1049 1868 1338 1672 1281 1157 1184 1557 1172 1044 1502 1014 1402 1139 1349 1129 1350 1105 1067 1005 1868 1485 1646 1624 1183 1174 1459 1169 1184 1598 1436 1931 1724 1475 1813 1139 1644 1733 1667 1107 1024 1535 1471 1344 1014 1187 1669 1237 1154 1184 1194 1648 1949 1127 1738 1465 1518 1245 1705 1644 1532 1170 1951 1594 1120 1073 1100 1152 1102 1665 1516 1603 1130 1022 1437 1555 1499 1169 1131 1555 1541 1566 1350 1691 1998 1293 1485 1547 1744 1450 1236 1150 1729 1184 1082 1112 1368 1265 1396 ชะตากรรมผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทย และผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติในไทย ตั้งแต่ปี 2557 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ชะตากรรมผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทย และผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติในไทย ตั้งแต่ปี 2557

 

 

1200

 

 

ปี 2562 ประเด็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง จากเหตุการณ์ศพริมน้ำโขงที่มีแท่งซีเมนต์ยัดที่ช่องท้อง ซึ่งปรากฏในภายหลังว่า เป็นศพของนักกิจกรรมทางการเมืองที่หายตัวไป การสูญหายของนักกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการลี้ภัยทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หรือการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางกลายเป็นข่าวดังที่ทั่วโลกจับตามอง

 

หากพิจารณากรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ปี 2494 และไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้อพยพ และผู้แสวงหาลี้ภัย ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ใช่สถานที่รองรับการลี้ภัยที่ปลอดภัยนักสำหรับพวกเขา เพราะพวกเขาอาจมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่ต้องถูกจับกุมและส่งกลับได้ แต่ทว่ารัฐบาลไทยยังมีหน้าที่ต้องเคารพหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย (Non-Refoulement) ซึ่งบัญญัติไว้ในข้อที่ 33 ของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ เพราะบทบัญญัตินี้ยังมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ

 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ( CAT ) ซึ่งในบทที่ 3 ข้อ 3 วรรคที่หนึ่ง บัญญัติว่า ‘รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน’ 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยหรือบรรดานักกิจกรรมทางการเมือง ในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมาพอจะแยกได้เป็นห้ารูปแบบ ดังนี้

 

หนึ่ง ผู้ลี้ภัยชาวไทยสูญหายหรือเสียชีวิตระหว่างการลี้ภัยไม่น้อยกว่า 8 คน

 

ภายหลังการรัฐประหาร 2557 คสช. มีนโยบายรื้อฟื้นทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายมาตรา 112 นักกิจกรรมจำนวนมากถูกออกคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวหลังการรัฐประหาร แต่หลายคนเลือกที่จะลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา และพวกเขายังเคลื่อนไหวทางการเมืองบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยที่สูญหาย 6 คน คือ อิทธิพล หรือ "ดีเจซุนโฮ", วุฒิพงษ์ หรือ "โกตี๋", สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชูชีพ หรือ "ลุงสนามหลวง", สยาม และกฤษณะ และพบเป็นศพ 2 คน คือ ชัชชาญ หรือ สหายภูชนะ และไกรเดช หรือ สหายกาสะลอง

 

สอง ผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติที่หายตัวไปจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 คน

 

นอกจากประเทศไทยที่ดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างทั้งกระบวนการในกฎหมายและนอกกฎหมาย สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านดูจะไม่ต่างกันนัก โดยนับตั้งแต่ปี 2557 มีผู้ลี้ภัยและนักกิจกรรมทางการเมืองเดินทางมาที่ประเทศไทยและถูกหายตัวไปสามคน จากสามประเทศ คือ จีน ลาวและเวียดนาม กรณีของจีนและเวียดนาม คนเหล่านั้นภายหลังไปปรากฏตัวที่ประเทศต้นทางว่า ถูกคุมขังและถูกดำเนินคดี ปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้องระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ของประเทศต้นทางคุกคามพวกเขาในประเทศไทยด้วยตนเอง  ขณะที่รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ทางการไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งในการคุกคาม, จับกุมโดยมิชอบตามกฎหมายและการบังคับส่งกลับ ซึ่งละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

 

สาม ประเทศไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางไม่น้อยกว่า 90 คน

 

การที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยจับกุมชาวต่างชาติและส่งกลับประเทศต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการตรวจพิสูจน์สัญชาติหรือข้อเรียกร้องตามกฎหมายของประเทศต้นทาง ทั้งที่การส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับประเทศต้นทาง พวกเขาจะต้องเสี่ยงต่อการดำเนินคดีและการปฏิบัติที่โหดร้ายก็ตาม ในกลุ่มนี้ยังรวมถึงกรณีการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง แม้ว่า ผู้ลี้ภัย ‘สมัครใจ’ ที่จะกลับไปยังประเทศต้นทางก็ตาม แต่ความ ‘สมัครใจ’ นั้นอาจเกิดขึ้นจากเงื่อนไขหลายประการ เช่น ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ต้องถูกกักตัวที่สถานกักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งไม่แน่ชัดว่า จะถูกปล่อยตัวหรือได้ไปลี้ภัยในประเทศที่สามได้หรือไม่

 

สี่ ความพยายามของไทยในการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางไม่น้อยกว่า 2 คน 

 

กรณีนี้เป็นกรณีที่ประเทศไทยมีท่าทีจะส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง แต่ท้ายที่สุดไม่ได้ส่งตัวกลับเนื่องด้วยแรงกดดันจากนานาชาติ

 

ห้า ประเทศอื่นส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับมาประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 คน

 

กรณีนี้เป็นกรณีที่ทางการไทยได้ร้องขอผู้ลี้ภัยไปยังประเทศปลายทางอ้างเหตุการกระทำผิดตามกฎหมายไทย

 

00000000

หนึ่ง ผู้ลี้ภัยชาวไทยสูญหายหรือเสียชีวิตระหว่างการลี้ภัย

อิทธิพล สุขแป้นหรือดีเจซุนโฮ

 

ข้อมูลจากจดหมายของผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  ระบุว่า อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในลาวหายตัวไปในปี 2559 ดีเจซุนโฮเป็นผู้นำกลุ่มเชียงใหม่ 51 คนเสื้อแดงในเชียงใหม่และเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน หลังรัฐประหารดีเจซุนโฮถูกเรียกรายงานตัว แต่เขาลี้ภัยไปลาว ระหว่างนั้นเขายังวิพากษ์วิจารณ์ทหารและสถาบันกษัตริย์ผ่านยูทูปและเฟซบุ๊ก วันที่ 19 มิถุนายน 2559 เป็นวันสุดท้ายที่ดีเจซุนโฮติดต่อกับบุคคลใกล้ตัว ต่อมา วันที่ 22 มิถุนายน 2559 มีรายงานว่า เขาถูกพบเห็นขณะที่รับประทานอาหารที่ร้านอาหารและขึ้นมอเตอร์ไซด์กลับบ้านของเขาในช่วงเที่ยงคืน ในช่วงค่ำมีชายคนหนึ่งได้ยินเสียงร้องในพื้นที่นั้น ก่อนจะพบรถมอเตอร์ไซค์และรองเท้ากีฬาข้างหนึ่งของเขาถูกพบห่างจากร้านอาหารไปหนึ่งกิโลเมตร

 

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับดีเจซุนโฮได้รับข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ไทยจับตัวเขาไปไว้ที่ค่ายทหารในจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่กลับปฏิเสธการจับกุม อย่างไรก็ตาม คสช. ยอมรับว่า มีการติดตามการเคลื่อนไหวของดีเจซุนโฮจริงแต่ไม่ได้มีการจับกุมหรือคุมขัง มาจนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมของดีเจซุนโฮ

 

วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋

 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2560 จอม เพชรประดับ นักข่าวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้แจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่า วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ถูกกลุ่มชายชุดดำประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรมพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวไป เมื่อเวลา 9.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560

 

สุรชัย แซ่ด่านและพวกรวมสามคน

 

วันที่ 12 ธันวาคม 2561 ก่อนหน้าการเยือนลาวของรัฐบาล คสช. เพียงหนึ่งวัน มีรายงานว่า สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ สหายภูชนะและไกรเดช ลือเลิศ  หรือ สหายกาสะลองหายตัวไป ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2561 พบศพบริเวณตลิ่งตลาดนัดไทย-ลาว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2561 พบศพที่สอง ที่ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และวันที่ 29 ธันวาคม 2561 พบศพที่สามที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นำไปสู่การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ภายหลังการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอพบว่า ดีเอ็นเอของสองในสามศพตรงกับสหายคนสนิทของสุรชัยสองคน

1193 สุรชัย แซ่ด่าน

อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อถกเถียงว่า ศพที่ลอยมาติดริมน้ำโขงมีสองหรือสามศพ โดยทางตำรวจระบุว่า ระหว่างรอตรวจสอบศพที่สอง ศพได้หลุดตามน้ำไปจึงทำให้เชื่อว่า ศพที่พบบริเวณตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และศพที่พบบริเวณตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นศพเดียวกัน ทำให้ตำรวจเชื่อว่า มีเพียงสองศพเท่านั้น ขณะที่ปราณี ภรรยาของสุรชัยเชื่อว่า มีสามศพและศพของสุรชัยถูกทำลายไปแล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่า สุรชัยอยู่ที่ใด

 

ชูชีพ ชีวะสุทธิ์(ลุงสนามหลวง) และพวกรวมสามคน

 

วันที่ 9 พฤษภาคม 2562  'เพียงดิน รักไทย' หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้ออกมาเปิดผ่านช่องทางยูทูปว่า ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง”, สยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ผู้ลี้ภัยการเมืองในลาว ซึ่งถูกจับกุมที่เวียดนามเมื่อเดือนมกราคม 2562 ถูกส่งตัวกลับไทยแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ คาดว่า การจับกุมสีบเนื่องมาจากทั้งสามคนใช้พาสปอร์ตอินโดนีเซียปลอมเดินทางเข้าเวียดนาม ส่วนที่เหตุที่ต้องข้ามจากลาวไปเวียดนามอาจเป็นเพราะการที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายพยายามที่จะติดตามและกวาดล้างกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองในลาว

 

สอง นักกิจกรรมทางการเมืองต่างชาติที่หายตัวไปจากประเทศไทย

กุ้ย หมิ่นไห่ คนขายหนังสือในฮ่องกง

 

17 ตุลาคม 2558 กุ้ย หมิ่นไห่ คนขายหนังสือร้านหนังสืออิสระคอสเวย์ เบย์ บุกส์ สัญชาติสวีเดน ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน หายตัวไปหลังจากออกจากห้องพักที่พัทยา ประเทศไทย หลังจากนั้นมีข้อมูลว่า เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ประเทศจีนโดยปราศจากความช่วยเหลือจากทนายความและการเข้าถึงของเจ้าหน้าที่ทูต ต่อมาเดือนมกราคม 2559 ทางการจีนได้ยอมรับว่า มีการควบคุมตัวกุ้ย หมิ่นไห่ไว้หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี สื่อในความควบคุมของจีนเผยแพร่ภาพการบังคับสารภาพความผิดเรื่องการขับรถชนจนมีผู้เสียชีวิตในปี 2546 และเขาได้กลับประเทศจีนและมอบตัวอย่างสมัครใจ แต่ทางการจีนไม่ได้เปิดเผยข้อมูลแหล่งที่อยู่ของกุ้ย หมิ่นไห่ให้ครอบครัวหรือสถานทูตสวีเดนแต่อย่างใด

 

1194 กุ้ย หมิ่นไห่

เจือง ซุย เยิด บล็อกเกอร์เรดิโอ ฟรี เอเชีย

 

26 มกราคม 2562 เจือง ซุย เยิด บล็อกเกอร์เรดิโอ ฟรี เอเชียชาวเวียดนามที่ทำงานเผยแพร่ข่าวในเวียดนาม หายตัวไปจากห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียวเขาได้สมัครเพื่อมีสถานะผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ผู้ให้ข้อมูลไม่ระบุชื่อเปิดเผยว่า เยิดถูกจับกุมในตอนที่เขาเข้าไปในร้านไอศครีมในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อนร่วมงานของเขาคาดการณ์ว่า การลักพาตัวครั้งนี้กระทำโดยเจ้าหน้าที่เวียดนามที่ทำงานร่วมกับตำรวจของไทย โดยคุมตัวผ่านชายแดนไทยกัมพูชาและเข้าไปที่เวียดนาม ต่อมาในเดือนมีนาคม 2562 มีรายงานว่า เยิดถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำในประเทศเวียดนาม เจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งต่อภรรยาของเขาว่า เขาถูกจับกุมที่เวียดนามเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 และไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม

 

อ๊อด ไชยวงศ์ นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยชาวลาว

 

วันที่ 26 สิงหาคม 2562 เวลา 17.30 น. อ๊อด ไชยวงศ์ อายุ 34 ปี นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยชาวลาวหายตัวไปจากบ้านพักย่านบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ซึ่งเขาเข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราวระหว่างรอลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม ในปี 2017 อ๊อดถูกลงทะเบียนเป็นบุคคลในความห่วงใย (person of concern) โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เนื่องด้วยกิจกรรมของเขาที่เกี่ยวข้องกับประเทศลาว ซึ่งเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ ที่ผ่านมาอ๊อดได้รณรงค์เรื่องประชาธิปไตยและการผลักดันสิทธิแรงงานข้ามชาติจากลาว และเป็นสมาชิกของกลุ่ม “Free Lao” กลุ่มอย่างไม่เป็นทางการของแรงงานอพยพและนักเคลื่อนไหวชาวลาวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง

 

สาม ประเทศไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง

ชาวอุยกูร์อย่างน้อย 90 คน

 

9 กรกฎาคม 2558 รอยเตอร์รายงานว่า ไทยบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์อย่างน้อย 90 คนไปยังประเทศจีน โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างเป็นกังวลว่า พวกเขาเหล่านี้จะต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือการซ้อมทรมาน มีการคาดการณ์ว่า ชาวอุยกูร์หลายร้อยคนหรืออาจจะมากถึงหลายพันคนได้หนีออกจากมณฑลซินเจียงของประเทศจีน พื้นที่ดังกล่าวรัฐบาลจีนได้ปราบปรามชาวอุยกูร์อย่างหนัก จำนวนมากต่างเลือกเดินทางผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อไปยังประเทศตุรกี ที่มีความคล้ายคลึงกันด้านวัฒนธรรมมากกว่า

 

รัฐบาลไทยให้เหตุผลของการส่งกลับว่า ได้ผ่านการตรวจพิสูจน์สัญชาติจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลุ่มที่ตรวจสอบมี 170 คนที่ระบุว่า มีสัญชาติตุรกีได้ส่งกลับประเทศตุรกี ส่วนที่ตรวจพิสูจน์แล้วว่า มีสัญชาติจีนได้ส่งกลับประเทศจีน ซึ่งคือ จำนวนประมาณ 100 คนที่ส่งกลับไปรอบนี้ เหลือประมาณ 50 คนที่รอการตรวจพิสูจน์สัญชาติ

 

เจียง ยี่เฟยและตง กวนปิง นักวาดการ์ตูนล้อเลียน

 

28 ตุลาคม 2558 เวลา 13.00 น. ตง กวนปิงและเจียง ยี่เฟย นักกิจกรรมจีนถูกตำรวจจับกุมที่บ้าน ก่อนหน้านี้เจียงวาดการ์ตูนล้อเลียนสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ก่อนหน้าการจับกุมสองสัปดาห์ เจ้าหน้าที่จีนได้ไปที่บ้านของน้องชายของเจียงเตือนเขาว่า การ์ตูนของเจียงนั้นเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น โดยทั้งสองถูกกล่าวหาว่า พำนักเกินเวลากำหนด ต่อมาในชั้นพิจารณาของศาลทั้งสองให้การรับสารภาพและถูกปรับ 5,000 และ 6,000 บาท โดยค่าปรับถูกจ่ายโดยเจ้าหน้าที่ที่ไม่ระบุตัวตน แต่มีข้อมูลว่า เป็นเจ้าหน้าที่จีน

 

1195 เจียง อี้เฟย

 

เจียงและตงถูกส่งตัวไปกักขังที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก่อนจะถูกเนรเทศเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ตงและเจียงได้พูดออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ของจีน  เจียงกล่าวว่า เขายอมรับความผิดเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นข้ามพรมแดน ซึ่งข้อกล่าวหานี้อาจเกี่ยวข้องกับการที่เขาช่วยเหลือตงในการลี้ภัย ขณะที่ตงถูกกล่าวหาว่า เข้าร่วมเครือข่ายการค้ามนุษย์ ก่อนถูกจับทั้งสองได้รับเอกสารการคุ้มครองจาก UNHCR รัฐบาลแคนาดาได้ยอมรับให้ทั้งสองไปลี้ภัยแล้ว ซึ่งรัฐบาลไทยทราบดีถึงสถานะผู้ลี้ภัยของทั้งสองและทั้งสองกำลังรอการเดินทางไปที่แคนาดา

 

สวี้ เจิ้นซิน นักศึกษาและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย

 

สวี้ เจิ้นซิน ชาวจีนอายุ 19 ปี เป็นนักศึกษาใหม่ที่มหาวิทยาลัยหนานจิงและให้นิยามตัวเองว่า เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง บ่อยครั้งที่เขาจะไปแจกใบปลิวเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเขาถูกสอบสวนจากตำรวจของจีน และตำรวจก็เคยทำร้ายร่างกายเขาสองครั้งด้วยกัน ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ข้ามแดนผ่านทางประเทศเวียดนามและขึ้นเครื่องบินมาที่ประเทศไทย เขาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองและถือเอกสารคุ้มครองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เดือนกรกฎาคม 2559 สวี้ถูกควบคุมตัวหลังจากที่ถูกตำรวจค้นบัตรประจำตัวระหว่างทางไปจังหวัดเชียงราย เขาเดินทางกลับเมืองกวางโจวด้วยเครื่องบิน เมื่อเพื่อนผู้ลี้ภัยติดต่อไป เขารับโทรศัพท์และกล่าวไม่กี่คำก่อนจะตัดสาย ซึ่งไม่รู้ว่า ชะตากรรมจะเป็นอย่างไร แม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างจาก หลี่ เสี่ยวหลง นักกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่ในไทยว่า การกลับไปประเทศจีนเป็นเจตจำนงของตัวเขาเอง แต่เพื่อนอีกฝ่ายของเขาก็แย้งว่า การตัดสินใจดังกล่าวดูไม่เป็นตัวของเขาเลย ทั้งยังมีรายงานว่า ระหว่างการถูกกักขังในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวี้ดูโศกเศร้าและเคยพยายามที่ฆ่าตัวตาย

 

หลี่ อวี้โจว ผู้ปฏิเสธหน้าที่สายสืบ

 

อ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของหลี่ เสี่ยวหลง นักกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่ในไทยระบุว่า วันที่ 29 สิงหาคม 2559 หลี่ อวี้โจวถูกส่งตัวกลับไปประเทศเทศจีนอย่าง ‘สมัครใจ’ แล้ว หลังอยู่ในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมากว่าเจ็ดปี เพื่อนผู้ลี้ภัยเล่าว่า หลี่อยากจะไปจากประเทศไทยเพราะถึงที่สุดแล้วอย่างไรเขาก็ต้องถูกกักขังอยู่ในสำนักงานฯอย่างไม่รู้อนาคต เรื่องนี้พูดกันมาหลายปีแล้วแต่เพื่อนๆ ก็ห้ามไว้และขอให้เขารอดูว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จะมีท่าทีอย่างไร

 

ในปี 2545 หลี่ อวี้โจว หนีออกจากประเทศจีน หลังจากที่ตำรวจความมั่นคงของปักกิ่งกดดันให้เขาต้องสืบข้อมูลนักการกิจกรรมทางการเมืองในกลุ่มเยาวชน หลี่และภรรยาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจาก UNHCR  ต่อมาเดือนตุลาคม 2551 เขาถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ไทยและกล่าวหาว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดปลอมที่สถานทูตจีน จากนั้นเขาจึงถูกคุมขังตลอดมา โดยเขาและครอบครัวถูกถอนสถานะผู้ลี้ภัยในปี 2552 อย่างไรก็ตามในปี 2555 UNHCR ได้ลงทะเบียนให้หลี่และครอบครัวเป็นบุคคลในความห่วงใย และในเดือนตุลาคมของปีเดียวกันภรรยาและลูกสองคนของหลี่ได้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม

 

สัม สุขา ปารองเท้าใส่ภาพฮุน เซน

 

1196 สัม สุขา

 

8 กุมภาพันธ์ 2561 ทางการไทยส่งตัวสัม สุขา ผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชา ในเดือนเมษายน 2560 เธอโพสต์วิดีโอบนเฟซบุ๊ก เป็นภาพที่สัมปารองเท้าแตะไปที่ภาพของฮุน เซน นายกรัฐมนตรีและเฮง สัมริน ประธานสภา ต่อมาในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน เธอถูกกล่าวหาว่า ดูหมิ่นเจ้าพนักงานและยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยก จากนั้นสัมจึงหนีเข้ามายังประเทศไทยและถูกควบคุมตัวในต้นเดือนมกราคมจากการพำนักเกินเวลาที่กำหนดและอยู่ในศูนย์ตรวจคนเข้าเมือง สวนพลูมมาตลอด และระหว่างนั้นมีรายงานจากแอมนาสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกัมพูชาได้เข้าพบสัมเพื่อกดดันให้เธอกลับกัมพูชา

 

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกสองปีและปรับห้าล้านเรียลหรือ 37,000 บาท ต่อมาสัมขออุทธรณ์ เหตุที่ต้องอุทธรณ์เพราะมองว่า ศาลชั้นต้นวางโทษมาสูงเกินไป ศาลอุทธรณ์กัมพูชาตัดสินว่า มีความผิดและสั่งจำคุกสองปี

 

รวต มุนี สารคดีโสเภณีเด็ก

 

12 ธันวาคม 2561 รวต มุนี ถูกจับกุมที่ประเทศไทยและส่งกลับประเทศตามหมายจับของรัฐบาลกัมพูชา ในความผิดฐานยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในกัมพูชาเนื่องจากมุนีร่วมผลิตสารคดีชื่อ "แม่ขายหนู" เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงยากจนที่ถูกขายเพื่อค้าประเวณี เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561 ทางด้านฮิวแมนไรท์ วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยส่งมุนีกลับ เนื่องจากมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า เขาอาจถูกฟ้องคดีด้วยเหตุผลทางการเมือง ถูกควบคุมตัวอย่างมิชอบหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายในกัมพูชา อีกทั้งยังมีนักกิจกรรมแรงงานถูกส่งกลับกัมพูชาถึงแม้ว่า จะได้สถานะลี้ภัยจากสหประชาชาติแล้วก็ตาม

 

สี่ ความพยายามของไทยในการส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง

ฮากีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลบาห์เรน

 

27 พฤศจิกายน 2561 ฮากีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน และผู้ลี้ภัยทางการเมืองในออสเตรเลียถูกจับกุมระหว่างการเดินทางมาฮันนีมูนกับภรรยาที่ประเทศไทย โดยทางการบาห์เรนได้ออกหมายแดงแก่เขาไว้ สืบเนื่องจากการที่เขาถูกกล่าวหาว่า เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในปี 2555 คดีนี้ศาลบาห์เรนตัดสินโทษจำคุกสิบปี แต่ฮากีมแย้งว่า การชุมนุมตามฟ้องนั้นเกิดในเวลา 18.00 น. ซึ่งเวลาดังกล่าวเขากำลังแข่งฟุตบอลอยู่ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องลี้ภัยมายังออสเตรเลีย ต่อมาทางการบาห์เรนได้ขอออกหมายแดงของตำรวจสากลไว้ แม้ว่าตามระเบียบของตำรวจสากลจะระบุว่า ประเทศต้นทางที่ผู้ลี้ภัยออกมาจะไม่สามารถออกหมายแดงต่อผู้ลี้ภัยรายดังกล่าวได้ก็ตาม

 

ต่อมาทางการบาห์เรนได้ส่งหนังสือขอตัวฮากีม ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากไทย และพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศได้ดำเนินการร้องต่อศาลตามพ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 2551 ระหว่างนั้นทางการออสเตรเลียและองค์กรสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้ไทยส่งตัวฮากีมกลับออสเตรเลียโดยเร็ว เนื่องจากเขามีสถานะผู้ลี้ภัยของออสเตรเลียแล้ว วันที่  11 กุมภาพันธ์ 2562 พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอถอนฟ้องคดี ให้เหตุผลว่า กรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและทางการบาห์เรนได้ขอถอนคำร้องขอตัวฮากีม ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว การถอนฟ้องครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้เดินทางไปเข้าพบซัลมาน อัล คอลิฟะห์ มกุฎราชกุมารของบาห์เรน

 

ราฮาฟ โมฮาเหม็ด อัล-คูนัน ผู้หันหลังให้ศาสนา

 

นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2562 เป็นต้นมา บนโลกออนไลน์ได้เกิดกระแส #SaveRahaf ขึ้น หลังมีรายงานข่าวว่า ทางการไทยได้กักตัวหญิงชาวซาอุดิอาระเบีย ชื่อ ราฮาฟ โมฮาเหม็ด อัล-คูนัน อายุ 18 ปี ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างแวะเปลี่ยนเครื่องบินที่ไทย ก่อนเธอจะเดินทางต่อไปออสเตรเลียเพื่อหลบหนีครอบครัว เพราะหวาดกลัวว่า ครอบครัวจะฆ่าเธอหลังปฎิเสธที่จะนับถือศาสนาอิสลาม

 

ราฮาฟเปิดเผยว่า ครอบครัวของเธอกดขี่เธอมาตลอดและการหนีออกจากบ้านถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากเธอต้องถูกส่งกลับเธออาจจะเสียชีวิตหรือถูกจำคุก โดยเธอพยายามส่งต่อข้อมูลของเธอผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว เช่น ภาพใบหน้า อายุ เพื่อยืนยันว่า เธอมีตัวตนอยู่จริง พร้อมกับเผยแพร่สำเนาพาสปอร์ต และคลิปความเคลื่อนไหวต่างๆ ของตัวเองระหว่างถูกกักตัวอยู่

 

สำหรับท่าทีของรัฐบาลไทยในตอนแรก คือ ต้องการจะส่งตัวราฮาฟกลับประเทศด้วยเที่ยวบินของสายการบินคูเวต แต่เธอปิดประตูไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาภายในห้องและปฏิเสธที่จะออกจากห้องพักในโรงแรมภายในสนามบินสุวรรณภูมิจนเวลาล่วงเลย และทำให้เที่ยวบินดังกล่าวเดินทางออกไปแล้ว เมื่อเรื่องราวของเธอเป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้น และมีการกดดันจากต่างประเทศ เช่น แถลงการณ์ของรัฐบาลออสเตเลียที่เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) ให้ราฮาฟสามารถเข้าถึงกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัย  สุดท้ายทางการไทยตัดสินใจว่า จะดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ราฮาฟได้อยู่ในไทยเป็นการชั่วคราวภายใต้ความดูแลอย่างปลอดภัยของ UNHCR ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สาม

 

ห้า ประเทศอื่นส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับประเทศไทย

ประพันธ์ พิพิธนัมพร กรณีเกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท

 

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ประพันธ์ถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่ค่ายทหารสองครั้งและถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 หนึ่งคดี* จากข้อกล่าวหาว่า เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ในระหว่างการพิจารณาคดีเธอได้รับการประกันตัว ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 ประพันธ์ตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซีย ระหว่างนั้นเธอได้ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้ว

 

24 เมษายน 2562 ตำรวจมาเลเซียจับกุมประพันธ์ ตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย ซึ่งอ้างตามหมายจับคดีสหพันธรัฐไทต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ทางการมาเลเซียจึงส่งประพันธ์กลับมาที่ประเทศไทยและถูกถอนประกัน พร้อมทั้งดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 เพิ่มอีกหนึ่งคดี และเธอถูกคุมขังในเรือนจำโดยไม่ได้รับประกันตัวเรื่อยมา