1314 1551 1126 1904 1283 1700 1399 1090 1503 1186 1308 1141 1358 1149 1110 1577 1352 1928 1191 1392 1417 1477 1500 1496 1306 1210 1665 1873 1336 1696 1901 1872 1400 1731 1630 1064 1215 1862 1110 1719 1040 1032 1280 1729 1927 1063 1698 1078 1734 1689 1932 1410 1296 1863 1631 1824 1511 1377 1760 1408 1531 1513 1406 1326 1400 1504 1769 1479 1187 1471 1925 1489 1149 1227 1973 1596 1106 1732 1700 1653 1072 1431 1070 1906 1253 1075 1671 1613 1431 1730 1476 1907 1434 1095 1696 1233 1905 1609 1576 หนัง 5 เรื่องที่ คสช. ไม่อยากให้คนไทยดู? | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

หนัง 5 เรื่องที่ คสช. ไม่อยากให้คนไทยดู?

 
950
 
200 คือ จำนวนอย่างน้อยที่สุดของกิจกรรมสาธารณะที่ คสช. ได้ปิดกั้นและแทรกแซง หรือเป็นเหตุผลสำคัญจนทำให้กิจกรรมเหล่านี้ต้องเกิดอุปสรรคหรือยกเลิกไปในที่สุด ในจำนวนนี้มีไม่น้อยกว่าห้าครั้งที่ คสช. ได้ปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมฉายภาพยนตร์ ได้แก่ 1984, The hunger games, White Shadow, ดาวคะนอง และ Joshua: Teenager vs Superpower  โดยแก่นเรื่องของหนังที่ถูกห้ามฉายมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองและความไม่เป็นธรรมในสังคม ขณะที่ในการระงับฉายหนังเรื่อง White Shadow ที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการล่าคนผิวเผือกในแทนซาเนียเพื่อนำอวัยวะไปเป็นเครื่องราง เนื้อหาไม่ได้อิงการเมืองโดยตรงแต่กลับถูกห้ามฉายจากมหาวิทยาลัยเจ้าของสถานที่ เนื่องจากหวั่นเกรงผลที่จะตามมาจากการถกเถียงต่อจากหนัง
 
1984: สังคมที่ปราศจากเสรีภาพ
 
วันที่ 14 มิถุนายน 2557 ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มปันยามูฟวี่คลับ กำหนดจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 ที่แสงดีแกลเลอรี่  โดยทางกลุ่มเริ่มประชาสัมพันธ์กิจกรรมตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2557 แต่ปรากฏว่า ทางแสงดีแกลเลอรี่ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามว่า ภาพยนตร์ที่จะฉายนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอะไร และอ้างว่าภาพยนตร์อาจติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการฉายหรือไม่ จึงได้มีการหารือกันจนยุติการจัดกิจกรรมฉายหนังในที่สุด
 
ต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00 น. ทหารเรียกตัวบดินทร์ คอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ ไปพูดคุยที่สโมสรค่ายกาวิละ มณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่กองข่าวของ มทบ.33 ได้สอบถามถึงการเตรียมจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 และการจัดนิทรรศการศิลปะในอดีตก่อนการมาของ คสช. ด้วย
 
ภาพยตร์เรื่อง 1984 ถูกสร้างขึ้นในปี 1984 ไมเคิล แรดฟอร์ด เป็นผู้กำกับและเขียนบทหนัง โดยดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ชิ้นสำคัญของจอร์จ ออร์เวล ที่เขียนขึ้นในปี 1949 เนื้อหาพูดถึงสังคมในจิตนาการที่ปราศจากเสรีภาพภายใต้การควบคุมของพรรคอภิชนพรรค (Inner Party) ในรัฐโอเชเนีย โดยผู้นำของพรรค คือ พี่เบิ้ม (Big Brother) ที่ควบคุมความคิดของปัจเจกชนในรัฐอย่างเผด็จการ มีการสอดส่องและควบคุมไม่เพียงการแสดงออกทางกายแต่ก้าวล่วงไปถึงความคิดและจิตใต้สำนึกของประชาชน 
 
ตัวละครนำของเรื่อง วินส์ตัน สมิธ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงความจริง รับหน้าที่เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนผู้นำของรัฐ อย่างไรก็ตามสมิธมีความเกลียดชังพรรคอย่างลับๆ และคิดกบฏต่อพี่เบิ้ม
 
 
The hunger games: Mockingjay Part 1เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ
 
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) จัดกิจกรรม "รำกระตั้ว คั่วป๊อบคอร์น นอนดูหนัง" ชิงตั๋วหนังฟรี โดยให้ผู้ร่วมสนุกตอบคำถามว่า “The Capitol ในภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games: Mockingjay Part 1 ภาค 2 เหมือนกับ Bangkok ในประเทศไทยอย่างไรบ้าง?" และจะซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ที่สกล่าแจกให้กับผู้ร่วมกิจกรรม ต่อมาตำรวจได้โทรศัพท์ไปขอความร่วมมือกับโรงภาพยนตร์ไม่ให้ฉาย The hunger game ตามรอบกำหนดเดิมที่ทางกลุ่มได้แจ้งประชาชนไว้ก่อนหน้าและขอให้คืนเงินทั้งหมดให้ทางกลุ่ม
 
แต่กลุ่ม LLTD ยังคงยืนยันที่จะจัดฉายภาพยนตร์ โดยระบุว่า ในวันที่ 20 พ.ย. เวลา 11.30 น. ให้ผู้เข้าร่วมกิจรรมนำเฟซบุ๊คมายืนยัน เพื่อรับตั๋วชมภาพยนตร์ ที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ซอย 1 และนักกิจกรรมได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปดูภาพยนตร์เรื่องเดียวกันที่สยามพารากอนแทน ก่อนจะมีการจับกุมรัฐพล สมาชิกกลุ่ม LLTD ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สกาล่า, “แชมป์” ผู้มาร่วมกิจกรรมที่นำตั๋วหนังมาคืนกลุ่ม LLTD และนัชชชา นักศึกษาที่ชูสามนิ้วหน้างานดังกล่าวไป โดยภายหลังทั้งสามได้รับการตักเตือนและปล่อยตัวออกมา
 
The hunger games: Mockingjay Part 1 ถือเป็นภาคที่สามของภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้ที่เล่าถึงการกดขี่ของ "แคปปิตอล" เมืองหลวงของพาเนมที่มีต่อเขตการปกครองทั้ง 13 เขต เมื่ออดรนทนไม่ไหวเขต 13 จึงก่อกบฏ แต่แคปปิตอลรู้เรื่องดังกล่าวจึงทำลายเขต 13 ทิ้ง หนังภาคนี้เล่าเรื่องต่อจากสองภาคแรกที่แคปปิตอลจัดการแข่งขันเกมล่าชีวิตขึ้น เพื่อย้ำเตือนถึงผลลัพธ์ของการแข็งข้อต่อแคปปิตอล โดยเกมล่าชีวิตนี้มีกฎให้แต่ละเขตต้องสุ่มจับสลากบรรณาการชายหญิงเขตละสองคนมาร่วมการแข่งขันและฆ่ากันจนกว่าจะเหลือคนสุดท้ายถือเป็นผู้ชนะ โดยแคตนิส ตัวเอกของเรื่องได้เสียสละแทนน้องเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ในนามตัวแทนของเขต 12
 
ในหนังเรื่องดังกล่าวสองภาคแรก ชาวเขต 12 ชูสามนิ้วเพื่อแสดงความนับถือต่อแคตนิส ตัวเอกของเรื่อง และเป็นสัญลักษณ์แสดงการต่อต้านการปกครองของแคปปิตอล โดยการชูสามนิ้วเป็นท่าทางที่เก่าแก่และไม่ค่อยใช้กันมากนัก จะพบเจอได้ในพิธีศพ โดยหมายถึงการขอบคุณ การสรรเสริญและการบอกลาต่อบุคคลอันเป็นที่รัก
 
หลังการเข้ายึดอำนาจโดย คสช. มีการจับกุมผู้ชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร จับกุมผู้ถือป้ายกระดาษต่อต้าน คสช. ผู้ชุมนุมจึงนำสัญลักษณ์ "ชูสามนิ้ว" มาใช้แทนการต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. ในแง่นี้การชูสามนิ้วได้ถูกนำไปผนวกกับอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ได้แก่ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ
 
 
White Shadow : สิ่งลี้ลับที่อยู่เหนือความเป็นมนุษย์
 
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาร่วมกับองค์กรแอมเนสตี้ประเทศไทยจัดงานฉายหนังเรื่อง White Shadow ให้นักศึกษาได้รับชม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องประเด็นปัญหาทางสิทธิมนุษยชนที่ภาพยนตร์นำเสนอ โดยเฉพาะปัญหาการล่าคนผิวเผือกในแทนซาเนีย ต่อมา ผศ.ดร.สุขุม วสุนธราโศภิต รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่อนุญาตให้จัดฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเนื่องจากหากมีประเด็นอ่อนไหว และทางมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ

ก่อนหน้านี้ทีมผู้จัดงานได้เดินทางไปยังมณฑลทหารบกที่ 23 ในช่วงเช้าเพื่อแจ้งขออนุญาตจัดงานฉายหนังแล้ว และทหารก็ได้ให้อนุญาตเพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
 
White Shadow ออกสู่สายตาผู้ชมครั้งแรกในปี 2013 เล่าถึง เอเลียส เด็กหนุ่มผิวเผือกชาวแทนซาเนียที่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว โดยอิงกับสถานการณ์จริงที่คนผิวเผือกในแทนซาเนียต้องประสบ นับตั้งแต่ปี 2000 มีคนผิวเผือกในแทนซาเนียไม่น้อยกว่า 75 คน ถูกฆาตกรรมและอีกจำนวนมากต้องทนทุกข์กับการทำร้ายอย่างรุนแรงเนื่องด้วยความเชื่อที่ว่า อวัยวะต่างๆ ของคนผิวเผือกจะสามารถใช้เป็นเครื่องรางของขลังนำพาความโชคดีมาให้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นความรุนแรงต่อคนผิวเผือก ขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ยังบอกเล่าถึงการตีตราทางสังคมต่อคนผิวเผือก สะท้อนผ่านการล้อเลียนเอเลียส ตัวเอกของเรื่อง รวมทั้งยังฉายภาพการต่อรองซื้อขายอวัยวะในตลาดมืด
 
แม้จะมีการสร้างความตระหนักรู้ผ่านหนังและการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการปราบปรามแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ความรุนแรงต่อคนผิวเผือกในแทนซาเนียไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ในปี 2014 คนผิวเผือกไม่น้อยกว่า 5 คนต้องถูกทำร้ายเป็นผลจากสีผิวที่ผิดปกติของพวกเขา เด็กหญิงผิวเผือกวัยสี่ขวบถูกลักพาตัวและยังคงไม่พบตัว และเด็กทารกถูกพรากไปจากอกแม่ หายไปก่อนที่หลายวันต่อมาจะพบร่างขาดวิ่นทิ้งอยู่ ขณะที่ในปัจจุบันคนผิวเผือกในแทนซาเนียยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
 
 
ดาวคะนอง : อดีตที่ไม่อยากให้จำ
 
วันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่ Warehouse30 ถนนเจริญกรุง Documentary Club กำหนดจัดกิจกรรมฉายหนัง ดาวคะนอง + Talk วิเคราะห์เจาะลึก แต่เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมทั้งการฉายหนังและพูดคุยหลังฉายให้เหตุผลว่า ได้รับความเห็นจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายว่าเนื้อหาของหนังมีความสุ่มเสี่ยง และไม่แฮปปี้ที่จะให้จัดฉายหนังเรื่องดังกล่าว
โดยผลงานจากผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของผู้คนหลากหลายที่ได้มาเกี่ยวข้องกัน เช่น นักศึกษาหญิงในเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้ดาวคะนองต้องการบอกเล่าเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์โดยมวลชนฝ่ายขวาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ก็ไม่ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ดังกล่าวให้เห็นตรงๆ ด้วยเลือกที่จะแสดงผ่านเรื่องราวของคนที่พยายามสร้างหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แทน
 
ขณะเดียวกันดาวคะนองยังแสดงให้เห็นผลกระทบในปัจจุบันของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งเต็มไปด้วยความคลุมเครือ พร่าเลือน และถูกซ่อนเร้นมาตลอด ยิ่งกับผลกระทบต่อผู้คนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นเอง และผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง ในการจดจำภาพประวัติศาสตร์ ก่อนหน้านี้ดาวคะนอง (By the Time It Gets Dark) ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าชิงรางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ ปี 2560
 
 
Joshua: Teenager vs Superpower : พลังของคนรุ่นใหม่
 
วันที่ 18 สิงหาคม 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีนัดจัดกิจกรรมฉายหนังเรื่อง Joshua: Teenager vs Superpower ที่ G village ลาดพร้าวซอย 18 ก่อนหน้าวันจัดฉายหนัง ทีมงานแอมเนสตี้ ได้รับการติดต่อจากตำรวจสันติบาล และได้เข้าพบพล.ต.ท.สราวุฒิ การพาณิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อพูดคุยด้วย โดยตำรวจแสดงความกังวลในสองประเด็น คือ ประเด็นแรกหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับโจชัว หว่อง จะทำให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน ประเด็นที่สอง คือ เรื่องข้อกฎหมายของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดว่า การฉายหนังทุกเรื่อง
ต้องผ่านการอนุญาตจากกระทรวงวัฒนธรรมก่อน
 
หลังจากพูดคุยทีมงานแอมเนสตี้ได้ติดต่อไปยังกลุ่มภาพยนต์และวีดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการขออนุญาตฉายภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่แจ้งปากเปล่าว่า ฉายได้ เป็นเรื่องปกติที่คนทำกันเพราะหากจะขออนุญาตจะใช้เวลานานและไม่ทันการ ต่อจากนั้นได้โอนสายไปยังกลุ่มนิติการ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่สามารถฉายได้ต้องขออนุญาตก่อน หากฉายจะถูกปรับ 200,000 - 1,000,000 บาท แอมเนสตี้ฯ จึงยุติการฉายหนังเรื่องดังกล่าว
 
Joshua: Teenager vs Superpower ซึ่งเป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ "โจชัว หว่อง" นักกิจกรรมรุ่นใหม่ของฮ่องกงที่เริ่มชีวิตนนักกิจกรรมตั้งแต่อายุ 14 ปี จากการออกมาคัดค้านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของรัฐบาลจีน (National Education) ต่อมาก็เข้าร่วมขบวนการประท้วงเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงออคคิวพาย เซนทรัลหรือการปฏิวัติร่มที่ฮ่องกงในปี 2014 เป็นการแสดงความไม่พอใจของชาวฮ่องกงที่มีต่อการปกครองของจีน ภายใต้กติกาที่ชาวฮ่องกงมีสิทธิเลือกตั้งผู้ปกครอง แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกคนจะต้องผ่านการคัดเลือกโดยพรรคคอมมิวนิสต์จากปักกิ่งมาก่อน
 
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีสัญลักษณ์ คือ ร่ม ที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นเกราะป้องกันจากแก๊ซน้ำตา และ สเปรย์พริกไทยของตำรวจ  มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนน กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะกดดันรัฐบาลปักกิ่งและเชิญชวนผู้คนเข้ามาร่วมชุมนุมผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้จีนต้องบล็อคเว็บไซต์และคำค้นหาที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้การชุมนุมลุกลามไปยังจีนแผ่นดินใหญ่  ในตอนนั้นทางการจีนเองประกาศว่า จะไม่ยกเลิกแนวทางการเลือกตั้งและอ้างว่า แนวทางดังกล่าวจะสร้างความมั่นคงให้แก่ฮ่องกงในระยะยาว ทั้งพยายามที่จะทำให้การประท้วงครั้งนี้เป็นเรื่องภายในประเทศเท่านั้น ไม่เปิดทางให้มีฝ่ายที่สามเข้ามาพูดคุย  ในส่วนของผู้ชุมนุมนั้นก็รู้ดีว่า ไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลจีนได้ แต่ยังคงชุมนุมต่อไป เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและกดดันให้ทางการเข้ามาเจรจา การปฏิวัติร่มถือเป็นการสั่นสะเทือนรัฐบาลปักกิ่งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสองทศวรรษ