1296 1417 1728 1610 2000 1985 1057 1088 1068 1913 1862 1117 1690 1955 1617 1570 1619 1283 1087 1428 1868 1445 1912 1956 1531 1318 1044 1650 1363 1034 1921 1894 1592 1887 1070 1766 1728 1864 1746 1620 1687 1669 1373 1465 1924 1717 1104 1384 1787 1376 1586 1796 1353 1953 1478 1375 1510 1897 1362 1621 1863 1129 1949 1664 1784 1593 1180 1683 1046 1633 1208 1690 1050 1602 1950 1698 1561 1779 1340 1245 1481 1493 1225 1195 1811 1797 1836 1738 1074 1299 1563 1835 1825 1634 1055 1289 1716 1197 1958 7 เรื่องต้องรู้ก่อนฟังคำพิพากษา คดีเทใจให้เทพา | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

7 เรื่องต้องรู้ก่อนฟังคำพิพากษา คดีเทใจให้เทพา

 
วันที่ 27 ธันวาคม 2561 ศาลจังหวัดสงขลานัดฟังคำพิพากษาคดี "เทใจให้เทพา" ซึ่งเป็นคดีที่ชาวบ้านอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทำกิจกรรมเดินเท้าจากอำเภอเทพาจังหวัดสงขลาไปที่อำเภอเมืองเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อำเภอเทพา จนเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข้อหาต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ 
 
 
เบื้องต้นกิจกรรม "เทใจให้เทพา" มีกำหนดระยะเวลา 4 วัน โดยชาวบ้านจะเริ่มเดินเท้าออกจากอำเภอเทพาในวันที่ 24 พฤศจิกายน และจะยื่นหนังหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 โดยการเดินดังกล่าวนอกจากจะเป็นการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีแล้วยังเป็นการสื่อสารประเด็นปัญหาต่อสาธารณะด้วย อย่างไรก็ตามในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างที่ชาวบ้านเดินถึงเขตอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวชาวบ้าน 16 คน ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับชาวบ้านอีกหนึ่งคน รวมเป็น 17 คน
 
 
ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานคดีนี้ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 ตุลาคม 2561 จากที่ไอลอว์ติดตามการสืบพยานโจทก์และจำเลยมาโดยตลอด จึงสามารถสรุปข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์และพูดคุยกับจำเลยและชาวบ้านเทพาได้ 7 ประเด็นดังนี้
 
 
1.      ชาวบ้านเทใจให้เทพาถูกดำเนินคดีข้อหาอะไร?
 
 
วันที่ 12 มกราคม 2561 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลามีความเห็นสั่งฟ้องชาวบ้าน 17 คน โดยมีข้อกล่าวหาแตกต่างกันในรายละเอียดดังนี้
 
 
หนึ่ง เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ร่วมกันไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสงขลา ผู้รับแจ้งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดคือไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มการชุมนุม และไม่แจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาก่อนเริ่มการชุมนุม
 
 
สอง จำเลยทั้ง 17 คนพกพาไม้ยาวประมาณหนึ่งเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาวสองเซนติเมตรจำนวนหลายด้าม  ซึ่งติดธงแผ่นผ้าและมีปลายแหลม ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ซึ่งไม้ดังกล่าวจำเลยได้ใช้และเจตนาจะใช้ทำร้ายร่างกายให้เป็นอันตราย
 
 
สาม  เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางอย่างเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะและดูแลรับผิดชอบผู้ร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และจำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ช่องทางการจราจรบนถนนสายสงขลา-นาทวีและพกพาอาวุธตามข้อสองเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งขัดขวางหรือกระทำการที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
สี่ จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันปิดถนนสายสงขลา-นาทวีด้วยการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมล้ำไปในช่องทางการจราจร มีการนั่ง นอนลงบนถนนสายดังกล่าวที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานการจราจร
 
 
ห้า จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ
 
 
2.      ใครทำร้ายตำรวจ?
 
 
ตามคำฟ้อง อัยการกล่าวหาว่า จำเลยทั้ง 17 คน ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ ส่งผลให้ตำรวจที่ทำหน้าที่ในกองร้อยควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 คน ในลักษณะเช่น เลือดกำเดาไหล มีบาดแผลฟกช้ำ ดังนี้
 
 
‘ตำรวจ 1’: “จมูกเลือดกำเดาไหล จมูกผิดรูปแต่รักษาหายเอง แพทย์ให้ยามารับประทานต่อที่บ้าน”
 
 
‘ตำรวจ 2’: “แพทย์ลงความเห็นว่า บาดแผลฟกช้ำ รักษาหายภายใน 3 วัน”
 
 
‘ตำรวจ 3’: “ระหว่างปะทะกับผู้ชุมนุมมีวัตถุฟาดเข้ามาที่มือของเขาแต่ไม่เห็นว่า วัตถุนั้นคืออะไรและใครเป็นผู้กระทำ มีเพียงรอยช้ำที่ปรากฎบนมือข้างขวา กว้าง 1 ซ.ม. ยาว 3 ซ.ม. ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่า ใช้เวลารักษา 3 วันจึงจะหาย”
 
 
‘ตำรวจ 4’: “ถูกไม้คล้ายกับคันธงฟาดมาจากด้านหน้าและยังถูกวัตถุบางอย่างที่เข้าที่หน้ามือด้านขวา ทำให้ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร”
 
 
ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดไม่สามารถจำหน้าผู้กระทำได้ ขณะที่พยานโจทก์ในปากอื่นๆก็ไม่สามารถระบุได้ว่า จำเลยคนใดเป็นผู้กระทำ
 
 
3.      ผู้ชุมนุมอายุ 16 ปีก็ถูกทำร้ายเช่นกัน
 
 
ระหว่างการปะทะกัน ไม่เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ แต่มีผู้ชุมนุมที่ต่อมาตกเป็นจำเลยในคดีนี้ได้รับบาดเจ็บด้วย คือ ฮานาฟี จำเลยที่ 17 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุเพียง 16 ปี ในชั้นศาลฮานาฟีให้การว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาร่วมเดินกับขบวนไปจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาซึ่งเป็นจุดที่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจตอนนั้นตัวเขาอยู่ด้านหน้าสุด ฮานาฟียืนยันต่อศาลขณะเกิดเหตุเขาไม่ได้ถือไม้พลองหรืออุปกรณ์ใดในมือเลย ระหว่างการปะทะฮานาฟีถูกบุคคลลากไปที่หลังกระบะและมีการทำร้ายร่างกาย และระหว่างนั้นก็มีเสียงตะโกนว่าให้จับฮานาฟีขึ้นรถตู้ แต่ฮานาฟีไม่ยอมและตะโกนเรียกให้ชาวบ้านมาช่วยจึงสามารถหลุดออกจากการควบคุมตัวได้
 
 
ปากคำของฮานาฟีสอดคล้องกับคำให้การของสมบูรณ์ จำเลยที่ 6 ซึ่งระบุว่า ระหว่างการปะทะกันที่ด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีเสียงตะโกนมาว่า มีชาวบ้านถูกทำร้าย สมบูรณ์จึงวิ่งเข้าไปดู พบว่า เป็นฮานาฟีกำลังถูกบุคคลรุมทำร้าย สมบูรณ์และพวกจึงเข้าไปช่วยลากฮานาฟีออกมา มีการยื้อหยุดจนกระทั่งเสื้อขาด และคำให้การของดิเรก ผู้เป็นอาของฮานาฟีที่ระบุว่า หลังเกิดเหตุฮานาฟีเล่าให้ดิเรกฟังว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แต่ดิเรกไม่ได้ขอดูบาดแผล เพียงแต่บอกว่า ให้ไปพบแพทย์ โดยจำได้ว่า หลังถูกทำร้ายฮานาฟีมีลักษณะซึมลง
 
 
ในตอนที่ถูกควบคุมตัว ฮานาฟีถูกนำตัวไปขังรวมกับจำเลยผู้ใหญ่รายอื่นๆ ตำรวจไม่ได้ถามว่า ฮานาฟีอายุเท่าไหร่ โดยสถานการณ์ตอนนั้นฮานาฟีหวาดกลัว จนทำให้ไม่กล้าจะไปบอกเจ้าหน้าที่ว่า ตัวเองอายุ 16 ปี  ตอนที่เจ้าหน้าทำบันทึกการจับกุม เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ถามว่า ฮานาฟีอายุเท่าไหร่  และเจ้าหน้าที่มาทราบว่า ฮานาฟีอายุ 16 ปี ตอนที่แยกทำการสอบสวนรายคน อย่างไรก็ตามหลังจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวฮานาฟี เขาไม่ได้ไปร้องทุกข์ต่อตำรวจไว้ เนื่องจากยังรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
 
4.      กระบวนการสอบสวนไม่รัดกุม?
 
 
ต่อเนื่องจากประเด็นผู้ชุมนุมทำร้ายตำรวจ ในบันทึกคำให้การของตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บพบว่า ไม่ตรงกับคำเบิกความในชั้นศาล ‘ตำรวจ 2’ ระบุว่า ไม่ถูกชก  แต่เหตุที่พนักงานสอบสวนระบุว่า บาดแผลของเขาเกิดจากการชก อาจเป็นความเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวนเองซึ่งเป็นการเข้าใจตามที่ ‘ตำรวจ 1’ ได้ให้การในลักษณะดังกล่าวไปก่อนหน้านั้น ขณะที่  ‘ตำรวจ 3’  ที่ถูกวัตถุฟาดที่มือก็ไม่ทราบว่า เหตุใดในบันทึกคำให้การของพนักงานสอบสวนจึงเขียนว่า บาดแผลของเขาเกิดจากการถูกชก
 
 
นอกจากนี้ยังปรากฏกรณีของอานัส จำเลยที่ 15 ซึ่งมาร่วมชุมนุมในช่วงประมาณ 12.00 น.ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 หรือวันที่เป็นเหตุในคดีนี้ ในวันดังกล่าวเขาไว้ผมสั้นและสวมเสื้อยืดแขนสั้นสีครีม แต่ภาพถ่ายซึ่งเป็นหลักฐานที่อัยการนำส่งศาลและระบุว่าเป็นภาพของอานัส กลับเป็นภาพของบุคคลร่างสันทัดและผมยาวระต้นคอ อานัสระบุว่าตอนนั้นผมของเขาสั้นเกรียนต่างจากในภาพ อานัสยังระบุด้วยว่าบุคคลในภาพเป็นผู้หญิงและเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
 
 
5.      ศาลไม่มีการออกหมายเรียกไต่สวนการชุมนุม
 
 
ปี 2560  ชาวบ้านกลุ่มนี้บางส่วนเคยเดินเท้าไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราครั้งที่หนึ่ง  ครั้งนั้นชาวบ้านเดินเท้าไปเป็นเวลาห้าวันโดยหวังให้เป็นการรณรงค์สาธารณะเช่นเดียวกับกรณีเดินเทใจให้เทพา ในครั้งนั้นไม่มีการแจ้งการชุมนุมหรือขออนุญาตใดๆแต่ก็ไม่มีคดีความ โดยครั้งนั้นในแต่ละวันจะมีคนมาร่วมเดิน 15-20 คน ยกเว้นวันสุดท้ายที่มีคนมาร่วมเดินประมาณ 100 คน โดยที่ไม่มีการคุกคามใดๆจากเจ้าหน้าที่ เมื่อชาวบ้านจัดการเดินเทใจให้เทพาจึงไม่ได้ขออนุญาตหรือแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เพราะชาวบ้านคิดว่าไม่เข้าข่ายการชุมนุมเนื่องจากรูปแบบกิจกรรมเป็นแบบเดียวกับการเดินที่ปากบารา อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ตำรวจกลับบอกให้ผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุม ชาวบ้านจึงยื่นผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมเพราะขณะเหลือเวลาก่อนการชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดให้แจ้งการชุมนุมแล้ว แม้จะมีการเข้ามาแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านยังคงยืนยันที่จะเดินเท้าไปพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ต่อไป เพราะเห็นว่า เป็นโอกาสดีในการบอกเล่าปัญหาของพวกเขาให้แก่ผู้นำประเทศโดยตรง
 
 
เมื่อชาวบ้านไม่ยินยอมยุติการชุมนุม ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมเพื่อขอให้ออกคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะ ตามปกติแล้วหากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะไปยื่นร้องต่อศาล ตำรวจจะนำหมายศาลมาติดไว้บริเวณที่มีการชุมนุมให้ผู้ชุมนุมรับทราบ แต่ครั้งนี้มีเพียงการบอกกล่าวปากเปล่าเท่านั้น พ.ต.ท.เกียรติพงษ์ ระดมสุข ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมือง จังหวัดสงขลา ฝ่ายป้องกันและปราบปราม เป็นผู้แจ้งต่อเอกชัย จำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุ ว่า
 
 
“…ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง เวลาประมาณ 12.00 น. เมื่อการพูดคุยเกือบเสร็จสิ้นแล้ว พ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ประจันตะเสน[ผู้ร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาให้ไต่สวนการชุมนุม]ได้ติดต่อมาทางโทรศัพท์และสั่งการให้ไปบอกต่อเอกชัยว่า ขณะนี้มีการไต่สวนการชุมนุมที่ศาลจังหวัดสงขลาให้เอกชัยไปเข้าร่วม เอกชัยยินยอมจึงเดินทางไปพร้อมกับพ.ต.ท.เกียรติพงษ์ โดยเอกชัยนั่งด้านหลัง ระหว่างทางมีโทรศัพท์เข้ามาหาเอกชัย จากนั้นเอกชัยบอกว่า มีการตั้งกำลังตำรวจด้านหน้า  ขอลงไปพุดคุยกับผู้ชุมนุม….สักพักหนึ่งเอกชัยจึงบอกว่า ไม่เดินทางไปที่ศาลด้วยแล้ว…”
 
 
ด้านเอกชัย จำเลยที่ 1 กล่าวว่า หลังจากที่เขาร่วมพูดคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, นายอำเภอและพ.ต.ท. เกียรติพงษ์ แล้ว พ.ต.ท. เกียรติพงษ์ได้มาบอกกับเขาอย่างไม่เป็นทางการว่า ตำรวจไปขอศาลให้สั่งยุติการชุมนุม ศาลจะมีการพิจารณาในช่วง 13.30 ให้เอกชัยไปที่ศาล เมื่อเขาได้ยินดังนั้นจึงตอบรับและขึ้นรถยนต์ไปพร้อมกับพ.ต.ท.เกียรติพงษ์ แต่เมื่อขึ้นรถยนต์ไป เอกชัยรู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดจึงไม่มีหมายศาลอย่างเป็นทางการ ประกอบกับเมื่อผ่านบริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาเห็นว่า ตำรวจมีการตั้งด่านสกัดผู้ชุมนุม ทำให้คิดว่า อาจจะเป็นแผนการที่จะดึงเอกชัยออกจากที่ชุมนุม จึงตัดสินใจลงจากรถยนต์กลับไปหาผู้ชุมนุมแทน โดยหลังจากนั้นไม่ปรากฏเจ้าหน้าที่รายใดมาแจ้งเอกชัยย้ำอีกครั้งถึงเรื่องการไปศาล
 
 
6.      ความยุ่งยากในการใช้ชีวิตและขบวนการต่อสู้
 
 
จำเลยส่วนใหญ่ในคดีนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาซึ่งไกลจากศาลจังหวัดสงขลาประมาณ 80 กิโลเมตร จำเลยกล่าวสอดคล้องกันว่า การถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิต ต้องเจียดเวลาในการทำมาหาเลี้ยงชีพในการเดินทางมาศาล
 
 
ปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 2: “...เสียเวลาไม่ได้ทำมาหากิน เดือนหนึ่งต้องไปศาลไม่ต่ำกว่าสิบวัน ดีที่ว่า คดีนี้มีคณาจารย์ใช้ตำแหน่งช่วยในการประกันตัว ไม่เช่นนั้นคงต้องเอาโฉนดที่ดินของพ่อแม่มาประกันตัวก็จะยากลำบากไปอีก...”
 
 
รุ่งเรือง จำเลยที่ 3 : “...การดำเนินคดีในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเนื่องจากต้องเดินทางมาศาลไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ส่วนวันนี้ก็ไปออกเรือหาปลาในช่วงกลางคืนและต้องรีบมาที่ศาลทันทีจึงยังไม่ได้พักผ่อน...”
 
 
อิสดาเรส จำเลยที่ 5 :  “...คดีนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงาน แต่ละครั้งต้องลางานมาศาล กลัวว่า จะถูกถอดถอน[ออกจากตำแหน่ง]หรือเรียกเงินเดือนคืน...”
 
 
ในส่วนของความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เอกชัย จำเลยที่ 1 มองว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯผลักภาระของการชุมนุมไปที่ผู้จัดการชุมนุม คนที่จะเข้ามาในการชุมนุม พอเจอข้อกำหนดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้ไม่มีใครอยากมาเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งข้อกำหนดหลายข้อในพ.ร.บ.ชุมนุมฯก็ไม่เอื้อต่อการชุมนุมและเพิ่มต้นทุนการจัดการชุมนุม ขณะที่สมบูรณ์ จำเลยที่ 6 มองว่า การบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯของรัฐสร้างภาพของความกลัวให้แก่กลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาสู้ เมื่อติดเงื่อนไขของการชุมนุมที่ต้องไปแจ้งก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก็สร้างความลำบากให้แก่ผู้ชุมนุม นอกจากนี้ชาวบ้านไม่รู้รายละเอียดของกฎหมาย เมื่อลุกออกมาต่อสู้แล้วมีคดีความมันสร้างความปั่นป่วนในขบวนการต่อสู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
 
7.      คดีเทใจให้เทพา ภาคสอง
 
 
8 พฤศจิกายน 2561 พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีมีคำสั่งฟ้อง เอกชัย, ดิเรก, อัยโยบ, หมิด และ รอกีเยาะ ในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในข้อหาจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มการชุมนุม และข้อหาเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซี่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะ เหตุเกิดในท้องที่อำเภอเทพา โดยในชั้นสอบสวนทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา