ศาลปกครองไต่สวนข้อเท็จจริงคดีวอยซ์ ทีวีฟ้องกสทช.

20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนข้อเท็จจริง คดีที่วอยซ์ ทีวีฟ้องกสทช. จากการสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-27 กุมภาพันธ์ 2562 ก่อนหน้านี้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำบังคับของกสทช. โดยศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองให้วอยซ์ ทีวีออกอากาศได้ระหว่างการพิจารณาคดี

เวลา 10.10 น. คู่ความทั้งสองฝ่ายพร้อมกันที่ห้องไต่สวนที่ 3 วอยซ์ ทีวี ในฐานะผู้ฟ้องคดี มีเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการ, ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ, ผู้แทนเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีป้า (Southeast Asian Press Alliance: SEAPA) และทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวีร่วมเป็นผู้ชี้แจงข้อมูล ฝ่ายคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดี มีสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. และผู้รับมอบอำนาจสองคนร่วมเป็นผู้ชี้แจง

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี

เวลา 10.30 น. ตุลาการผู้ดำเนินการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง(ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ) และตุลาการผู้แถลงคดี เริ่มทำการไต่สวน ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า คดีนี้มีกรอบเวลาตามคำสั่งการระงับการออกอากาศของกสทช. 15 วัน หากใช้ระบบปกติเกรงว่า การพิจารณาคดีจะล่าช้า ศาลจึงใช้ระเบียบใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งได้เคยชี้แจงไปเบื้องต้นแล้ว ตอนนี้จะดูเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง และวันนี้จะต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ จนเพียงพอที่ศาลจะสามารถวินิจฉัยได้แล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีจะทำการแถลงในวันนั่งพิจารณา ซึ่งกำหนดไว้แล้วว่า เป็นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งในช่วงบ่ายของวันดังกล่าวศาลจะมีคำพิพากษา

ในส่วนของข้อเท็จจริง หากคู่ความสองฝ่ายเห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมสามารถส่งข้อเท็จจริงหรือคำชี้แจงเข้ามาเพิ่มเติมได้อีกในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ประเด็นเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คำสั่งทุเลาคำบังคับของกสทช.ถือเป็นคำวินิจฉัยในเบื้องต้น ระบุว่า “ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย”  ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯย้ำว่า ศาลใช้คำว่า ไม่น่าจะชอบ จากนั้นจึงสอบถามสมบัติ ผู้แทนกสทช.ว่า ได้จัดทำคำให้การมาแล้วหรือไม่

กสทช.ย้ำปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเสนอเนื้อหาต้องเป็นกลางและมีจริยธรรม

สมบัติตอบว่า จัดทำเป็นเอกสารมาแล้ว ขอชี้แจงตามเอกสารใน 2-3 เรื่อง คือ 1. กระบวนการพิจารณาในเรื่องคำสั่งทางปกครอง กสทช. ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาให้วอยซ์ ทีวีทราบว่า มีรายการอะไรบ้างและออกอากาศเมื่อใดบ้าง การเปิดโอกาสให้วอยซ์ ทีวีชี้แจงข้อเท็จจริง และมีการรวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้แก่ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช. เมื่อที่ประชุมพิจารณาแล้วว่า เนื้อหาการออกอากาศขัดต่อกฎหมาย จึงมีคำสั่งทางปกครอง

2. ตามคำให้การที่นำส่งวันนี้ระบุว่า เนื้อหาสาระของรายการที่กสทช. ได้รับการร้องเรียนและชี้แจงจากวอยซ์ ทีวี ขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ตรงที่ใดบ้าง มีเหตุผลเพราะอะไรบ้าง และ

3. กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายมาตรา 16, 64 และ 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ประกอบข้อ 20 ของประกาศกสทช.เรื่อง เรื่อง  หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555 ในการพิจารณาเนื้อหาของวอยซ์ ทีวีนั้น เห็นว่า ขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ซึ่งเมื่อพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ให้อำนาจกสทช. ในการพิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ หากผู้รับใบอนุญาตออกอากาศเนื้อหาฝ่าฝืนมาตรา 37 และเป็นกรณีที่เกิดความเสียหายร้ายแรงตาม มาตรา 64(2) และหากกระทำซ้ำอีก หรือก่อความเสียหายร้ายแรงตามมาตรา 64(3) ซึ่งกสทช.เห็นว่า การพักใช้ใบอนุญาตเป็นเพราะวอยซ์ ทีวีออกอากาศเนื้อหาขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 64 (2) และยังกระทำซ้ำฝ่าฝืนเงื่อนไขตามมาตรา 64(3) 

ประเด็นที่วอยซ์ ทีวีกล่าวอ้างว่า มติของกสทช. ขัดต่อมาตรา 35  ขอชี้แจงว่า มาตรา 35 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง  จะกระทํามิได้” ส่วนที่ระบุว่า การสั่งปิดจะกระทำไม่ได้นั้นไม่ใช่กรณีที่ให้อำนาจโดยไม่มีขอบเขตจำกัด เสนอเนื้อหาได้ตามอำเภอใจ มันต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและจริยธรรม ขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า วอยซ์ ทีวีเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพข่าว วิทยุและโทรทัศน์ไทย 2553 หลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ มาตรา 7 มีส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้ 

(1) สื่อต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่สาธารณะชนตามหลักวัตถุวิสัย ด้วยความถูกต้องเที่ยงตรง แม่นยำ และครบถ้วน ด้วยความเป็นธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวง  
(4) ต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่สาธารณะชนตามหลักวัตถุวิสัย ด้วยความถูกต้องเที่ยงตรง แม่นยำ และครบถ้วน ด้วยความเป็นธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวง
(6) การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงประโยชน์แห่งสาธารณะ
(8) ต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
(10) ต้องระมัดระวังไม่นำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ตนเองหรือพวกพ้องมีผลประโยชน์ทับซ้อน หากผู้ประกอบวิชาชีพข่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ต้องแจ้งหรือรายงานพร้อมกับการนำเสนอหรือเผยแพร่ดังกล่าวทันที 

เห็นว่า การนำเสนอข่าวของวอยซ์ ทีวีมีลักษณะบิดเบือนไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ยกตัวอย่างเช่น รายการ Wake up news วันที่ 21 มกราคม 2562 ผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำว่า พวกเรา ฝั่งนู้น ฝั่งนี้ เราต้องมีการเตรียมความพร้อม มีการวางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามของบุคคลที่ถูกกล่าวถึง ผู้ดำเนินรายการไม่ได้ให้ข้อมูลในฐานะสื่อ แต่เสนอเนื้อหาเสมือนกับเป็นผู้ดำเนินรายการเป็นหนึ่งในบุคคลที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐ ขัดต่อหลักปฏิบัติอันเป็นกลาง 

อีกเทปหนึ่งคือ รายการ Wake up news วันที่ 29 มกราคม 2562 เนื้อหาข่าวเป็นการนำเสนอนโยบายของพรรคเพื่อไทย ภาพข่าวของแกนนำพรรคการเมือง วิเคราะห์และให้ความเห็นต่อนโยบาย พานทองแท้ ชินวัตรเป็นกรรมการของวอยซ์ ทีวีและเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย การนำเสนอในประเด็นนโยบายยุทธศาสตร์ของพรรค มีลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อน หากไม่สามารถงดเว้นได้ จะต้องแจ้งให้ผู้ชมทราบถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ดังกล่าวมากสทช.เห็นว่า เนื้อหาของวอยซ์ ทีวีขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เนื่องจากทำให้ประชาชนสับสน คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตระงับการออกอากาศชอบด้วยเหตุผลและเป็นธรรมแก่วอยซ์ ทีวีแล้ว

เรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้น กสทช.มองว่า ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะความสงบเรียบร้อย แต่เป็นความเสียหายในด้านการกำกับดูแลการประกิจการวิทยุและโทรทัศน์ วอยซ์ ทีวี ทำความผิดซ้ำซาก กสทช. ขอชี้แจงว่า ก่อนหน้าการระงับการออกอากาศ กสทช.ได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหลายครั้ง ตักเตือนวอยซ์ ทีวีด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่ผ่านมา กสทช.เคยระงับการออกอากาศเฉพาะรายการเช่น Wake up news และ Tonight Thailand แต่ไม่อาจยับยั้งไม่ให้วอยซ์ ทีวี กระทำความผิดซ้ำซากได้ 

ในส่วนบันทึกข้อตกลงระหว่างกสทช.และวอยซ์ ทีวี ที่ทางวอยซ์ ทีวีระบุว่า ไม่มีผลผูกพัน กสทช.ขอชี้แจงว่า วอยซ์ ทีวีเป็นผู้ติดต่อแจ้งความประสงค์ที่จะทำบันทึกข้อตกลงเอง และยินยอมกระทำตามบันทึกข้อตกลงมาโดยตลอด 

การออกคำสั่งระงับการออกอากาศของกสทช.ไม่ชอบตามกฎหมาย

ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวี กล่าวว่า ตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯที่กสทช.อาศัยเป็นเหตุว่า วอยซ์ ทีวีกระทำการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 64(2) ให้อำนาจกสทช.ในการพิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ หากผู้รับใบอนุญาตออกอากาศเนื้อหาฝ่าฝืนมาตรา 37 และเป็นกรณีที่เกิดความเสียหายร้ายแรง องค์ประกอบความผิดจะต้องครบถ้วนทุกองค์ประกอบคือ หนึ่ง เนื้อหาผิดตามมาตรา 37 และสอง เกิดความเสียหายร้ายแรง โดยบทบัญญัตินี้ถือเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของเอกชน ไม่สามารถขยายความเกินตัวบทได้ 

ตามที่กสทช.ระบุว่า การออกคำสั่งทางปกครองอาศัยอำนาจตาม ประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์  2555 ข้อ 20 วรรคหนึ่งระบุว่า “ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งได้รับคําสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ  19  ไม่พอใจ ในคําสั่งดังกล่าว  ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว  คําวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด” ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อ 19 ประกอบด้วยระบุว่า “ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ในการอนุญาตตามประกาศนี้  หรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนด  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจ ตักเตือน  เป็นลายลักษณ์อักษร  หรือสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตระงับการกระทําที่ฝ่าฝืน  หรือแก้ไขปรับปรุง  หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กําหนดก็ได้  ซึ่งให้รวมถึงอํานาจการสั่งให้ชี้แจง หรือส่งเอกสารหรือพยานหลักฐาน  เพื่อประกอบการพิจารณา” 

ขอโต้แย้งว่า เมื่อดูเฉพาะคำสั่งที่ออกระหว่างเดือนธันวาคม 2561-มกราคม 2562 คำสั่งทางปกครองของกสทช. ไม่เป็นไปตามมาตรา 19 เนื่องจากคณะกรรมการ กสทช. เป็นผู้ออกคำสั่งและไม่ถือเป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามนิยามของประกาศฉบับนี้ 

ข้อ 20 วรรคสองระบุว่า “ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง  หรือกรณีที่มีความเสียหายร้ายแรง   ต่อประโยชน์สาธารณะ  ให้คณะกรรมการมีอํานาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้  ทั้งนี้  การพักใช้ ใบอนุญาตให้กระทําได้ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน” ขอชี้แจงเรื่อง การกระทำซ้ำและความร้ายแรงของถ้อยคำ ในระดับความร้ายแรงของถ้อยคำแต่ละครั้งจะต้องอยู่ในระนาบเดียวกัน การกล่าวว่า วอยซ์ ทีวี ไม่ปฏิบัติตามกสทช. ไม่อาจหมายความว่า วอยซ์ ทีวีไม่ปฏิบัติตามในทุกระดับของความรุนแรง นอกจากนี้ระนาบความเสียหายนั้นจำเป็นจะต้องเทียบเคียงกับความเสียหายของเอกชนด้วย 

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯสรุปว่า มีอำนาจทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลักคือ มาตรา 64(2),(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ โดย มาตรา 64(2) จะมีสององค์ประกอบหลักคือ เนื้อหาผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และก่อความเสียหายร้ายแรง และมาตรา 64(3) ที่จะพิจารณาการกระทำความผิดซ้ำเป็นส่วนๆไป 

สมบัติกล่าวว่า กสทช.ออกคำสั่งทางปกครองระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวี โดยใช้มาตรา 64(2),(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ โดยตามมาตรา 37 วรรคท้ายนั้นผูกอยู่กับมาตรา 64(2) และหากมีการกระทำผิดซ้ำซากจะพิจารณาตาม 64(3)

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯถามว่า หากรายการนี้(Wake up news และ Tonight Thailand) ไม่ได้มีการตักเตือนมาก่อน ไม่ถือว่า เป็นการกระทำซ้ำใช่ไหม

สมบัติตอบว่า ขอกล่าวย้อนไปถึงเรื่อง “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์  2555 เหตุที่ไม่ได้มีการแต่งตั้ง “พนักงานเจ้าหน้าที่” เนื่องจากคณะกรรมการกสทช.ทำหน้าที่อยู่ ส่วนกรณีการตักเตือนมีมาหลายครั้ง ครั้งล่าสตุดคือ มติที่ประชุมกสทช.ครั้งที่ 23/2561 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2561 โดยมีการแจ้งในตักเตือนในวันที่ 8 มกราคม 2562 เรื่องเนื้อหารายการ Wake up news และ The Daily dose

และมติที่ประชุมกสทช.ครั้งที่ 1/2562 ลงวันที่ 8 มกราคม 2562 มีมติให้ปรับปรุงแก้ไขรายการ Tonight Thailand ส่งคำสั่งเตือนไปยังวอยซ์ ทีวีในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 กรณีนี้ได้เรียกวอยซ์ ทีวีเข้าไปชี้แจงในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 โดยคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหา กสทช. เห็นว่า เป็นการเสนอข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ แต่วอยซ์ ทีวี แจงว่า หากดูรายการตลอดทั้งรายการจะเห็นว่าวิพากษ์ทุกฝ่าย 

ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวี กล่าวว่า การที่กสทช.อ้างฐานอำนาจตามมาตรา 64(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯเป็นการเลี่ยง เนื่องจากเห็นว่า มีบทบัญญัติเฉพาะอยู่แล้วในมาตรา 64(2)  ในกรณีที่เกิดความเสียหายเล็กน้อยและกระทำซ้ำอีกเช่น การกระทำซ้ำในกรณีที่กสทช.กล่าวหาว่า การปล่อยคลิปเสียงของพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเป็นการให้ข้อเท็จจริงที่สับสน เห็นว่า เนื้อหาดังกล่าวนอกจากจะไม่เข้าองค์ประกอบและความร้ายแรงไม่มี การที่กสทช.นำความผิดลหุโทษมากกว่า 1 ครั้งมาเป็นฐานการระงับการออกอากาศเช่นนี้แล้วเป็นการตีความให้เกิดผลประหลาดอันก่อความไม่ยุติธรรมอย่างร้ายแรง 

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ถามว่า ตามข้อ 20 ประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์  2555 จะต้องเป็นการทำผิด “เงื่อนไข” แต่ทางวอยซ์ ทีวีถือว่า เป็น “ข้อตกลง” ให้กสทช.ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า วอยซ์ ทีวีผิดเงื่อนไขอย่างไร 

สมบัติกล่าวว่า กสทช.มีเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงเนื้อหาที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ส่วนบันทึกข้อตกลงระหว่างกสทช. และวอยซ์ ทีวี เป็นข้อตกลงเพื่อยอมรับให้มีการดำเนินการออกอากาศได้ หลังจากถูกระงับการออกอากาศตามประกาศคสช.ที่ 15/2557 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต 

ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกสทช.กล่าวว่า เงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงไม่ได้ออกเป็นคำสั่ง ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตได้ 

ชงคำถาม เหตุใดกสทช.ถึงไม่ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพกำกับกันเอง

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่ กสทช. ลงโทษวอยซ์ ทีวี กสทช.ได้ละเว้นขั้นตอนที่สามารถส่งเรื่องไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อ ประกาศคสช.ที่ 103/2557 เปิดทางให้ส่งเรื่องไปยังองค์กรวิชาชีพพิจารณาได้ การทำเช่นนี้น่าจะมีความเป็นธรรมมากกว่า ขอชี้แจงว่า แต่ละครั้งที่ถูกเชิญไปชี้แจงเนื้อหารายการ ต้องนั่งฟังเหมือนกับเป็นการอบรมวิธีการจัดรายการและการวิพากษ์วิจารณ์มุมมองของผู้ดำเนินรายการ ทั้งยังไม่เคยที่จะพูดตรงว่า เนื้อหาส่วนใดยั่วยุปลุกปั่น ขัดต่อศีลธรรม การที่กสทช.ใช้ดุลพินิจในทางใดทางหนึ่ง เมื่อใดก็ได้ โดยไม่มีการพิสูจน์ต่อสังคมว่า เนื้อหาผิดอย่างไร คำสั่งของกสทช.จึงอาจขัดแย้งกับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ 2560

