ศาลทหารกรุงเทพปล่อยตัวชั่วคราว ‘สิรภพ’ จำเลย 112 ที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีมาเกือบ 5 ปี

 
 
 
11 มิถุนายน 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวสิรภพ จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากการเขียนบทความและบทกลอนลงบล็อกจำนวน 3 ชิ้น ซึ่งถือเป็นความผิดรวม 3 กรรม เหตุเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2552-มกราคม 2557 โดยครอบครัวได้วางเงินประกันจำนวน 500,000 บาท การยื่นขอประกันตัวครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 8
 
 
สิรภพเป็นกวีที่มีเว็บบล็อกและเฟซบุ๊กที่เขียนบทความและบทกลอนเกี่ยวกับการเมือง เขามีนามปากกาว่า ‘รุ่งศิลา’ หลังการรัฐประหารชื่อของเขาปรากฎอยู่ในคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวของคสช. แต่เขาเลือกที่จะขัดขืนเนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดหลักสิทธิมนุษยชน ก่อนจะมาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวตามในเดือนมิถุนายน 2557 ภายหลังการควบคุมตัว สิรภพถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งไม่รายงานตัวกับคสช. หลังจากนั้น เขาถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อายัดตัวไปสอบสวนต่อในข้อหาหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ต่อมาเขาถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 โดยทั้งสองคดีของเขาถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร
 
 
สิรภพถูกส่งตัวไปฝากขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 และตั้งแต่นั้นมา เป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน 9 วัน หรือ 1,804 วัน ที่เขาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ในการต่อสู้คดีสิรภพต้องต่อสู้ทั้งคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ไม่ไปรายงานตัว และคดี 112 ควบคู่กันไป โดยคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. จบลงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 โดยศาลทหารตัดสินให้สิรภพมีความผิดฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 18,000 บาท แต่สุดท้ายศาลให้ความผิดดังกล่าวรอลงอาญา
 
ส่วนคดี 112 อัยการทหารได้มีการสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 และศาลทหารนัดถามคำให้การตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว คดีสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมดเพียง 3 ปาก โดยฝ่ายโจทก์มีการระบุพยานที่จะสืบจำนวนทั้งหมด 10 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยจะสืบทั้งหมด 3 ปาก เหตุที่ล่าช้าเกิดจากการไม่มาตามหมายนัดศาลของพยาน
 
 
อีกทั้ง อัยการทหารยังแถลงขอให้ศาลพิจารณาเป็นการลับ เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งอาจกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร ซึ่งศาลทหารก็ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยตลอด ผู้สังเกตการณ์คดีโดยทั่วไปไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้
 
 
การปล่อยตัวชั่วคราวเกิดขึ้นหลังจากที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ได้แจ้งข้อมูลของสิรภพต่อคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) และคณะทำงานฯ  ร้องขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการปล่อยตัวสิรภพโดยทันที
 
 
ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ส่งต่อข้อมูลจากผู้แจ้งข้อมูลไปยังรัฐบาลไทย โดยร้องขอให้รัฐบาลไทยให้ข้อมูลโดยละเอียดภายในวันที่ 7 มกราคม 2562 แต่รัฐบาลไทยไม่ได้ตอบกลับและไม่ได้มีการขยายเวลาในการตอบกลับ ต่อมา ในการประชุมครั้งที่ 84 คณะทำงานฯ ลงมติว่า การควบคุมตัวสิรภพเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี โดยคณะทำงานฯได้รับข้อมูลอย่างต่อเนื่องว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัริย์ไม่สอดคล้องต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
 
 
สำหรับข้อความที่สิรภพโพสต์ทั้ง 3 ข้อความนั้นคณะทำงานฯมีความเห็นว่า อยู่ภายใต้การใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
 
ส่วนกรณีที่ศาลทหารดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของสิรภพโดยลับและอ้างว่า เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว กระทำไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนและศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่รัฐบาลไทยไม่ได้ชี้แจงข้อมูลหรือหลักฐานเพียงพอให้เห็นว่าการพิจารณาคดีของสิรภพเป็นภัยคุกคามต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของประเทศ จนถือเป็นข้อยกเว้นพิเศษในการพิจารณาคดีอย่างลับได้ จึงถือเป็นการละเมิดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง