1057 1336 1458 1314 1850 1526 1668 1777 1298 1000 1609 1318 1973 1694 1261 1026 1331 1742 1959 1654 1965 1685 1880 1956 1726 1264 1661 1163 1002 1240 1842 1581 1631 1963 1378 1397 1795 1976 1543 1854 1887 1604 1700 1180 1624 1965 1688 1639 1868 1909 1217 1590 1387 1688 1497 1198 1659 1932 1570 1060 1533 1660 1570 1540 1901 1685 1754 1130 1840 1069 1359 1720 1070 1376 1763 1834 1461 1516 1793 1469 1504 1811 1427 1397 1760 1602 1735 1137 1973 1445 1950 1031 1772 1441 1604 1257 1063 1365 1009 Change.NCPO กลุ่มดาวดิน จากนักศึกษาสู่คนทำงานกับอุดมการณ์ที่ยังคงเดิม | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Change.NCPO กลุ่มดาวดิน จากนักศึกษาสู่คนทำงานกับอุดมการณ์ที่ยังคงเดิม

ได้มีโอกาสมายืนตรงนี้ (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น) อีกครั้งก็คิดถึงตอนที่ยังเคลื่อนไหวในฐานะนักศึกษา จริงๆแล้วเราเคลื่อนไหวตรงนี้มานานแล้วตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร อย่างตอนที่ทำกิจกรรมช่วงที่ กปปส. ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่กรุงเทพ ก็มองว่าอนุสาวรย์ตรงนี้มันไม่ใช่แค่อิฐหรือปูนแต่มันมีความหมายในฐานะพื้นที่ที่ใช้ทำกิจกรรมทางการเมือง ขอนแก่นมันไม่ได้มีสัญลักษณ์หรือพื้นที่ทางการเมืองเยอะเหมือนที่กรุงเทพ ที่ตรงนี้ก็เลยเป็นพื้นที่เดียวที่เราพอจะใช้ทำอะไรได้บ้าง"
 
"พื้นที่นี้มันไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมการเมืองอย่างเดียวนะ ที่ตรงนี้ก็เป็นที่ๆ ชาวบ้านเคยมาประกาศเจตนารมณ์อีสานใหม่ ผมมองมันในฐานะพื้นที่เล็กๆ ที่เรามีอยู่และเราต้องรักษามันไว้ด้วยการใช้งาน ตอนที่เราออกมาทำกิจกรรม (วันที่ 22 พฤษภาคม 2558) ประเทศนี้มันก็ไม่ได้มีประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยการที่เรามาทำกิจกรรมในที่แห่งนี้มันก็ยังเป็นการยืนยันหลักการอะไรบางอย่างอยู่
 
จตุภัทร์ "ไผ่ ดาวดิน"
 
การเคลื่อนไหวครั้งนั้น (ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558) ทำให้พวกผมเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น จากตอนแรกที่เราทำงานในประเด็นเฉพาะของพื้นที่ภาคอีสานที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อหรือสาธารณชนพอเราขยับไปเคลื่อนไหวประเด็นการเมืองภาพใหญ่เราก็กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
 
หลังจากนั้นวันที่ 24 มิถุนายน 2558 คณะ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) เลื่อนวันนัดรายงานตัว ไม่รู้เลื่อนเพราะอะไรแต่พวกผมก็ตัดสินใจลงไปกรุงเทพ แล้วก็ไปติดคุกอยู่ที่นั่น 12 วัน ถ้าถามว่า นึกย้อนกลับไปเสียดายหรืออยากกลับไปแก้ไขอะไรหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ไม่รู้สึกเสียดาย เพราะถือว่า เป็นครั้งหนึ่งที่ได้สู้ ส่วนเรื่องเรียนตอนนั้นก็ไม่ได้เสียดายมาก เพราะคิดว่า สอบใหม่ปีไหนก็ได้แต่ถ้าไม่ได้ลงไปสู้ที่กรุงเทพครั้งนี้ก็คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว
 
สำหรับตอนนี้คงต้องพุ่งเป้าไปที่เรื่องเรียนก่อน สำหรับการเคลื่อนไหวช่วงนี้ก็คงต้องลดบทบาทของตัวเอง ก็เป็นไปตามวัย ตอนนี้ก็ไม่ได้เข้าไปเป็นตัวหลักในการวางแผนการขับเคลื่อนในพื้นที่เหมือนเมื่อก่อน อยากจะเรียนให้จบในปีนี้จากนั้นจะขยับขยายทำอะไรก็จะคงทำได้เต็มที่
 
ศุภชัย "อาร์ตี ดาวดิน"
 
 
การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตพวกเราไปพอสมควร ปกติพวกเราเหมือนเคลื่อนไหวใต้ดิน ทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ ก็ไม่ค่อยมีสื่อที่ไหนมาสนใจ แต่พอเราขยับมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารมันก็กลายเป็นกระแสที่คนสนใจเราก็เลยตัดสินใจยกระดับการเคลื่อนไหวใหญ่ จนกระทั่งมาโดนจับ (ที่กรุงเทพ)
 
สี่ปีที่ผ่านไปสำหรับผมมองว่า มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้และการเติบโต จากที่เราเคยทำงานในประเด็นชาวบ้านเราก็ยกระดับมาต่อสู้ในประเด็นการเมืองเชิงโครงสร้างอย่างการรัฐประหาร พอเรียนจบตัวผมก็ยังทำงานในประเด็นชาวบ้าน ประเด็นสิทธิมนุษยชน วันนี้มีโอกาสกลับมาที่นี่อีกครั้งก็รู้สึกดี แล้วก็หวังว่าจะมีน้องๆ คนรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมการเมืองแบบนี้ต่อไป
 
พายุ "พายุ ดาวดิน"
 
ช่วงไล่เลี่ยกับที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นผมลาออกจากการเรียนคณะวิศวะ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง พอมาเรียนนิติก็รู้สึกว่าชอบสาขานี้มากกว่าวิศวะ เพราะมันเป็นวิชาที่ใช้ได้กับชีวิตประจำวัน การเรียนเรื่องกฎหมายผมตั้งคำถามว่า ครั้งนั้น (การชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร) ผมไปก่ออาชญากรรมทำผิดร้ายแรงมากเลยเหรอถึงมาโดนจับ
 
สี่ปีผ่านไปตอนนี้ผมก็เกือบจบนิติรามฯ แล้ว เหลืออีกวิชาเดียว คือ การว่าความ ถ้าถามว่า ย้อนกลับไปได้จะออกมาเคลื่อนไหวอยู่หรือไม่ ผมก็ยืนยันว่า คงจะออกมาเคลื่อนไหวเหมือนเดิม
 
อภิวัฒน์ "น้อย ดาวดิน"
 
การออกมาทำกิจกรรมครั้งนั้น (ชูป้าย) ทำให้ผมโตขึ้นนะ ถือเป็นบทเรียนในชีวิตบทหนึ่ง ผมได้เรียนรู้ถึงความอยุติธรรมในสังคมและเป็นผู้ถูกกระทำโดย คสช. ด้วยตัวเอง มาถึงวันนี้ผมถือว่า ผมยังต่อสู้ในเรื่องเดิมนะ เพราะตอนนี้ผมทำงานกับชาวบ้านในประเด็นทรัพยากรที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร ส่วนตอนเป็นนักศึกษานอกจากออกไปคัดค้านการรัฐประหารแล้ว เราก็ต่อสู้เรื่องการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วย
 
การเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยมันมีหลายแบบทั้งการเคลื่อนไหวตามกรอบประชาธิปไตยตัวแทน และการเคลื่อนไหวแบบประชาธิปไตยทางตรงซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำงานอยู่ในตอนนี้
 
สิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วงสี่ปีหลังการถูกดำเนินคดี คือ ผมโตขึ้น เปลี่ยนสถานะจากนักศึกษามาเป็นคนทำงานที่ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นแต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิม คือ งานที่ผมทำก็ยังเป็นการต่อสู้กับผลพวงของการรัฐประหารซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ผมถูกดำเนินคดีเมื่อสี่ปีก่อนและการถูกดำเนินคดีครั้งนั้นก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผมเลือกมาทำงานเคลื่อนไหวกับชาวบ้านในวันนี้
 
ภาณุพงษ์ "ไนซ์ ดาวดิน"
 
1164
 
ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินเจ็ดคนรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร นอกจากจะเตรียมป้ายผ้าผืนใหญ่เขียนข้อความ "คัดค้านรัฐประหาร" ไปถือแล้ว พวกเขายังเตรียมแผ่นป้ายขนาดเล็กที่เขียนข้อความเกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น การสร้างเขื่อน หรือการให้สัมปทานเอกชนทำเหมืองแร่มาถือด้วย เพื่อสื่อถึงความเชื่อมโยงว่า ระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลโดยตรงต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของประชาชน
 
ในสังคมประชาธิปไตย การแสดงออกของนักกิจกรรมทั้งเจ็ดคงเป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่ภายใต้บรรยากาศที่ประเทศถูกปกครองโดยระบอบแห่งการรัฐประหารของ คสช. การชุมนุมของพวกเขากลายเป็นอาชญากรรม ขณะที่แผ่นป้ายรณรงค์ก็กลายเป็นของกลางในคดีอาญา นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินทั้งเจ็ดคนถูกควบคุมตัวทันทีที่เริ่มชูป้ายผ้า และถูกนำตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) จากนั้นก็ถูกพาตัวไปตั้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน
 
การถูกตั้งข้อหาครั้งนั้นนำมาสู่การเดินทางไกลของพวกเขาในการต่อสู้กับอำนาจ คสช. พนักงานสอบสวนนัดพวกเขารายงานตัวในวันที่ 8 มิถุนายน แต่ทั้งเจ็ด ประกาศว่า จะทำอารยะขัดขืนด้วยการไม่เข้ารายงานตัวแต่หากเจ้าหน้าที่จะมาจับกุมเองก็จะไม่ขัดขืน หลังจากนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินทั้ง เจ็ด ก็เดินทางมาปรากฎตัวที่หน้าสน.ปทุมวันเพื่อให้กำลังใจ เพื่อนนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับกุม และตั้งข้อหาเดียวกัน จากการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินและกลุ่มนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่กรุงเทพผลัดกันขึ้นปราศรัยที่บริเวณตลาดสามย่าน ตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำ การชุมนุมย่อยๆ
 
หลังจากนั้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 นักกิจกรรมก็ยังเดินหน้าทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ร่วมกันด้วยการเดินจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาชูป้ายผ้า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ที่อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน การทำกิจกรรมวันนั้นจบลงโดยไม่มีใครถูกจับกุมตัวแต่ในวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ระหว่างที่กลุ่มนักกิจกรรมที่ 14 คนกำลังพักผ่อนกันที่สวนเงินมีมา เจ้าหน้าที่ก็นำหมายจับศาลทหารกรุงเทพไปทำการจับกุมนักกิจกรรมทั้ง 14 โดยแจ้งข้อหา ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
 
หลังถูกจับกุมในช่วงเย็นพวกเขาถูกพาตัวไปที่สถานีตำรวจเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงค่ำ จากนั้นก็ถูกพาตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อขออำนาจศาลฝากขังในช่วงดึกคืนเดียวกัน และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเป็นเวลา 12 วัน พวกเขาได้รับการปล่อยหลังจากนั้นเมื่อศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง
 
นอกจากการถูกดำเนินคดีจากการชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่น กับการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 นักกิจกรรมบางคนก็ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น จตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ถุกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแชร์บทความของเว็บไซต์บีบีซีไทยและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ระหว่างถูกคุมขังจตุภัทร์ต้องต่อสู้คดีอื่นๆด้วย ได้แก่ คดีแจกเอกสารโหวตโนประชามติที่อำเภอภูเขียว ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียวมีคำพิพากษายกฟ้องในเดือนมีนาคม 2561 และคดีจัดเวทีเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน
 
ภาณุพงษ์หรือ "ไนซ์ ดาวดิน" พายุ และอภิวัฒน์หรือ "น้อย ดาวดิน" ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากกรณีที่เขาจัดกิจกรรมให้กำลังใจ "ไผ่ ดาวดิน" ระหว่างถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดขอนแก่น โดยในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า ทั้งสามคนกับจำเลยคนอื่นๆ มีความผิดแต่เนื่องจากระหว่างเกิดเหตุทั้งสามยังเป็นนักศึกษาศาลจึงให้รอการกำหนดโทษไว้ก่อน
 
สำหรับคดีที่นักกิจกรรมทั้งเจ็ดถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอนแก่น มีเพียงจตุภัทร์และภาณุพงษ์ที่ถูกฟ้องคดีต่อศาลทหารขอนแก่น ซึ่งมีศาลคำสั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิก ส่วนคดีที่ทั้งเจ็ดมาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ แต่หลังการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งเจ็ดคนยังต้องมารายงานตัวในคดีใหม่ร่วมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากการชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน
 
หมายเหตุ บทสัมภาษณ์ชุดนี้มีนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินที่สะดวกมาร่วมบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเขาทั้งหมดห้าคน ส่วนอีกสองคน คือ สุวิชาหรือ "เบส ดาวดิน" กับวสันต์หรือ "โต้ง ดาวดิน" ไม่สามารถมาให้สัมภาษณ์ได้ โดยวสันต์ปัจจุบันอุปสมบทเป็นพระ ส่วนสุวิชาหลังเรียนจบก็ทำงานกับหน่วยงานราชการ และไม่สะดวกเดินทางมาให้สัมภาษณ์ตามวันนัดหมาย
 
---------------------------------------------------------
ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษของการปกครองโดย คสช. เป็นเวลาที่นานพอจะให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น เห็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้เคยปฏิเสธว่า ตัวเอง "ไม่ใช่นักการเมือง" กลายเป็นนักการเมืองแบบเต็มขั้น เห็นระบบการเมืองที่หวนคืนไปสู่ระบบการเมืองแบบวันวาน เช่น การมี ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 100% หรือเห็นรัฐธรรมนูญที่ย้อนกลับไปกำหนดให้นายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
 
ขณะเดียวกันระยะเวลาที่เนิ่นนานในยุค คสช. ก็นานพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการรัฐประหารหรือการปกครองโดย คสช. จนมีคดีการเมืองติดตัวเป็นของขวัญ ผลงานชุด Change.NCPO จึงคัดเลือกภาพและเสียงของนักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2557 - 2559 ซึ่งถือเป็นครึ่งแรกของการบริหารประเทศโดย คสช. มาบอกเล่าไว้ ณ ที่นี้
 
ชนิดบทความ: