เลือกตั้ง 62: รวมเรื่องควรรูัในการเลือกตั้ง 2562

001

ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลคสช.ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 ระหว่างทางนั้นได้วางกลไกในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกไว้จำนวนมาก เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจเยี่ยมบ้านประชาชน , ประกาศคสช.ที่ 97 และ 103/2557 ควบคุมเนื้อหาการรายงานของสื่อมวลชน, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และการใช้คดีความในการปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพในการแสดง โดยไอลอว์ได้รวบรวมข้อมูลเสรีภาพและข้อสงสัยการโกงเลือกตั้งไว้ที่นี้

๐เลือกตั้ง 62: เลิกคำสั่งชุมนุมทางการเมือง แต่ยังเยี่ยมบ้าน ตามติดประชาชนต่อเนื่อง

บรรยากาศในช่วงท้ายปี 2561 ดูคล้ายจะเข้าสู่การเลือกตั้งมากขึ้น ภาพซ้ำๆ ของการห้ามใช้เสรีภาพการแสดงออก การส่งทหารไปเยี่ยมบ้านระหว่างหรือก่อนการชุมนุมคงจะลดลงไป น้ำหนักเหมือนจะอยู่ที่การหาเสียงเลือกตั้งดูเหมือนจะเอื้อต่อพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เมื่อเปิดปี 2562 ขึ้นมาบรรยากาศเสรีภาพกลายเป็นเรื่องใหม่ซ้ำเดิม เจ้าหน้าที่ยังคงไปเยี่ยมบ้านนักเคลื่อนไหวในช่วงที่จะมีการชุมนุม กดดันให้หยุดการใช้เสรีภาพการแสดงออก นักกิจกรรมและนักการเมืองยังคงถูกติดตามเหมือนเดิม อ่านที่นี่

๐ เลือกตั้ง 62: รวมอุปสรรคในการหาเสียงและข้อสงสัยการโกงเลือกตั้ง 2562

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหาร พรรคการเมืองก็ถูก คสช. ใส่ “กุญแจมือล็อคไว้” ให้ยุติบทบาททางการเมืองเป็นการชั่วคราวด้วยประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ซึ่งระบุห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และเมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งออกในวันที่ 1 เมษายน 2558 สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กลายกุญแจที่ล็อคพรรคการเมืองก็ยิ่งแน่นหนาขึ้นไปอีก

จนกระทั่งโรดแมปการเลือกตั้งดำเนินมาถึงจุดที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายในกำหนดเวลา มิเช่นนั้นจะเสียสิทธิ เช่น สิ้นสภาพหรือหรือไม่อนุญาตให้ส่งผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งที่จะถึงในปี 2562 แต่พรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถทำตามนั้นได้เพราะยังถูกล็อคด้วยประกาศและคำสั่ง คสช. อยู่  คสช. จึงใช้ “มาตรา 44” คลายล็อคพรรคการเมืองครั้งแรกด้วยการคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ในวันที่ 22 ธันวาคม 2560 และครั้งที่สองด้วยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ในวันที่ 14 กันยายน 2561 แม้จะมีการคลายล็อคพรรคการเมืองผ่อนคลายให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้และเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังมีการติดตามและก่ออุปสรรคให้แก่นักการเมืองอยู่เรื่อยมา

ในการเลือกตั้ง 2562 ไอลอว์ได้รวบรวมข้อมูลการคุกคามนักการเมืองและปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังได้รวบรวมกรณีข้อกล่าวหาการซื้อเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ และกลไกการเอื้อประโยชน์บางประการที่รัฐบาลคสช.มีต่อพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ให้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: การดำเนินคดีต่อนักการเมืองระหว่างการเลือกตั้ง 2562

วันที่ 14 กันยายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 13/2561 คลายล็อคพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ แต่คดีความของนักการเมืองยังคงเดินหน้าไป ทั้งคดีที่มีมาก่อนหน้าและคดีที่เกิดขึ้นหลังการคลายล็อค นอกจากนี้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งยังปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการดำเนินคดีกับนักการเมืองที่กำลังหาเสียง ทั้งคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง และคดีความผิดอื่นๆ

ถึงแม้คดีความของนักการเมืองบางคดีที่เกิดขึ้นในยุคคสช. น่าจะเป็นไปเพื่อให้นักการเมืองคนนั้นๆ ‘เงียบ’ เท่านั้น และที่สุดแล้วอาจไปไม่ถึงถูกพิพากษาจำคุกที่จะส่งผลต่ออนาคตทางการเมือง แต่มันก็ทำให้บรรดาผู้ถูกดำเนินคดีต้องประสบความยากลำบากโดยไม่จำเป็นระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่การดำเนินคดีนักการเมืองที่อยู่ระหว่างการลงสนามเลือกตั้งจนเป็นข่าวครึกโครมก็คงไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศของประเทศในการเลือกตั้งเพื่อเดินหน้ากลับสู่ประชาธิปไตย อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: การใช้อำนาจพิเศษของคสช.ในช่วงเลือกตั้ง

กรณีโฆษกคสช.ยืนยันว่าคสช.ไม่มีการใช้อำนาจมาตรา 44 หรือมาตรการอื่นใดทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองในช่วงเลือกตั้ง แต่ก็พบว่าในช่วงเลือกตั้งมีการใช้อำนาจมาตรา 44 ที่เคยออกไว้เดิมลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและพรรคการเมืองอย่างชัดเจนไม่น้อยกว่า 13 กรณี อ่านที่นี่ 

๐ เลือกตั้ง 62: ทัศนคติต่อการวิจารณ์ของ “ลุงตู่” น่ากังวลหากยังเป็นนายกฯ ต่อ

8 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศรับคำเชิญพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พลันที่พล.อ.ประยุทธ์ ตอบตกลง เขาก็มีสถานะ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งจากเดิมที่เขาเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มและยังเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติผู้มีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งสามารถออกคำสั่งทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการใดๆ ก็ได้ออกบังคับโดยมีสถานะเป็นกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ตลอดระยะเวลาเกือบห้าปี ที่พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ ตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ก็ควบสองตำแหน่งบริหารประเทศเรื่อยมา กฎหมายและมาตรการต่างๆ ถูกประกาศใช้ออกมาโดยอำนาจในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อเป็นฐานในการจำกัดการแสดงออก การจับกุม ดำเนินคดีกับประชาชน เช่น ใช้เรียกคนไปขังในค่ายทหาร หรือส่งเจ้าหน้าที่ทหารมา “พูดคุย” ที่บ้าน อำนาจพิเศษเช่นนี้ถูกใช้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปิดกั้นอยู่นาน และแม้ว่า กำลังจะมีการเลือกตั้ง แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สถานการณ์เสรีภาพก็ยังมีความน่ากังวล โดยพิจารณาได้จากทั้งคำกล่าวที่แสดงถึงวิธีคิดของพล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการชุมนุมในโอกาสต่างๆ และแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: รายงานอุปสรรคของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

วันที่ 23 มกราคม 2562 รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ซึ่งในวันเดียวกันคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ประกาศวันเลือกตั้งพร้อมแถลงปฏิทินการเลือกตั้ง กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต วันที่ 17 มีนาคม 2562 สำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กกต. เพียงแต่กำหนดกรอบเวลากว้างๆ ระหว่างวันที่ 4 – 16 มีนาคม 2562 เท่านั้นส่วนวัน เวลา วิธีการ และสถานที่การใช้สิทธิขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่จะกำหนด อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลพบว่า การออกเสียงนอกราชอาณาจักรมีอุปสรรคในหลายประเทศ ทั้งกรณีการออกเสียงที่สถานทูตหรือการออกเสียงทางไปรษณีย์ อ่านที่นี่

๐ เลือกตั้ง 62 : เลิกคำสั่งชุมนุมทางการเมืองแล้ว แต่ชุมนุมในสถานศึกษายังคงไม่ง่าย

11 ธันวาคม 2561 คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 9 เรื่องสำคัญ รวมทั้ง ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ปลดล็อคให้ประชาชนทำกิจกรรมสาธารณะได้สะดวกขึ้น และให้พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงได้ แต่การยกเลิกดังกล่าวอาจเป็นเพียงฉากการเมืองฉากหนึ่งเท่านั้น เพราะ คสช. ยังคงไว้ซึ่งอำนาจบุกค้น เยี่ยมบ้านและเรียกบุคคลไปปรับทัศนติในค่ายทหาร 7 วัน ไม่นับรวมการเข้ากดดันเจ้าของสถานที่ที่ คสช. ทำมาตลอดกว่าสี่ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ยังทำหน้าที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการแสดงออกในที่สาธารณะ

แม้ว่า มาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดไม่ให้ใช้บังคับข้อจำกัดต่างๆ กับการชุมนุมภายในสถานศึกษา แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการชุมนุมในพื้นที่สถานศึกษา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีรูปแบบการกดดันทางอ้อมในการสกัดกั้นการใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างแนบเนียนขึ้น อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: ตำรวจสั่งห้ามนิสิตม.บูรพา ชุมนุมค้านเลื่อนเลือกตั้ง งัดระเบียบยันเสรีภาพนักศึกษา จัดต่อในมหาลัยฯได้

นิสิต ม.บูรพาจัดชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้งที่บริเวณลานหน้ามหาวิทยาลัยบูรพา โดยแจ้งการชุมนุมเกี่ยวกับรายละเอียดการแจ้งการชุมนุมและอุปสรรคของการจัดกิจกรรมที่พบเจอได้ข้อมูลว่า ในวันที่ 15 มกราคม 2562 เขาไปแจ้งการชุมนุมที่สภ.แสนสุขในเวลาประมาณ 21.00 น. และได้ทำบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานด้วย ในหนังสือแจ้งการชุมนุมระบุวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ประชาธิปไตยและเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562  ต่อมามหาวิทยาลัยกลับไม่ให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรม อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: ไล่ทหารไปเป็นรั้วทำ “เสรีพิศุทธ์” อ่วม! ทหารแจ้งความแล้ว 4 คดี ป้ายโดนกรีด โรงงานป้ายโดนเผา

ความ “กล้าได้กล้าชน” กับฝ่ายทหารถือเป็น “ลายเซ็น” ของพล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเสรีรวมไทย นับตั้งแต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประกาศลงเล่นการเมืองภายใต้พรรคเสรีรวมไทยก็มีวาทะเผ็ดร้อนวิพากษ์รัฐบาล คสช. และกองทัพมาโดยตลอด และอุณหภูมิวาทะก็สูงขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตำหนิทหารที่ตามประกบระหว่างลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง ที่จ.ปราจีนบุรี ทำให้พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาแสดงท่าทีตอบโต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาด้วยคดีความและตบท้ายด้วยการแสดงข้อเท็จจริงบนป้ายประชาสัมพันธ์ของกองทัพ อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: เช็คชี่อสื่อมวลชน ใครถูก “ทำโทษ” ไปแล้วบ้างในศึกเลือกตั้ง

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีของไทย ช่วงโค้งสุดท้ายสื่อมวลชนต่างมุ่งนำเสนอข่าวมาที่เรื่องการเมือง เรียกได้ว่า เปิดทีวี กางหนังสือพิมพ์ หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ใดก็หนีไม่พ้นหัวข้อข่าวนโยบายทางการเมือง, การดีเบตระหว่างพรรคการเมืองและวิเคราะห์ข่าวทางการเมือง อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดเกือบห้าปีที่ผ่านมาสื่อมวลชนไม่ได้ทำงานอย่างอิสระ ยังคงผูกติดด้วยข้อจำกัดตามประกาศคสช.ที่ 97 และ 103/2557 , การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น และข้อกำหนดภายในองค์กรสื่อ ซึ่งในช่วงเลือกตั้ง 2562 ข้อจำกัดเหล่านี้ยังคงอยู่และกลายเป็นอุปสรรคของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารต่อสาธารณชน ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง อ่านที่นี่

๐ เลือกตั้ง 62: อนาคตใหม่แจงกรณีรองหัวหน้าพรรคแชร์ข่าวปลอม “กาแฟบิ๊กป้อม” วอนช่วยจับตาสื่อรับใช้เผด็จการ

5 มีนาคม 2562 พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงกรณีตำรวจออกหมายเรียกพล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แชร์ข่าวปลอมเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ข่าวพาดหัวในทำนองว่า เบิกงบกาแฟแก้วละ 12,000 บาท โดยใช้งบสวัสดิการในตำแหน่ง รวมเป็นเงิน 82,000 บาท พร้อมกับนำภาพประกอบที่มี พล.อ.ประวิตร และไพศาล พืชมงคล ที่ปรึกษา มาตัดต่อร่วมกัน อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: ศาลปกครองชี้ ‘ปิด’ วอยซ์ ทีวี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งกสทช.

ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า พิพากษาว่า มติที่ประชุมกสทช.ที่ 3/2562 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดโทษทางปกครองให้ระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 64, 16 และ 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และข้อ 20 ของประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555 สั่งให้เพิกถอนมติดังกล่าว อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: มาตรา 112 ไม่คุ้มครอง ทูลกระหม่อมฯ

ข่าวการเปิดตัว “ทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ฯ” ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรคไทยรักษาชาติ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในทางเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันสถานะ “ทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ฯ” ในฐานะที่เป็นพระราชธิดาองค์โตในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ก็อาจทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ในฐานะที่มาลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวแล้ว จะถูกวิจารณ์ได้หรือไม่ หรือทำได้มากน้อยเพียงใด

โดยเฉพาะอย่างในเมื่อมี “ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ยังบังคับใช้อยู่ และเป็นกฎหมายที่สร้างความหวาดกลัวให้กับการแสดงความเห็นในสังคมไทยมานาน อ่านที่นี่

๐เลือกตั้ง 62: คนอยากเลือกตั้งยื่นคำขาด คสช.ต้องประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้งภายในศุกร์นี้

วันที่ 13 มกราคม 2562 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ “ไม่เลื่อน” วันเลือกตั้งให้ล่วงเลยหลังวันที่ 10 มีนาคม 2562 เพราะจะสุ่มเสี่ยงให้ กกต. ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งภายในกรอบ 150 วันนับจากวันประกาศ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 อันอาจส่งผลทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นถูกชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นโมฆะ อ่านที่นี่

๐ ส่องเกมสกัดดาวรุ่งก่อนเลือกตั้ง: ปัดฝุ่นคดีเก่า ไล่ฟ้องคดีใหม่ ใช้ข้อหาการเมืองกับขั้วตรงข้าม

การกล่าวหาคดีเหล่านักการเมือง หรือเขียนกฎหมายจำกัดเสรีภาพที่บ่อยครั้งมักใช้จัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในรัฐเผด็จการอำนาจนิยม ผู้มีอำนาจอาจบอกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยทั่วไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีความเหล่านั้นส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของนักการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาล  ทั้งอาจทำให้เกมการเมืองเปลี่ยนไปด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดมันส่งผลต่อบรรยากาศเสรีภาพการแสดงออก ที่ถูกลดทอนไปในประเทศนั้นๆ รายงานชิ้นนี้จะชวนลองดูกลยุทธ์สกัดดาวรุ่งหรือนักการเมืองฝ่ายค้านของประเทศต่างๆว่า มีการใช้วิธีแบบใดบ้าง อ่านที่นี่
 

 

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย