ศาลปกครองชี้ ‘ปิด’ วอยซ์ ทีวี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งกสทช.

27 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 16.00 น. ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่วอยซ์ ทีวีฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงาน กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ต่อไปจะเรียกผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ว่า กสทช.) โดยฝ่ายวอยซ์ ทีวี มีเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารวอยซ์ ทีวีและทนายความมาฟังคำพิพากษา ขณะที่ฝ่ายกสทช.มีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีมาฟังคำพิพากษา นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจเข้ารับฟังในห้องพิจารณาคดีด้วย

ต่อมาเวลา 16.15 น. ตุลาการเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณา โดยก่อนอ่านคำพิพากษาได้แจ้งสิทธิของคู่ความว่า หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พอใจในคำพิพากษา ให้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน จากนั้นจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุปดังนี้

คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า มติกสทช.ครั้งที่ 3/2562 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่มีคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่เวลา 00.01 ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงเวลา 00.00 ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 นั้นเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า สำนักงานกสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบรายการ Tonight Thailand ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เรื่อง สุดารัตน์ ระอาทหารตำรวจยังตามประกบลงพื้นที่ และตรวจสอบพบเนื้อหารายการ Wake up news ออกอากาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 เรื่อง 10 เรื่องที่คนไทยกังวลเกี่ยวกับการเมืองไทย เฉลิมเชื่อ 3 พรรคประชาธิปไตยกวาดที่นั่ง ,ออกอากาศวันที่ 22 มกราคม 2562 เนื้อหาเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเสนอพอดแคสต์เรื่องแก้ไขปัญหาฝุ่น, ออกอากาศวันที่ 28 มกราคม 2562 เรื่อง เสรีพิสุทธ์ ปลุกประชาชนเอาประชาธิปไตย และออกอากาศวันที่ 29 มกราคม 2562 เรื่อง สุดารัตน์ เปิด 5 แนวทางกระเป๋าตุง, เนื้อหาเกี่ยวกับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และเนื้อหาเกี่ยวกับ กกต. ให้สื่อจัดดีเบต

โดยสำนักงาน กสทช.ได้ให้วอยซ์ ทีวีเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง ก่อนที่จะรวบรวมส่งให้ที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเห็นว่า รายการ Wake up news วันที่ 21,22,28 และ 29 มกราคม และ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ส่อให้เกิดความสับสนแก่ ประชาชน

 รายการ Wake up news วันที่ 21 มกราคม 2562 ผู้ดำเนินรายการมีการวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นในทำนองที่ว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง หน่วยงานของรัฐไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง มีการร่วมมือกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนที่รับชมอาจเข้าใจได้ว่า พรรคพลังประชารัฐมีข้อได้เปรียบและการเลือกตั้งอาจไม่เสรีและเป็นธรรม อีกเรื่องคือ การให้ความเห็นเรื่องการออกใบอนุญาตสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยผู้ดำเนินรายการให้ความเห็นในทำนองว่า รัฐบาลไม่ควรออกใบอนุญาตการก่อสร้างในช่วงนี้

วอยซ์ ทีวียอมรับว่า มีการดำเนินรายการดังกล่าวจริง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเสรีภาพของสื่อมวลชน ในส่วนความเป็นกลาง ผู้ชมจะตัดสินเองได้ การนำเสนอข่าวเรื่องดังกล่าวก็มีการออกอากาศที่ช่องอื่นด้วยเช่นกัน

รายการ Tonight Thailand วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีการปล่อยเสียงสัมภาษณ์ของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ซึ่งในเนื้อหาสุดารัตน์กล่าวว่า มีทหารตำรวจติดตาม คาดหวังให้กตต.ทำงานอย่างอิสระ ปราศจากข้อมูลที่ผู้ดำเนินรายการกล่าวเพิ่มเติมว่า มีการใช้อำนาจรัฐไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมพูดคุยกับตัวแทนพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนในการทำงานของทหารและตำรวจ

วอยซ์ ทีวียอมรับว่า มีการดำเนินรายการดังกล่าวจริง และมีการนำเสนอเนื้อหาอุปสรรคการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอื่นๆ เช่น การยกเลิกการใช้สถานที่ปราศรัยที่จังหวัดพะเยา

รายการ Wake up news วันที่ 28 มกราคม 2562 ที่มีการนำเสนอเนื้อหาในทำนองที่ว่า คำสั่งคสช. เอื้อต่อพรรคใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐและมีการออกอากาศคำสัมภาษณ์ของพล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า คสช.เอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐ

รายการ Wake up news วันที่ 29 มกราคม 2562 มีการนำเสนอข่าวนโยบายพรรคเพื่อไทยและยุทธศาสตร์ของพรรค, ห้วงเวลาที่กกต.กำหนดในระเบียบการดีเบทเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสื่อ แสดงความไม่เห็นด้วยในการใช้ประโยชน์ของสื่อเอกชนที่มีต้นทุน สื่อมีสิทธิเลือกข้างพรรคการเมืองใดก็ได้ ซึ่งการนำเสนอดังกล่าวอาจส่อให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า กกต.ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ 

วอยซ์ ทีวียอมรับว่า มีการดำเนินรายการ Wake up news วันที่ 28-29 มกราคม 2562 จริง โดยเห็นว่า ในการเลือกตั้งสื่อควรมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความเสรีเป็นธรรม ส่วนการนำเสนอข่าวพรรคเพื่อไทยในวันดังกล่าวเนื่องจากมีการประชุมใหญ่และแถลงนโยบายของพรรค โดยมีการเสนอข่าวของพรรคอื่นๆด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ข่าวของพรรคเพื่อไทยก็ปรากฏตามสื่ออื่นด้วย

รายการ Wake up news วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้ดำเนินรายการเสนอคำถามในทางชี้นำต่อแกนนำพรรคการเมืองเรื่อง การเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเวลานั้นหัวหน้าคสช.ยังไม่รับเป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ วอยซ์ ทีวียอมรับว่า มีการดำเนินรายการดังกล่าวจริง โดยการสัมภาษณ์ตัวแทนของพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับโอกาสและความสะดวก

ศาลพิจารณาข้ออ้างและข้อโต้แย้งของคู่ความ เห็นว่า วอยซ์ ทีวีมีการเสนอข่าววิเคราะห์การเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของรัฐ นโยบายพรรคการเมือง นโยบายสาธารณะ อย่างไรก็ตามมีบางส่วนที่เพิ่มเติมมาจากแหล่งข่าว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งหมดฟังไม่ได้ว่า การนำเสนอเนื้อหาของวอยซ์ ทีวีถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ในประเด็นจริยธรรมสื่อมวลชนนั้นเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อในการพิจารณา

โดยการเพิ่มเติมในรายการพิพาทไม่ถึงขนาดที่จะเป็นการเสนอข่าวในลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกและไม่ปรากฏว่า ที่ประชุมกสทช.ได้พิจารณาถึงความเสียหายร้ายแรงก่อนพิจารณาโทษ ดังนั้นการระงับการออกอากาศจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 64 และ 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ) และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริง 2556

กรณีที่กล่าวอ้างว่า กสทช.มีอำนาจตามมาตรา 64 (2) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ในการระงับการออกอากาศ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นก่อนนั้นเห็นว่า มาตรา 64 (2) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ จะต้องมีองคืประกอบ 2 ประการคือ เนื้อหาขัดมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และก่อความเสียหายร้ายแรง การกล่าวอ้างของกสทช.ไม่อาจรับฟังได้

ในเรื่องการกำกับสื่อเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่ที่ประชุมกสทช.จะมีมติในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ในการกำหนดโทษระงับการออกอากาศ สำนักงานกสทช.ได้มีหนังสือ 2 ฉบับให้วอยซ์ ทีวีชี้แจง โดยสำนักงานกสทช.ระบุว่า รายการ Wake up news ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 28 และ 29 มกราคม 2562 อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนประกาศคสช. ที่ 97 และ 103/2557 , บันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานกสทช.และวอยซ์ ทีวี และมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เมื่อวอยซ์ ทีวีไปชี้แจง กสทช.ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 19 ประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555

อีกทั้งกสทช.ยังไม่แสดงข้อเท็จจริงว่า เนื้อหารายการสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร การระงับการออกอากาศจึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ใช่กรณีที่วอยซ์ ทีวีเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติและสร้างความเสียหายร้ายแรง ดังนั้นมติที่ประชุมกสทช.ครั้งที่ 3/2562 จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯและข้อ 20 ของประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555

กรณีที่วอยซ์ ทีวีขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานกสทช.และวอยซ์ ทีวี ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เห็นว่า หากวอยซ์ ทีวีเห็นว่า บันทึกข้อตกลงฯไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องใช้สิทธิทางศาลภายใน 90 วัน แต่เวลาล่วงเลยมาถึงวันที่ฟ้องในปี 2562 ศาลจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้

กรณีกสทช.กล่าวว่า การกระทำของวอยซ์ ทีวีเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจึงใช้อำนาจตามมาตรา 64(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่วอยซ์ ทีวีกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯเรื่องเดียวกันหรือมีวิธีการเดียวกัน และต้องให้โอกาสวอยซ์ ทีวีในการโต้แย้งเสียก่อน ขณะที่หนังสือที่ให้วอยซ์ ทีวีเข้าชี้แจงต่อสำนักงานกสทช.ทั้ง 2 ฉบับไม่ได้มีประเด็นให้ชี้แจงเรื่องการกระทำรความผิดซ้ำแต่อย่างใด ในหนังสือคำสั่งของกสทช.ก็ไม่ปรากฏว่า มีการชี้แจงประเด็นความผิดซ้ำ มีเพียงข้อความว่า มีการกระทำความผิดซ้ำ เห็นว่า กสทช.ไม่ได้ประสงค์จะพิจารณาเรื่องการกระทำความผิดซ้ำ ไม่ให้โอกาสวอยซ์ ทีวีในการพิสูจน์ การอ้างตามมาตรา 64(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไม่อาจรับฟังได้

พิพากษาว่า มติที่ประชุมกสทช.ที่ 3/2562 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดโทษทางปกครองให้ระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 64, 16 และ 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และข้อ 20 ของประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555 สั่งให้เพิกถอนมติดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ในเวลา 10.00 น. องค์คณะตุลาการได้ออกนั่งพิจารณาเป็นครั้งแรก โดยผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. ได้ยื่นหนังสือโต้แย้งข้อเท็จจริงที่วอยซ์ ทีวีได้นำส่งเพิ่มเติมในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า เป็นข้อเท็จจริงใหม่ องค์คณะตุลาการพิจารณาแล้วเห็นว่า จากการพิจารณาเอกสารของกสทช. เนื้อหาเป็นการให้เหตุผลไม่เห็นด้วยในส่วนการชี้แจงข้อเท็จจริงของวอยซ์ ทีวี การทำคำร้องในลักษณะนี้เป็นการโต้แย้งเหตุผลของคำชี้แจงของวอยซ์ ทีวี เอกสารโต้แย้งของกสทช.ส่งหลังวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงคือ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ดังนั้นศาลจะถือคำชี้แจงของกสทช.ที่นำส่งเพิ่มเติมเป็นคำแถลง แต่ถ้าหาก กสทช. จะโต้แย้งขอให้ศาลรับไว้ก็ไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า เมื่อสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ห้ามคู่กรณีส่งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ก่อนที่ตุลาการผู้แถลงคดีจะแถลงข้อเท็จจริงในคดี โดยมีคำสั่งห้ามบันทึกข้อมูลการแถลง โดยสรุปคือ มติทีประชุมกสทช.ที่ 3/2562 ระงับการออกวอยซ์ ทีวีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยกคำร้องวอยซ์ ทีวีที่ขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานกสทช.และวอยซ์ ทีวี

เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กสทช.ได้ออกคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวี ทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-27 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า เนื้อหาออกอากาศของวอยซ์ ทีวีส่อสร้างความสับสนขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 จึงผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ประกอบกับเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจึงสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานี

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีที่ออกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562, ขอให้เพิกถอนมติกสทช.ครั้งที่ 3/2562 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระงับการออกอากาศ และเพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างวอยซ์ ทีวีและสำนักงานกสทช. ระหว่างนี้ขอให้ศาลปกครองทุเลาคำสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานี

ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำสั่งของกสทช. โดยหลักแล้ววอยซ์ ทีวีสู้ว่า การปิดวอยซ์ ทีวีในช่วงการเลือกตั้งสร้างความเสียหายในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และธุรกิจของวอยซ์ ทีวีเองด้วย นอกจากนี้กสทช.ยังได้รับการคุ้มครองจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง, อาญาและวินัย จึงเกรงว่า สถานะของ กสทช.จะหลุดออกจากหลักนิติรัฐ ขณะที่กสทช.สู้ว่า การออกคำสั่งของกสทช.ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการและวอยซ์ ทีวีได้เผยแพร่เนื้อหาสร้างความสับสนและผูกตัวเองเข้ากับอุดมการณ์ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หากยังปล่อยให้ออกอากาศต่อไปจะทำให้เกิดการแบ่งแยกไม่เป็นการปรองดองสมานฉันท์หรือไม่

ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งของกสทช. น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงทุเลาคำสั่งของ กสทช.ไว้ระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 วอยซ์ ทีวีกลับมาออกอากาศได้เป็นปกติ ขณะที่ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงวอยซ์ ทีวีได้สู้ในประเด็นหลักคือ การออกคำสั่งของกสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนและ กสทช.ขาดความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เนื้อหาและกระบวนการทำข่าว

ที่ผ่านมารัฐบาลคสช.ได้ออกประกาศและคำสั่งในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน ฉบับหลักที่นำมาใช้คือ ประกาศคสช.ที่ 97/2557 ที่มีเนื้อหาห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์คสช.และเสนอข่าว ‘ส่อ’ สร้างความสับสนแก่ประชาชน ที่มีความหมายกว้างขวางอย่างมาก โดยคำว่า ‘ส่อ’ ไม่จำเป็นต้องเกิดผลสับสนจริง, ประกาศ คสช.ที่ 103/2557 ที่แก้ไขให้วิจารณ์คสช.ได้แต่ต้องไปด้วยความสุจริต และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 คุ้มครองให้ กสทช. ทำหน้าที่โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง,ทางอาญาและทางวินัย

ผู้ใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่งเหล่านี้คือ กสทช. โดยที่ผ่านมาลงโทษสื่อการเมืองไปไม่น้อยกว่า 59 ครั้ง วอยซ์ ทีวีถือเป็นสื่อที่โดนลงโทษมากที่สุด 24 ครั้ง โดยการลงโทษขั้นหนักที่สุดคือ การระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันในปี 2560 และปี 2562 นี้

ข้อมูลเพิ่มเติม
เปิดคำเบิกความ กรณีวอยซ์ ทีวีขอศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำสั่งกสทช. 
ศาลปกครองไต่สวนข้อเท็จจริงคดีวอยซ์ ทีวีฟ้องกสทช.
สถิติการพิจารณาลงโทษสื่อมวลชนภายใต้กลไก กสทช. 
ปัญหาของการพิจารณาลงโทษสื่อ โดยกลไก กสทช. 

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”