คดีการเมือง การต่อสู้ และการจองจำ ก่อนถึงวันอิสรภาพของไผ่ดาวดิน

3 พฤษภาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2562 โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกมาในช่วงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่10 จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน อดีตนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน เจ้าของรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำปี 2560 ซึ่งถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) จากการแชร์ บทความพระราชประวัติรัชกาลที่10 ของเว็บไซต์บีบีซีไทยและถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 คือหนึ่งในผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกานี้
ตลอดระยะเวลา 870 วัน หรือ 2 ปี 4 เดือน 19 วัน  ไผ่ไม่เพียงต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเพราะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หากแต่เขายังต้องวนเวียนขึ้นศาลทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหารเพื่อต่อสู้คดีอีกสี่คดีคดีที่เขาตกเป็นจำเลยเพียงเพราะไปร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นการต่อต้านคสช.หรือมรดกของคสช. ได้แก่ คดีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น คดีการชุมนุมของ 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดีงานเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานและคดีแจกเอกสารรณรงโหวตโนประชามติที่ตลาดภูเขียว
ในโอกาสที่ไผ่ได้รับการปล่อยตัว ไอลอว์ชวนผูัอ่านย้อนดูการแสดงออกอย่างสันติเพื่อต่อต้านการรัฐประหารและคสช. ตั้งแต่หลัง 22 พฤษภาคม 2557 การถูกตั้งข้อหาทางการเมือง การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 การต่อสู้คดีในศาลและการได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู จนถึงการต่อสู้หลังถูกปฏิเสธสิทธิในการพักโทษ ซึ่งดูเหมือนว่าตลอด 1,815 วันในยุคคสช. และ 870 ที่ต้องถูกคุมขัง ทางเดินของไผ่ดูจะเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยืนหยัดสู้มันจนถึงวันแห่งอิสรภาพ
ไผ่ต้านลม ยอมหักไม่ยอมงอต่อการรัฐประหาร
ไผ่และเพื่อนๆนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ในวันแรกๆของการรัฐประหาร จากคำบอกเล่าของ ศุภณัฐหรือ ‘เจ’ อดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน เขาและเพื่อนๆในกลุ่มส่วนหนึ่งรวมทั้งไผ่ไปทำกิจกรรมอ่านเรื่องสั้นเกี่ยวกับเสรีภาพใกล้ๆรถถังที่จอดอยู่บริเวณห้างเซ็นทรัลขอนแก่นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หรือหนึ่งวันหลังการรัฐประหาร หลังจากนั้นประมาณวันที่ 24 หรือ 25 พฤษภาคม สมาชิกกลุ่มดาวดินบางส่วนรวมทั้งไผ่ก็ไปพ่นข้อความคัดค้านการรัฐประหารด้วยสีสเปรย์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย เนื่องจากครั้งนั้นกล้องวงจรปิดบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ได้ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินส่วนหนึ่งจึงถูก”เชิญ”ไปทำข้อตกลงว่าจะงดเคลื่อนไหวทางการเมืองในค่ายทหาร แต่ครั้งนั้นไผ่ไม่ได้เข้าไปด้วย
ไผ่และนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินถูกควบคุมตัวหลังแสดงสัญลักษณ์ต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาระหว่างลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พฤศจิกายน 2557 (ภาพจากเด็กหลังห้อง)
การเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารของไผ่ครั้งแรกอาจจะยังไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดขอนแก่น  ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ กำลังมอบนโยบายกับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ไผ่กับเพื่อนที่เข้าไปอยู่ในงานได้ถอดเสื้อคลุมออกและเดินมายืนเรียงกันบริเวณหน้าโพเดียมที่พล.อ.ประยุทธ์ กำลังปราศรัยพร้อมทั้งชูสัญลักษณ์สามนิ้วโดยที่เสื้อยืดสีดำของทั้งห้าสกรีนข้อความที่เมื่อยืนต่อกันจะเป็นข้อความ “ไม่ เอา รัฐ ประ หาร” การแสดงออกครั้งนั้นถูกบันทึกภาพไว้โดยสื่อและมีการรายงานไปทั่วประเทศไผ่และกลุ่มดาวดินจึงเป็นที่รู้จักในฐานะกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แม้ครั้งนั้นพวกเขาจะยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆแต่กลุ่มดาวดินและตัวไผ่ก็ตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไผ่มาถูกดำเนินคดีครั้งแรกเมื่อเขากับเพื่อนรวมเจ็ดคนนำป้ายผ้าเขียนข้อความ “คัดค้าน” รัฐประหารไปชูที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เพื่อประท้วงในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร ครั้งนั้นพวกเขาทั้งเจ็ดคนถูกควบคุมตัวไปจากที่ชุมนุมและถูกตั้งข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน หลังจากนั้นในช่วงเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ไผ่และเพื่อนๆกลุ่มดาวดินอีกหกคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาก็เดินทางไปร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันจากการจัดกิจกรรมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ
ไผ่และกลุ่มดาวดินมาให้กำลังใจและร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่กรุงเทพ มิถุนายน 2558
ในวันที่ 25 มิถุนายน  2558 ไผ่ และเพื่อนนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินอีก 6 คนร่วมทำกิจกรรมกับนักกิจกรรมที่กรุงเทพอีกเจ็ดคน ร่วมกันเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การทำกิจกรรมครั้งนั้นส่งผลให้ไผ่และเพื่อนอีก 13 คนถุกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงคือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปีและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน การถูกตั้งข้อกล่าวหาครั้งนี้ไผ่และเพื่อนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 12 วันเพราะพวกเขาแถลงร่วมกันว่าจะไม่ขอประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี หากศาลจะปล่อยตัวในชั้นสอบสวนต้องเป็นการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ปรากฎว่าศาลอนุมัตคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนผลัดแรกก่อนจะมายกคำร้องในผลัดที่สองทำให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัว
รณรงค์ประชามติจนอดไปออกเสียงประชามติ
วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถูกกำหนดให้เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะถูกนำมาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ซึ่งเคยถูกนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่สิ้นผล (ถูกฉีก) ไปเพราะการรัฐประหาร 2557 แม้ว่าคำถามของประชามติทั้งคำถามหลักว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่และคำถามพ่วงว่าจะเห็นชอบให้ส.ว.แต่งตั้งร่วมลงคะแนนเลือกนายกในช่วง 5 ปีแรกหลังมีรัฐสภาชุดแรกหรือไม่ จะมีสองตัวเลือกคือเห็นชอบและไม่เห็นชอบแต่ในทางปฏิบัติการรณรงค์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญกลับทำได้โดยไม่เสนอหน้ากัน
ไม่มีข้อมูลว่าคนที่แจกเอกสารสนับสนุนให้ไปรับร่างรัฐธรรมนูญถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ในขณะที่คนที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกลับถูกดำเนินคดีไปตามๆกัน เช่น กลุ่มนักกิจกรรมและผู้ใช้แรงงานที่ไปแจกเอกสารรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิไปใช้สิทธิไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เคหะบางพลีรวม 13 คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2
ไผ่เองก็เป็นนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อยสามกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมอ่านเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ  ที่หน้าหอสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งจบโดยไม่มีการดำเนินคดี กิจกรรมเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” และการไปแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดสดอำเภอภูเขียว กิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” เป็นงานเสวนาที่มีกำหนดจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม หรือประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันออเสียงประชามติ ตั้งแต่คืนวันที่ 30 มีเจ้าหน้าที่เข้ามากดดันกลุ่มนักศึกษาที่กำลังเตรียมสถานที่จัดงานเสวนาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นวันที่ 31 ก็มีการเข้ามารื้อฉากหลังเวที ท้ายที่สุดแม้กิจกรรมจะดำเนินไปได้ แต่ก็อยู่ภายใต้การจับต่าโดยใกล้ชิดของฝ่ายความมั่นคงหลังจากนั้น หลังจากนั้นไผ่กับเพื่อนรวมเก้าคนก็ถูกออกหมายเรียกดำเนินคดี
ไผ่และจำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพ ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าศาลทหารขอนแก่น มีนาคม 2561
นอกจากคดีนี้ไผ่ยังถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ประชามติอีกหนึ่งคดีจากกรณีที่เขาและเพื่อนอีกคนหนึ่งไปช่วยกันแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดสดภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคมหรือหนึ่งวันก่อนหน้าวันออกเสียงประชามติ ในวันเกิดเหตุไผ่และเพื่อนเพิ่งเริ่มแจกเอกสารได้ไม่กี่นาทีก็ถูกควบคุมตัวไปที่สภ.ภูเขียวทันที พวกเขาถูกขังในห้องขังของสถานีเป็นเวลาสองคืนทำให้ไม่มีโอกาสไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/725 การถูกจับกุมตัวในคดีนี้ทำให้ไผ่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นครั้งที่สองเนื่องจา่กเขายืนยันว่าจะไม่ใช้สิทธิในการประกันตัวในชั้นสอบสวนและอดอาหารเพื่อประท้วงการจำกัดเสรีภาพของเขาจากการกระทำที่เขาเชื่อว่าไม่เป็นความผิด ไผ่ถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดภูเขียวเป็นเวลา 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม จนถึงวันที่ 19 สิงหาคมได้รับอิสรภาพเพราะไผ่ยอมประกันตัวหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี
อย่างไรก็ตามแม้ศาลจังหวัดภูเขียวจะยอมให้ไผ่ประกันตัวแต่เขาก็ยังคงไม่ได้รับอิสรภาพเพราะมีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดขอนแก่นมารออายัดตัวเขาเนื่องจากไผ่มีหมายจับของศาลทหารขอนแก่นในคดีชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารที่ได้ระบุไว้ข้างต้น เขาจึงยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ระหว่างที่รถของเรือนจำจะนำตัวไผ่ไปที่จังหวัดขอนแก่น แม่ของไผ่ที่มารอรับลูกชายก็ร้องขอกับทางเรือนจำว่าขอพบไผ่เพื่อนำใบมอบฉันทะเพื่อให้ลงทะเบียนเรียนแทนไปให้เซ็น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม แม่ของไผ่จึงไปคุกเข่าขวางรถของเรือนจำที่กำลังจะนำตัวไผ่ไปที่จังหวัดขอนแก่น สุดท้ายหลังใช้เวลาต่อรองกันประมาณหนึ่งชั่วโมง ทางเรือนจำจึงยินยอมให้แม่กับลูกได้พบกัน หลังถูกควบคุมตัวไปที่จังหวัดขอนแก่นไผ่ยังคงถูกคุมขังระหว่างการดำเนินกระบวนการฟ้องคดีก่อนจะมาได้รับการประกันตัวในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เท่ากับว่าเขาหลังได้รับการประกันตัวจากเรือนจำจังหวัดภูเขียวเขายังคงถูกจองจำต่ออีกห้าวัน
คดีแชร์บทความบีบีซีไทย กับมรสุมลูกใหญ่ในชีวิต
เดือนตุลาคม 2559 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต หลังจากนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 สำนักข่าวบีบีซีไทยเผยแพร่บทความพระราชประวัติพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ไผ่แชร์บทความดังกล่าวบนเฟซบุ๊กของตัวเองพร้อมทั้งคัดลอกข้อความบางส่วนจากบทความมาโพสต์เป็นสถานะบนเฟซบุ๊กของเขาโดยตั้งค่าโพสต์ดังกล่าวเป็นสาธารณะ ในวันเดียวกันพล.ท.พิทักษ์พล ชูศรี (ยศในขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้ข้อร้องทุกข์กล่าวโทษไผ่ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันเดียวกันหลังจากนั้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังไปควบคุมตัวไผ่ระหว่างร่วมทำกิจกรรมธรรมยาตรากับพระไพศาล วิศาโลที่จังหวัดชัยภูมิ
ในวันที่ 4 ธันวาคม ไผ่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนเพราะศาลเห็นว่าไผ่จะต้องเข้าสอบเพื่อสำเร็จการศึกษาและที่ผ่านมาเคยถูกดำเนินคดีการเมืองมาแล้วสี่คดีแต่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อย่างไรก็ตามในวันที่ 19 ธันวาคม พนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่นยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดขอนแก่นถอนประกันไผ่เพราะเขามีพฤติการณ์เยาะเย้ยพนักงานสอบสวนด้วยการโพสต์ภาพประกอบพร้อมข้อความทำนองว่า เศรษฐกิจแย่เลยต้องหาเงินจากเงินประกันตัว จากนั้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นก็มีคำสั่งถอนประกันไผ่โดยให้เหตุผลว่าไผ่มีพฤติการณ์ “เย้ยหยันอำนาจรัฐ”และเขาก็สูญสิ้นอิสรภาพมาโดยตลอด
หนึ่งในภาพการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้ไผ่ถูกถอนประกัน ภาพจากประชาไท
มีข้อน่าสังเกตว่าคดีของไผ่มีลักษณะ “ปิดลับ” มาตั้งแต่ก่อนการสืบพยานแล้ว กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายคนหนึ่งของไผ่เปิดเผยในเดือนมกราคม 2560 ว่าในนัดไต่สวนคัดค้านคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยลับ แม้ไผ่และทีมทนายจะพยายามลุกขึ้นแถลงคัดค้านว่าการพิจารณาคดีต้องเป็นไปโดยเปิดเผยแต่ศาลก็ยืนยันเพียงว่า คดีนี้เป็น ”คดีความมั่นคง” ต้องพิจารณาโดยปิดลับ จนท้ายที่สุดในนัดนั้นไผ่ก็เชิญทนายของตัวเองออกจากห้องพิจารณาคดี ซึ่งทนายกฤษฎางค์เล่าเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีไว้โดยละเอียดว่า
ภาพการ์ตูนล้อการเมือง ประเด็นการถอนประกันไผ่โดยไข่แมว (ปัจจุบันเข้าถึงลิงค์ต้นฉบับไม่ได้แล้ว)
“ผมจำได้ว่า ไผ่ยืนขึ้นและกล่าวกับผู้พิพากษาอย่างที่ผมเห็นว่า ทรนงองอาจอย่างยิ่งที่สุด ไผ่พูดด้วยเสียงราบเรียบอย่างอารมณ์ดีชนิดที่เป็นนิสัยของเขาว่า เมื่อท่านไม่ให้คนอื่นฟังการพิจารณาคดีนี้เขาก็ไม่ประสงค์ให้ทนายของเขาอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย เขาเชิญให้ทนายออกไปเขาจะว่าความต่อสู้เองเพราะเขาไม่เคยได้รับสิทธิอะไรอยู่แล้ว จึงขอสละสิทธิที่จะมีทนายความในวันนี้ด้วย”
ในการต่อสู้คดีเบื้องต้นไผ่ให้การปฏิเสธ ศาลนัดสืบพยานคดีนี้นัดแรกในเดือนสิงหาคม 2560 เท่ากับว่าหากนับจากที่เขาถูกถอนประกันในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ไผ่ก็ต้องรอการพิจารณาคดีในเรือนจำเป็นเวลา 7 เดือน 13 วัน การสืบพยานคดีของไผ่ในเดือนสิงหาคม 2560 ดำเนินไปภายใต้บรรยากาศตึงเครียด ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องยกเว้นพ่อและแม่ของไผ่กับทนายความเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ศาลยังสั่งห้ามทนายของไผ่เปิดเผยเนื้อหาในการสืบพยานต่อสาธารณะด้วย ท้ายที่สุดด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความกดดันประกอบกับการที่ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ท้ายที่สุดในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ระหว่างที่การสืบพยานกำลังดำเนินไป ไผ่ก็ตัดสินใจรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ลงโทษจำคุกไผ่เป็นเวลาห้าปี และลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน เพราะไผ่รับสารภาพ
ปากคำของผู้ไม่ยอมแพ้
จิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้ของไผ่แสดงออกมาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะรับโทษคดีมาตรา 112 แล้ว เมื่อครั้งที่ถูกจับกุมเพราะมาร่วมชุมนุมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่กรุงเทพในเดือนมิถุนายน 2558 ไผ่แถลงคัดค้านคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนตอนหนึ่งว่า
“สิ่งที่พวกเราทำนั้นเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพราะเราพูดเรื่องการใช้อำนาจกฎอัยการศึกไม่ให้ชาวบ้านเคลื่อนไหว ทั้งเรื่องเหมืองทองและปิโตรเลียม การใช้กฎอัยการศึกเพื่อไม่ให้ชาวบ้านมาขัดขวาง เราพูดโดยสุจริต เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร การใช้อำนาจตามคำสั่ง ที่ 64/57 ทุกอย่างที่เราพูดเป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ตามมาชาวบ้านไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจหรือมีส่วนร่วมทั้งที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ
การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพของประชาชน การเคลื่อนไหวในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นความจริงที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องยอมรับความคิดเห็นประชาชน เราได้เรียกร้องให้ทุกรัฐบาลยอมรับความเห็นประชาชน และการที่เรามาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด…”
ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ไผ่เบิกความในฐานะพยานจำเลยในคดีการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่น โดยเขายืนยันความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการแสดงออกของเขาที่กลายเป็นเหตุแห่งคดีตอนหนึ่งว่า
สิ่งที่เขาตั้งใจสื่อสารออกไปในวันเกิดเหตุ คือการยืนยันว่าการรัฐประหารไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย ส่วนการแสดงออกด้วยการชูป้ายก็ไม่อาจทำให้คณะรัฐประหารออกไปได้ แต่เขาก็เลือกที่จะทำเพื่อยืนยันความเชื่อของเขาว่าการรัฐประหารเป็นปัญหา เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำไปเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง โดยคนที่ออกมาต่อสู้กับความอยุติธรรมไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่หรือยศ ถา บรรดาศักดิ์ แต่เป็นคนธรรมดาก็สามารถทำได้
“ผมก็มีชีวิตจิตใจมีความกลัวเหมือนกัน และเป็นสามัญชนคนธรรมดา และผมเห็นว่า “สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ยังดีกว่าแพ้ที่ไม่คิดจะสู้” การมาเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองของไผ่ในคดีนี้ เขาปรากฎตัวที่ศาลทหารในชุดนักโทษเพราะเขาอยู่ระหว่างรับโทษในคดีมาตรา 112 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560
ในการไปศาลแต่ละครั้งไผ่ไม่เคยต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ครอบครัวและมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ขมักจะแวะเวียนไปเยี่ยมไผ่ทั้งที่เรือนจำและที่ศาลเวลาไผ่ต้องมารับการพิจารณาคดี นอกจากครอบครัว และลุงป้าๆ “พลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง” ที่มักรวมตัวไปเยี่ยมไผ่อยู่เป็นประจำแล้ว ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็เคยจัดกิจกรรมพานักกิจกรรมหรือนักศึกษาชาวต่างชาติไปเยี่ยมไผ่ที่เรือนจำในกิจกรรม Bring the world to Pai project  ซึ่งแม้จะถูกจองจำแต่ทุกครั้งที่ได้พบกับครอบครัวและเพื่อนพ้องน้องพี่ไผ่ก็ไม่ลืมที่จะยิ้มทักทายพวกเขาคล้ายกับจะบอกว่าหกคนข้างนอกยังสู้ ตัวเขาก็จะสู้ต่อไป
ปริญญาชีวิต รางวัลที่ไม่ได้ไปรับ กับโอกาสที่สูญเสียไป
มีคำกล่าวว่าคุกหรือเรือนจำเป็นมหาลัยชีวิต หากเป็นเช่นนั้นวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ไผ่ได้รับอิสรภาพก็คงต้องถือเป็นวันที่ไผ่ “สำเร็จการศึกษา” ได้ปริญญาชีวิตตั้งแต่วัย 27 ปี 9 เดือน ซึ่งการต้องเข้าเรียน “มหาวิทยาลัยชีวิต” ของไผ่ก็แลกมาด้วยโอกาสหลายๆอย่างในชีวิตของเขา อย่างน้อยๆก็โอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทั้งนี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2562 ไผ่น่าจะมีสิทธิได้รับการพักโทษปล่อยตัวก่อนกำหนดเพราะหากพิจารณาจากชั้นนักโทษที่ไผ่เป็นนักโทษชั้นดีและเหลือระยะเวลารับโทษอีกไม่นาน เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการพักโทษตามสิทธิแต่สุดท้ายเขาก็ถูกปฏิเสธสิทธิดังกล่าวเนื่องจากคณะกรรมการผู้พิจารณาการพักโทษเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำผิดต่อสถาบันหลักอันเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย นอกจากนั้นไผ่ยังเสียโอกาสในการเดินทางไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำปี 2560 โดยรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่ต่อต้านการยึดอำนาจในเกาหลีใต้  โดยในเดือนพฤษภาคม 2560 และแม่ของจตุภัทร์ต้องเดินทางไปรับรางวัลแทนลูกชาย ไผ่ยังเสียโอกาสที่จะได้ถ่ายรูปรับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตร่วมกับเพื่อนๆแต่ต้องมาสวมครุยถ่ายที่หน้าศาลทหารขอนแก่นแทนที่จะถ่ายในมหาวิทยาลัย
ไผ่ดาวดินสวมชุดครุยนิติศาสตร์บัณฑิตทับชุดผู้ต้องขังที่ศาลทหารขอนแก่น ธันวาคม 2560 ภาพจาก banrasdr photo
นอกจากนั้นตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ที่พ้นโทษไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้งสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง หากไผ่ต้องการเล่นการเมืองเขาก็จะต้องรอไปอีกอย่างน้อยสิบปีจากวันนี้ เว้นแต่กฎหมายดังกล่าวจะถูกแก้ไขไปเสียก่อน ในระหว่างนักกิจกรรมที่เป็น “เพื่อนร่วมรุ่น” ของเขาอย่างรังสิมันต์ โรม ลงเล่นการเมืองแล้ว ไผ่ก็จะต้องรอไปอีกสิบปี
อย่างไรก็ตามรอยยิ้มของไผ่ทั้งในวันที่ญาติมาเยี่ยมที่เรือนจำจนถึงวินาทีที่เขาถูกเพื่อนๆจับโยนลงน้ำหลังได้รับอิสรภาพก็ดูจะเป็นเครื่องยืนยันว่าไผ่ในวันหลังมรสุมยังคงเป็นไผ่คนเดิม
ภาพ teaser จาก  banrasdr photo