1249 1116 1641 1511 1871 1709 1260 1207 1653 1377 1226 1950 1758 1622 1102 1888 1239 1674 1030 1255 1434 1064 1493 1812 1142 1217 1656 1450 1853 1567 1578 1307 1458 1698 1165 1389 1917 1295 1726 1556 1295 1236 1940 1364 1759 1748 1385 1152 1035 1331 1804 1801 1175 1129 1201 1769 1458 1447 1692 1191 1742 1786 1995 1971 1789 1230 1022 1312 1125 1097 1127 1824 1871 1985 1082 1012 1115 1952 1738 1139 1223 1118 1400 1443 1873 1854 1407 1586 1949 1841 1746 1855 1653 1971 1727 1917 1480 1195 1466 ส่องเกมสกัดดาวรุ่งก่อนเลือกตั้ง: ปัดฝุ่นคดีเก่า ไล่ฟ้องคดีใหม่ ใช้ข้อหาการเมืองกับขั้วตรงข้าม | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ส่องเกมสกัดดาวรุ่งก่อนเลือกตั้ง: ปัดฝุ่นคดีเก่า ไล่ฟ้องคดีใหม่ ใช้ข้อหาการเมืองกับขั้วตรงข้าม

 

 

การกล่าวหาคดีเหล่านักการเมือง หรือเขียนกฎหมายจำกัดเสรีภาพที่บ่อยครั้งมักใช้จัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในรัฐเผด็จการอำนาจนิยม ผู้มีอำนาจอาจบอกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยทั่วไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีความเหล่านั้นส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของนักการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาล  ทั้งอาจทำให้เกมการเมืองเปลี่ยนไปด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดมันส่งผลต่อบรรยากาศเสรีภาพการแสดงออก ที่ถูกลดทอนไปในประเทศนั้นๆ รายงานชิ้นนี้จะชวนลองดูกลยุทธ์สกัดดาวรุ่งหรือนักการเมืองฝ่ายค้านของประเทศต่างๆว่า มีการใช้วิธีแบบใดบ้าง
 


รัสเซีย : ยัดคดีคอร์รัปชั่น จับแคนดิเดตฝ่ายค้านขังคุก

 

ปี 2561 รัสเซียจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีสามสมัยลงสมัครชิงตำแหน่งนี้อีกครั้ง ย้อนไปก่อนหน้าระหว่างปี 2543-2551 ปูติน เคยดำรงตำแหน่งแล้วสองสมัยติด ก่อนที่ในปี 2551-2555 จะเว้นว่างหนึ่งสมัยและให้คนสนิทอย่างดมิทรี เมดเวเดฟลงชิงชัยและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนก่อนจะกลับลงสมัครอีกครั้งในปี 2555 และคว้าคะแนนเสียงนำคู่แข่งไปอย่างขาดลอย ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2561  ปูตินขอรักษาตำแหน่งอีกครั้ง

 

แต่ไม่ง่าย เพราะตั้งแต่ปี 2555 เมื่อครั้งที่ปูตินกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีก็มีข้อครหาถึงความโปร่งใส่ของการเลือกตั้งประธานาธิบดี และมีผู้ประท้วงต่อต้านปูตินจำนวนมาก ที่โด่งดังที่สุดคือการประท้วงของพุชชี ไรออท (Pussy Riot) ที่ท้ายสุดจบลงที่สมาชิกพุชชี ไรออทต้องจำคุก รวมทั้งฝ่ายค้านสายแข็งอย่าง อเล็กเซ นาวาลนี  ทนายความและนักกิจกรรมทางการเมือง นาวาลนี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อว่า เดอะ พีเพิ้ล (The People) และโด่งดังในฐานะผู้เกาะติดและวิพากษ์วิจารณ์การคอร์รัปชั่นในรัฐบาลปูตินอย่างดุดันมาตลอด หนึ่งในนั้นคือ การเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของเมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดี
 

1023

 

และแล้วเมื่อปี 2559 นาวาลนีประกาศว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี 2561 สื่อมวลชนต่างมองว่า เขาเป็นคู่แข่งของปูตินที่เข้มแข็งที่สุด แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปในปี 2560  ศาลรัสเซียตัดสินว่า นาวาลนีมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์จากบริษัทป่าไม้ของรัฐในปี 2556 ตัดสินจำคุกห้าปีและให้รอการกำหนดโทษไว้ และปรับ 500,000 รูเบิ้ล เขาเชื่อว่า คดีนี้มีแรงจูงใจทางการเมือง

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2556 เขาถูกพิพากษาในคดีเดียวกันนี้ว่า มีความผิดจากการยักยอกทรัพย์แล้ว แต่ท้ายที่สุดคดีดังกล่าวถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งโดยศาลสูงของรัสเซียหลังจากที่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European court of human rights : ECHR) พบว่า การดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนแห่งการพิจารณาคดี โดยทนายความของนาวาลนีกล่าวว่า คำพิพากษาของศาลสูงรัสเซียไม่ได้ตอบข้อสงสัยของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และยังให้น้ำหนักตามหลักฐานเดิมในการพิจารณาคดีของศาลในปี 2556

 

คำพิพากษานี้ส่งผลให้อนาคตทางการเมืองของนาวาลนีไม่ชัดเจนไปด้วย เพราะกติกาการเลือกตั้งของรัสเซียผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องไม่เคยมีความผิดที่มีโทษจำคุกมาก่อน ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของรัสเซียประกาศว่า นาวาลนี ขาดคุณสมบัติในการลงเลือกตั้งจากความผิดดังกล่าว ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของรัสเซียกล่าวว่า การประกาศว่า นาวาลนีขาดคุณสมบัติเป็นการตีความใช้กฎหมายอย่างเรียบง่าย โดยคณะกรรมการ 12 จาก 13 คนออกเสียงเห็นร่วมว่า นาวาลนีขาดคุณสมบัติ อีกหนึ่งคนไม่ออกเสียง อ้างเหตุขัดกันแห่งผลประโยชน์

 

ด้านนาวาลนีชี้ว่า การสกัดไม่ให้เขาลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ ทำให้เหลือเพียงปูตินและผู้สมัครที่เขาเลือกไว้ส่วนตัวที่จะไม่สามารถส่งผลกระทบต่อปูตินได้ นอกจากคดีนี้แล้วนาวาลนียังถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมอีกหลายครั้ง เช่น ในปี 2561 เขาถูกกล่าวหาในคดีการจัดการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลตัดสินจำคุก 30 วัน และคดีการจัดการชุมนุมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายของบุคคล ศาลตัดสินจำคุก 20 วัน โดยช่วงที่เขาถูกจำคุกมักจะเป็นช่วงที่เขาวางแผนจะนำการชุมนุมค้านรัฐบาลครั้งสำคัญ

 

ท้ายที่สุดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2561 เป็นฝ่ายปูตินที่คว้าชัยไปได้ โดยได้รับคะแนนเสียงที่ร้อยละ 76.69 จากจำนวนประชาชนผู้มาออกเสียงทั้งหมดกว่า 70 ล้านคน


กัมพูชา : เขียนกฎหมายใหม่ ใช้คดีปิดปาก-ยุบพรรคฝ่ายค้าน


 

ปี 2561 กัมพูชาจัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยฮุน เซน วัย 66 ปี นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party : CPP) ซึ่งครองอำนาจมากว่าสามทศวรรษ วางแผนจะกลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งตามที่เขาเคยบอกไว้ว่า จะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะอายุ 74 ปี ขณะที่พรรคสงเคราะห์ชาติ ( Cambodia National Rescue Party : CNRP) ถูกมองว่า เป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคประชาชนกัมพูชา และคาดการณ์กันว่า ปี 2561 เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของพรรคสงเคราะห์ชาติในการโค่นฮุน เซน

 

ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2556 พรรคของฮุน เซนคว้าที่นั่งไป 68 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสงเคราะห์ชาติได้ไป 55 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ฝ่ายหลังกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และคว่ำบาตรไม่เข้าสภา จนกว่าจะปฏิรูปการเลือกตั้ง นำไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในวงกว้าง หลังมีการประท้วงพรรคประชาชนกัมพูชาและพรรคสงเคราะห์ชาติได้ต่อรองกัน จนกระทั่งพรรคสงเคราะห์ชาติยอมรับตำแหน่งฝ่ายค้านในสภา

1024

 

สถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ในปี 2558 สม รังสี หัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติ กลับถูกปลดจากสมาชิกสภากัมพูชา และถูกฟ้องคดีอาญาหลายคดี เช่น คดีที่ ฮอง ซก ฮา  โพสต์เอกสารที่อ้างว่า เป็นสนธิสัญญาพรมแดนกัมพูชาและเวียดนามลงบนเฟซบุ๊กของเขา ทำให้ต้องถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการ และคดีที่สม รังสี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของเขากล่าวถึงระบอบในปี 1970 ที่ใช้ศาลลงโทษกษัตริย์สีหนุจนถึงแก่ความตายในที่สุด ทำให้เฮง สัมริน ฟ้องเขาในความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากเฮง สัมรินเป็นผู้นำประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว  ทั้งในช่วงปลายปี 2559 รัฐบาลฮุน เซน เสนอร่างกฎหมายใหม่หลายฉบับที่มีผลต่อเสรีภาพทางการเมือง โดยสองฉบับที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ

 

หนึ่ง กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เดือนธันวาคม 2560 ซอ เค็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเพื่อบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการห้ามดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลกัมพูชามีมติผ่านกฎหมายเอกฉันท์เป็นบทบัญญัติมาตราหนึ่งในกฎหมายกัมพูชา มีสาระสำคัญว่า  ผู้พูด แสดงท่าทาง ข้อเขียน รูปภาพ หรือกระทำการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นในลักษณะที่กระทบต่อพระมหากษัตริย์กัมพูชา มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี นอกจากนี้หน่วยงานหรือองค์กรสื่อที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อเนื้อหาดังกล่าวยังต้องรับโทษปรับตั้งแต่ 2,500 ถึง 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงอาจถูกริบทรัพย์สินหรือถูกปิดองค์กรด้วย

 

โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2560 หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมก็มีการจับกุมผู้ต้องหาคนแรกเป็นครูวัย 50 ปี จากจังหวัดกัมปงธม จากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กกล่าวหากษัตริย์กัมพูชาและสมาชิกราชวงศ์ว่าสมคบคิดกับรัฐบาลในการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ  เดือนมิถุนายน 2560 ศาลแขวงพนมเปญออกหมายเรียกสม รังสี เพื่อมาให้ปากคำต่ออัยการในความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์สีหนุจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ซึ่งขณะเกิดเหตุสม รังสี ลี้ภัยทางการเมืองไปฝรั่งเศสแล้ว

 

สอง กฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้กระทำความผิดในคดีอาญาเป็นผู้นำพรรคการเมือง ซึ่งจะมีโทษถึงยุบพรรคการเมือง ส่งผลให้สม รังสีประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวส่งผลต่อสถานะพรรคสงเคราะห์ชาติ และมีผลวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 หลังจากนั้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 กฎหมายดังกล่าวก็บังคับใช้ หลังสม รังสี ลาออกจากหัวหน้าพรรคและลี้ภัยทางการเมืองไปฝรั่งเศส กึม สุขขา เข้ารับตำแหน่งแทน แต่ในเดือนกันยายน 2560 กึม สุขขาถูกจับกุมในข้อหากบฏ สมคบคิดกับต่างชาติ เขาถูกคุมขังและไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

 

ต่อมารัฐบาลฮุน เซน ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติที่ถูกรัฐบาลกล่าวหาว่า วางแผนจะขึ้นสู่อำนาจด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ตัดสิทธิทางการเมืองของสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ 118 คนเป็นเวลาห้าปี ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองรายสำคัญที่สั่นคลอนอำนาจฮุน เซน การยุบพรรคฝ่ายค้านในช่วงก่อนการเลือกตั้งไม่ถึงปี นำไปสู่คำถามความเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง แต่ฮุน เซน ยืนยันว่า การเลือกตั้งยังคงดำเนินต่อไป ‘เหมือนปกติ’ ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกาจากพรรครีพับริกันมองว่า การยุบพรรคฝ่ายค้านสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีทางเลยที่การเลือกตั้งปี 2561 ของกัมพูชาจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

หลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น กึม สุขขา ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในเดือนกันยายน 2561 โดยเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราวคือ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานในพรรคฝ่ายค้านหรือชาวต่างชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อหากบฏ นอกจากการปราบปรามฝ่ายค้านแล้ว รัฐบาลฮุนเซนยังดำเนินการปิดสื่ออย่าง The Cambodia Daily ที่เป็นเสี้ยนหนามตำใจผ่านการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังและบล็อคเว็บไซต์ข่าวหลายสำนักในช่วงการเลือกตั้ง

 

ผลการเลือกตั้งทั่วไป 2561 พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซนคว้าชัยไปได้ โดยได้รับคะแนนเสียงที่ร้อยละ 76.85 จากจำนวนประชาชนผู้มาออกเสียงทั้งหมดเกือบ 7 ล้านคน กวาดที่นั่งในสภาได้ทั้งหมด 125 ที่นั่ง

 

ไทย : ปัดฝุ่นคดีเก่า-ไล่ฟ้องคดีใหม่ฝ่ายค้านคสช.

 

ปี 2562 ไทยเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบแปดปี   เพื่อคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 ที่นั่ง เป็นการเลือกตั้งภายใต้การจัดการของรัฐบาลคสช. ที่เข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหารตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557  หลังการเลือกตั้งหลายฝ่ายทำนายว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง อาจด้วยวิธีการเสนอชื่อของพรรคหนุนคสช. อย่างพรรคพลังประชารัฐของสี่รัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. และพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.  หรือการเข้ามาในฐานะนายกรัฐมนตรีคนนอกตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การเลือกตั้ง 2562 นี้ พรรคหนุนคสช. มีคู่แข่งจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่ประกาศจะไม่เลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยเด็ดขาด อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่และพรรคไทยรักษาชาติ

 

ถึงวันนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ชัดเจนมาตลอดกว่าสี่ปีที่ผ่านมาคือ คสช. หรือฟันเฟืองของคสช.ได้กล่าวหาคดีอาญาต่อนักการเมืองฝ่ายต้องข้ามหลายคดี เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ในคดีไม่ไปรายงานตัวตามประกาศคสช.ที่ 41/2557 และคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  , บูญเลิศ บูรณูปกรณ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพวก ในคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.ประชามติฯ  และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และพวกรวม 3 คน ในคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการวิจารณ์เรื่องการดูดส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ

 

1025
 

รวมทั้งกรณีล่าสุด ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมตรวจสอบชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้มีรายชื่อจะเป็นแคนดิเดตเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ผู้ซึ่งเป็นแคนดิเดตที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ในเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2548-2553 โดยชัชชาติ ระบุว่า ส่งรายละเอียดชี้แจงเรื่องการเยียวยาม็อบเมื่อสองปีที่แล้ว กรณีนี้ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่า เหตุใดถึงหยิบยกคดีที่ ‘ดอง’ ไว้มาดำเนินการในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่า รัฐกำลังใช้อำนาจเข้าไปคุกคามฝ่ายการเมืองที่มีความเห็นต่าง ด้าน พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบชัชชาติเป็นไปตามแผนการดำเนินงานขององค์กร ไม่ได้เป็นเครื่องมือของใครแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้คดีความแทบทั้งหมดมีโทษจำคุก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของการเป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น มาตรา 98 ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล, เคยได้รับโทษจําคุก โดยพ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง  เว้นแต่ในความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, มาตรา 160 [นายกรัฐมนตรี]ต้องไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก  แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ   เว้นแต่ในความผิดโดยประมาท  ความผิดลหุโทษ  หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (ประกอบข้อห้ามตามมาตรา 98)



ถึงแม้ว่า คดีความที่เกิดขึ้นต่อนักการเมือง คสช. จะต้องการเพียงให้นักการเมือง ‘เงียบ’ เท่านั้น และที่สุดแล้วอาจไม่เดินไปถึงการจำคุกที่ส่งผลต่ออนาคตทางการเมือง แต่มันก็ทำให้บรรดาผู้ต้องคดีประสบความยากลำบากโดยไม่จำเป็นระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่คดีความที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงการเลือกตั้งก็คงไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการเลือกตั้งกลับสู่ประชาธิปไตย

 


หมายเหตุ *คดีความทั้งสามคดีเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นยังมีคดีเสรีภาพของเหล่านักการเมืองและนักกิจกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไป หากสนใจเพิ่มเติมสามารถติดตามอ่านได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพ freedom.ilaw.or.th

ชนิดบทความ: