เลือกตั้ง 62: การใช้อำนาจพิเศษของคสช.ในช่วงเลือกตั้ง

0000

จากกรณีที่ผู้สมัครส.ส.จากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเปิดเผยเรื่องทหารคุกคามค้นบ้าน ทำให้พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ออกมาชี้แจงว่า คสช.ดูแลความสงบเรียบร้อยในภาพรวมเจ้าหน้าที่ยังคงใช้กฎหมายปกติเข้าดำเนินการต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมายตามฐานความผิดต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกำลังหลัก ส่วนฝ่ายทหารหรือฝ่ายปกครอง จะให้การสนับสนุนในบางกรณีเท่านั้น   

หากมีการกระทำใดที่คิดว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิก็สามารถเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมได้ และยืนยันว่าคสช.ไม่มีการใช้อำนาจมาตรา 44 หรือมาตรการอื่นใดทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง โดยการใช้มาตรา 44 ในขณะนี้ก็เพื่อแก้ไขในส่วนที่กฎหมายปกติไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเร่งด่วน และในส่วนที่มีความสำคัญต่อการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลที่กฎหมายปกติอาจจะแก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงทีเท่านั้น   

จากการสืบค้นข้อมูลของไอลอว์ไม่ปรากฏว่า คสช.ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งเลยตามที่ คสช.จะยืนยันจริง แต่ก็พบว่าในช่วงเลือกตั้งมีการใช้อำนาจมาตรา 44 ที่เคยออกไว้เดิมลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและพรรคการเมืองอย่างชัดเจนไม่น้อยกว่า 13 กรณี โดยจำนวนนี้ไม่นับรวมอำนาจอันไร้ที่มาที่ไปในการติดตามนักการเมืองและประชาชน 

๐ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

วันที่ 1 เมษายน 2558 คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ให้ให้อำนาจเจ้าพนักงานจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า, ควบคุมตัว, ค้น ยึด อายัด, หรือควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวด้วย เพื่อประโยชน์ในการป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์, ความมั่นคง, อาวุธปืน หรือการกระทำความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของคสช. รวมทั้งสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมือง

ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 22/2561 ยกเลิก ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ปลดล็อคให้ประชาชนทำกิจกรรมสาธารณะได้อย่างสะดวกมากขึ้น และให้พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงได้ แต่การยกเลิกดังกล่าวอาจเป็นเพียงฉากการเมืองฉากหนึ่งเท่านั้น เพราะ คสช. ยังคงไว้ซึ่งอำนาจบุกค้นและเรียกบุคคลไปปรับทัศนติในค่ายทหาร 7 วัน โดยปรากฏการใช้อำนาจดังกล่าวในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจับประชาชน 2 คนเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหารและมีกรณีการบุกค้นบ้าน หรือไปหานักการเมืองและประชาชน ดังนี้

10 มีนาคม 2562

นครปฐม มติชนออนไลน์รายงานว่า จุมพิตา จันทรขจร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 5 จังหวัดนครปฐมให้ข้อมูลว่าหลังจากที่ได้ประกาศตัวต่อสาธารณะ และเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปแล้วว่าเธอเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 จังหวัดนครปฐม ของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ 2561 ปรากฏว่ามีตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้วเข้ามาพบที่บ้าน และบอกว่าได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่สังกัดตำรวจภูธรภาค 7 ให้มาประสานงาน อำนวยความสะดวก และดูแลเรื่องของความปลอดภัยต่างๆ โดยมีการสอบถามประวัติขอเธอและคนในครอบครัวด้วย

จุมพิดาระบุด้วยว่าหลังเจ้าหน้าที่ชุดข้างต้นมาที่บ้านของเธอก็มีเจ้าหน้าแล้วชุดปฏิบัติการพิเศษจำนวน 3 นายมาหาที่บ้าน แจ้งว่าได้รับมอบหมายให้มาอำนวยความสะดวก ดูแลเรื่องความปลอดภัย และสอบถามประวัติของตนเองเหมือนเดิม ซึ่งเธอบอกวา ได้เคยชี้แจงข้อมูลไปแล้ว แต่ตำรวจชุดดังกล่าวบอกว่า เป็นคนละหน่วยกันจึงอยากได้ข้อมูลใหม่ โดยในครั้งนี้เจ้าหน้าที่มีแบบฟอร์มในการสัมภาษณ์มาด้วย เจ้าหน้าที่ยังขอภาพถ่ายหน้าเต็มของเธอ ชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ที่อยู่ สังกัดพรรค ประวัติทางการเมือง บุคคลที่ให้การสนับสนุน รวมทั้งให้ระบุชื่อนามสกุลหัวคะแนนของเธอด้วย 

15 มกราคม 2562

ไม่ระบุ – ประชาชนรายหนึ่งแจ้งว่า มีทหารในเครื่องแบบ 2 นายมาที่บ้านของเขาโดยได้พบกับพ่อและแม่ของเขาและได้ทำการสอบถามข้อมูลของเขา เช่น เรื่องสุขภาพ ช่วงเวลาที่เขากลับบ้าน และเมื่อเขากลับมาบ้านมีพฤติกรรมอย่างไร ทำอะไรบ้าง ทหารบอกแม่ให้บอกเขาด้วยว่า อย่าไปยุ่งกับการชุมนุม เดี๋ยวจะเกิดปัญหาเพราะตัวเขามีชื่ออยู่ในบัญชีของเจ้าหน้าที่
นนทบุรี- พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นักกิจกรรมโพสต์เฟซบุ๊กว่า มีสันติบาลมาหาที่บ้านและขอถ่ายภาพด้วย โดยให้เหตุผลว่า ภาพเก่าที่เคยถ่ายไว้ใช้ไม่ได้แล้ว โดยนายมีการตรวจสอบว่า ภาพที่รายงานเข้าไปนั้นถ่ายไว้เมื่อไหร่

16 มกราคม 2562

แพร่ –  เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล 2 นาย เดินทางไปที่บ้านของ ประเสริฐ หงวนสุวรรณ สมาชิกพรรคสามัญชนจังหวัดแพร่ หลังจากออกมาชูป้ายคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งที่หน้าศาลากลางจังหวัดในวันที่ 13 มกราคม 2562 และสอบถามว่า จะไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือมีการจัดกิจกรรมในจังหวัดอีกหรือไม่ หากมีขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน

18 มกราคม 2562

กรุงเทพฯ – สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย โพสต์เฟซบุ๊กว่า เวลา 10.30 น. มีทหารนอกเครื่องแบบมาที่บ้าน สอบถามเรื่องการนำสมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยไปเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 19 มกราคม 2562 ซึ่งเขาได้อธิบายไปว่า มีสุวรรณา ตาลเหล็กเป็นพิธีกร ส่วนประชาชนที่มาร่วมให้ไปดูจำนวนในวันชุมนุมเอง ต่อมาเวลา 16.30 น. มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาหาสมยศที่บ้านอีกครั้ง โดยถามว่า ทำไมถึงไม่ไปประชุมกับพวกน้องๆ สมยศตอบว่า หลังออกจากคุกงานเก่าพินาศไปหมดแล้ว ยังไม่มีงานใหม่ ไม่มีเงินค่ารถไปร่วมด้วย

19 มกราคม 2562

กรุงเทพฯ – ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “กันต์ แสงทอง” โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่าว่า มีตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สน. ตลิ่งชันมาที่บ้านของเขาแต่เขาไม่อยู่จึงได้แต่เจอกับแม่ของเขาแทน

19 มีนาคม 2562

นครพนม มติชนออนไลน์รายงานว่า ชวลิต วิชยสุทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 4 พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม ให้ข้อมูลว่า ถูกชายฉกรรจ์อ้างตัวเป็นทหารประมาณ 5 คน บุกมาหาที่บ้านในเวลาประมาณ 14.30 น. ทั้งห้าไม่ยอมแสดงตัวว่ามาจากหน่วยงานใดบอกแต่เพียงว่ามาตรวจสอบป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ชายกลุ่มดังกล่าวยังบันทึกภาพ บ้าน และรถยนต์ทุกคันที่จอดในบ้านของเขาไปด้วย นอกจากกรณีของชวลิตไทยรัฐออนไลน์ยังรายงานกรณีของ สมบูรณ์ นาคะอินทร์ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยด้วย สมบูรณ์ให้ข้อมูลกับไทยรัฐว่า มีรถยนต์กระบะ 4 ประตู มาจอดที่หน้าบ้านของเขา 2 คัน จากนั้นมีชายฉกรรจ์คล้ายทหารตำรวจนอกเครื่องแบบ ผมสั้นเกรียนลงจากรถมา 5 คน เดินเข้ามาในบ้านของเขา เมื่อสอบถามสังกัดคนกลุ่มดังกล่าวไม่ยอมแสดงตัว บอกเพียงแต่ว่ามาตรวจสอบ ป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียง โดยมีการบันทึกภาพบ้านและภาพรถยนต์ที่จอดในบ้านของเขาไปด้วย แพร่ – ประเสริฐ หงวนสุวรรณ นักกิจกรรมในจังหวัดแพร่ แจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจาก สภ. เมืองแพร่ เข้ามาหาเขาที่บ้านซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองแพร่ว่า เขามีกำหนดเดินทางไปบริเวณที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดขึ้นปราศรัยหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ตำรวจสันติบาลก็โทรศัพท์มาสอบถามเรื่องนี้กับเขาด้วยเช่นเดียวกัน

20 มีนาคม 2562

แม่ฮ่องสอนเชียงใหม่นิวส์รายงานว่า ทหารพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าตรวจบ้านพักของนิรันดร์ จันทร์แค้น นายกสภาอบต.ห้วยผา โดยไม่แสดงหมายค้น ก่อนหน้านี้นิรันดร์เคยถูกนายทหารยศพลโทคนหนึ่งเรียกไปพบที่โรงแรมอิมพีเรียลธารา นายทหารคนดังกล่าวได้ขอร้องให้นิรันดร์ยุติการสนับสนุนผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ หากไม่ทำตามจะสกัดกั้นนิรันดร์ทุกวิถีทาง ซึ่งตอนนั้นนิรันดร์เข้าใจว่าเป็นการพูดเล่นจึงไม่ได้ใส่ใจ แต่ก็มาถูกบุกค้นบ้านในเวลาต่อมาวันเดียวกันก็มีทหารเข้าตรวจค้นบ้านของสมศักดิ์ ณ มาตคำ นายกสภา อบต. หมอกจำแป่ด้วย สมบัติ ยะสินธุ์ ผู้สมัครส.ส. เขต 1 แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนของพรรคประชาธิปัตย์ถูกตรวจค้นกว่า 20 คนและคาดว่าจะมีมากกว่านี้อีก โดยตั้งข้อสังเกตว่าการคุกคามน่าจะเกิดจากการที่มีการส่งนายทหารระดับนายพันคนหนึ่งมา”ดูแล” การเลือกตั้งในพื้นที่โดยนายทหารคนดังกล่าวน่าจะใกล้ชิดกับพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร

20 มีนาคม 2562

นนทบุรีมติชนออนไลน์รายงานว่า หลังจากที่ได้รับเบาะแสว่าอาจมีการทุจริตซื้อเสียงในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจสันติบาลราว 30 นาย ก็ลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบ และได้ไปที่บ้านพักของกาญจนา เจริญนนทสิทธิ์ภรรยาของโกวิทย์ เจริญนนทสิทธิ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองบางทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของวันชัย เจริญนนทสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 จังหวัดนนทบุรี พรรคเพื่อไทย โดยกาญจนาระบุว่า ในการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายหรือเอกสารใดๆ22 มีนาคม 2562
กรุงเทพฯ, ชลบุรี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากบุคคลใกล้ชิดของชาย 2 คนที่ถูกควบคุมตัวไปค่ายทหารจาก 2 เหตุการณ์ ได้แก่ สุธีพัทธ์ถูกทหารคุมตัวไปในช่วงเช้าเนื่องจากแชร์ภาพเอกสารคำสั่งที่ให้หน่วยทหารทำ IO (ปฎิบัติการข่าวสาร) สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ครอบครัวของสุธีพัทธ์ให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายฯว่า สุธีพัทธ์ถูกคุมตัวที่ “ราบ 11”  นอกจากกรณีของสุธีพัทธ์ก็มีกรณีของเถลิงศกที่ถูกทหารควบคุมตัวไปตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2562 “ไหม” เพื่อนของเถลิงศกแจ้งกับศูนย์ทนายฯว่า เถลิงศกและน้องสาวของ ”ไหม” ถูกคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 14 จ.ชลบุรี จากเหตุโพสต์ภาพรถทหารที่มีป้ายเขียนว่า พาคนไปเลือกตั้ง

๐ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559

วันที่ 29 มีนาคม 2559 คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 12/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตราย ต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดตามคำสั่งฉบับนี้ ไปสอบถามและกักตัวไว้ไม่เกิน 7 วัน ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวตามคำสั่งฉบับนี้ โดยในช่วงการเลือกตั้งปรากฏการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างชัดเจน 1 ครั้งคือวันที่ 17 มีนาคม 2562 เวลา 17:00 น. ทหาร 5 นาย และ ตำรวจ 6 นาย ร่วมกันตรวจค้นบ้านของพุทธ สุนันต๊ะ บุคคลใกล้ชิด ไพโรจน์ ตันบรรจง ผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 จังหวัดพะเยา พรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในอำเภอปง จังหวัดพะเยา โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 เจ้าหน้าที่ใช้เวลาค้นบ้านของพุทธประมาณ 30 นาที

๐ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557

ก่อนการรัฐประหาร คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาของสื่อ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ) ในการลงโทษสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่ขัดต่อมาตราดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ กสทช. จะใช้อำนาจลงโทษสื่อโดยอ้างว่า เป็นเนื้อหาที่ “ขัดต่อศีลธรรมอันดี”

หลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช. มีการออกประกาศคำสั่งที่ใช้ควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อเพิ่มเติม ได้แก่ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 สั่งห้ามออกอากาศเนื้อหาเช่น เนื้อหาที่ส่อไปทางหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ,ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ, การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช.โดยมีเจตนาไม่สุจริต และส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก ประกาศทั้งสองฉบับไม่ได้มีการกำหนดมาตรการลงโทษใดๆไว้

ต่อมาในปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 41/2559 กำหนดให้กสทช.มีอำนาจพิจารณาและกำหนดมาตรการลงโทษสื่อมวลชนที่นำเสนอเนื้อหาเข้าข่ายขัดต่อประกาศสองฉบับข้างต้นช่วงการเลือกตั้ง กสทช. ลงโทษสื่อโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 41/2559  1 ครั้งคือลงโทษช่องวอยซ์ ทีวี โดยในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมกสทช. พิจารณาเนื้อหารายการของช่อง วอยซ์ 5 เทปได้แก่ รายการ Tonight Thailand 1 เทป ซึ่งออกอากาศในวันที่ 16 ธันวาคม 2561 และรายการ Wake up news 4 เทปที่ออกอากาศในวันที่ 21, 28 และ 29 มกราคม และ 4 กุมภาพันธ์ 2562 โดยกสทช.เห็นว่าเนื้อหาของรายการดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสน และยั่วยุให้เกิดความแตกแยกตามประกาศคสช.ที่ 97 และ 103/2557 และมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ รวมทั้งยังเป็นการกระทำความผิดซ้ำซาก กสทช.จึงสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วัน

ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ – 27 กุมภาพันธ์ 2562ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 วอยซ์ ทีวี ยื่นฟ้องกสทช.ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันของกสทช. ระหว่างการพิจารณาศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองให้วอยซ์ ทีวีสามารถออกอากาศได้ก่อน กระทั่งมีคำพิพากษาออกมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562  ระบุว่า การนำเสนอเนื้อหาของวอยซ์ ทีวีไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก และมีคำสั่งเพิกถอนมติของที่ประชุมกสทช.ที่สั่งระงับการออกอากาศของช่องว๊อยซ์ข้างต้น