1643 1523 1990 1904 1031 1576 1472 1393 1582 1100 1179 1453 1149 1502 1587 1954 1085 1006 1806 1101 1767 1196 1247 1774 1301 1508 1644 1344 1383 1640 1864 1199 1068 1023 1115 1712 1803 1121 1497 1878 1769 1279 1347 1206 1471 1700 1439 1283 1104 1382 1432 1102 1001 1284 1118 1298 1548 1299 1201 1625 1351 1005 1222 1297 1595 1547 1774 1262 1873 1274 1708 1878 1149 1150 1682 1022 1099 1823 1316 1649 1801 1939 1844 1350 1747 1707 1197 1711 1762 1697 1637 1476 1748 1058 1419 1976 1902 1794 1115 เพราะคุณอยู่เราจึงปรากฎ 1: ขบวนการนักศึกษาในยุคสมัยแห่งการรัฐประหาร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เพราะคุณอยู่เราจึงปรากฎ 1: ขบวนการนักศึกษาในยุคสมัยแห่งการรัฐประหาร

การยึดอำนาจของคสช.ในวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (22 พฤษภาคม 2557) นำมาซึ่งจุดจบของหลายๆสิ่ง เช่น จุดจบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่แม้จะมีที่มาจากการรัฐประหาร ปี 2549 แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประชาชนมีโอกาสออกเสียงประชามติ จุดจบของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศไทยและจุดจบของส.ว.ที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง (บางส่วน) ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ขณะเดียวกันการเข้ามาของคสช.ก็เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายๆสิ่ง 
 
ในขณะที่กลุ่มพลังที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนมีรัฐประหารอย่างกลุ่มนปช.และกลุ่ม กปปส.ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวของตัวเอง กลุ่มนักศึกษาหรือนักกิจกรรมหน้าใหม่ๆเริ่มแสดงตัวออกมาในฐานะตัวแสดงทางการเมืองที่ยืนอยู่คนละฟากฝั่งกับคณะรัฐประหาร ขณะเดียวกันตัวแสดงกลุ่มอื่นๆเช่นศิลปินที่อาศัยปรากฎการณ์ในยุคคสช.เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน เช่น Headache Stencil ศิลปินวาดภาพกราฟฟิตี้ ล้อการเมืองกับการทำภาพนาฬิกาด้วยใบหน้าพล.อ.ประวิตร  รองนายกรัฐมนตรี หรือกลุ่ม Rap Against Dictator กลุ่มศิลปินเพลงแรปที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างศิลปินที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันมาร่วมทำผลงานเพลงอย่าง ประเทศกูมี รวมทั้งแนวรบทางวัฒนธรรมบนโลกออนไลน์อย่างเพจเฟซบุ๊กล้อการเมืองเช่น ไข่แมว
 
ในโอกาสครบรอบ 5 ปี การรัฐประหารไอลอว์ชวนย้อนดูว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของคสช.ที่เสรีภาพในการแสดงออกมอดไหม้ไปเพราะการบังคับใช้กฎหมายและกลไกอื่นๆอย่างการปรับทัศนคติ มีนักเคลื่อนไหว กลุ่มกิจกรรม หรือตัวละครใดบ้างที่เป็น "นกฟีนิกซ์" ที่ถือกำเนิดขึ้นจากเถ้าถ่านและซากปรักหักพังของเสรีภาพและออกโบยบินท้าทายอำนาจของคสช.ด้วยวิธีการต่างๆกัน ทั้งการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์หรือกระทั่งอารมณ์ขัน
 
นักศึกษา - คนรุ่นใหม่ ใครว่าพวกเขาหายไป?
 
ยามที่ประเทศเผชิญวิกฤติทางการเมืองและมีการชุมนุม มักจะมีคำพูดทำนองว่า "นักศึกษาไปไหน" หรือ "นักศึกษาไม่สนใจการเมือง" ดังขึ้นอยู่เสมอๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนยังติดภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ขบวนการนักศึกษาถูกวาดภาพให้เป็น "ฮีโร่ " ที่ถือธงนำจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 
 
ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในอดีตนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาที่ทำกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่สมัยเรียนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและเป็นอดีตโฆษกพรรคสามัญให้ความเห็นว่าการตั้งข้อสังเกตในลักษณะดังกล่าวน่าจะไม่สะท้อนกับบริบททางการเมืองในยุคปัจจุบัน ที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ หรือการขับไล่เผด็จการ หากแต่ขยายไปถึงการเมืองในมิติอื่นๆด้วยเช่นปากท้อง สิ่งแวดล้อม หรือสวัสดิการสังคมซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ได้มีแค่นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจแต่เป็นประเด็นที่ประชาชนกลุ่มอื่นๆมีความสนใจด้วย การนำภาพนักศึกษาเดินขบวนตามท้องถนนมาเป็นมาตรวัดความสนใจทางการเมืองของนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่จึงอาจไม่สอดคล้องกับบริบททางการเมืองในปัจจุบัน ปกรณ์เองเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารและถูกดำเนินคดีร่วมกับกลุ่มนักศึกษาที่ต่อมารวมตัวเป็นขบวนการประชาธิปไตยใหม่
 
ตลอด 5 ปี ที่คสช.บริหารประเทศ กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคมจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการรัฐประหารของคสช. และเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับมรดกของคสช. เช่น รณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559  และประเด็นเรียกร้องความชัดเจนในการจัดวันเลือกตั้งและการประท้วงการทำงานของกกต. หลายต่อหลายครั้งโดยมีกิจกรรมครั้งสำคัญที่ควรจะบันทึกไว้ ณ ที่นี้ดังนี้
 
1106
 
"นิว" สิรวิชญ์ ระหว่างการปราศรัยคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งที่บิ๊กซี สำโรง 11 มกราคม 2562
 
14 กุมภาพันธ์ 2558 ทนายอานนท์ นำภา จัดกิจกรรมเลือกตั้งที่รักที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งที่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะในปี 2557 ครั้งนั้นสิรวิชญ์หรือนิวซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินทางมาร่วมชุมนุมด้วย และเขาก็กลายเป็นหนึ่งในสี่นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมของคสช.ร่วมกับนักกิจกรรมรุ่นพี่อย่างทนายอานนท์และพันธ์ศักดิ์หรือพ่อน้องเฌอ การถูกดำเนินคดีของสิรวิชญ์ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกแต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะตลอดห้าปีในยุคคสช.สิรวิชญ์มักเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น กิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตที่อุทยานราชภักดิ์ หรือกิจกรรมติดโพสต์อิทเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวคนที่ถูกพาเข้าค่ายทหารด้วยอำนาจตามมาตรา 44 และกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เป็นต้น      
 
ในวันที่ 22 พฤษภาคมปี 2558 กลุ่มนักศึกษาและอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมสมัยเรียนนัดรวมตัวกันที่หอศิลป์ฯ เหตุการณ์จบลงด้วยการใช้กำลังบังคับให้ผู้ชุมนุมยุติการทำกิจกรรมในเวลาประมาณ 19.00 น. ครั้งนั้นมีคนไม่น้อยกว่า30 คนถูกกักตัวไว้สอบปากคำข้ามคืนก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงเช้ามืดของวันถัดมาโดยในจำนวนผู้ที่ถูกกักตัวมีนักกิจกรรมที่ยังเป็นนักศึกษารวมอยู่ด้วย เช่น ชลธิชา หรือ "ลูกเกด" ซึ่งขณะนั้นศึกษาอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ชั้นปีที่สี่ รังสิมันต์ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในชั้นปีที่สี่ และนัชชชา ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยในบรรดาคนที่ถูกควบคุมตัวราวสามสิบคนมีสิบคนที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนซึ่งนักศึกษาทั้งสามคนที่ยกตัวอย่างมาคือสามในสิบคนที่ถูกดำเนินคดีด้วย

1107

นักกิจกรรม 30 คนที่ถูกควบคุมตัวที่สน.ปทุมวันได้รับการปล่อยตัวในช่วงเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 
 
ในวันเดียวกันนักศึกษากลุ่มดาวดินซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จัดกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารในโอกาสครบรอบหนึ่งปีขึ้นเช่นกัน สมาชิกกลุ่ม 7 คน เช่นจตุภัทร์หรือ ไผ่ ซึ่งขณะนั้นศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ห้า และภาณุพงษ์หรือไนซ์ ซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ในชั้นปีที่สองร่วมกันถือป้ายผ้าคัดค้านการรัฐประหารที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น พวกเขาทำกิจกรรมได้เพียงครู่เดียวก็ถูกจับไปตั้งข้อหาชุมนุมตั้งแต่ห้าคนเช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาที่กรุงเทพ
 
ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันนัดกลุ่มนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ไปรายงานตัว นักกิจกรรมเจ็ดจากสิบคนเดินทางไปที่หน้าส.น.แต่ประกาศว่าจะไม่เดินเข้าไปรายงานตัวในสถานีแต่จะให้ทนายความเข้าไปแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ในข้อหาทำร้ายร่างกายจากกรณีที่พวกเขาถูกทำร้ายระหว่างการสลายการชุมนุมแทน ในวันเดียวกันนักศึกษากลุ่มดาวดินเจ็ดคนจากจังหวัดขอนแก่นก็เดินทางมาให้กำลังใจนักศึกษาที่กรุงเทพด้วย จากการนัดหมายเข้ารายงานตัวกับตำรวจเหตุการณ์ที่หน้าส.น.ปทุมวันกลายเป็นการชุมนุมย่อยๆเพราะมีลุงๆป้าๆมาให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดี 

1108
 
นักกิจกรรมรวมตัวกันที่หน้าสน.ปทุมวันในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 จนกลายเป็นการชุมนุมย่อยๆ
 
เหตุการณ์ในวันนั้นจบลงโดยไม่มีใครถูกจับกุมเพิ่มเติม แต่ทว่าในวันที่ 3 เมษายน 2562 หรือเกือบสี่ปีให้หลัง เหตุการณ์ที่หน้าสน.กลับกลายมาเป็นเหตุในการดำเนินคดีกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่  ก่อนที่ต่อมาหมายเรียกจะถูกทยอยส่งไปยังกลุ่มนักกิจกรรมที่เคยชุมนุมในบริเวณดังกล่าวเมื่อสี่ปีก่อน เช่น จตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดินที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวหลังต้องโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 หรือชลธิชา เป็นต้น 
 
ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 กลุ่มนักศึกษา 14 คนที่ถูกดำเนินคดีทั้งกลุ่มดาวดินและกลุ่นนักศึกษาที่กรุงเทพก็ทำการเคลื่อนไหวร่วมกันด้วยการเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทำการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งครั้งนั้นน่าจะเป็นครั้งแรกที่กลุ่มนักศึกษามีการใช้ชื่อ "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" ในการเคลื่อนไหว  
 
เก่าไปใหม่มา เพราะภารกิจยังไม่จบสิ้น
 
ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2562 นักศึกษากลุ่มดาวดิน และนักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ต่างก็จบการศึกษาไปหมดแล้ว รังสิมันต์ได้รับเลือกเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ จตุภัทร์เพิ่งพ้นโทษจากคดีมาตรา 112 จากกรณีแชร์บทความของเว็บไซต์บีบีซี ขณะที่ชลธิชาก็ร่วมกับเพื่อนๆอีกกลุ่มหนึ่งก่อตั้งองค์กรรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเล็กๆชื่อกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามแม้นักกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงขวบปีที่สองของการรัฐประหารจะทยอยจบการศึกษาไปแล้ว แต่การเคลื่อนไหวในหมู่นักศึกษาก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นเพราะแม้นักกิจกรรมรุ่นเก่าจะจบการศึกษาและเปลี่ยนบทบาทของตัวเองไปแต่ก็จะมีนักกิจกรรมกลุ่มใหม่ๆเกิดขึ้นมาแทน เช่น
 
1105

ธนวัฒน์และพริษฐ์แขวนพริกกระเทียมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล 2 กุมภาพันธ์ 2562 (ภาพจากเฟซบุ๊ก ธนวัฒน์ วงศ์ไชย
 
ธนวัฒน์หรือบอล นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพริษฐ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่และออกมาเคลื่อนไหวในแถวหน้าจนล่าสุดก็ได้รับคดีอาญามาเป็นรางวัลตามรอยนักกิจกรรมรุ่นพี่ไปแล้ว จนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ธนวัฒน์กับพริษฐ์ถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมไปแล้วสองคดีจากการไปทำกิจกรรมแขวนพริกกระเทียมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์และกรณีที่ทั้งสองไปอ่านจดหมายเปิดผนึกคัดค้านพูดถึงเพลง "หนักแผ่นดิน" ของผบ.ทบ.
 
1104
 
นักกิจกรรมกลุ่มโกงกางจัดกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยบูรพา 17 มกราคม 2562
 
ในปี 2562 การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษากลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะบรรยากาศทางการเมืองเริ่มคลายตัว หลังคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกไปในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 ต้นเดือนมกราคม เมื่อไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งกลุ่มนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆก็มีการออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ของตัวเอง เช่น นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันขึ้นป้ายผ้า "อยากเลือกตั้ง" ที่ตึกคณะ ขณะเดียวกันนักศึกษาหมาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยบูรพา ก็มีการจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งในพื้นที่ของตัวเอง
 
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเต็มไปด้วยความไมแน่นอนและเต็มไปด้วยความกังขาจากการทำงานของกกต. เครือข่ายนักศึกษา 26 เครือข่ายจากหลายสถาบันร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพ และขาดความโปร่งใส  ในหลายๆมหาวิทยาลัยกลุ่มนักศึกษายังมีการจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอนกกต.ด้วยซึ่งบางแห่งการทำกิจกรรมก็เผชิญกับการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ เช่น ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร มีเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตามและถ่ายภาพจนผู้ทำกิจกรรมต้องย้ายที่ทำกิจกรรมถึงห้าครั้ง หรือที่มหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งแม้จะจัดกิจกรรมได้แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ไปติดตามนิสิตคนหนึ่งถึงที่บ้าน  

ระยะเวลาห้าปี ดูจะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอที่คนๆหนึ่งจะเปลี่ยนผ่านชีวิตตัวเอง จากวัยมัธยมนุ่งกระโปรงบานขาสั้น ผ่านชีวิตการศึกษาสี่ปีในระดับอุดมศึกษาไปสู่ชีวิตการทำงานหรือการศึกษาขั้นสูง นักศึกษาและนักกิจกรรมส่วนหนึ่งที่เรื่องราวของพวกเขาถูกบอกเล่าในที่นี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของตัวเองในช่วงห้าปีของยุคสมัยแห่งการรัฐประหาร บางคนเลือกไปเข้าสู่แวดวงการเมือง บางคนยังคงทำกิจกรรมในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรไม่แสวงกำไร บางคนเลือกออกไปใช้ชีวิตเงียบๆและหายไปจากหน้าสื่อ แต่สิ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือจิตวิญญาณในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมซึ่งถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในแวดวงนักกิจกรรมนักศึกษาซึ่งแม้คน ซึ่งเชื่อว่าหากมีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นอีกในอนาคต นักกิจกรรมนักศึกษาก็จะออกมาแสดงตัวเพื่อต่อสู้อีกครั้ง
ประเภทรายงาน: