“อั้งยี่” กฎหมายโบราณที่กลับมาหลังการรัฐประหารของ คสช.

ความผิดฐานอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 เป็นฐานความผิดที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยที่จีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาตั้งรกรากหากินในไทย จนบรรจุลงไปในประมวลกฎหมายอาญาไทย เจตนารมณ์ของความผิดฐานนี้เพื่อใช้ควบคุมการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อจะทำสิ่งที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือเรียกว่าปราบปรามกลุ่มแก๊งผู้มีอิทธิพลนั่นเอง 
จนกระทั่งในยุค คสช. ความผิดฐานอั้งยี่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีทางการเมือง เป็นการดำเนินคดีต่อผู้ที่รวมกลุ่มกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคดี
ที่มา และเจตนารมณ์ของกฎหมายอั้งยี่ในประเทศไทย
อั้งยี่ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “สมาคมลับของคนจีน” หรือ อีกความหมาย อั้งยี่ แปลว่า “ตัวหนังสือสีแดง” ซึ่งอั้งยี่นั้นมีอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน หมายถึงการตั้งสมาคมลับของคนจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้จัดการดูแล และแสวงหาผลประโยชน์กันเองในกลุ่มคนจีนอพยพที่เข้ามาเป็นแรงงาน และค้าขายในประเทศไทย ปกครองกันด้วยระเบียบและกฎที่ตั้งขึ้นกันเองในอั้งยี่นั้นๆ โดยแยกเป็นหลายอั้งยี่ แล้วแต่ใครจะเข้าร่วมกับอั้งยี่ใด 
เนื่องจากในอดีตแต่ละอั้งยี่มีคนอยู่จำนวนมาก บางครั้งจึงมีเรื่องขัดแย้งกันเกิดการปะทะใช้ความรุนแรงกันระหว่างอั้งยี่หนึ่งกับอีกอั้งยี่หนึ่ง จนส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง รัฐไทยในสมัยนั้นจึงออกกฎหมายเพื่อปราบปรามเหล่าสมาคมลับของคนจีนที่ผิดกฎหมาย โดยได้บัญญัติกฎหมายให้สมาคมลับดังกล่าวมีโทษอาญาในฐานความผิดที่เรียกว่า “อั้งยี่” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ร.ศ.116 หรือ พ.ศ.2441 คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำในลักษณะอั้งยี่ ร.ศ.116 และเมื่อพัฒนาเป็นประมวลกฎหมายอาญา จึงได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 209 ในเรื่องความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ในภาคความผิดลักษณะที่ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน 
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 บัญญัติไว้ว่า
“มาตรา ๒๐๙ ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
โดยมาตราดังกล่าว มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
ตามวรรคหนึ่ง 
(1) ผู้ใด
(2) เป็นสมาชิกของคณะบุคคล
(3) ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
และต้องมีเจตนาที่จะเข้าร่วม และรู้ว่าเป็นการเข้าร่วมกับคณะบุคคลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
คำว่า “คณะบุคคล” นั้นทางกฎหมายให้ความหมายไว้ว่า การรวมตัวของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันและการรวมตัวกันนั้นจะต้องรวมตัวกันในลักษณะถาวร
“ปกปิดวิธีดำเนินการ” หมายถึง รู้กันในหมู่สมาชิกไม่เปิดเผยแก่บุคคลอื่น เช่น ใช้นิ้วแสดงเป็นเครื่องหมายลับ (คำพิพากษาฎีกาที่ 124/2457) หรือแสดงเครื่องหมายสมาคม (คำพิพากษาฎีกาที่ 301-303/2470) โดยรู้กันในหมู่สมาชิกเท่านั้น 
“มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” ไม่จำกัดไว้ว่าต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น อาจเป็นละเมิดกฎหมาย หรือความผิดทางแพ่งก็ได้ (ความเห็น ศ.จิตติ ติงศภัทิย์) ซึ่งตีความได้กว้างขวางมาก
และมาตรานี้ มุ่งหมายเอาผิดการ “เข้าเป็นสมาชิก” เท่านั้น ดังนั้นเพียงเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลเท่านั้นก็เป็นความผิดสำเร็จทันทีโดยยังไม่จำต้องทำอะไรที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือคณะบุคคลนั้นยังไม่ต้องลงมือทำอะไร ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว 
ในวรรคสองนั้น เป็นเหตุเพิ่มโทษ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นตำแหน่งตามกฎหมายระบุไว้ก็จะได้รับโทษเพิ่ม
ตัวอย่างคดีทางการเมืองที่ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ก่อนรัฐประหาร 2557
ในช่วงก่อนการรัฐประหารไม่พบว่า มีการดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ส่วนกลาง หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองจะใช้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และมาตรา 216 การมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเสียมากกว่า ส่วนมากข้อหาอั้งยี่จะถูกใช้กับผู้มีอิทธิพลที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ปล่อยเงินกู้ เปิดบ่อนพนัน เป็นต้น และกลุ่มที่ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่มากอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มักจะถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงโดยพ่วงข้อหาอั้งยี่ เข้าไปด้วยเสมอ
หลังรัฐประหารปี 2557 พบว่ามีการตั้งข้อหาอั้งยี่กับกลุ่มคนที่แสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตัวอย่างเช่น
1. คดีปาระเบิดศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 มีคนถูกออกหมายจับในคดีนี้ทั้งสิ้น 17 คน และถูกจับกุมทั้งหมด 15 คน และถูกดำเนินคดีในชั้นศาลทั้งหมด 14 คน ซึ่งจำเลยทั้ง 14 คน ถูกฟ้องว่ากระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่ และข้อหาอื่นๆ อย่างน้อยอีก 10 ข้อหา 
2. คดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 มีจำคนถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด 6 คน ถูกฟ้องว่ากระทำผิดฐานอั้งยี่ และข้อหาอื่นๆ อีกสี่ข้อหา 
3. คดีส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีคนถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด 11 คน ถูกฟ้องว่า ส่งจดหมายไปยังประชาชนเพื่อรณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ ตามกระทำผิดฐานอั้งยี่ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ด้วย  
4. คดีก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย มีคนถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด 17 คน และสุดท้ายถอนแจ้งความเหลือ 15 คน จากการร่วมกันก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาล และส่งข้อมูลคุยกันในกลุ่มไลน์ โดยถูกตั้งข้อหากระทำผิดฐานอั้งยี่ และมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ต่อมามีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้
5. คดีแฮกเกอร์คัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุการณ์ชาวเน็ตบุกโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐหลายๆ แห่ง หลังการลงมติแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชน ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 มีคนถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งหมด 9 คน และถูกดำเนินคดี 4 คน ด้วยข้อหากระทำผิดฐานอั้งยี่ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมรวมกลุ่มกันโดยติดต่อสื่อสารกันในกลุ่มเฟซบุ๊ก และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานเจาะและโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกหลายกรรม 
6. คดีวัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ที่จังหวัดขอนแก่น มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นเยาวชนทั้งหมด 8 คน ถูกฟ้องข้อหากระทำผิดฐานอั้งยี่ และข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
7. คดีวัดพระธรรมกาย มีการแจ้งความดำเนินคดีอย่างน้อย 6 คน ในข้อหากระทำผิดฐานอั้งยี่และอื่นๆ 
8. คดีแนวร่วม กปปส. นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. คนอื่นๆ กับพวก ที่ชุมนุมในช่วงปี 2556-2557 รวม 25 คน ถูกฟ้องข้อหากระทำความผิดฐานอั้งยี่ และอื่นๆ 
9. พระพุทธอิสระ ถูกแจ้งข้อหากระทำความผิดฐานอั้งยี่ จากการชุมนุม กปปส. และทำร้ายตำรวจสันติบาล เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557