รับความเดือดร้อนเพราะต้องเดินทางจากเชียงใหม่มาเยี่ยมที่กรุงเทพฯ
 
เบื้องต้นวิชัยให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี แต่ต่อมากลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เพราะเห็นว่า การต่อสู้คดีใช้เวลานานเกินไป ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกการโพสต์ครั้งละ 7 ปี รวมเป็น 70 ปี และลดโทษให้ครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพเหลือโทษจำคุก 30 ปี 60 เดือน คดีนี้เป็นสถิติคดีสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้
 
สถานะคดี: สิ้นสุดแล้ว ศาลพิพากษาให้จำคุก 10 ปี 16 เดือน
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
รายละเอียด: บุรินทร์ เข้าร่วมกิจกรรมยืนเฉยๆ กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ในวันที่ 28 เมษายน 2559 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนแปดคนที่ถูกควบคุมตัวไปก่อนหน้านี้ แล้วบุรินทร์ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พญาไทก่อนถูกอายัดตัวไปไว้ที่ค่ายทหาร ก่อนถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยอ้างว่า เจ้าหน้าทีติดตามสังเกตการโพสต์เฟซบุ๊กของเขามาสักระยะหนึ่งแล้ว กระทั่งพบว่า มีการโพสต์ข้อความโจมตี คสช. และแชทพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดสองกรรม
 
24 มกราคม 2560 บุรินทร์ถูกพาไปขึ้นศาลและให้การรับสารภาพ 27 มกราคม 2560 ว่าบุรินทร์มีความผิด 2 กรรม กรรมแรก คือ ฐานดูหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท จากการโต้ตอบกันในกล่องสนทนา ลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึงห้าปี จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมเป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน กรรมที่สอง ความผิดฐานหมิ่นประมาณพระมหากษัตริย์ จากการโพสต์บนเฟซบุ๊ก ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมทั้งสองกรรมแล้วบุรินทร์จะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างชั้นสืบพยานที่ศาลทหารจังหวัดชลบุรี
สถานะผู้ต้องหา: ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในจังหวัดชลบุรี ไม่ได้ประกันตัวเพราะศาลยังไม่สั่ง
รายละเอียด: เกษร เป็นผู้ป่วยทางจิตที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 13 ข้อความ ในจำนวนนั้น หลายข้อความเป็นการกล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ใช่บุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บางข้อความโพสต์ขณะที่ คสช. ประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ในศาลทหาร
 
หลังถูกจับกุมเกษรถูกส่งตัวไปรักษาอาการที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์อยู่พักนึง ก่อนถูกส่งตัวกลับมาคุมขังในเรือนจำ โดยศาลยังไม่ได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดี เนื่องจากแพทย์ยังมีความเห็นว่า ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่ทางญาติของเกษรยื่นขอประกันตัวไปตั้งแต่ปลายปี 2560 แล้ว แต่ศาลก็ยังไม่สั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
 
สถานะคดี: คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาจำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างรับโทษที่เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น 
รายละเอียด: 2 ธันวาคม 2559 เวลาประมาณ 5.07 น. บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Pai Jatupat ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของจตุภัทร์ หรือ ไผ่ แชร์บทความพระราชประวัติพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย โดยได้คัดลอกข้อความบางส่วนในบทความดังกล่าวมาโพสต์ประกอบบนสเตตัสด้วย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 ซึ่งพบการแชร์บทความดังกล่าวเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจตุภัทร์ต่อพนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่น  
 
ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ตำรวจจับกุมตัวจตุภัทร์ระหว่างร่วมกิจกรรม “ธรรมยาตราลุ่มน้ำประทาว” ในความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวในสถานีตำรวจหนึ่งคืนก่อนที่ศาลจังหวัดขอนแก่นจะอนุญาตให้เขาประกันตัวในวันต่อมา ตอนแรกจตุภัทร์ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว แต่ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้ถอนประกันจตุภัทร์ตามที่พนักงานสอบสวนร้องต่อศาล โดยระบุเหตุผลว่า จตุภัทร์ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว และถูกคุมขังที่เรือนจำกลางขอนแก่นเรื่อยมา เมื่อถูกนำตัวไปศาล ศาลก็สั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ทำให้ผู้ที่มาติดตามคดีกว่า 30 คน เข้าฟังไม่ได้ 
 
15 สิงหาคม 2560 หลังสืบพยานไปได้แล้วสองวัน จตุภัทร์กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ
สถานะผู้ต้องหา: ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  ไม่ได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
รายละเอียด: สุริยศักดิ์ เป็นแกนนำนปช.จังหวัดสุรินทร์ ถูกจับกุมร่วมกับผู้ต้องหาอีกแปดคน โดยถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครือข่ายโกตี๋” ที่สะสมกำลังอาวุธ สุริยศักดิ์ถูกตั้งข้อกล่าวหา ก่อการร้ายจากการชุมนุมในปี 2553 และข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการส่งข้อความทางไลน์ ขณะที่ผู้ต้องหาอีกแปดคนถูกตั้งข้อกล่าวหาครอบครองอาวุธและก่อการร้าย
 
ต่อมาผู้ต้องหาคนอื่นในคดีเดียวกันได้รับการปล่อยตัวไป มีเพียงสุริยศักดิ์ที่ยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อยู่ที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยจำเลยขอประกันตัวหลายครั้งแล้ว และปฏิเสธขอต่อสู้คดี แต่ศาลทหารกรุงเทพไม่ให้ประกันตัว
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญา 
สถานะผู้ต้องหา: ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  ไม่ได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
รายละเอียด: ประเวศทนายความที่เคยว่าความให้จำเลยคดี 112 อย่างน้อยสองคน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในวันที่ 29 เมษายน 2560 และถูกนำตัวไปควบคุมที่มทบ.11 ก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลอาญา และส่งเข้าเรือนจำ โดยศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และถูกตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก รวม 10 กรรม 
 
ประเวศเคยยื่นขอประกันตัวแล้ว แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ประเวศจึงแสดงออกโดยการไม่ยอมรับอำนาจศาล ไม่ขอแต่งตั้งทนายความ ไม่ขอถามค้านพยานโจทก์ ไม่ขอลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งการสืบพยานในคดีนี้เสร็จไปแล้วโดยใช้เวลาอย่างรวดเร็ว ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา 23 พฤษภาคม 2561
 
สถานะคดี: สิ้นสุดแล้ว ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 8 ปี ลดเหลือ 4 ปี
สถานะผู้ต้องหา: อยู่ระหว่างการรับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
รายละเอียด: เอกฤทธิ์ เป็นหลานของหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “อดิศักดิ์ สกุลเงิน” ถูกทหารจับกุมในวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 จากการโพสต์เฟซบุ๊กเป็นรูปภาพและข้อความพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ เอกฤทธิ์ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน แต่ให้การรับสารภาพทันทีเมื่อไปศาลนัดแรก ศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 8 ปี ลดเหลือ 4 ปีในวันที่ 3 สิงหาคม 2560
 
28.-35. เยาวชน 8 คน
สถานะคดี: แบ่งเป็น2 คดี คดีแรกศาลจังหวัดพลพิพากษาจำคุก จำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 4 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 7 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 5 ปี 20 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 รวมจำคุก 10 ปี  จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 2 ปี 16 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุก 5 ปี
คดีที่สอง (จำเลยเป็นคนเดียวกับจำเลยที่ 1-4ของคดีแรก ) ศาลจังหวัดพลพิพากษา จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 10 ปีจำเลยรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง  ให้นับโทษต่อจากคดีแรก
สถานะผู้ต้องหา: ผู้ต้องหา 8 คน อยู่ระหว่างรับโทษที่เรือนจำอำเภอพล และแยกเยาวชนชายไปควบคุมตัวไว้ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น
รายละเอียด: เหตุการณ์เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่นเมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2560 ทหารและตำรวจเข้าจับกุมเยาวชนชาย (อายุ 14 ปี) 1 คน วัยรุ่นชาย (อายุ 18-20 ปี) 6 คน จากบ้านและสถานศึกษาในตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท และชายวัย 25 ปี 1 คน จากอำเภอโนนศิลา รวมทั้งตามจับชายวัย 64 ปี อีก 1 คน ที่ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี  นำไปควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น และมณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ รวม 6 วัน พฤษภาคม 2560 พนักงานอัยการจังหวัดพลยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพล รวม 3 คดี และมีคดีที่แยกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น 1 คดี ทั้งหมดมีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมอยู่ด้วย
 
36. สกันต์ 
สถานะคดี: ระหว่างการสืบพยาน นัดหมายสืบพยานโจทก์ในวันที่ 16 ตุลาคม 2561
สถานะผู้ต้องหา: คุมขังระหว่างการพิจารณาคดี
รายละเอียด: สกันต์เคยเป็นจำเลยที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีทางการเมืองเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 2553 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะที่สกันต์กำลังจะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเนื่องจากรับโทษครบกำหนด ตำรวจก็มาอายัดตัวเขาต่อเพื่อไปดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 
 
อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี โดยตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยขณะเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะกำลังชมรายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดภาพการปฏิบัติพระกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้เปิดให้ดู จำเลยได้บังอาจพูดจากดูหมิ่น ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 เวลากลางวัน จำเลย ขณะเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะที่ทางเรือนจำจัดพิธีถวายความเคารพเนื่องในวันพ่อแห่งชาติร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อถวายความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติพระบรมราชินีนาถ ขณะผู้ต้องขังกำลังร้องเพลงดังกล่าว จำเลยได้บังอาจพูดจาดูหมิ่น และต้นเดือนธันวาคม 2557 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจพูดจาลักษณะดูหมิ่นอีกครั้ง จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และขอต่อสู้คดีที่ศาลอาญา
 

 

 
คดีที่จำเลยไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ
 
สถานะคดี: อภิชาตได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ
สถานะผู้ต้องหา: คดีค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นสืบสวนสอบสวน
รายละเอียด: อภิชาตเข้าร่วมการชุมนุมต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 และเป็นคนแรกที่ถูกทหารจับกุมตัว ต่อมาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. 7/2557, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 และ มาตรา 368 เป็นคดีที่ศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งล่าสุดศาลพิพากษาให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท รอลงอาญา 
 
ระหว่างการสืบสวน อภิชาตถูกทหารยึดมือถือไปตรวจค้นและพบว่าอภิชาตเคยโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กที่มีลักษณะเข้าข่ายมาตรา 112 จึงถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ 14(3) เบื้องต้นอภิชาตถูกฝากขังโดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว แต่ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งยกคำร้องขอฝากขังในผลัดที่ 3 อภิชาตจึงถูกปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข และคดียังค้างอยู่โดยไม่เร่งรีบดำเนินการ 
 
สถานะคดี: ทั้งสองคดีอยู่ในชั้นสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ 
สถานะผู้ต้องหา: บัณฑิตได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้ง 2 คดี ด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท 
รายละเอียด: บัณฑิตถูกดำเนินคดีแรก จากการแสดงความเห็นในเวทีระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศของพรรคนวัตกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 คำพูดตอนหนึ่งของเขาถูกเข้าใจว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในงานเสวนาด้วยเข้าจับกุมบัณฑิตในที่เกิดเหตุ ต่อมาบัณฑิตได้รับการปล่อยตัวชั่วคราววันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ด้วยเงินประกัน 400,000 บาท 
ต่อมาถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดิม อีกครั้ง หลังแสดงความคิดเห็นหลังการเสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 และถูกจับเมื่อเดินพฤศจิกายน 2559 และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยเงินประกัน 400,000 บาท 
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ
สถานะผู้ต้องหา: แพทย์วินิจฉัยว่า ป่วยทางจิต และได้ประกันตัว
รายละเอียด: 19 กุมภาพันธ์ 2558 ประจักษ์ชัยเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่ทำเนียบรัฐบาล คำร้องที่เขายื่นถูกมองว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เขาจึงถูกจับกุมตัว ญาติเชื่อว่าประจักษ์ชัยทำความผิดไปเพราะมีอาการทางจิต ประจักษ์ชัยถูกส่งตัวไปตรวจรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แล้วพบว่ามีอาการหลงผิดชัดเจน มีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นโรคจิตเภท
 
ขั้นแรกศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากจำเลยวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ โดยให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท ต่อมาศาลไต่สวนแพทย์แล้วสั่งให้ยกคดีกลับมาพิจารณาต่อ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยประจักษ์ชัยต้องเดินทางไปกลับระหว่างบ้านที่ศรีสะเกษกับศาลที่กรุงเทพเพื่อมาเข้าร่วมในการพิจารณาคดีตลอด
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ
สถานะผู้ต้องหา: แพทย์วินิจฉัยว่า ป่วยทางจิต และได้ประกันตัว
รายละเอียด: เสาร์เป็นคนชาติพันธุ์ไทลื้อ ไม่มีสัญชาติไทย อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย วันที่ 13 มีนาคม 2558 เสาร์เดินทางไปยื่นคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และอ้างว่าตนเองติดต่อการงานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทำให้เสาร์ถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112
 
พนักงานอัยการเนื่องจากเห็นว่า ให้งดการสอบสวนและส่งเสาร์เข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ จนกว่าจะหายหรือสามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งผลตรวจปรากฏออกมาแล้วว่า เป็นผู้ป่วยจิตเภท ในทางคดีจำเลยจึงต่อสู้โดยอ้างว่า กระทำความผิดไปโดยอาการป่วย คดียังอยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ 
สถานะผู้ต้องหา: ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
รายละเอียด: เดือนธันวาคม 2558 ฐนกร ถูกจับกุมกล่าวหาว่า คัดลอกและแชร์ภาพแผนผังทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์บนเฟซบุ๊ก หลังถูกจับกุมฐนกรถูกนำไปควบคุมไว้ในสถานที่ปิดลับ 7 วัน หลังถูกควบคุมตัวครบกำหนดเขาถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่ม รวมแล้วเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯสองกรรม จากการโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงและกดไลก์ภาพที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกหนึ่งกรรม จากการโพสต์เรื่องผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ และถูกฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ เบื้องต้นฐนกรไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและถูกส่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ต่อมาเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาลฐนกรได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท 
 
หลังได้รับการปล่อยตัว ฐนกรไปบวชเป็นพระภิกษุ และยังคงต้องเดินทางมาศาลทหารกรุงเทพเรื่อยๆ เพื่อร่วมฟังการพิจารณาคดีของเขา โดยศาลทหารกรุงเทพเคยขอให้เขาสึกจากสมณเพศเพื่อดำเนินคดี
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างจำหน่ายคดี เนื่องจากจำเลยมีอาการป่วย
สถานะผู้ต้องหา: แพทย์วินิจฉัยว่า ป่วยทางจิต และได้ประกันตัว
รายละเอียด: ฤาชาอดีตทหารยศจ่าสิบเอกถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นายเข้าจับกุมที่บ้านในจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559  เจ้าหน้าที่แจ้งฤาชาด้วยวาจาว่าเขาถูกจับเพราะโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระราชินีและองค์รัชทายาท ฤาชาถูกนำตัวมาที่มทบ.11 เพื่อสอบสวนและก่อนจะถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในชั้นสอบสวน ฤาชาถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระราชินี และองค์รัชทายาทบนเฟซบุ๊กรวมสามโพสต์ เป็นความผิดสามกรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
หลังถูกจับฤาชาส่งตัวไปตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยแพทย์ลงความเห็นว่า ป่วยเป็นโรคจิตเภทอย่างรุนแรง ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ต้องพักรักษาตัว โดยยังไม่แน่ว่าจะหายเมื่อไร ศาลทหารกรุงเทพจึงสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ไว้ก่อนจนกว่าจำเลยจะหายและสามารถต่อสู้คดีได้ เพื่อรื้อฟื้นคดีกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ด้านฤาชายังมีความเชื่อเหมือนเดิมว่า ตัวเองไม่ได้ป่วย แต่มีพระแม่ธรณีมาเข้าสิงอยู่ในร่างตัวเองและคอยทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งการโพสต์เฟซบุ๊กด้วย
 
สถานะคดี: ยังอยู่ระหว่างการพิจาณาที่ศาลทหารกรุงเทพ
สถานะผู้ต้องหา: ได้ประกันตัว
รายละเอียด: พัฒนรี เป็นแม่ของสิรวิชญ์หรือจ่านิว นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ถูกจับด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เนื่องจากตอบโต้บทสนทนาผ่านกล่องข้อความเฟซบุ๊คกับบุรินทร์ ผู้ต้องหาอีกคดีหนึ่ง โดยใช้คำว่า “จ้า” อัยการทหารฟ้องพัฒน์นรีต่อศาลทหารในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 โดยอธิบายว่า การตอบรับว่า “จ้า” ไม่ห้ามปรามก็เป็นความผิดด้วย พัฒน์นรีได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยาน นัดหมายอีกครั้งวันที่ 16 มิถุนายน 2561
สถานะผู้ต้องหา: หฤษฏ์และณัฏฐิกาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาในเดือนมีนาคม 2561 ณัฏฐิกาได้เดินทางลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา
รายละเอียด: หฤษฏ์ และ ณัฏฐิกา สองในแปดแอดมินเพจที่ถูกจับฐานทำเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธิ์ ถูกอายัดตัวและแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามมาตรา 112 เพิ่มเติม ก่อนควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองรายไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังเพื่อรอดำเนินคดีต่อไป ทั้งสองถูกฝากขังที่ศาลทหารตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ก่อนได้ประกันตัวในชั้นฝากขังผัดที่ 6 ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 โดยหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 500,000 บาท
 
ทั้งสองคนให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม 2561 ณัฏฐิกาไม่ปรากฏตัวศาลทหารกรุงเทพในนัดสืบพยานคดียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของแปดแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพลเอกประยุทธ์”  วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยและนายประกันแถลงต่อศาลว่า วันนี้ถือเป็นการผิดนัดครั้งที่สองของณัฏฐิกาและคิดว่า นัดครั้งต่อไปคงไม่สามารถตามตัวณัฏฐิกามาศาลได้อีก ขอศาลใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าไปมากกว่านี้ ศาลทหารจึงพิจารณาออกหมายจับณัฏฐิกา นัดสืบพยานอีกครั้งวันที่ 1 มิถุนายน 2561
 
 
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างชั้นสืบพยานที่ศาลทหารจังหวัดเชียงราย 
สถานะผู้ต้องหา: ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท 
รายละเอียด: สราวุทธิ์ เป็นช่างตัดแว่นในจังหวัดเชียงราย ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 หลังถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในอิริยาบถส่วนพระองค์ ประกอบกับข้อความในลักษณะหมิ่นฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559  ตำรวจนัดสราวุทธิ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เขาให้การปฏิเสธ และถูกคุมขังในเรือนจำ และมาได้รับการประกันตัวหลังถูกควบคุมไปเเล้ว 38 วัน 
 
ระหว่างได้รับการประกันตัว สราวุทธิ์ ก็ให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี คดีของเขายังอยู่ระหว่างการสืบพยานไปอย่างเงียบๆ 
 
11. สุธี 
สถานะคดี: ไม่ทราบสถานะคดี
สถานะผู้ต้องหา: ได้ประกันตัว
รายละเอียด: ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สุธี ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ชาวภูเก็ตจำนวนหนึ่งเข้าล้อมบ้านที่เป็นร้านขายน้ำเต้าหู้อยู่หลายชั่วโมง ต่อมาสุรทิน เลี่ยนอุดม จึงนำเรื่องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ต ฝ่ายสืบสวนได้สืบค้นเฟซบุ๊กของสุธีและนำข้อความที่สันนิษฐานว่า เข้าข่ายการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อความ 
 
สถานะคดี: อยู่ระหว่างการสืบพยานในศาลจังหวัดชลบุรี
สถานะผู้ต้องหา: ปล่อยตัวชั่วคราว
รายละเอียด: ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กขายเหรียญ และโต้เถียงกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังเหตุการณ์สวรรคต ของรัชกาลที่ 9 เขาถูกประชาชนบุกไปพาตัวออกมาจากหอพัก ทำร้ายร่างกาย และบังคับให้กราบพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนถูกจับส่งตำรวจเพื่อดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรพานทอง และถูกส่งตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง และส่งเข้าเรือนจำ 
 
เบื้องต้นศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว แต่เมื่อยื่นขอประกันตัวใหม่ ศาลอนุญาตด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท จำเลยปฏิเสธว่า สิ่งที่โพสต์ไม่ได้เป็นความผิดต่อกฎหมาย และขอต่อสู้คดี โดยมีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยครั้งต่อไปวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2561
 
สถานะคดี: อยู่ในชั้นอัยการ
สถานะผู้ต้องหา: ปล่อยตัวชั่วคราว
รายละเอียด: 24 ตุลาคม 2559 ระหว่างที่อมรโชติซิงห์ ชาวไทยเชื้อสายซิกข์ กำลังซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง มีชายแปลกหน้าสองคนเข้ามถามว่าทำไมจึงใส่เสื้อสีชมพู หลังจากพวกเขาทะเลาะกันที่ห้างและตำรวจเข้ามาระงับเหตุ อมรโชติซิงห์ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการดูหมิ่นรัชกาลที่ 9 ตามที่ชายทั้งสองกล่าวหา
 
ระหว่างการสอบสวน อมรโชติซิงห์ถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจบุปผารามสองวัน เขาปฏิเสธว่าไม่ได้กล่าวคำเหล่านั้น ตำรวจและทหารยังไปที่บ้านและค้นข้าวของ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์ของเขา ต่อมาศาลอาญาธนบุรีให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 250,000 บาท และในนัดที่ต้องฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ของอัยการ อัยการเลื่อนการสั่งคดีออกไปก่อน