ศาลสหรัฐ อาจให้สื่อถ่ายทอดหรือรายงานการพิจารณาคดีได้

การการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยมีบุคคลที่สามหรือผู้ไม่มีส่วนได้เสียร่วมเป็นสักขีพยานอยู่ด้วยเป็นไปเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดี หลักการนี้แสดงออกโดยการที่ ญาติ เพื่อน ของคู่กรณี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไปจนถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจในคดี สามารถนั่งสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาได้ 
แม้การพิจารณาคดีส่วนใหญ่จะกระทำโดยเปิดเผยแต่ก็คงมีคนจำนวนไม่มากนักที่จะมานั่งฟังการพิจารณาคดีที่ตัวเองไม่มีส่วนร่วมได้  เพราะการพิจารณาคดีโดยปกติจะทำในเวลาราชการซึ่งคนทั่วไปต้องทำงาน การรายงานข่าวการพิจารณาของสื่อมวลชนหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์จึงเป็นช่องทางที่จะทำให้ความเคลื่อนไหวของคดีเป็นที่รับรู้ในหมู่สาธารณะชนด้วย 
หากตีความ “สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย” ในความหมายกว้าง การรายงานข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีของสื่อมวลชนหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนย่อมทำให้การพิจารณาคดีมีความโปร่งใสและเปิดเผยอย่างแท้จริง เพราะสาธารณะชนจะสามารถติดตามกระบวนการพิจารณาคดีที่ตัวเองสนใจผ่านทางสื่อได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาฟังด้วยตัวเอง 
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติสำหรับศาลในประเทศไทย บ่อยครั้งการทำงานของสื่อมวลชนที่จะรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด เช่น ศาลอาจสั่งไม่ให้จดบันทึก ต่างจากกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ศาลบางแห่งถึงขนาดยอมให้สื่อสามารถนำเครื่องอัดเสียงเข้ามาบันทึกเสียงการพิจารณาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนจะเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำที่สุด

กฎระเบียบของศาลไทย ห้ามถ่ายรูป ห้ามอัดเสียง ในห้องพิจารณา ส่วนการจดเป็นดุลพินิจ

ในกรณีของศาลไทย กฎหมายละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 30-33 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ได้สั่งห้ามหากสื่อมวลชนจะจดบันทึกและรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดี กรณีที่จะผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คือ การรายงานโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือพยาน เท่านั้น และกฎหมายก็ยังให้อำนาจศาลเต็มที่ในการออกข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการประพฤติตัวในบริเวณศาล หากใครฝ่าฝืนข้อกำหนดก็จะถือว่า “ประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” และอาจถูกสั่งว่า มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้
ในทางปฏิบัติ ศาลของไทยทุกแห่งจึงออกข้อกำหนดห้ามถ่ายภาพ และอัดเสียง ในห้องพิจารณาคดีและรวมถึงบริเวณอื่นของอาคารศาลด้วย สื่อมวลชนที่ประสงค์จะถ่ายภาพต้องทำเรื่องขออนุญาตกับทางศาลและจะถ่ายได้เฉพาะบริเวณนอกอาคารศาลเท่านั้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพในบริเวณพื้นที่ควบคุมตัวตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ก็จะมีความเข้มงวดในเรื่องการถ่ายรูป เช่น ในกรณีของศาลอาญาจะมีการจัดพื้นที่ที่สามารถถ่ายรูปได้ไว้เป็นการเฉพาะและผู้มีสิทธิถ่ายภาพในบริเวณดังกล่าวจะเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น สำหรับการนั่งสังเกตการณ์ในห้องพิจารณารคดี ศาลไทยส่วนใหญ่จะติดป้ายไว้หน้าห้องถึงข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามอย่างชัดเจนว่า ห้ามถ่ายภาพ และห้ามอัดเสียงในห้องพิจารณาคดี 
ที่ผ่านมาเคยมีกรณีจำเลยคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ราชดำเนินสองคนคือ อนุรักษ์ และ ปัญญารัตน์ ถูกสั่งศาลแขวงดุสิตปรับเป็นเงิน 500 บาทในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่ปัญญารัตน์ทำท่าชูนิ้วและอนุรักษ์เป็นผู้ถ่ายภาพระหว่างรอศาลอยู่ในห้องพิจารณาคดี ขณะที่สงวนผู้สื่อข่าวอิสระที่เป็นคนนำภาพดังกล่าวไปโพสต์บนเฟซบุ๊กก็ถูกไต่สวนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยเช่นกัน แต่ศาลเห็นว่าสงวนไม่มีเจตนาละเมิดอำนาจศาลเพราะหลังโพสต์ภาพได้ครู่เดียวก็ลบไปรวมทั้งโพสต์ข้อความแก้ไขข้อมูลที่คลาดเคลื่อน   
สำหรับการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี เท่าที่ไอลอว์เคยสังเกตการณ์ มีเพียงห้องพิจารณาบางห้องของศาลอาญาที่มีข้อความ “ห้ามจด” เขียนไว้ แต่นอกจากนั้นไม่ได้ห้ามไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นดุลพิพนิจของศาลแต่ละองค์คณะที่จะพิจารณาสั่งด้วยวาจาว่า ห้ามจด โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างน้อยสองกรณี 
กรณีแรก ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ระหว่างการไต่สวนคดีนักกิจกรรมละเมิดอำนาจศาล ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีสั่งให้ผู้ที่ประสงค์จะจดบันทึกการพิจารณาคดีแสดงตัว เมื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแสดงตัว ศาลก็สั่งให้แยกตัวมานั่งจดบริเวณโต๊ะของอัยการและเมื่อการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นศาลก็สั่งให้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวอ่านข้อความให้ฟังทั้งหมดเพื่อตรวจสอบว่ามีการบันทึกขัดกับข้อเท็จจริงหรือไม่ 
กรณีที่สอง ศาลทหารกรุงเทพระหว่างการสืบพยานโจทก์ปากพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญในคดี “พลเมืองรุกเดิน” ศาลก็มีคำสั่งห้ามจดกระบวนการพิจารณาคดีหลังเริ่มการพิจารณาคดีไปแล้วประมาณสิบนาที พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ที่จดฉีกกระดาษหน้าที่จดข้อความการพิจารณาคดีดังกล่าวออก ทั้งๆ ที่การพิจารณาคดีนัดก่อนหน้านั้นศาลก็ไม่ได้สั่งห้ามจดแต่อย่างใด    
โดยทั่วไปแล้วคดีส่วนใหญ่ในศาลของไทย ไม่มีข้อห้ามการจดบันทึก แต่เมื่อเป็นการพิจารณาคดีที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ที่สาธารณชนให้ความสนใจ ผู้พิพากษาบางคนอาจจะอาศัยอำนาจการออกข้อกำหนดสั่ง “ไม่อนุญาตให้จดบันทึก” แต่อนุญาตให้นั่งฟังเฉยๆ ได้ เนื่องจากกลัวการเผยแพร่และจะทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาคดีตามมาภายหลัง ดังนั้น สำนักข่าวมืออาชีพส่วนใหญ่จึงเลือกรายงานเพียงวันที่ส่งตัวจำเลยฟ้องต่อศาล และคำพิพากษาที่ออกมาเท่านั้น ส่วนกระบวนการระหว่างการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นจะหายไปจากการรับรู้ของประชาชน

กฎระเบียบศาลสหรัฐบันทึกเสียงได้ แต่ต้องรายงานให้เที่ยงตรง

อาทิม อ็อททิ (Atim Otii) ทนายความผู้เชี่ยวชาญคดีคนเข้าเมืองจากองค์กร the Lutheran Family Services Rocky Mountain มลรัฐโคโลราโด ซึ่งมาศึกษากระบวนการพิจารณาคดีในประเทศไทยเปิดเผยกับไอลอว์ว่า สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยถูกบัญญัติไว้ในบทบัญญัติเพิ่มเติมที่ 6 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐในทางปฏิบัติการพิจารณาคดีที่สหรัฐจะทำโดยเปิดเผยยกเว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง คดีที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน หรือคดีเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ที่ศาลอาจสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ
เท่าที่เธอทราบสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีองค์กรที่ทำหน้าที่จับตากระบวนการยุติธรรมเป็นการเฉพาะ แต่จะมีองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิพลเมืองอย่าง American Civil Liberty Union (ACLU) ที่มาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิพลเมือง เช่น คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังในการจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งมักเป็นคนผิวดำเกินกว่าเหตุจนทำให้ผู้ต้องหาได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย ตัวแทนของ ACLU จะมานั่งสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย ซึ่งนอกจากองค์กรดังกล่าวแล้ว Atim ระบุด้วยว่า คดีที่เกิดจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีที่คนในชุมชนมักให้ความสนใจมาร่วมฟังการพิจารณา
เมื่อถามถึงข้อจำกัดในการทำงานของสื่อในการรายงานการพิจารณาคดี Atim ระบุว่า เท่าที่เธอทราบสื่อมวลชนสามารถนั่งฟังการพิจารณาคดีและนำประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณาคดีไปรายงานข่าวได้ ศาลบางแห่งอาจอนุญาตให้สื่อนำเครื่องอัดเสียงเข้ามาใช้ภายในห้องพิจารณาคดีด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสื่อจะได้รับข้อมูลไปรายงานอย่างครบถ้วน โดยในการรายงานสื่อก็จะต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งข้อต่อสู้ของฝ่ายโจทก์และจำเลย
เมื่อถามความเห็นของ Atim ในฐานะทนายความว่า การรายงานข่าวของสื่อมวลชนจะส่งผลกระทบต่อการอำนวยยุติธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ให้ประชาชนมาร่วมเป็นลูกขุนในการพิจารณาคดี การรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีของสื่อมวลชนอาจจะทำให้ประชาชนมีอคติต่อคดีไปในทางใดทางหนึ่งได้หรือไม่ Atim บอกว่า คนทุกๆคนต่างมีอคติของตัวเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งคนก็มักจะความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นๆ อยู่แล้วและหากต่อมาเรื่องดังกล่าวกลายเป็นคดีคนก็มักจะตัดสินไปก่อนหน้าแล้วว่า ใครถูกใครผิดในคดีนั้นๆ การรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีของสื่อจึงน่าจะไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเกิดอคติต่อการพิจารณาคดี และถึงที่สุดแม้การรายงานข่าวของสื่อจะมีผลต่อความคิดของสาธารณะชนบ้าง แต่เธอก็เห็นว่าตัวระบบยุติธรรมของสหรัฐก็น่าจะแข็งแรงพอที่จะทำให้ความจริงปรากฎและมีคำตัดสินที่เป็นธรรมโดยไม่เอนเอียงไปตามอคติของคน

ศาลมลรัฐเทนเนสซี: ต้องแจ้งคู่ความหรือปิดประกาศคำร้องขอรายงานข่าว 

กฎข้อ 30 ของศาลสูงแห่งมลรัฐเทนเนสซีกำหนดว่า สื่อที่ประสงค์จะรายงานการพิจารณาคดีที่เป็นการพิจารณาแบบเปิดเผยสามารถทำได้ โดยสื่อดังกล่าวจะต้องเขียนคำร้องยื่นต่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่น้อยกว่าสองวันทำการก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจรับคำร้องที่ส่งมาหลังเวลาดังกล่าวได้ 
เมื่อได้รับคำร้องแล้ว เสมียนศาลจะต้องส่งหนังสือแจ้งเรื่องการติดตามและรายงานข่าวของสื่อให้อัยการหรือทนายของโจทก์และทนายจำเลย อย่างไรก็ตามหากมีการติดประกาศดังกล่าวในที่ที่บุคคลทั่วไปสามารถพบเห็นได้แล้วเสมียนศาลอาจร้องขอศาลให้งดเว้นการส่งหนังสือแจ้งได้
เมื่อมีการติดประกาศ บุคคลทั่วไปสามารถขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า การปฏิเสธหรือการจำกัดการรายงานของสื่อมวลชนจะเกิดประโยชน์กว่า 
ในส่วนของการใช้เครื่องอัดเสียง ศาลอนุญาตให้อัดเสียงกระบวนการพิจารณาคดีได้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการจดบันทึกเท่านั้นแต่ห้ามนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นรวมทั้งการถ่ายทอด

ศาลมลรัฐวอร์ชิงตัน: เปิดเผยและเข้าถึงคือหลักปฏิบัติ

ในกรณีของศาลมลรัฐวอร์ชิงตัน กฎทั่วไป (General Rules) ข้อ 16 กำหนดว่า การถ่ายวิดีโอ ภาพนิ่ง และใช้เครื่องบันทึกเสียงโดยสื่อมวลชนสามารถทำได้ หากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอนุญาต โดยที่ผู้พิพากษาจะต้องใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผลในการกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ
กฎข้อเดียวกันยังกำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาด้วยว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า การเข้าถึงและการเปิดเผยคือหลักปฏิบัติทั่วไป การจำกัดการเข้าถึงจะสามารถทำได้เมื่อผู้พิพากษามีเหตุผลที่หนักแน่นพอที่จะมาหักล้างหลักปฏิบัติดังกล่าว และก่อนการจำกัดการถ่ายภาพหรือบันทึกเสียงผู้พิพากษาจะต้องฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสียก่อน 

ศาลมลรัฐแคลิฟอร์เนีย: สื่ออาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม 

ในกรณีของศาลมลรัฐแคลิฟอร์เนีย กฎของศาลแคลิฟอร์เนียปี 2562 (2019 California Rules of Court) กำหนดว่า ผู้พิพากษาบนบัลลังก์อาจอนุญาตให้ใช้เครื่องอัดเสียงได้ แต่ให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจดบันทึกส่วนตัวเท่านั้น โดยผู้ประสงค์จะใช้เครื่องอัดเสียงจะต้องขออนุญาตผู้พิพากษาบนบัลลังก์เสียก่อน 
ในส่วนการบันทึกภาพหรือวิดีโอ สื่อที่ประสงค์จะดำเนินการดังกล่าวจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการก่อนวันที่จะทำการบันทึกภาพและเสียง ซึ่งศาลอาจมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนผู้ขออนุญาตดำเนินการโดยมีการเรียกไต่สวนหรือไม่มีการไต่สวนก็ได้ 
กฎของศาลแคลิฟอร์เนียปี 2562 ยังกำหนดปัจจัย 18 ข้อ ที่ศาลต้องนำไปใช้ประกอบดุลพินิจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต เช่น เพื่อการรักษาความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน สิทธิในความเป็นส่วนตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น พยานและเหยื่อ ความเป็นกลางในการรายงานหรือลักษณะการรายงานที่อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคณะลูกขุน รวมทั้งความเห็นของคู่ความว่าสนับสนุนหรือคัดค้านการรายงาน เป็นต้น 
ในกรณีที่การดำเนินการของสื่อมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยศาลอาจสามารถสั่งให้ทางสำนักข่าวชำระเงินส่วนนี้ได้ และผู้พิพากษาอาจกำหนดเงื่อนไขหรือสั่งยกเลิกคำสั่งอนุญาตให้สื่อรายงานได้ 
ในฐานะประชาชนที่บริโภคสื่อ เราจะสามารถค้นคว้าและพบภาพถ่าย แม้กระทั่งวีดีโอที่บันทึกการพิจารณาคดีของศาลในสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ต่างๆ ได้ไม่ยาก วีดีโอแต่ละชิ้นแสดงให้คนที่สนใจแต่ไม่ได้ไปสังเกตการณ์การพิจารณาคดีเห็นภาพและเข้าใจได้ หลายครั้งก็เป็นวีดีโอที่แสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมและการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีของศาลในคดีนั้นๆ ด้วย