ทวนผลงานกสทช.หลังเลิกคำสั่งคุมสื่อ แต่คงคำสั่งคุ้มครองกสทช.

10 กรกฎาคม 2562 เป็นวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอย่างเป็นทางการถือเป็นจุดเริ่มของรัฐบาลคสช.สอง เมื่อมีคณะรัฐมนตรีแล้วอำนาจของคสช.จึงหมดไป ไม่สามารถใช้อำนาจออกคำสั่งใดๆได้อีก แต่ก่อนหน้าเพียงวันเดียวคสช.ก็ได้ทิ้งทวนออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.ที่ไม่จำเป็นต่อไปแล้วจำนวน 78 ฉบับ มีอย่างน้อยสองฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อคือ ประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557

ประกาศทั้งสองฉบับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการจำกัดเสรีภาพสื่อยุคคสช. โดยห้ามสื่อรายงานข่าวที่กระทบต่อความมั่นคง, ยุยงปลุกปั่นหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช.โดยไม่สุจริต ที่ผ่านมาการจำกัดเสรีภาพสื่อคสช.ไม่ได้ลงมาเป็นผู้เล่นหลัก แต่ถ่ายโอนอำนาจให้แก่กสทช.องค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับสื่อแต่เดิมอยู่แล้วผ่านคำสั่งหัวหน้าที่คสช.ที่ 41/2559 โดยให้ความผิดตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 เป็นความผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ซึงเป็นมาตราหลักที่กสทช.ใช้กำกับดูแลสื่อมาก่อนหน้าการรัฐประหารและมาตราดังกล่าวก็มีข้อครหามาโดยตลอดว่า ไม่มีมาตรฐานและมีลักษณะอัตวิสัย พึ่งพิงความเห็นและประสบการณ์ส่วนตนเป็นหลัก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ยังนิรโทษกรรมให้แก่กสทช.ไว้ด้วยว่า การกระทำใดๆที่กระทำไปด้วยความสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติจะถูกคุ้มครองไม่ให้ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย ซึ่งคำสั่งนี้ไม่ปรากฏในบัญชียกเลิกตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 ด้วย การคงความคุ้มครองเช่นนี้ก็ชวนให้ย้อนกะเทาะเปลือกการกำกับสื่อของกสทช.ในยุคคสช.ว่า เหตุใดจะต้องคุ้มครองกสทช.ต่อไป แม้หมดยุคคสช.ไปแล้ว

 

ลงโทษสื่อ 59 ครั้ง วอยซ์ทีวี ครองแชมป์

จากรายงานการประชุมของ กสทช. เท่าที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – 22 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า มีการออกมติให้ลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง, บันทึกข้อตกลงระหว่างสื่อและกสทช. และมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไปแล้ว อย่างน้อย 59 ครั้ง สถานีที่ถูกสั่งลงโทษมากที่สุดคือวอยซ์ ทีวี 24 ครั้ง และรองลงมาคือ พีซทีวี 14 ครั้ง ในจำนวนการปิดกั้นทั้งหมดมีไม่น้อยกว่า 39 ครั้งที่ กสทช. พิจารณาลงโทษสื่อ ตามเงื่อนไขของประกาศและคำสั่งของ คสช.

 

ขาดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน ขาดการนิยามขอบข่ายเนื้อหาต้องห้ามที่ชัดเจน

มาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 มีการใช้ถ้อยคำที่เป็นเงื่อนไขในการจำกัดการนำเสนอเนื้อหาที่กว้างขวางและกำกวม เช่น เนื้อหากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ, เนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงและเนื้อหาที่ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง เป็นต้น อันเป็นประเด็นที่นำมาถกเถียงในที่ประชุมพิจารณาเนื้อหาสื่อของ กสท. ตั้งแต่การเริ่มลงโทษสื่ออย่าง พีซ ทีวี ด้วยประกาศดังกล่าวครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2558 โดยสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ซึ่งได้รับตำแหน่งในโควต้าผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นผู้แสดงความเห็นเรียกร้องให้ กสท. ออกแนวปฏิบัติเพื่อกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนในเรื่องรูปแบบหรือลักษณะการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง หรือยั่วยุปลุกปั่น เพื่อบังคับใช้ต่อสื่ออย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะสื่อใดสื่อหนึ่ง

การพิจารณาข้อเท็จจริงไม่รัดกุม-ฟังไม่รอบด้านก็ตัดสินได้

ขณะที่กระบวนการรับฟังความเห็นประกอบของคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. ขาดมาตรฐานการรับฟังอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ในกระบวนการรับฟังข้อเท็จจริงประกอบมติของอนุกรรมการฯ กรณีสถานี พีซ ทีวี วันที่ 13 มิถุนายน 2559 ที่ประชุมกสท. มีมติให้ให้คณะอนุกรรมการฯผู้แทนหน่วยงานความมั่นคงและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ความเห็น แต่ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ประชุม กสท. มีมติเชิญผู้แทนฝ่ายความมั่นคงมาให้ ความเห็นประกอบ ซึ่งท้ายที่สุดคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือขอให้หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อฯ ของคสช. มาให้ความเห็นเพียงฝ่ายเดียว และในการพิจารณากรณีสถานี สปริงนิวส์ที่ กสท. มีมติในวันที่ 8 สิงหาคม 2559คณะอนุกรรมการฯก็สอบถามความเห็นจากคณะทำงานติดตามสื่อฯ ของคสช. เพียงฝ่ายเดียว อีกเช่นกัน

นอกจากการความไม่แน่นอนในแนวปฏิบัติแล้ว ยังปรากฏว่า การพิจารณามติเร่งด่วนของสถานีพีซ ทีวี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ยังมีความไม่รัดกุม จากรายละเอียดความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ ระบุว่า การพิจารณาลงโทษครั้งนี้ได้รับการร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อฯ ของคสช. ในวันที่ 22 เมษายน 2558 และจึงนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 27 เมษายน 2558 โดยไม่ผ่านขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริงตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ  ที่กำหนดให้คู่กรณีมีโอกาสทราบข้อร้องเรียนและแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน และสุภิญญายังมองว่า กรณีดังกล่าว ไม่ได้มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเข้าเงื่อนไขยกเว้น ทั้งการพิจารณามติลงโทษสถานี พีซ ทีวี ก็ไม่ได้มีการถอดความจากเทปออกอากาศทั้งหมดอย่างที่เคยทำในวาระใกล้เคียงกัน เพียงพิจารณาผ่านเทปบันทึกรายการบางส่วนของรายการเท่านั้น

หรือกรณีของสถานีวิทยุสปริงเรดิโอ ในวันที่ 12 เมษายน 2560 กสทช. มีคำสั่งอย่างไม่เป็นทางการให้สถานีวิทยุสปริงเรดิโอระงับการออกอากาศเป็นเวลา 7 วัน ทั้งที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหารายการที่ออกอากาศว่ามีความไม่เหมาะสมและอาจกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยหรือไม่ ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2560  กสทช. มีคำสั่งให้สถานีกลับมาออกอากาศอีกครั้งในเวลา 12.00 น. ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ให้สถานีกลับมาออกอากาศได้ในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 17 เมษายน 2560 แต่ไม่มีความชัดเจนว่า การถูกสั่งให้ระงับการออกอากาศนั้นเป็นเพราะเนื้อหาที่นำเสนอขัดต่อกฎหมายฉบับใด

ไม่มีลำดับขั้นการลงโทษ-ไม่ผิดก็เรียกมาตักเตือนได้

ในเรื่องการกำกับและกำหนดโทษทางปกครองตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ประกอบกับประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 หาก กสทช. พบว่า สื่อวิทยุโทรทัศน์ นำเสนอเนื้อหาที่เข้าข่ายเนื้อหาต้องห้าม กสทช. มีอำนาจที่จะกำหนดโทษได้ ดังต่อไปนี้

1.       กำหนดโทษปรับทางปกครอง 50,000-500,000 บาท
2.       สั่งด้วยวาจา หรือด้วยหนังสือ ให้ระงับการออกอากาศ
3.       สั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือที่ให้ผล คือ การปิดสถานี

แต่ในการใช้อำนาจ กสท. ก็ไม่มีความชัดเจนในแนวทางการกำหนดบทลงโทษ ดังกรณีของสถานี พีซ ทีวี และ ทีวี 24 ซึ่งถูกพิจารณาว่า เผยแพร่เนื้อหาต้องห้ามออกอากาศตามกฎหมายครั้งแรกเหมือนกัน แต่สถานี พีซ ทีวี ได้รับการตักเตือน ขณะที่ ทีวี 24 ถูกระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 7 วัน

ในข้อสังเกตต่อระเบียบวาระการประชุม กสท. ของพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. ระบุว่า การกำหนดโทษทางปกครองของทีวี 24 ควรมีกระบวนการ ขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับกรณีการกำหนดโทษของสถานี พีซ ทีวี กล่าวคือ มีการตักเตือนพร้อมแจ้งมาตรการทางปกครองก่อนจะดำเนินกระบวนการตามลำดับ

ขณะที่ตามประกาศ กสทช. ไม่ปรากฏการกำหนดมาตรการลงโทษในกรณีที่สื่อถูกพิจารณาว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า มีกรณีที่สื่อถูกเรียกตักเตือน ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ทั้งที่ตามผลการพิจารณาของ กสท. ก็มีมติแล้วว่า สื่อดังกล่าวไม่ได้กระทำความผิด โดยแบ่งเป็นสถานี วอยซ์ ทีวี 3 ครั้งและสถานีไทยพีบีเอส 1 ครั้ง

 

กรณีวอยซ์ ทีวี

ครั้งที่ 1 วันที่ 30 มีนาคม 2558 ที่ประชุม กสท. รับทราบผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหา เห็นควรมีหนังสือขอให้บริษัทใช้ความระมัดระวัง ความละเอียดรอบคอบ ในการตรวจสอบเนื้อหารายการก่อนที่จะมีการนำออกอากาศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ครั้งที่ 2 วันที่ 20 มิถุนายน 2559 ไม่เปิดเผยเนื้อหา

ครั้งที่ 3 วันที่ 15 สิงหาคม 2559 ที่ประชุม กสท. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake up News (วาระแรก) เห็นตามมติคณะอนุกรรรมการฯว่า เนื้อหารายการไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่กลับมีหนังสือขอความร่วมมือให้วอยซ์ ทีวีระมัดระวังและละเอียดรอบคอบในการเสนอเนื้อหา

กรณีไทยพีบีเอส

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 กสท.พิจารณาเนื้อหาสกู๊ปข่าวเรื่อง นักศึกษากลุ่มดาวดิน ในรายการ ที่นี่ Thai PBS โดยกรรมการเห็นพ้องว่า การนำเสนอเนื้อหาไม่ขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ แต่มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการเชิญผู้แทนไทยพีบีเอสมาตักเตือนด้วยวาจา

 

ปิดสื่อก่อนเลือกตั้ง 2562 ศาลปกครองพลิกเลิกมติ ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ช่วงการรณรงค์เลือกตั้ง 2562 วันที่12 กุมภาพันธ์ 2562 กสทช.ได้ออกคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวี ทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-27 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า เนื้อหาออกอากาศของวอยซ์ ทีวีส่อสร้างความสับสนขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 จึงผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ประกอบกับเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจึงสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานี ซึ่งเป็นครั้งที่สองที่วอยซ์ ทีวีได้รับคำสั่งจากกสทช.ให้ระงับการออกอากาศทั้งสถานี แต่ครั้งนี้วอยซ์ ทีวีได้ตัดสินใจยื่นฟ้องกสทช.ต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติดังกล่าว

ในกระบวนการไต่สวนกสทช.ยังไม่แสดงข้อเท็จจริงว่า เนื้อหารายการสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร การระงับการออกอากาศจึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ใช่กรณีที่วอยซ์ ทีวีเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติและสร้างความเสียหายร้ายแรง ดังนั้นมติที่ประชุมกสทช.ครั้งที่ 3/2562 จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯและข้อ 20 ของประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555

กรณีกสทช.กล่าวว่า การกระทำของวอยซ์ ทีวีเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจึงใช้อำนาจตามมาตรา 64(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่วอยซ์ ทีวีกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯเรื่องเดียวกันหรือมีวิธีการเดียวกัน และต้องให้โอกาสวอยซ์ ทีวีในการโต้แย้งเสียก่อน ขณะที่หนังสือที่ให้วอยซ์ ทีวีเข้าชี้แจงต่อสำนักงานกสทช.ทั้ง 2 ฉบับไม่ได้มีประเด็นให้ชี้แจงเรื่องการกระทำความผิดซ้ำแต่อย่างใด ในหนังสือคำสั่งของกสทช.ก็ไม่ปรากฏว่า มีการชี้แจงประเด็นความผิดซ้ำ มีเพียงข้อความว่า มีการกระทำความผิดซ้ำ เห็นว่า กสทช.ไม่ได้ประสงค์จะพิจารณาเรื่องการกระทำความผิดซ้ำ ไม่ให้โอกาสวอยซ์ ทีวีในการพิสูจน์ การอ้างตามมาตรา 64(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไม่อาจรับฟังได้

พิพากษาว่า มติที่ประชุมกสทช.ที่ 3/2562 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดโทษทางปกครองให้ระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 64, 16 และ 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และข้อ 20 ของประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555 สั่งให้เพิกถอนมติดังกล่าว
 

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์