หอศิลป์…พื้นที่การเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่

เดิมทีหากพูดถึงพื้นที่ทางการเมือง ทุกคนต่างมุ่งไปที่หมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือหมุดคณะราษฎรที่ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว แต่หลังการรัฐประหาร 2557 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ(หอศิลป์) กลายเป็นสถานที่ที่ใช้จัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่นการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 กิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 การชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 และการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งครั้งที่หนึ่งในวันที่ 27 มกราคม 2561 เป็นต้น
เหตุใดพื้นที่การแสดงออกถึงเริ่มเปลี่ยนผ่านจากสถานที่สำคัญในความทรงจำใครหลายคนมาเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองเช่นนี้ คุยกับสิรินทร์ มุ่งเจริญ “เฟลอ” นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมกิจกรรม Thai Student Stand with Hong Kong กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้กำลังใจผู้ชุมนุมที่ฮ่องกง 4 กันยายน 2562
“….กลุ่มเราเลือกจัดกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ เพราะเพื่อนๆที่มาจัดส่วนใหญ่เรียนที่จุฬาฯ ที่นี่ก็น่าจะสะดวกที่สุดและน่าจะง่ายกับคนอื่นๆด้วยเพราะมันอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า ที่พวกเราไม่จัดกิจกรรมนี้ในมหาลัยก็คงเป็นเพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ค่อยสบายใจกับการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ ครั้งหนึ่งเราเคยจัดงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนก็มีผู้ใหญ่มาถามด้วยความเป็นห่วงว่าเป็นงานการเมืองหรือเปล่า เราเลยมองว่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัยของเรามันปิดซึ่งอาจจะต่างจากที่ธรรมศาสตร์
ในความเข้าใจของเรา พื้นที่ทางการเมืองในกรุงเทพก็น่าจะมีสถานที่อย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ชื่อมันก็สื่อความหมายอยู่แล้ว หรือพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ ท่าพระจันทร์ที่เราเคยไปร่วมกิจกรรมหลายครั้ง หรืออย่างสมัยที่เราโตขึ้นมาแต่ยังไม่ได้สนใจการเมืองจริงจัง สี่แยกราชประสงค์ที่มีคนเสื้อแดงมาชุมนุมก็น่าจะถือเป็นพื้นที่ทางการเมืองอีกแห่งหนึ่ง
ถ้าถามว่าในวันนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังเป็นพื้นที่ทางการเมืองอยู่ไหมก็น่าจะยังเป็นอยู่ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูหลายๆครั้งเวลาจะมีการจัดชุมนุมตรงนั้นอนุสาวรีย์ก็มักจะถูกปิด ซึ่งการที่สัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงประชาธิปไตยถูกปิดกั้นไม่ให้คนมาใช้เป็นพื้นที่แสดงออกในเรื่องต่างๆ มันก็น่าจะสะท้อนภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเราได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นคนที่เติบโตและเริ่มมาสนใจการเมืองในยุคหลังๆก็อาจจะไม่ได้ผูกพันหรือรู้เบื้องหลังว่าทำไมอนุสาวรีย์ตรงนั้นถึงถูกเรียกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พื้นที่การเมืองตรงนั้นเลยอาจจะดูเข้าถึงยาก
แต่สำหรับหอศิลป์ เรามองว่ามันเริ่มถูกใช้งานในฐานะพื้นที่จัดกิจกรรมทางการเมืองบ่อยครั้งด้วยหลายเหตุผล เช่น การเดินทางสะดวกเข้ากับวิถีชีวิตของคนยุคนี้ อีกอย่างหอศิลป์ก็เป็นพื้นที่สำหรับแสดงงานศิลปะ ซึ่งการที่เรามาทำกิจกรรมตรงนี้มันก็ถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง…”