ประทีป กล่าวว่า ปัญหาที่เราเกรงใจดุลพินิจของกสทช. คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ได้ยกเว้นโทษทางอาญา ทางแพ่งและทางวินัยให้แก่กสทช. ทำให้เรากังวลว่า การได้รับยกเว้นโทษในทุกทางจะทำให้การใช้ดุลพินิจขาดความละเอียดรอบคอบ 

เมฆินทร์ กล่าวว่า คำสั่งทางปกครอง รวมถึงเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงเหมือนถูกบังคับใช้กับวอยซ์ ทีวีเพียงผู้เดียว คำถามคือ มีการนำไปบังคับใช้กับสถานีอื่นอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่  ความเท่าเทียมกันในที่นี้หมายถึงมีการบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันกับสื่อโทรทัศน์ประเภทดิจิทัลทีวีเหมือนกันกับวอยซ์ ทีวีหรือไม่

สมบัติตอบว่า บันทึกข้อตกลงลักษณะนี้เคยทำกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่น ทีวี 24 พีซ ทีวี บลูสกาย ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ตามประกาศคสช.ที่ 15/2557 ซึ่งมีวอยซ์ ทีวีเป็นดิจิทัลทีวีเพียงช่องเดียว ส่วนการบังคับใช้ตามประกาศคสช.ที่ 97 และ 103/2557 นั้น กสทช.บังคับใช้กับทุกช่อง เช่น ในวันที่ 4 ตุลาคม 2559 มีคำสั่งทางปกครอง ปรับเนชั่น ทีวี 50,000 บาท และวันที่ 20 กรกฎาคม 2559 มีคำสั่งทางปกครองระงับการออกอากาศรายการทางช่องสปริงนิวส์

กสทช.ตกอยู่ในภาวะขาดความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เนื้อหา?

เมฆินทร์ กล่าวว่า ในเมื่อจะถือว่า บันทึกข้อตกลงเป็นคำสั่งทางปกครองก็ควรจะบังคับใช้กับทุกสถานี อีกประเด็นคือคุณสมบัติของกสทช. ทางเราทราบว่า คสช.มีคำสั่งให้ระงับการสรรหาคณะกรรมการกสทช.จนกว่าคำสั่งจะเปลี่ยนแปลง และผู้มีคุณสมบัติในการวิเคราะห์เนื้อหามีการลาออกเป็นระยะ 

อธึกกิต กล่าวว่า เดิมทีคณะกรรมการกสทช.มีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพคือ สุภิญญา กลางณรงค์ แต่มีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งไปและไม่มีการสรรหาใหม่ ทำให้ในตอนนี้ไม่มีผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพอยู่ในกสทช.เลย ส่งผลให้เกิดการขาดความเข้าใจในวิชาชีพสื่อ การพิจารณาเนื้อหาที่ผ่านมาวอยซ์ ทีวีไม่เคยยกขึ้นสู่ศาลแล้วจะมากล่าวได้อย่างไรว่า วอยซ์ ทีวีทำความผิดซ้ำซาก 

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า บรรยากาศการชี้แจงในช่วงที่ผ่านมาทุกอย่างเป็นไปอย่างเร่งรีบ อนุกรรมการด้านเนื้อหาฯไม่ได้เปิดโอกาสให้ชี้แจงเลย ขอสรุปว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการเร่งทำการบ้านเพื่อรวบรวมข้อมูลว่า มีการตักเตือนแล้วและมีการออกคำสั่งบางอย่างตามมา

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า ขอให้กสทช.ตอบในประเด็นความเร่งด่วนของการชี้แจงว่า ทำครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ และกรณีเรื่ององค์กรวิชาชีพตามประกาศ คสช.ที่ 103/2557 

สมบัติตอบว่า เรื่องการส่งเนื้อหาให้องค์กรวิชาชีพพิจารณานั้น เป็นกรณีเกี่ยวกับความผิดทางจริยธรรม แต่เรื่องนี้ขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ก็ระบุว่า หากเนื้อหาขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 ให้ถือว่า ขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ซึ่งพ.ร.บ.นี้อยู่ภายใต้อำนาจของกสทช. จึงพิจารณาว่า ไม่จำเป็นต้องส่งต่อให้องค์กรวิชาชีพ ส่วนการชี้แจงเป็นไปด้วยความเร่งรีบหรือไม่ ต้องเรียนว่า เป็นไปตามขั้นตอน ที่ให้ประทีปเป็นผู้ชี้แจงผู้เดียวเนื่องจากเห็นว่า ประทีปเป็นผู้รับมอบอำนาจ และคำถามที่ว่า เร่งรีบกระบวนการเพื่อเตรียมการหรือไม่นั้น เวลาที่กสทช.มีการเตือน วอยซ์ ทีวีก็รับในการปรับปรุง กสทช. ไม่ได้คิดมาก่อนว่า วอยซ์ ทีวีจะกระทำการในลักษณะนี้อีก

ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวีกล่าวว่า ตามที่กสทช.กล่าวว่า เหตุที่ไม่ส่งเรื่องเนื้อหาของวอยซ์ ทีวีไปให้องค์กรวิชาชีพพิจารณาเนื่องจากว่า ไม่ใช่ปัญหาทางด้านจริยธรรม ขอโต้แย้งว่า ไม่เป็นความจริง ในเรื่องความเป็นกลาง องค์กรวิชาชีพมีอำนาจในการวินิจฉัย

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ถามกสทช.ว่า จะตอบในประเด็นนี้หรือไม่ สมบัติปฏิเสธที่จะตอบในประเด็นนี้ ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ จึงสอบถามเรื่องเนื้อหารายการที่พิพาทคือ Wake up news เทปออกอากาศวันที่ 21-22 มกราคม 2562

กสทช.ชี้ผู้ดำเนินรายการ Wake up news พูดเกินข้อเท็จจริง สร้างความสับสน

ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช.กล่าวว่า เนื้อหารายการ Wake up news เทปออกอากาศวันที่ 21 มกราคม 2562 ได้ถอดเทปและนำส่งต่อศาลแล้ว โดยสรุปเนื้อหาของรายการก่อให้เกิดความสับสนใน 3 ประเด็นดังนี้

1.    เรื่องผลการสำรวจความเห็นเรื่องการเลือกตั้งและเศรษฐกิจ มีการกล่าวว่า “คนคิดคล้ายๆกันว่า การเลื่อนเลือกตั้งคือ การเลิกเลือกตั้งแล้วเขามองกันว่า ผู้มีอำนาจท่าทีเหมือนกับไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ถ้าพูดตรงๆ คนส่วนใหญ่คิดแบบนี้ ผู้มีอำนาจจะคิดยังไงเราไม่รู้ แต่คนจำนวนมากเขามองว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีเลือกตั้งเลย” ทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีสถานการณ์ของประเทศที่ต้องกำหนดใหม่ให้เหมาะสม นั่นคือเรื่องหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10 ต่อมาวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ออกมาชี้แจงแล้ว ซึ่งขอไม่ขยายความต่อในที่นี้

การนำเสนอข้อมูลจากสวนดุสิตโพลในรายการ Wake up news

2.    ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า มีต้นทุนที่มองไม่เห็นอีกเยอะ การเลือกตั้งไม่มีเสรีภาพเต็มที่ คนเบื่อมากขึ้น อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พรรคพลังประชารัฐมีข้อได้เปรียบจากการที่มีสมาชิกพรรคเป็นผู้แทนในรัฐบาล มีบางพรรคการเมืองได้รับผลประโยชน์

3.    ซีพีได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าความเร็วสูงเฟส 2 ผู้ดำเนินรายการกล่าวในทำนองว่า ควรรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา ทำให้เข้าใจว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยกระทำการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบ

หากพิจารณาเนื้อหาตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 จะเห็นว่า เนื้อหา Wake up news เทปออกอากาศวันที่ 21 มกราคม 2562 นั้นส่อให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะสับสนหรือไม่ เพราะประกาศคสช.ใช้คำว่า “ส่อ” และเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นได้ ส่วนรายการ Wake up news เทปออกอากาศวันที่ 22 มกราคม 2562 เป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้คำแนะนำเรื่องฝุ่น ซึ่งเป็นการนำข้อมูลมาใช้โดยทั่วไป กสทช.พิจารณาแล้วไม่ขัดต่อกฎหมาย

หม่อมปลื้มฉะ กสทช. อ่านหาเรื่องและไม่มีประสบการณ์งานสื่อ

ม.ล. ณัฏฐกรณ์  กล่าวว่า สมัยเด็กเวลาครูสอนหนังสือ เขาจะให้ “อ่านเอาเรื่อง” แต่กรณีพิพาทนี้ถือว่า กสทช.ไม่ได้ “อ่านเอาเรื่อง” แต่กสทช.ฟังและ “อ่านหาเรื่อง” แต่ละเรื่องที่พูดมาไม่เกี่ยวข้องกัน เรื่องการเลื่อนเลือกตั้งที่บอกว่า สับสนนั้น ตอนนั้นก็สับสนพอๆกับทุกคนว่า วันเลือกตั้งคือวันที่เท่าไหร่ สิ่งที่พูดในรายการทุกประเด็นมีต้นน้ำเป็นแหล่งข่าว ประเด็นคือวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2562 มีโพลของสวนดุสิตออกมา ถ้าหาก กสทช.ดูทุกช่องและอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับไปพร้อมกัน ไม่ใช่จับผิดแต่วอยซ์ ทีวีว่า ทำให้ประชาชนสับสน จะเห็นว่า ประเด็นอยู่ที่สวนดุสิตโพล ไม่ใช่วอยซ์ ทีวีเป็นผู้บอก

แค่บทสรุปนี้สะท้อนถึงความพยายามในการฟังเพื่อหาเรื่อง ความสับสนไม่ได้เกิดจากการเสนอข้อมูลในรายการ คำว่า สับสน ไม่ได้เกิดจากเรา ความสับสนที่เกิดขึ้นมันมาจากโพลของสวนดุสิต โพล ข้อสรุปของ กสทช. สะท้อนถึงความไม่มีประสบการณ์ในการทำงานของสื่อ

ในเรื่องซีพี เวลาเราเล่าข่าวจะมีการชูพาดหัวหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ซึ่งแหล่งข่าวเรื่องซีพีมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ มีการตีพิมพ์ว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงจะมีการต่ออายุในเฟส 2 และมีความเป็นไปได้ว่า จะไม่มีการประมูล การชูหนังสือพิมพ์ในรายการคือความพยายามที่จะเสนอข่าวให้รอบด้านและแสดงให้เห็นถึงความไม่ต้องการให้มีเพียงมุมมองของผู้ดำเนินรายการ

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวสรุปว่า การนำเสนอในรายการเป็นการนำโพลมาวิจารณ์และแสดงออกตามปกติของผู้ดำเนินรายการ

สมบัติกล่าวว่า ประเด็นที่กสทช.มองว่า การนำเสนอข้อมูลของวอยซ์ ทีวีสร้างความสับสน คือ การกล่าวว่า การเลื่อนหรือไม่เลื่อนเป็นเพราะผู้มีอำนาจสั่ง ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการพูดเกินกว่าโพล การนำเสนอโพลเป็นเรื่องปกติ อีกเรื่องคือ รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ข้อมูลของวอยซ์ ทีวีทำให้เกิดความสับสนว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีการประมูลและอนุญาตให้ซีพีดำเนินการได้

ม.ล. ณัฏฐกรณ์  กล่าวว่า คำพูดที่บอกว่า สับสนนั้นเป็นข้อสรุปของกสทช.เอง น่าสังเกตว่า ทำไม กสทช. ต้องมาเดือดร้อนแทนคำว่า “ผู้มีอำนาจ” ด้วย หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ กรุงเทพธุรกิจตีพิมพ์ในทำนองที่ว่า ซีพีอาจได้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเฟส 2 โดยไม่ต้องประมูล ถ้าผู้ดำเนินรายการพูดพาดพิงเอกชนจริงเป็นหน้าที่ของเอกชนในการดำเนินคดี ตนไม่เข้าใจว่า กสทช.มาเดือดร้อนแทนซีพีอย่างไร อย่างที่บอกว่า ที่ผ่านมาเป็นความพยายามดูรายการหาเรื่องมาตลอด

ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช.กล่าวย้ำอีกครั้งว่า ในรายการศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการกล่าวในทำนองที่ว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ทั้งที่ในโพลไม่มีประเด็นนี้

ม.ล. ณัฏฐกรณ์  กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีดราม่าในการจัดรายการเยอะ ด้วยมีการใช้ลีลาและคำพูดสร้างความบันเทิงในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งเมื่ออ่านเนื้อหาการถอดความแล้วเห็นว่า ถอดความด้วยเจตนารมณ์ที่หาเรื่อง ในเนื้อความเขียนว่า นี่ของจริง แต่ในรายการมันมีอวจนภาษาคือ ตนชูหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ไปด้วยและกล่าวว่า นี่ของจริง หมายถึงเนื้อความมาจากหนังสือพิมพ์จริงๆ บางครั้งในรายการมีการชูหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆด้วยเพื่อให้คิดวิเคราะห์ด้วยวิจารณญาณในฐานะแหล่งข่าวของสิ่งพิมพ์เหล่านั้น การเสนอข่าวในรายการคือ หนังสือพิมพ์เสนออะไร ผู้ชมทางบ้านสนใจอะไร ผู้ดำเนินรายการไม่ได้มีเจตนาไปในทางที่จะสรุปแบบนั้น และที่ผ่านมาพลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกสทช. แสดงทัศนคติเหมือนอยากจัดรายการแทน

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า หลังจากชี้แจงเรื่องเนื้อหาไปบางส่วนแล้ว ขอให้ผู้แทนจากองค์กรซีป้าให้ความเห็นเพิ่มเติม

ซีป้าระบุการระงับการออกอากาศเป็นโทษไม่เหมาะสม ย้ำความเห็นอันหลากหลายในสังคมมีความสำคัญ

เทส บากัลลา ผู้แทนจากซีป้ากล่าวแนะนำตัวว่า เป็นผู้อำนวยการบริหารของซีป้า โดยซีป้าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาค โดยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองให้วอยซ์ ทีวีสามารถออกอากาศได้ระหว่างนี้ และอ้างหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า ต้องขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า ศาลต้องพิจารณาตามกฎหมายไทย ดังนั้นหลักการที่ว่ามาไทยได้อนุวัตรตามหลักการดังกล่าวหรือไม่

เทส กล่าวว่า ไทยอนุวัตรตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ซึ่งได้บัญญัติถึงเสรีภาพของการแสดงออกไว้ [บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูป ของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก] ตามฐานที่กสทช.อ้างในการระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีนั้น ซีป้าเห็นว่า เหตุผลของกสทช.ไม่เพียงพออย่างยิ่ง ที่ระบุว่า เนื้อหาเป็นการยุยงปลุกปั่นนั้น คำตัดสินใช้มาตรฐานใด ข้อคิดเห็นในการวิจารณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ที่กสทช.มองว่า ไม่ยุติธรรม สร้างความสับสน ความเห็นดังกล่าวถูกตัดสินว่า สร้างความสับสนด้วยมาตรฐานอะไรและของใคร หากมองว่า ข้อคิดเห็นเหล่านี้มีน้ำหนักมากพอในการระงับการออกอากาศถือเป็นการวางโทษที่ไม่เหมาะสม การวิเคราะห์ที่หลากหลายมีความสำคัญมากต่อสังคม พหุนิยมในสื่อ (Media pluralism) เป็นหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมประชาชนในการเคารพเสียงที่หลากหลาย

สมบัติ ถามว่า ในกรณีที่สื่อกระทำความผิด ซีป้าแสดงท่าทีอย่างไรและดำเนินการอย่างไรในประเทศไทย

เทส กล่าวว่า ซีป้ามีภารกิจในการส่งเสริมเสรีภาพเป็นหลัก มีการดำเนินงานในลักษณะสมาชิกและเครือข่าย มีการทำงานในประเทศเช่น อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ติดตามปัญหาสิทธิและเสรีภาพ ออกแถลงการณ์ในประเด็นที่มองเห็นว่า มีผลกระทบและเพื่อผ่อนคลายการละเมิดสิทธิ มีการจัดอบรมในการส่งเสริมศักยภาพสื่อ รวมทั้งการจัดประชุม ซึ่งในเดือนมกราคม 2562 ซีป้าเคยจัดประชุมและเชิญผู้แทนวอยซ์ ทีวีมาร่วมพูดคุยด้วย

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ถามว่า เคยดูรายการในประเด็นที่มีข้อพิพาทหรือไม่ และมีความเห็นต่อรายการอย่างไร?

เทส กล่าวว่า มีการพูดคุยกับผู้ร่วมงานชาวไทย ถือเป็นความรับผิดชอบในการรับรู้ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผ่านการถกเถียงและพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะมีการเตรียมแถลงการณ์

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ถามว่า มาตรฐานของซีป้าดำเนินการในประเทศอื่นหรือไม่?

เทส กล่าวว่า ซีป้ามีการดำเนินงานใน 7 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการติดตามความเคลื่อนไหวการละเมิดเสรีภาพสื่อที่เกิดขึ้นในทุกวัน นอกจากออกแถลงการณ์ยังมีแนวทางอื่นๆคือ การจัดการพูดคุยและเชิญผู้แทนจากรัฐเข้าร่วมด้วย เราเชื่อว่า การพูดคุยมีส่วนสำคัญ และสร้างกลไกในการกำกับดูแลตนเองของสื่อขึ้นมา ในฟิลิปปินส์มีการจัดตั้งกลไกเหล่านี้ขึ้น หากมีข้อพิพาท ผู้ร้องจะไม่จำเป็นต้องมุ่งไปหารัฐหรือศาล หากแต่จะร้องเรียนผ่านสภาสื่อแทน ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อเลย และเป็นวิถีทางที่ไม่ทำให้สื่อต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว

สมบัติ กล่าวว่า อยากให้ซีป้าส่งข้อมูลเรื่องจริยธรรมสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทสื่อทางการเมือง มีข้อห้ามหรือไม่ว่า ห้ามนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า เห็นว่า กรณีนี้จะทำให้ยืดเยื้อไปอีก ข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว เพียงอยากจะให้ชี้แจงถึงสถานะของเทส ในการเบิกความเป็นพยานในวันนี้ โดยจะขอให้ส่งใบมอบอำนาจให้แก่ศาลภายในวันพรุ่งนี้ และขอให้กสทช.ชี้แจงเนื้อหาต่อจากเมื่อสักครู่

ผู้ดำเนินรายการ Tonight Thailand พูดเกินข้อเท็จจริง กสทช.เปิดโอกาสให้ชี้แจงแล้ว แต่วอยซ์ ทีวีไม่ส่งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ผู้รับมอบอำนาจจาก กสทช. กล่าวว่า รายการ Tonight Thailand ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 จากการตรวจสอบรายการปรากฏว่า ทีมผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า “ความได้เปรียบเสียเปรียบยังมีอยู่นะครับ โดยเฉพาะ…อย่างเช่นการลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษก็มีการห้ามประชาชนว่า ไม่ให้เข้ามาพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย ถ้าเข้าไปพูดคุยจะมีการตัดงบประมาณในส่วนต่างๆ ซึ่งถือว่า เป็นการใช้อำนาจของข้าราชการที่มีสีและยอมรับว่า การลงพื้นที่ยังยากลำบาก ยังมีทหาร ตำรวจคอยติดตามอยู่ ถึงแม้ว่า จะไม่ว่าอะไร แต่ก็ไม่ควรที่จะห้ามประชาชนไม่ให้ทำแบบนี้ ซึ่งยังไงก็ตามจะอดทนเดินหน้าทำงานต่อไป คงไม่ไปเรียกร้องอะไรกับคสช.เพราะเห็นว่า เปล่าประโยชน์”

จากนั้นจึงมีการปล่อยเสียงสัมภาษณ์ของสุดารัตน์ ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงที่ผู้ดำเนินรายการกล่าวในเสียงสัมภาษณ์เลย เช่น การมีทหารไปข่มขู่เกิดความสับสนต่อองค์กรทหารว่า มีการใช้อำนาจข่มขู่ประชาชน หมู่บ้านไหนไม่ได้รับงบประมาณก็อาจทำให้เข้าใจได้ว่า มาจากสาเหตุที่ไปพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย โดยในการชี้แจงมีประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี โดยกสทช.เข้าใจว่า ในการออกอากาศนั้นไม่สามารถปล่อยเสียงสัมภาษณ์ได้ทั้งหมด หากมีหลักฐานให้นำมาแจ้งต่อ กสทช. แต่ประทีปไม่ได้แจ้งข้อมูลว่า สรุปแล้วในเสียงสัมภาษณ์ฉบับเต็ม สุดารัตน์ได้พูดตามที่ผู้ดำเนินรายการกล่าวหรือไม่

การนำเสนอข่าวของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย

ประทีปกล่าวว่า ก่อนที่จะไปถึงการสรุปข้อเท็จจริง นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาฯที่ไม่ได้มีความรอบรู้ คำกล่าวที่ว่า ผู้ดำเนินรายการพูดเกินกว่าที่สุดารัตน์พูดนั้น ในแง่ของการทำสคริปต์รายการ ข้อความที่สุดารัตน์พูด ทีวีไม่จำเป็นต้องปล่อยเสียงทั้งหมด ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ที่ลงไปทำข่าวไม่ได้มีการยื่นไมค์สัมภาษณ์ตลอด ในข้อเท็จจริงยืนยันได้ว่า ไม่ใช่เรื่องของผู้ดำเนินรายการพูดเกินกว่าแหล่งข่าว หรือบิดเบือนสร้างความสับสน สื่ออื่นๆก็มีประเด็นที่คล้ายกันว่า สุดารัตน์ถูกทหารตามประกบ มีอำนาจรัฐไม่สามารถให้ลงพื้นที่หาเสียงได้เหมือนพรรคอื่น

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ถามว่า เหตุใดถึงไม่ส่งหลักฐานให้กสทช. ในเรื่องเหล่านี้

ประทีป กล่าวว่า เวลาที่ไปชี้แจงอาจจะพูดไม่ได้ครบถ้วนในทุกประเด็น มันเป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้มีการบิดเบือนและมีการพูดถึงเรื่องนี้ในหลายที่

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ สรุปว่า ในการชี้แจงเป็นการชี้แจงในภาพรวมของการเสนอเนื้อหา

เมฆินทร์ กล่าวว่า การชี้แจงเป็นการพูดในหลักการที่น่าจะเข้าใจได้กับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ การทำรายการคือการรวบรวมข่าวและเรียบเรียง ซึ่งข้อเท็จจริงที่รวบรวมมาเหล่านี้สถานีฯจะต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมาเราได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ เพียงแต่ผู้วินิจฉัยมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพียงพอไหม

อธึกกิต กล่าวว่า คำว่า “ตอบแทนไม่ได้ทั้งหมด เรื่องนี้พูดยาก” เป็นสิ่งที่สุดารัตน์พูด แต่เมื่อไปอ่านในคำสั่งของกสทช.กลับเขียนเหมือนกับว่า เราพูดเอง ทั้งๆที่เราไม่ได้พูด สุดารัตน์ให้สัมภาษณ์ อ่านจากสิ่งที่เธอพูดทั้งหมด หรือสรุปมาจากหนังสือพิมพ์เช่น มติชน แนวหน้า ผู้จัดการ

โอด กสทช.ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่เอื้อต่อบรรยากาศการชี้แจง

ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวีกล่าวว่า โดยหลักแล้วในการทำรายการจะไม่เลือกเนื้อหาที่ผู้ดำเนินรายการพูดไปปล่อยเสียงซ้ำอีก สภาพหน้างานการหาข่าวไม่สามารถบันทึกเสียงได้ทั้งหมด บางส่วนสัมภาษณ์เสร็จได้เสียงสัมภาษณ์แล้วไปพูดคุยกันต่อ ในชั้นของอนุกรรมการด้านเนื้อหาฯ หลายครั้งที่ไปชี้แจงมีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ข่มขู่ ขึ้นมึงขึ้นกู มันไม่ใช่สภาพที่เกิดขึ้นเหมือนที่กำลังชี้แจงต่อศาลในตอนนี้

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า ตามที่ชี้แจงมา ขอให้วอยซ์ ทีวีส่งเอกสารเพิ่มเติมว่า คำพูดในรายการปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไป

อธึกกิต กล่าวว่า คิดว่า กสทช.จับประเด็นผิด ด้วยความที่ไม่ได้เชี่ยวชาญวิชาชีพสื่อ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ดำเนินรายการวิจารณ์ กตต. ควบคุมสื่อ เป็นการสรุปที่ผิดไปจากเจตนาของผู้พูด จริงๆแล้วเรากังวลเกี่ยวกับข้อกำหนดความเท่าเทียมกันในการดีเบต คำถามคือ ความเท่าเทียมกันคืออะไร มติชนจะจัดดีเบตแต่กลัวว่าจะมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียม จนยกเลิกจัดไป ข้อกำหนดเช่นนี้ทำให้สื่อกังวลใจในการใช้เสรีภาพ เราไม่ได้บอกเลยว่า ข้อกำหนดนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสื่อ เราไม่เห็นด้วยและเสนอทัศนะใหม่

1.    สื่อโทรทัศน์ เอกชนเป็นผู้ลงทุน รัฐควรจะมีการช่วยเหลือเวลาที่รัฐใช้ประโยชน์จากสื่อ
2.    เรามองว่า ไม่เป็นประโยชน์ การจัดแบ่งเวลา 10 นาทีให้ออกอากาศทางช่องของเรา จริงๆปัจจุบันคนอาจจะไม่ดูแล้วเพราะแฟนคลับจะไปดูทางเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้คัดค้านแนวคิดนี้
3.    เราโต้แย้งในเชิงหลักการว่า ความเป็นกลางคืออะไร ในอเมริกา สื่ออย่างซีเอ็นเอ็นโจมตีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ฟอกซ์ นิวส์เชียร์ทรัมป์ ถ้าหากเราใช้หลักการความเป็นกลางอย่างจำกัดจะกลายเป็นวิธีคิดที่เป็นปัญหา
4.    อีกส่วนหนึ่งคือ การควบคุมของกกต.ที่มากเกินไป สุดท้ายจะไม่เกิดการแข่งขัน เช่น การคัดเลือกส.ว. 250 คน ที่สุดท้ายคัดเลือกไปอย่างเงียบๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมาคิดว่า กสทช.ไม่เข้าใจและจับประเด็นในลักษณะที่จะทำให้เกิดความสับสวน ไม่เข้าใจวิชาชีพสื่อ ความเป็นกลาง ความสับสนคืออะไร ถ้าตีความทุกอย่างสับสนไปหมด มันจะแสดงความคิดเห็นไม่ได้และเกร็งกันไปหมด

ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาให้ทั้งสองฝ่ายเขียนคำอธิบายอย่างเจาะจงในรายการที่ยังไม่ได้มีการชี้แจง ภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 16.30 น. โดยศาลจะสรุปข้อเท็จจริงส่งให้ตุลาการผู้แถลงคดี จากนั้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลจะนำส่งรายงานสรุปข้อเท็จจริงผ่านทางอีเมล์ให้คู่ความทั้งสอง และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. ตุลาการผู้แถลงคดีออกนั่งพิจารณาแถลงข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีคำพิพากษาในวันเดียวกันเลย