มิตรภาพระหว่างรบ?: ความในใจของสายข่าวและสายข่าวในมุมมองผู้ร่วมชุมนุม

“สายข่าว” หรือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ทำตัวปะปนเข้ามาเก็บข้อมูล คือ ตัวละครอีกตัวหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ทั้ง สถานที่ชุมนุม หรืองานเสวนาวิชาการในประเด็นร้อน เวลาทำงานภาคสนามเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะไม่สวมเครื่องแบบ แต่คนที่ไปร่วมกิจกรรมบ่อยๆ ก็คงแยกพวกเขาออกจากผู้เข้าร่วมทั่วไปได้ไม่ยากนัก เพราะพวกเขาจะตัดผมสั้นเกรียน แต่งตัวทะมัดทะแมง และง่วนอยู่กับโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา 
ระหว่างทำงานเจ้าหน้าที่สายข่าวบางคนเลือกที่จะวางตัวแบบไม่สุงสิงกับผู้เข้าร่วมชุมนุม แต่ก็จะมีสายข่าวอีกส่วนหนึ่งที่พยายามเข้ามาพูดคุย สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชุมนุมทั้งในระดับแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุม (จะด้วยเหตุอะไรก็สุดแท้แต่)   
แม้ว่าเจ้าหน้าที่สายข่าวจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกพบเห็นเป็นประจำ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของคนกลุ่มนี้ก็อาจก่อให้เกิดคำถามในสังคมว่า ข่าวที่พวกเขามาหาคืออะไร? เมื่อถ่ายภาพผู้ชุมนุม ภาพถ่ายเหล่านั้นถูกส่งไปไว้ที่ไหน? และที่สำคัญที่สุด เวลามีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี คนที่ชี้เป้าว่า จะดำเนินคดีใคร คือ เจ้าหน้าที่เหล่านี้หรือไม่ ไอลอว์มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สายข่าวสองท่าน ทั้งสองยินดีช่วยสะท้อนวิธีการและประสบการณ์การทำงาน โดยขอสงวนชื่อ ยศ และต้นสังกัดไว้เพื่อไม่ให้กระทบกับหนาที่การงาน โดยจะเรียกพวกเขาเป็นนามสมมติแทน
ขณะเดียวกันไอลอว์ก็ได้สัมภาษณ์ผู้ที่เคยร่วมชุมนุมถึงมุมมองที่มีต่อเจ้าหน้าที่สายข่าว เพื่อให้เห็นมุมองที่ต่างกันของมิตรภาพชั่วคราวที่สร้างขึ้นในสนามรบทางความคิดความเชื่อ
“พี่บิ๊ก”: ความสัมพันธ์กับผู้ชุมนุม เหมือนกับมิตรภาพกลางสนามรบ
“พี่บิ้ก” สายข่าวรุ่นใหญ่เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำงานในหน่วยข่าว เขาเริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือการเมืองด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
“พี่บิ๊ก” บอกว่าการทำงานเป็นเจ้าหน้าปฏิบัติการในสนามแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการทำงานข่าว เจ้าหน้าที่ภาคสนามจะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความกดดัน หลายครั้งต้องยืนประจำการเป็นเวลายาวนานบางครั้งก็อาจเกิดอารมณ์ “เบื่อม็อบ” ขณะที่บางคนเวลาได้ฟังปราศรัยมากๆ บางทีก็อาจจะรู้สึกคล้อยตามหรืออาจถึงขั้น “อิน” ไปกับคำปราศรัย เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปฏิบัติการเดินหน้าเข้ากดดันเพื่อยุติการชุมนุม “พี่บิ๊ก” ระบุว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ก็อาจจะถอยไปอยู่แนวหลังในลักษณะไม่อยากเข้าปะทะ
“พี่บิ๊ก” เล่าต่อว่าเมื่อผู้บังคับบัญชาให้เขามาทำงานด้านการข่าว ช่วงแรกเขาก็รู้สึกชอบเพราะเป็นงานที่ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ เมื่อได้เริ่มงาน เขาก็คิดว่าต้องปกปิดตัวตนให้มากที่สุด แต่หลังๆ เมื่อทำงานในตำแหน่งนี้เป็นเวลานาน ประกอบกับได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นคนติดต่อประสานงานกับผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ เขาก็เริ่มไม่สนใจเรื่องการปิดลับ 
ในยุคแรกที่เขาทำงานข่าวเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า ไม่มีสมาร์ทโฟน จึงใช้วิธีจดคำปราศรัยหรือบันทึกเทปแล้วไปถอดทีหลัง ส่วนการรายงานสถานการณ์สมัยนั้นก็จะไม่ได้เป็นการรายงานแบบเรียลไทม์เหมือนสมัยนี้ ต้องเกาะติดกินนอนอยู่ในพื้นที่การชุมนุม บางทีก็ต้องเฝ้าในที่ชุมนุมนานกว่า 8 ชั่วโมง
สำหรับประสบการณ์ในการชุมนุมทางการเมือง “พี่บิ้ก” เล่าว่า ในช่วงที่เมืองไทยเผชิญกับสภาวะ “สงครามสีเสื้อ” เขามีโอกาสเข้าไปทำงานในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่มีความคิดความเชื่อทางการเมืองต่างกัน ฝั่งหนึ่งแกนนำปราศรัยในลักษณะดึงตำรวจเป็นพวก แล้วโจมตีทหาร ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งโจมตีตำรวจแล้วแสดงความนิยมฝ่ายทหาร “พี่บิ้ก” ยอมรับว่า เวลาทำงานในพื้นที่การชุมนุมที่มีการสร้างกระแสหรือ “บิวท์” ให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจเจ้าหน้าที่เขาก็มีความกังวลในความปลอดภัยของตัวเองบ้าง และเขาเคยถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยของผู้ชุมนุมกักตัวไว้ประมาณห้าครั้ง แต่แกนนำผู้ชุมนุมก็บอกให้หน่วยรักษาความปลอดภัยของผู้ชุมนุมปล่อยตัวเขาไป 
เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวจะบันทึกภาพผู้ร่วมการชุมนุมหรือเวทีเสวนาไปทำไม “พี่บิ้ก” ตอบว่า บางครั้งอาจมีกลุ่มก่อกวนหรือมือที่สามปะปนมากับกลุ่มผู้ชุมนุม การถ่ายภาพจึงอาจเป็นการบันทึกหลักฐานไว้ หากมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ในการดำเนินคดีในโอกาสต่อไป
เมื่อถามต่อไปว่า การถ่ายภาพเหล่านี้คือการชี้เป้าให้ผู้มีอำนาจหรือไม่ พี่บิ๊กตอบเพียงว่า คนมาร่วมชุมนุมก็มีหลักร้อยหลักพัน เป็นไปไม่ได้ที่จะถ่ายรูปคนมาร่วมทั้งหมด คนที่ถูกถ่ายก็จะต้องเป็นคนที่ทำอะไรเด่นๆ หรือเป็นจุดสนใจและสุดท้ายหากไม่ได้ทำอะไรที่ถึงขั้นผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่จะไปทำอะไรก็คงไม่ได้ “พี่บิ๊ก”ย้ำด้วยว่า การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมในเรื่องการถ่ายรูปนั้นเป็นเหมือนกันทุกกลุ่มการชุมนุม ไม่ใช่แบ่งแยกกันตามแนวคิดและจุดยืนทางการเมือง
เมื่อถามว่า การที่ตัว “พี่บิ๊ก” มีเทคนิคการทำงานในลักษณะที่เข้าหาสนิทสนมกับแกนนำการชุมนุม หรือผู้ชุมนุม ทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่สบายใจหรือไม่ “พี่บิ้ก” ตอบว่า ไม่มีปัญหา เพราะความสนิทสนมที่เขามีเป็นไปเพื่อความราบรื่นในการประสานงานเท่านั้น “พี่บิ้ก” ย้ำหลายครั้งว่า แนวทางการทำงานของเขาช่วยให้จังหวะที่สถานการณ์การชุมนุมตึงเครียดสามารถผ่อนคลายสถานการณ์และทำให้การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่และแกนนำที่กำลังจะถึงทางตันสามารถคลี่คลายไปได้ 
“พี่บิ้ก” บอกเพิ่มเติมว่า ความสนิทสนมไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการคลี่คลายสถานการณ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อใจ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างขึ้นมา เขาเชื่อว่าไม่มีแกนนำคนไหนที่อยากนำการชุมนุมไปสู่เหตุรุนแรงเพราะนั่นจะเป็นตราบาปของคนเป็นแกนนำไป ในการเจรจาเมื่อมีการตกลงกันไว้แค่ไหน ก็ต้องเป็นไปตามที่ตกลงกัน เพราะถ้าไม่เป็นไปตามที่เจรจากันครั้งหนึ่งก็ยากที่จะมีความเชื่อใจในการเจรจาครั้งต่อไป 
เมื่อถามถึงความเสี่ยงในหน้าที่การงาน “พี่บิ้ก” เล่าแบบติดตลกว่าเมื่อครั้งหนึ่งที่เขาต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุมยืดเยื้อ ภรรยาของเขาเคยแอบทำประกันชีวิตไว้ กระทั่งเมื่อการชุมนุมครั้งนั้นจบลงด้วยดีภรรยาจึงนำกรมธรรม์มาให้ดู 
“ถ้ามีการสลายการชุมนุมลูกปืนมันไม่เข้าใครออกใครหรอก” “พี่บิ๊ก”ระบุ 
นอกจากนั้นเขาก็ยอมรับว่า มีบ้างที่รู้สึกอยากเปลี่ยนสายงาน “หลายครั้งกว่าจะได้กลับบ้านลูกก็หลับไปแล้ว และก็ต้องออกจากบ้านก่อนลูกตื่น แฟนพี่เค้ามีกิจการเล็กๆ พอต้องไปติดตามการชุมนุมบ่อยๆก็เลยไม่ค่อยได้ช่วยเขา”
“พี่บิ้ก” ทิ้งท้ายว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองก็เป็นคน แต่ละคนก็มีความคิด มีจุดยืนมีความเห็นทางการเมืองของตัวเอง แต่พอลงสนามมันต้องทิ้งตรงนั้นไว้แล้วทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุด สถานะความเป็นสายข่าวกับผู้ชุมนุมมันเป็นความสัมพันธ์ที่กินระยะเวลาสั้นๆ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ชุมนุมเองก็คงไม่ได้ชุมนุมนาน เมื่อการชุมนุมยุติทุกคนก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ เขาแค่หวังว่าเมื่อพบกันนอกพื้นที่การชุมนุม นอกสนามความขัดแย้ง หากมีโอกาสเจอกันจะยกมือสวัสดีกันทักทายกันได้ 
เขาเปรียบเทียบว่า ความสัมพันธ์ในฐานะสายข่าวของเขากับแกนนำหรือผู้ชุมนุมก็เหมือนมิตรภาพระหว่างสนามรบ ในช่วงที่มีการชุมนุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวอย่างเขาดูเหมือนจะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับผู้ชุมนุมและแกนนำ แต่แท้ที่จริงแล้วในการทำงานเบื้องหลังทั้งเขาและแกนนำก็มีการพูดคุยและร่วมหาทางออกให้การชุมนุมแต่ละครั้งจบลงด้วยดีในลักษณะที่ผู้ชุมนุมก็ได้แสดงออกหรือปลดปล่อยความไม่พอใจ ขณะที่ฝ่ายรัฐหรือผู้มีอำนาจเองก็ไม่ “เสียหน้า” จนเกินไป เพราะถึงที่สุดหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นมันก็จะเป็นความพ่ายแพ้ของทุกฝ่าย  
บุคคลซึ่งน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบันทึกวิดีโอการทำกิจกรรมคัดค้านการดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กกต. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 26 เมษายน 2562 
“พี่บอย”: ผมทำได้แค่เตือน แต่การตัดสินใจและผลของการตัดสินใจเป็นเรื่องของคุณ
“พี่บอย” เจ้าหน้าทำฝ่ายช่าวซึ่งอายุอานามน่าจะยังไม่ถึงเลขสี่ เปิดเผยว่า เขารับราชการมานานกว่าสิบปีแล้ว แต่เพิ่งมาทำงานข่าวได้ประมาณสองปี 
“พี่บอย” ยังเล่าแบบติดตลกด้วยว่า “ตอนแรกที่ผู้บังคับบัญชาชวนให้มาทำหน้าที่นี้ก็รู้สึกตื่นเต้น เหมือนตัวเองจะได้เป็นสายลับแบบเจมส์ บอนด์ แต่เอาเข้าจริงเวลาทำงานเรากลับกลายเป็นเหมือนนักข่าวเลย นักข่าวไปไหนเราไป นักข่าวถ่ายรูปอะไรเราก็ถ่าย” 
“พี่บอย” เล่าด้วยว่าการทำงานข่าวไม่ใช่ใครอยากจะทำก็ทำได้แต่จะต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรการข่าวเบื้องต้นเสียก่อน หลังย้ายมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การข่าวกับต้นสังกัดใหม่ เขาก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานข่าวในการชุมนุมที่เกี่ยวกับประเด็นการเมืองมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การหาข่าวก็ไม่ได้มีเฉพาะหาข่าวจากพื้นที่การชุมนุมเท่านั้น ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวเองก็จะถูกส่งไปสำรวจความนิยมของประชาชนตามชุมนุมต่อรัฐบาล ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหารต่างก็ใช้บริการเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวเหมือนกัน
สำหรับวิธีการทำงาน “พี่บอย” เล่าว่า มีทั้งการเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ข่าวต่างๆ ไปจนถึงเฟซบุ๊กเพจของนักกิจกรรมที่ตั้งโปรไฟล์เป็นสาธารณะและเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวจากหน่วยข่าวต่างๆ ก็มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันอยู่เป็นระยะ
“พี่บอย” เล่าต่อว่า เมื่อได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ เขาก็จะต้องไปให้ถึงพื้นที่จัดงานตั้งแต่ก่อนถึงเวลาเริ่มกิจกรรม จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลว่า มีใครมาบ้าง มีการทำกิจกรรมใดบ้าง หากมีการปราศรัยใครขึ้นพูดบ้าง พูดอะไร ในส่วนของการปราศรัยเจ้าหน้าที่บางคนจะพิมพ์รายงานแบบคำต่อคำ ส่วนบางคนจะสรุปเป็นประเด็นก่อนการรายงาน  
สำหรับหน้าที่ของ “พี่บอย” คือ ถ่ายภาพเหตุการณ์ในที่ชุมนุมส่งผู้บังคับบัญชา และรายงานคำปราศรัยและประเด็นในการปราศรัย บางครั้ง “พี่บอย” ก็เคยเตือนไปทางผู้จัดในกรณีที่เนื้อหาของการปราศรัยอาจมีลักษณะสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย แต่ใครจะฟังคำเตือนของเขาหรือไม่ก็เป็นเรื่องของคนที่พูดจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำ ในส่วนของบทสนทนาวงย่อยระหว่างผู้ชุมนุม “พี่บอย” ระบุว่า เขาจะไม่ได้รายงานในส่วนนี้เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว เขาจะสนใจเฉพาะคำพูดที่มีลักษณะเป็นการปราศรัยต่อสาธารณะเท่านั้น
“พี่บอย” เล่าด้วยว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่การข่าวเองก็ถูก “พวกเดียวกัน” ทั้งสายข่าวด้วยกัน หรือเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบถ่ายภาพเพราะเข้าใจผิดว่า เป็นผู้มาร่วมชุมนุม เพราะเจ้าหน้าที่การข่าวเองก็ใช่ว่าจะรู้จักกันทั้งหมด ส่วนเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ถูกดึงตัวมาช่วยงานจากพื้นที่อื่น ก็อาจจะไม่คุ้นหน้าเจ้าหน้าที่สายข่าว  
เมื่อถามถึงวิธีการทำงานในพื้นที่ เขาบอกว่า ตัวเขาไม่เคยปิดบังตัวเอง ถ้ามีใครมาถามว่าเป็นใครเขาก็จะตอบว่า “ผมเป็นเจ้าหน้าที่” ถ้าไปโกหกว่า เป็นผู้ร่วมชุมนุมแล้วสุดท้ายมีคนจับได้ก็จะทำงานในพื้นที่ได้ลำบาก ถ้าเปิดเผยตรงไปตรงมามันก็แฟร์กับทั้งสองฝ่าย แต่ “พี่บอย” ก็ยอมรับว่าอาจจะมีเพื่อนร่วมอาชีพบางคนที่มีมุมมองในการทำงานว่าควรจะปิดบังตัวตน    
“จำได้ว่าตอนทำงานลงพื้นที่ครั้งแรกๆ ผมไม่รู้จักใครเลย ก็ได้แต่ถ่ายรูปกับจดเนื้อหาที่คนปราศรัยแล้วก็รายงานแค่นั้น จริงๆ ก็มีคนมองแบบแปลกๆ บ้างนะอาจเป็นเพราะเห็นว่า ผมหน้าแปลก มาช่วงหลังตอนทำงานก็เจอพี่ผู้หญิงคนนึงมาทักทายคุยด้วย ก็บอกเค้าไปว่า เป็นเจ้าหน้าที่ เค้าก็พาไปรู้จักเพื่อนๆเค้าคนอื่นๆ พอเห็นหน้าคุ้นหน้ากันแล้ว การไปลงทำงานครั้งหลังๆ เราก็รู้สึกปลอดภัยขึ้น ทำงานง่ายขึ้น ผมก็บอกเค้านะว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร” 
เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวเองก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต่างก็มีความคิดทางการเมือง เมื่อต้องมาอยู่ในที่ชุมนุม ต้องฟังการปราศรัยทางการเมืองที่อาจมีความเห็นทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ในการปฏิบัติหน้าที่ “พี่บอย” จัดการอารมณ์ความรู้สึกในการทำงานอย่างไร เขาตอบว่า ตัวเขาสามารถแยกได้ระหว่างความรู้สึกนึกคิด กับหน้าที่ การมีโอกาสฟังปราศรัยหรือพูดคุยกับคนที่มาร่วมชุมนุมทำให้ตัวเขามีโอกาสได้รับความรู้หรือข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่สิ่งสำคัญสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ คือ เมื่อฟังอะไรก็ต้องวางไว้ตรงนั้นจะพอใจหรือไม่พอใจ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ความรู้สึกเหล่านี้ต้องวางไว้ 
“พี่บอย” เล่าต่อว่า หน้าที่ของเขาเป็นเพียงการหาข่าวและรายงานผู้บังคับบัญชา แต่ไม่มีหน้าที่ทำการจับกุมตัว ด้วยความที่สนิทกับผู้ชุมนุมบางคน เวลามีการชุมนุมในลักษณะที่มีการเคลื่อนขบวนออกจากที่ตั้ง เขามักจะบอกกับผู้ชุมนุมคนที่รู้จักว่า ทางผู้บังคับบัญชามอบนโยบายมาแล้วว่าให้เดินได้ถึงแค่ไหน และหากมีการเคลื่อนขบวนเลยจากจุดไหนจะดำเนินคดี 
“ผมไม่คิดว่าผิดนะ เพราะถ้าเราเตือนไปแล้วผู้ชุมนุมเค้าฟัง เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องจับหรือสลาย ก็จะไม่ตกเป็นเป้าให้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนคนที่มาชุมนุมก็ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน แต่สุดท้ายถ้าเตือนแล้วเขาไม่ฟังแล้วเดินไปเราก็มีหน้าที่ถ่ายภาพและรายงานผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับ” 
“พี่บอย” ทิ้งทายบทสนทนาไว้ว่า จริงๆคนที่เขาเจอในที่ชุมนุมส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีอายุ ไม่ได้เป็นคนที่มีความสามารถจะเป็นอันตรายหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงได้เลย แต่หลายคนพอมาร่วมกิจกรรมก็ถูกดำเนินคดี บางทีอ่านข่าวในฐานะที่เป็นมนุษย์คนนึงก็รู้สึกแย่ และก็ไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะดำเนินคดีลุงๆป้าๆที่มาร่วมชุมนุม คนทั่วไปพอเห็นข่าวว่ามีการดำเนินคดี มีคนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ก็อาจจะรู้สึกไม่อยากให้ชีวิตตัวเองยุ่งยากและตัดสินใจไม่มาร่วมชุมนุม
ภาพถ่ายกลุ่มบุคคลที่อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่สายข่าวที่มาสังเกตการณ์การทำกิจกรรมยืนเฉยๆประท้วงกกตที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 23 เมษายน 2562 โดยบุคคลกลุ่มดังกล่าวจะคอยสังเกตการณ์การทำกิจกรรมอยู่ใกล้ๆและคอยถ่ายภาพโดยไม่มีการพูดคุยกับผู้ทำกิจกรรม (กลุ่มบุคคลกังกล่าวไม่ใช่แหล่งข่าวในงานชิ้นนี้)
“เบิ้ม”: การมาทำงานของสายข่าวคือภาพสะท้อนความไม่ไว้วางใจของรัฐต่อประชาชน  
ในฐานะคนที่มีส่วนร่วมในการจัดการชุมนุม “เบิ้ม” เคยมีโอกาสพูดคุยและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่ง “เบิ้ม” เล่าว่า เวลาเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาพูดคุย เขาพอจะแยกได้บ้างว่า คนไหนเป็นทหาร คนไหนเป็นตำรวจ เพราะวิธีการเข้าหาหรือพูดคุยจะแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยคนที่เป็นตำรวจส่วนใหญ่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู็จัดหรือผู้ชุมนุมมากกว่า ทหารส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพูดคุยกับใคร 
แม้จะยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวหลายคนที่เขาเคยพบจะพูดคุยด้วยดีมีความเป็นมิตร แต่ “เบิ้ม” ก็ยอมรับว่า เขารู้สึกไม่ค่อยไว้ใจเจ้าหน้าที่เหล่านั้น “เบิ้ม” ระบุว่า เจ้าหน้าที่บางคนมาทำงานแบบไม่เปิดเผยตัว เข้ามาตีสนิทและพูดคุยกับผู้ชุมนุมเพื่อหาข่าว นอกจากนั้น “เบิ้ม” ก็มองว่า การที่พวกเขาถ่ายรูปผู้ชุมนุมบางส่วนส่งให้ผู้บังคับบัญชาก็น่าจะเป็นการชี้เป้าไปโดยปริยาย เพราะในแต่ละครั้งอาจจะมีคนมาร่วมชุมนุมหลักร้อยซึ่งคงเป็นไปได้ยากที่สายข่าวจะถ่ายภาพผู้มาร่วมชุมนุมครบทุกคน การที่พวกเขาเลือกถ่ายภาพใครมันก็น่าจะต้องมีวิธีคิดบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ขณะที่คนที่ถูกถ่ายภาพก็จะมีตัวตนในฐานข้อมูลของเจ้าหน้าที่และอาจถูกดำเนินคดีตามหลังได้ไม่ยาก 
เมื่อถามว่า “เบิ้ม” คิดเห็นอย่างไรต่อแนวคิดที่ว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหรือเจ้าหน้าที่สายข่าวอาจจะมีส่วนช่วยในการสังเกตการณ์ ‘ผู้ไม่หวังดี’ ที่อาจปะปนมาสร้างสถานการณ์ในหมู่ผู้ชุมนุม “เบิ้ม” ตอบว่า เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดแบบนี้สักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นมุมมองที่สะท้อนทัศนคติความไม่ไว้ใจต่อประชาชนและอคติต่อคนที่ออกมาร่วมการชุมนุมว่า มีแนวโน้มจะก่อความวุ่นวาย นอกจากนั้นในทางปฏิบัติผู้ชุมนุมก็มีการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยและตรวจอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว 
“เบิ้ม”ระบุด้วยว่าการที่เจ้าหน้าที่สายข่าวมาปฏิบัติการในพื้นที่การชุมนุมน่าจะส่งผลให้ผู้ชุมนุมหรือคนที่ปราศรัยไม่กล้าแสดงออกอย่างเต็มที่เพราะกลัวถูกจับหรือถูกดำเนินคดีย้อนหลัง 
“เบิ้ม” ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่เจ้าหน้าที่บางส่วนมีความสนิทสนมกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมบางคนอาจส่งผลให้เกิดความระแวงในหมู่ผู้ชุมนุมด้วยกัน เพราะอาจมีคนคิดว่าผู้ชุมนุมหรือแกนนำบางคนเอาข่าวไปให้กับเจ้าหน้าที่ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อขบวน ซึ่งข้อนี้ทำให้ตัว “เบิ้ม” พยามที่จะรักษาระยะห่างจากเจ้าหน้าที่สายข่าว และจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ไว้เพียงการประสานงานระหว่างการชุมนุมเท่านั้น     
“พี่ตา”: ไม่มีใครคิดร้ายกับใคร 
“พี่ตา” เป็นหนึ่งใน “พลเมืองผู้ตื่นตัว” ที่เข้าร่วมการชุมนุมและงานเสวนาทางการเมืองบ่อยครั้งจนสำหรับเธอเจ้าหน้าที่สายข่าวได้เปลี่ยนจากคนแปลกหน้าเป็นคนคุ้นเคยไปเสียแล้ว 
“พี่ตา” ระบุว่า ตัวเธอเริ่มสนใจและเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่สมัยหลังรัฐประหาร 2549 แล้ว กระทั่งช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 เธอมีโอกาสไปร่วมการเสวนาวิชาการตามมหาวิทยาลัยบ่อยครั้งขึ้นเธอจึงเริ่มสังเกตกลุ่ม “ชายแปลกหน้า” ที่นั่งไม่พูดไม่จา เล่นโทรศัพท์หรือตั้งกล้องถ่ายวิดีโอตั้งแต่ต้นจนจบเวทีอยู่หลังห้อง แล้วคุยกับเพื่อนๆ ที่มาด้วยกันว่า พวกนี้ใคร เธอจึงได้รู้ว่าพวกเขาไม่ใช่ใครแต่เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มาหาข่าวนี่เอง 
ตัว “พี่ตา” มีโอกาสรู้จักกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบครั้งแรกหลังการรัฐรัฐประหาร 2557 แต่เป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก ครั้งนั้นเธอไปร่วมการชุมนุมเพื่อคัดค้านการรัฐประหารที่ห้าง Terminal 21 ด้วยการไปชูสามนิ้ว ระหว่างที่ทำกิจกรรมมีนักข่าวส่งสัญญาณถึงคนที่มากับเธอว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจะรวบตัวเธอ “พี่ตา” กับเพื่อนจึงเดินออกจากพื้นที่เพื่อแยกย้ายกลับบ้าน ระหว่างที่ข้ามถนนจากห้างเธอเห็นชายแปลกหน้าสองคนวิ่งตามและได้ยินเสียงตะโกนว่า “พี่หยุดก่อน” แต่เธอก็ไม่หยุดได้แต่ตะโกนว่าจะกลับบ้าน 
ชายแปลกหน้าสองคนยังวิ่งตามมา แต่ระหว่างนั้นเองมีเสียงผู้หญิงคนหนึ่งตะโกน “ช่วยด้วย” ดังขึ้น ชายลึกลับสองคนจึงผละไป มาทราบภายหลังว่าคนที่ตะโกน “ช่วยด้วย” คือหญิงที่ปรากฎในข่าวภายหลังว่าถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับขึ้นรถแท็กซี่และชายที่ปรากฎในภาพถ่ายก็เป็นคนที่วิ่งไล่เธอ 
ขณะนั้นแม้ “พี่ตา” จะขึ้นรถแท็กซี่ได้แล้วแต่เธอก็เห็นรถมอเตอร์ไซค์วิ่งตาม เธอจึงต้องให้แท็กซี่ขับเลยจากจุดหมายเดิมไปจนกระทั่งหลุดจากการติดตาม จึงลงจากรถและมีคนมารับ “พี่ตา” ยอมรับว่าประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นเธอต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัว
ในช่วงการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2561 “พี่ตา” เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาร่วมกิจกรรมอยู่บ่อยๆ เธอมีโอกาสพบปะกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ที่มาในช่วงปี 2561 ไม่ได้มาในลักษณะคุกคามเหมือนที่เธอประสบในปี 2557 แม้เจ้าหน้าที่สายข่าวจะไม่ได้แต่งเครื่องแบบแต่ก็ไม่ยากที่จะแยกพวกเขาออกจากผู้ชุมนุมหรือนักข่าว คนเหล่านี้จะมีลักษณะการถ่ายภาพและเล่นโทรศัพท์ที่แตกต่างไป  
เมื่อถามว่าผู้ชุมนุมคนอื่นๆ มีท่าทีต่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างไร “พี่ตา” ระบุว่า บางคนก็มีท่าทีต่อต้าน เวลาถูกถ่ายภาพก็ตะโกนด่าหรือแสดงความไม่พอใจ แต่ตัวเธอรู้สึกเฉยๆ เพราะเข้าใจว่าพวกเขาเพียงแต่ทำตามหน้าที่ ที่สายข่าวบางคนก็กล้าที่จะพูดคุยกับเธอ บางทีเธอก็พาเจ้าหน้าที่บางคนไปแนะนำให้คนที่มาชุมนุมรู้จัก บางคนที่อายุไม่เยอะหน้าตาดีก็กลายเป็นขวัญใจของป้าๆไป 
พี่ตาระบุว่า เมื่อเจ้าหน้าที่แนะนำตัวและมาแบบเปิดเผย ผู้ชุมนุมบางส่วนก็เข้าใจ บางคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีก็มีการพูดคุยกันอย่างสนิทสนมทำให้ความตึงเครียดในพื้นที่ชุมนุมคลายตัวลงไป อย่างไรก็ตามท่ามกลางความสนิทสนม “พี่ตา” ยืนยันว่า การพูดคุยของเธอกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จะจำกัดอยู่แค่เรื่องทั่วไปเ่ท่านั้น เธอเองก็ต้องมีความระแวดระวังในการพูดคุย 
ด้วยความที่สนิทกับเจ้าหน้าที่ บางทีเธอก็แอบถามเจ้าหน้าที่ “สายข่าว” เหมือนกันว่า กิจกรรมวันนี้จะไปได้แค่ไหน ซึ่งบ่อยครั้งคำตอบก็ตรงกัน คือ สายข่าวจะบอกว่า เดินไปได้ถึงจุดไหน จะเจอกับอะไร และไปต่อได้หรือไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ตรงกับสถานการณ์จริง อย่างไรก็ตาม “พี่ตา” ระบุว่าแผนขั้นสุดท้ายว่า จะจับตรงไหน เจ้าหน้าที่ก็จะไม่บอกกับเธอ 
“พี่ตา” ยอมรับว่าจากการมีปฏิสัมพันธ์พูดคุย เธอเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ไม่ได้มีสายข่าวคนใดคิดร้ายกับผู้ชุมนุมคนใดเป็นการจำเพาะเจาะจง สายข่าวบางคนเคยเตือนเธอว่า “ถ้าพี่ออกจากตรงนี้พี่โดนคดีนะ” เธอก็ตอบไปว่า “ไม่เป็นไรมาถึงขั้นนี้แล้วคงต้องออก จะมีคดีเพิ่มก็ไม่เป็นไร” ซึ่งปรากฎว่าเมื่อเธอเดินเลยจุดที่สายคนนั้นบอกเธอ ก็ถูกดำเนินคดีจริงๆ