สำรวจนโยบายด้านเสรีภาพการแสดงออกในศึก #เลือกตั้ง62

FIDH-00 (1)

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) องค์การด้านสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ส่งแบบสอบถามหัวข้อนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนส่งถึงพรรคการเมืองในประเทศไทย มีพรรคการเมือง 32 พรรค ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม คำถามในแบบสอบถามดังกล่าวมี 15 ข้อ ครอบคลุมนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในหลายประเด็น เช่น นโยบายของพรรคต่อโทษประหารชีวิต ต่อประกาศ-คำสั่งของ คสช. ต่อผู้ลี้ภัย และต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ เป็นต้น โดยเป็นที่น่าเสียดายที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือพรรคการเมืองที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปอย่าง พรรคภูมิใจไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ร่วมตอบแบบสอบถามนี้

ภามรวมของรายงานที่ FIDH จัดทำขึ้นหลังได้รับคำตอบจากพรรคการเมืองพอสรุปได้ว่า

คำตอบในนโยบายด้านผู้ลี้ภัยและด้านสภาพการควบคุมตัวบุคคลในเรือนจำที่ได้รับจากพรรคการเมืองดูจะเป็นไปในทางที่ดี ในนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยพรรคการเมืองที่ตอบแบบสอบถามสนับสนุนการจัดทำกฎหมายเพื่อยืนยันหลักการที่จะไม่ส่งผู้ลี้ภัยที่ตกอยู่ในความเสี่ยงกลับประเทศต้นทาง ขณะที่นโยบายด้านสภาพการควบคุมตัวผู้ต้องขัง พรรคการเมืองหลายพรรคก็เห็นควรให้มีการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดภายในเรือนจำและการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสากล

อย่างไรก็ตามในคำตอบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางการเมืองอย่างเสรีภาพการแสดงออก และนโยบายของพรรคการเมืองต่อบทบาททางการเมืองของกองทัพ คำตอบที่ได้ดูจะไม่ได้เป็นไปในทางที่ดีมากนัก พรรคการเมืองที่ตอบคำถามส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาและไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขมาตรา 112 ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สนับสนุนการยกเลิกประกาศ คสช. ที่มีเนื้อหาควบคุมการทำงานของสื่อ

เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของประชาชนที่กำลังจะใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ไอลอว์จึงรวบรวมจุดยืนของพรรคการเมืองที่ร่วมตอบแบบสอบถามนี้ ในคำถามที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนมาไว้ ณ ที่นี้

ดูรายงานของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลฉบับเต็ม ที่นี่ https://bit.ly/2U2Nhkp

คำถาม “พรรคการเมืองของท่านจะดำเนินการอย่างไรเพื่อปรับปรุงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในประเทศไทย”

คำถามข้อนี้ FIDH ให้ตัวเลือกที่พรรคการเมืองสามารถเลือกตอบได้มารวม สี่ตัวเลือกคือ 1. ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา 2. แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 3. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) และข้อ 4. แก้ไขร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ โดยพรรคการเมืองแต่ละพรรคอาจเลือกตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อหรืออาจเลือกไม่ตอบข้อใดเลยก็ได้

กับคำถามข้อนี้พรรคการเมืองสี่พรรคคือ พรรคเพื่อฟ้าดิน พรรคอนาคตใหม่ พรรคแผ่นดินธรรม พรรครวมใจไทย และพรรคเพื่อชาติ ตอบว่าพรรคเห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา

พรรคการเมืองอีก 19 พรรค เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พรรคสามัญชน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อฟ้าดิน พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติและ พรรคอนาคตใหม่ เลือกที่จะแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

สำหรับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเพียงห้าพรรคการเมืองที่เสนอให้มีการแก้ไข ได้แก่ พรรคสามัญชน พรรคกลาง พรรคกรีน พรรคพลังไทยรักไทย และพรรครวมใจไทย

ส่วนการแก้ไขร่างพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ มีถึง 20 พรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เช่น พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน พรรคประชาชนปฏิรูป และ พรรคไทยศรีวิไลย์ เป็นต้น

ในบรรดาพรรคการเมืองที่ตอบคำถามข้อนี้มีถึง 20 พรรคการเมืองที่เลือกคำตอบสองตัวเลือก เช่น พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกรีนและพรรคประชาชาติ เป็นต้น

คำถาม “พรรคการเมืองของท่านจะออกมาตรการอะไรเพื่อสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”

สำหรับคำถามข้อนี้เจาะจงให้พรรคการเมืองเลือกแนวทางที่ทางพรรคเห็นด้วยในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งตัวเลือกของคำตอบข้อนี้มีเพียง 2 ข้อ ได้แก่ 1. แก้ไขไม่ให้มีโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมายนี้ และ 2. มอบอำนาจการแจ้งความข้อหานี้ให้กับบุคคลหรือสถาบันที่มีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกราชวงศ์

มี 4 พรรคการเมืองที่เห็นว่าควรยกเลิกโทษจำคุกสำหรับความผิดมาตรานี้ ได้แก่ พรรคสามัญชน พรรคกรีน พรรคมหาชน และพรรคพลังแรงงานไทย

อีก 6 พรรคการเมืองเห็นว่าควรแก้ไขให้อำนาจการแจ้งความอยู่ที่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกราชวงศ์เท่านั้น ได้แก่ พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พรรคกลาง พรรคประชาชาติ พรรครวมใจไทย พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย รวมทั้งพรรคประชาชนปฏิรูป

ส่วนพรรคอื่นๆอีก 21 พรรค เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคความหวังใหม่ และพรรคเพื่อชาติ ไม่ตอบคำถามข้อนี้

คำถาม “คำสั่งหรือประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับไหนที่พรรคการเมืองของท่านต้องการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก”

สำหรับคำถามข้อนี้ FIDH กำหนดคำตอบมาสามตัวเลือก ได้แก่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ซึ่งเป็นประกาศและคำสั่งที่มีเนื้อหาควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจทำความผิดในคดีความมั่นคงบางประเภทไปควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา และกำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นความผิดทางอาญา และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นผู้มีอิทธิพลหรือทำความผิดบางประเภทไปควบคุมเพื่อสอบถามโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาได้ไม่เกิน 7 วัน

พรรคการเมือง 8 พรรค เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกลาง พรรคประชาชาติ และพรรคไทยศรีวิไลย์ เลือกสนับสนุนข้อเสนอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประกาศคำสั่ง คสช.ที่มีเนื้อหาเป็นการควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน

พรรคการเมือง 9 พรรค เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พรรคเพื่อฟ้าดิน พรรคอนาคตใหม่ และพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย สนับสนุนการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558

พรรคการเมือง 16 พรรค เช่น พรรคสามัญชน พรรคกรีน พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคเพื่อชาติ สนับสนุนการแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ไป “สอบถาม” ในค่ายทหารได้ไม่เกิน 7 วัน

ในจำนวนนี้มี 3 พรรคการเมืองที่สนับสนุนการยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.มากกว่า 1 ตัวเลือก ได้แก่ พรรคทางเลือกใหม่และพรรคสยามพัฒนาที่สนับสนุนให้แก้ไขหรือยกเลิกทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ส่วนพรรคพลังแรงงานไทยสนับสนุนให้ยกเลิกหรือแก้ไขประกาศคำสั่ง คสช.ที่มีเนื้อหาควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559

และมีสองพรรคคือ พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทยและพรรคพลังไทยรักไทย ที่ไม่ตอบคำถามข้อนี้