Change.NCPO “ลูกเกด” – ชลธิชา จากนิสิตทำกิจกรรมการเมือง สู่คนทำงานรณรงค์ประชาธิปไตย

โดยพื้นฐานทางครอบครัวเราก็เหมือนชนชั้นกลางทั่วไปนะ ก่อนหน้าการสลายชุมนุมปี 2553 เราก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่ได้สนใจการเมือง ช่วงที่คนเสื้อแดงชุมนุมเราก็ไม่เคยไปชุมนุมกับเขา
จุดที่ทำให้เริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจังคือการล้อมปราบคนเสื้อแดง ตอนนั้นเราไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง น่าจะเป็น Voice of Taksin ที่เขียนเรื่องการสลายการชุมนุมที่มีคนตายกลางกรุงเทพฯ ก็เลยเริ่มสนใจตั้งคำถามอะไรหลายๆอย่างกับชีวิต
ถ้าจะบอกว่าเราเป็นผลผลิตของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมปี 2553 ก็คงไม่ผิดนัก ตัวเราเองไม่เคยสนใจการเมือง ไม่เคยรู้จักคนเสื้อแดง ไม่เคยหรือรู้สึกบวกหรือลบกับพวกเขามาก่อน พอได้มาอ่านเรื่องราวการสลายการชุมนุมในปี 2553 มันก็ทำให้เราเริ่มฉุกคิดอะไรได้หลายๆอย่างโดยไม่ถูกอคติบางอย่างบังตา
เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองด้วยความกลัวความตายว่า ถ้าสักวันหนึ่งคนที่ตายคือเรามันจะเป็นยังไง หลายคนอาจจะบอกว่าถ้าคุณไม่ออกไปชุมนุมคุณก็ไม่เป็นอะไรหรอก เราคิดว่าวิธีคิดแบบนี้มันมีปัญหาอย่างน้อยสองข้อนะ
ข้อแรกเลยเรามองว่าการที่รัฐใช้กำลังและกระสุนจริงสลายการชุมนุมจนมีคนตายกลางเมืองหลวงมันสะท้อนว่ารัฐมีวิธีคิดที่ไม่ได้มองคนเห็นต่างเป็นคน ซึ่งถ้าปล่อยเรื่องแบบนี้เป็นมาตรฐานวันหนึ่งรัฐอาจมีนโยบายที่คุณไม่เห็นด้วยคุณจะรู้สึกปลอดภัยได้ยังไง
ส่วนอีกข้อเรามองว่าการมีชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมันไม่ใช่แค่การหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงชีวิตตัวเองไปวันๆแต่มันหมายถึงการที่คุณจะมีความเชื่อความคิดได้อย่างอิสระด้วย ถ้าต้องอยู่ในรัฐที่ไม่สามารถมีความคิดความเชื่อหรือแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อของตัวเองได้ ต้องทำตามที่รัฐบอก เราคิดว่าการใช้ชีวิตแบบนั้นมันก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ไม่มีชีวิตหรือเราได้ตายทางความคิดไปแล้ว
ถึงแม้เราจะเริ่มเติบโตและมีความคิดความเชื่อทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงหลังการสลายชุมนุมปี 2553 แต่กว่าเราจะมาเริ่มไปชุมนุมครั้งแรกก็ปี 2556 แล้วก็ไม่ได้เป็นการชุมนุมประเด็นการเมืองด้วย แต่เป็นเรื่องคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ แต่พอประเด็นเขื่อนแม่วงก์เริ่มถูกใช้เป็นประเด็นโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเราก็เริ่มถอนตัวออกมา
ตอนที่กลุ่มกปปส.เริ่มชุมนุมเราก็ไปนะแต่ไปในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพราะตอนนั้นเขามาชุมนุมใกล้ๆมหาลัยเราก็เลยลองไปดู แต่เราไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของพวกเขานะ พอมีการยึดอำนาจในปี 2557 เรากับเพื่อนๆที่เป็นนักศึกษาก็เริ่มทำกิจกรรมอย่างเช่นกิจกรรมกินแซนด์วิชช่วงหลังการรัฐประหาร
การทำกิจกรรมหลังการรัฐประหารทำให้เราเริ่มถูกจับและมีโอกาสไปนอนค้างคืนที่สถานีตำรวจ จริงๆเราก็ไม่ได้นอนในห้องขังหรอกนะแต่เขา(ตำรวจ) จะให้เราอยู่ในห้องสอบสวนที่เปิดแอร์หนาวจนไมเกรนเราขึ้น ก่อนหน้าปี 2558 เวลาเราถูกจับเพราะไปทำกิจกรรมเรายังไม่ถูกตั้งข้อหานะอย่างมากก็ไปอยู่สถานีตำรวจคืนหนึ่ง เขาสอบปากคำเราบ้าง แล้วก็บอกให้เรารออยู่ในห้องสอบสวนบ้างพอเช้าก็ปล่อยเรากลับไป
จริงๆพอเราเริ่มถูกจับเราก็กลัวนะ แต่มันไม่ได้กลัวเรื่องคุกหรือคดี แต่เรากลัวเรื่องครอบครัวมากกว่าเพราะพ่อเราเป็นทหาร แต่โชคยังดีที่ตอนถูกจับช่วงแรกๆที่บ้านก็ยังไม่รู้ แล้วเราก็ไม่ได้บอกที่บ้านว่าเราออกมาทำกิจกรรมอะไร
กิจกรรมรำลึกหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ฯ (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) เมื่อปี 2558 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งที่สำคัญในชีวิตเรา ตอนแรกเราเองก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีผลกับชีวิตอะไรขนาดนี้ เพราะกิจกรรมครั้งนั้นก็เป็นแค่กิจกรรมใสๆที่เพื่อนๆนักศึกษาจัดกันเอง เราเองช่วงนั้นก็มีสอบแต่ก็ตามมาเข้าร่วมกิจกรรมทีหลัง
ระหว่างทำกิจกรรมเราถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติด้วยความรุนแรงอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกเรารู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าช็อตข้างหลังบริเวณด้านซ้าย จากนั้นระหว่างนั่งกับเพื่อนเป็นวงก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนมากระชากแขนซ้ายเพื่อดึงให้ลุกจากวง ความรุนแรงทั้งสองครั้งส่งผลกับร่างกายเรามาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนร่วมชุมนุมครั้งนั้นเราเป็นคนแข็งแรงแล้วเราก็เชื่อว่าเราทำกิจกรรมถึกๆลุยๆได้ แต่หลังจากวันนั้นเรามักจะมีอาการชาที่ด้านซ้ายของร่างกาย ยกของหนัก ใช้ร่างกายหนักๆไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน บางครั้งถึงขั้นชาจนเดินไม่ได้เลยก็มี การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ครั้งนั้นไม่ได้แค่ทำให้เราเจ็บปวดทางกายนะแต่มันส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราด้วย

ในฐานะลูกทหารเราเข้าใจมาตลอดว่าหน้าที่ของทหารตำรวจคือการปกป้องเรา ปกป้องประชาชน แต่การที่ถูกจับด้วยการใช้กำลังจากครั้งนั้นและต่อมาเราต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกหักหลัง แล้วก็พาลไปรู้สึกว่าเราจะอยู่อย่างปลอดภัยยังไงในประเทศนี้
การถูกจับและถูกดำเนินคดีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558  ยังทำให้เราต้องมีปัญหากับครอบครัวด้วย ถึงแม้เราจะทำกิจกรรมและเคยถูกจับมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่ที่บ้านก็ไม่เคยรู้เรื่อง ตอนที่เราถูกจับไปทำ MOU งดเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะทำกิจกรรมกินแซนด์วิช เราก็ขอให้อาจารย์มาเป็นญาติให้เราเพราะไม่อยากบอกที่บ้าน กระทั่งเรามาบาดเจ็บจากการถูกจับที่หน้าหอศิลป์จนต้องไปโรงพยาบาล ที่บ้านเราก็เลยรู้เรื่องเพราะมีญาติเห็นข่าว
หลังจากเราถูกดำเนินคดี พ่อกับแม่เราก็อยากให้เราเข้ากระบวนการทางคดีตามระบบในศาลทหารแต่เราปฏิเสธเพราะเราไม่ยอมรับการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารและที่สำคัญเราไม่ยอมรับกติกาของคณะรัฐประหาร ช่วงนั้นเราเลยทะเลาะกับที่บ้านจนเราตัดสินใจออกไปอยู่ที่อื่นพักหนึ่ง
ครั้งหนึ่งเราเคยเถียงกับที่บ้านนะว่าที่สภาพสังคมมันเป็นแบบนี้ ที่คนรุ่นเราต้องมาเจอกับอะไรแบบนี้เป็นเพราะพ่อกับแม่เลือกที่จะเงียบกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เราเลยต้องมาลำบากกับสภาพสังคมแบบนี้ การเถียงกับที่บ้านครั้งนั้นเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้เราตัดสินใจทำงานในองค์กรรณรงค์ทางการเมืองอย่างกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group – DRG) ในปี 2560 เพื่อพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่าเราไม่ใช่แค่พวกเห่อม็อบไปชุมนุมเอามันแต่เราต้องการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมแบบจริงจัง
เพื่อนเราบางคนที่เคยเป็นนักกิจกรรมตัดสินใจทำงานในพรรคการเมืองซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ตัวเราคิดว่าบทบาทนักการเมืองคงไม่เหมาะ เพราะสังคมไทยก็มีภาพจำและความคาดหวังว่านักการเมืองต้องมีศีลธรรมอย่างโน้นอย่างนี้ซึ่งเราไม่พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองแบบนั้น เราอยากเป็นคนธรรมดาไปดื่มไปสังสรรค์กับเพื่อนหรือเดินจับมือแฟนในที่สาธารณะเราคิดว่ามันก็คงเป็นเรื่องเหนื่อยเกินไปถ้าเข้าไปทำงานการเมืองแล้วเราต้องไปต่อสู้เรื่องภาพจำพวกนั้น อีกอย่างการทำงานการเมืองในฐานะนักการเมืองมันก็ไม่ได้มีอิสระอะไร โดยเฉพาะภายใต้ระบบการเมืองไทยแบบทุกวันนี้
คนมักเข้าใจผิดว่า DRG รับเงินมาทำม็อบ แต่มันไม่ใช่เลย เพราะงานหลักของ DRG คืองานด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับขบวนการภาคสังคมต่างๆ เช่น จัดอบรมด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เทคนิคการทำงานรณรงค์ หรือการทำงานส่งเสริมแนวคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตย รวมทั้งทำงานเรื่องการเฝ้าระวังและความตระหนักรู้เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในหมู่นักกิจกรรมให้กับขบวนการนักศึกษาและขบวนการแรงงาน แต่งานด้านนี้เป็นงานเบื้องหลังขององค์กรที่คนนอกมักมองไม่เห็น บางครั้งเราก็ติดขัดอยู่บ้างเพราะคนให้ทุนทำโครงการมองว่าเราเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมือง
มองย้อนจากวันนี้ไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว  ชีวิตเราเปลี่ยนไปเยอะนะ เราเปลี่ยนจากนักศึกษาเป็นคนทำงานแต่งานของเราก็เป็นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยเหมือนเดิม ครอบครัวของเราเองยอมรับเรามากขึ้น

ถึงวันนี้เราพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นแล้วว่าเราไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองแบบเอามัน แต่เรามีเป้าหมาย เราหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ดีกว่าให้สังคมไทย สำหรับตัวเราหากมองย้อนไปก็ยอมรับว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภา 2558 สร้างบาดแผลให้กับเราไม่น้อยโดยเฉพาะเรื่องร่างกายของเราที่ไม่เหมือนเดิมแต่ถึงย้อนเวลาได้เราก็ยังจะมาร่วมชุมนุมนะเพราะอย่างน้อยเราได้ยืนยันว่าเราเป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนที่มีความคิดความเชื่อของตัวเองไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ทำตามโปรแกรมที่รัฐบอก เราคิดว่ามันก็คุ้มกับสิ่งที่เสียไป  

—————————————————–
วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ชลธิชาหรือ “ลูกเกด” นิสิตชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรเดินทางไปร่วมกิจกรรมชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพ ในช่วงค่ำวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้กำลังควบคุมตัวผู้ชุมนุมรวม 30 คนซึ่งมีชลธิชารวมอยู่ด้วยถูกควบคุมตัวไปที่สน.ปทุมวันเพื่อสอบสวนเป็นเวลาหนึ่งคืน นักกิจกรรมทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้นโดยไม่มีใครถูกตั้งข้อหาแต่ต่อมามีนักกิจกรรมรวม 9 คนรวมทั้งชลธิชาถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคน

หลังถูกตั้งข้อหาครั้งนั้นชลธิชาและนักกิจกรรมอีกหกคนไม่ยอมเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียกแต่เดินทางไปที่หน้าสน.ปทุมวันในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจฐานทำร้ายร่างกายจากกรณีการสลายการชุมนุมแทน

เหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จบลงโดยที่ไม่มีใครถูกจับกุมตัวแม้ชลธิชาและเพื่อนนักกิจกรรมอีกหกคนจะถูกออกหมายจับเพราะไม่ยอมเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดแล้วก็ตาม หลังจากนั้นในวันที่ 25 มิถุนายน  2558 ชลธิชากับนักกิจกรรมอีกหกคนและนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกเจ็ดคนที่มาให้กำลังใจพวกเขาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ที่หน้าสน.ปทุมวันก็ร่วมกันเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มาชูป้าย “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ชลธิชาและนักกิจกรรมอีก 13 คนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวในช่วงเย็นวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ระหว่างพักผ่อนร่วมกันที่สวนเงินมีมา และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพในค่ำวันเดียวกัน เนื่องจากนักกิจกรรมทั้ง 14 ไม่ประสงค์จะใช้เงินประกันแลกกับอิสรภาพของตัวเองพวกเขาจึงถูกส่งไปฝากขังที่เรือนจำเป็นเวลา 12 วัน

นักกิจกรรมชายทั้ง 13 คนถุกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนชลธิชาซึ่งเป็นนักกิจกรรมหญิงคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีถูกส่งตัวไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ชลธิชาและนักกิจกรรมทั้งหมดถูกปล่อยตัวหลังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ 12 วัน หลังศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ขอให้ศาลคุมตัวพวกเขาต่อไปอีก 12 วัน

หลังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมรำลึก 1 ปี การรัฐประหาร และจากการทำกิจกรรมชูป้าย “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ชลธิชาก็ยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องและถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมอีกอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่ คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ ถนนราชดำเนิน ที่หน้ากองทัพบก และที่หน้าองค์การสหประชาชาติ
—————————————————–
ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษของการปกครองโดย คสช. เป็นเวลาที่นานพอจะให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น เห็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้เคยปฏิเสธว่า ตัวเอง “ไม่ใช่นักการเมือง” กลายเป็นนักการเมืองแบบเต็มขั้น เห็นระบบการเมืองที่หวนคืนไปสู่ระบบการเมืองแบบวันวาน เช่น การมี ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 100% หรือเห็นรัฐธรรมนูญที่ย้อนกลับไปกำหนดให้นายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
ขณะเดียวกันระยะเวลาที่เนิ่นนานในยุค คสช. ก็นานพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการรัฐประหารหรือการปกครองโดย คสช. จนมีคดีการเมืองติดตัวเป็นของขวัญ ผลงานชุด Change.NCPO จึงคัดเลือกภาพและเสียงของนักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2557 – 2559 ซึ่งถือเป็นครึ่งแรกของการบริหารประเทศโดย คสช. มาบอกเล่าไว้ ณ ที่นี้
ภาพถ่ายโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน