ย้อนดูมหากาพย์คดี “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” หลังศาลแขวงราชบุรีสั่งยกฟ้องคดีสุดท้าย 23 กันยายน 2562

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน นับเป็นฉบับที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการประกาศใช้ หลังการออกเสียงประชามติ เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากการรัฐประหารสองฉบับสุดท้ายได้แก่ ฉบับปี 2550 และฉบับปี 2560 ต่างประกาศใช้หลังการลงประชามติของประชาชนทั้งสองฉบับ อย่างไรก็ตามบรรยากาศการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 
ในขณะที่การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาประกาศใช้เป็นฉบับปี 2550 มีการรณรงค์อย่างคึกคักทั้งฝ่ายเห็นชอบและไม่เห็นชอบ เช่น มีการจัดดีเบทใหญ่ให้ประชาชนเข้าฟังและถ่ายทอดสอดจากบ้านมนังคศิลา รวมทั้งมีการรณรงค์ไม่เห็นชอบร่างอย่างกว้างขวางโดยเท่าที่มีข้อมูลไม่พบว่ามีการดำเนินคดีประชาชนที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีเพียงกรณีของสมบัติ บุญงามอนงค์หรือบก.ลายจุดที่ถูกนำตัวเข้าค่ายระหว่างการรณรงค์ที่จังหวัดเชียงราย 
การออกเสียงประชามติที่เกิดขึ้นในปี 2559 เพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ต่อมาประกาศใช้เป็นฉบับปี 2560 กลับเป็นการออกเสียงประชามติที่ทำภายใต้บรรยากาศที่ปิดและมีการดำเนินคดีประชาชนไม่ต่ำกว่า 100 คน ในกรณีของการทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ เท่าที่ทราบมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา “ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน” ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 อย่างน้อย 142 คน  จากอย่างน้อย 7 จังหวัดเช่น กรุงเทพมหานคร อุดรธานี และ ราชบุรี โดยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่จังหวัดราชบุรีนับเป็นคดีสุดท้ายที่ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาออกมาในวันที่ 23 กันยายน 2562 หลังการออกเสียงประชามติผ่านไปแล้วสามปีเศษหรือเป็นเวลา 9 เดือนกับหนึ่งวัน นับจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นมูลเหตุแห่งคดีถูกยกเลิก  

 

คดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติบ้านโป่ง ตอนอวสานมหากาพย์คดีศูนย์ปราบโกง

วันที่ 23 กันยายน 2562 ศาลแขวงราชบุรีพิพากษายกฟ้อง 18 จำเลยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 18 คนโดยให้เหตุผลว่ากฎหมายที่เป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีถูกยกเลิกไปแล้ว ในฐานะคดีที่เป็น “บทสรุป” ของมหากาพย์คดี “ศูนย์ปราบโกง” คดีที่อำเภอบ้านโป่งมีความน่าสนใจหลายประการ ทั้งประเด็นที่คดีที่นี้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแต่เป็นประชาชนทั่วไปที่มีความเห็นต่างจากจำเลยคดีนี้  นอกจากนั้นก็มีประเด็นที่อัยการศาลทหารนำสำนวนคดีไปให้อัยการศาลปกติทำคดีตั้งแต่ก่อนหัวหน้าคสช.มีคำสั่งให้ย้ายคดีในศาลทหารกลับศาลปกติ รวมทั้งประเด็นที่อัยการคงยืนยันฟ้องคดีแม้คำสั่งฉบับที่ 3/2558 จะยกเลิกไปก่อนมีการฟ้องคดีแล้ว
การเปิดศูนย์ปราบโกงที่บ้านโป่ง ราชบุรี ภาพจากบริบูรณ์ หนึ่งในจำเลยในคดี

 

When my neighbor turned against me

บริบูรณ์ หนึ่งในจำเลยคดีศูนย์ปราบโกงที่บ้านโป่งระบุว่าผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีเขากับพวก คือ อาทิตยา แดนมะตาม กลุ่มกปปส.บ้านโป่งที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับพวกเขา บริบูรณ์ระบุด้วยว่า กลุ่มของเขากับกลุ่มกปปส.ในพื้นที่บ้านโป่งเคยมีเหตุกระทบกระทั่งกันเมื่อครั้งที่โรงพยาบาลบ้านโป่งเคยขึ้นป้าย “ไม่ต้องการรัฐบาลโกง” ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มของบริบูรณ์เคยมาชุมนุมคัดค้านให้นำป้ายดังกล่าวออก ขณะที่กลุ่มกปปส.ในพื้นที่ก็มีการชุมนุมในวันเดียวกันเพื่อให้กำลังใจผู้อำนวยการโรงพยาบาลจนเกือบเกิดเหตุปะทะกัน 
ขณะที่ “ป้านาง” จำเลยอีกคนเล่าว่าพอถูกดำเนินคดีคนในพื้นที่ที่มีความเห็นต่างจากเธอและทำการค้ากับเธอก็เยาะเย้ยเธอทำนองว่า “เป็นไงหล่ะโดนคดีแบบนี้” ซึ่ง “ป้านาง”ก็ได้แต่ตอบว่าจะเป็นอะไรได้นอกจากเสียเวลา ปากคำของบริบูรณ์และ “ป้านาง” ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าเหตุในการดำเนินคดีที่บ้านโป่งต่างจากคดีศูนย์ปราบโกงอื่นๆ ที่ผู้ริเริ่มคดีไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแต่เป็นประชาชนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันเลยมีข้อพิพาททางการเมืองในระดับพื้นที่
มีความน่าสนใจด้วยว่าในการร้องทุกข์กล่าวโทษ นิตยาร้องทุกข์ว่าคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านโป่งเกิดขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 2559 แต่วันที่บริบูรณ์กับพวกรวมตัวกันจริงคือวันที่ 19 มิถุนายน 2559

การย้ายศาลที่ยังต้องการคำอธิบาย

ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีพลเรือนบางประเภท รวมทั้งคดีฝ่าฝืนประกาศคำสั่งคสช.ที่เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร คดีเปิดศูนย์ประชามติปราบโกงทุกคดีรวมทั้งคดีที่บ้านโป่งจึงนับว่าอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารเพราะข้อหาที่ใช้ฟ้องคือข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต
แม้ในวันที่ 12 กันยายน 2559 จะมีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 55/2559 ยกเลิกคำสั่งให้นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่คำสั่งดังกล่าวก็ระบุชัดเจนว่าให้มีผลเฉพาะคดีที่เหตุตั้งแต่วันที่มีการออกคำสั่งเป็นต้นไป คดีเปิดศูนย์ปราบโกงบ้านโป่งซึ่งเหตุเกิดในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 (หรือวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ตามที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ) จึงเกิดขึ้นก่อนหน้าที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 55/2559 จะมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตามในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 อัยการศาลทหารราชบุรีกลับส่งสำนวนคดีนี้ให้อัยการศาลแขวงราชบุรีเป็นผู้พิจารณาแม้ในขณะนั้นน่าจะยังไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ จากการสอบถามทนายจำเลย อัยการทหารให้ความเห็นในส่งต่อสำนวนทำนองว่าคดีนี้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นบุคคลธรรมดาไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ทหาร คดีจึงอยู่ในอำนาจของอัยการและศาลพลเรือนตามปกติ แต่หากพิจารณาจากประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้คดีพลเรือนบางประเภทอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารจะไม่พบว่ามีการเขียนเรื่องผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้เป็นเงื่อนไขในการกำหนดเขตอำนาจศาลแต่ประการใด
  

Life goes on case still on

ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ซึ่งนับเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2561 เรื่องให้พรรคการเมืองและประชาชนทำกิจกรรมทางการเมือง   ยกเลิกประกาศคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมทางการเมืองฉบับต่างๆ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน
หลังคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิก คดีที่จำเลยถูกฟ้องต่อศาลด้วยข้อหาดังกล่าวเพียงข้อหาเดียวเริ่มทยอยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความโดยศาลทหารหรือถูกยกฟ้องโดยศาลยุติธรรม ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 ในเดือนมกราคม 2562 คดี 19 แกนนำ นปช. เปิดศูนย์ปราบโกงที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ซึ่งมีการฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 ก็ถูกศาลทหารสั่งจำหน่ายคดีไปตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2562
อย่างไรก็ตามคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติบ้านโป่งซึ่งจนถึงเดือนมกราคม 2562 ยังไม่มีการฟ้องคดีกลับคงอยู่ต่อไป อัยการยังคงนัดจำเลยทั้ง 18 คนมาฟังคำสั่งคดีที่ฐานความผิดถูกยกเลิกไปแล้วเป็นระยะก่อนจะทำการฟ้องคดีต่อศาลในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2562 แม้คำสั่งสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จะถูกหัวหน้าคสช.ยกเลิกไปแล้วก็ตาม จำเลยทั้ง 18 คนเพิ่งจะได้รับการยกฟ้องคดีโดยศาลแขวงราชบุรีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

อะไรนะ ศูนย์ปราบโกง?

กิจกรรมการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ริเริ่มโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีการเปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 5 มิถุนายน 2559 ครั้งนั้นแกนนำกลุ่มนปช. เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และธิดา ถาวรเศรษฐ เตรียมจัดแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่ชั้นห้า ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว แต่ในวันนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้ามาเจรจาขอให้งดกิจกรรมแถลงข่าวโดยอ้างว่าผู้บังคับบัญชาขอความร่วมมือ โดยจตุพรในฐานะประธานนปช.ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่าภายในวันที่ 20 มิถุนายน จะนัดหมายให้มีการเปิดศูนย์ปราบโกงทั่วประเทศ ขณะที่พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.ก็กล่าวถึงกรณ๊การเปิดศูนย์ปราบโกงของกลุ่มนปช.ว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยงทำให้สังคมเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งก็กกต.ก็เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างโป่งใสอยู่แล้ว
ป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ ภาพจากเพจ พิพิธภัณฑ์สามัญชน
 
 
เสื้อรณรงค์ที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใส่ในการถ่ายภาพเปิดศูนย์ปราบโกง ภาพจากเพจ พิพิธภัณฑ์สามัญชน

ขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงพรึ่บ เปิดได้บ้าง โดนปิดบ้าง

หลังประธานนปช.ระบุในวันที่ 5 มิถุนายน 2559 ว่าจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ในวันที่ 19 มิถุนายน ก็มีรายงานการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน โดย “ศูนย์ปราบโกง” ที่ว่า คือการขึ้นป้ายไวนิลเขียนข้อความ “ประชามติต้อง… ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า ศูนย์ปราบโกงประชามติ UDD Referendum Monitoring Center” ตามอาคารพาณิชย์หรือบ้านส่วนบุคคล โดยมีเบอร์โทรศัพท์หรือไลน์ไอดีสำหรับใช้แจ้งเรื่องร้องเรียนแยกตามภูมิภาคเขียนไว้บนป้ายด้วย  
เจ้าหน้าที่รัฐมีมาตรการดำเนินการกับศูนย์ปราบโกงแต่ละแห่งในลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจสนธิกำลังไปที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางที่มีการติดป้ายศูนย์ปราบโกงและขอความร่วมมือให้เจ้าของร้านถอดป้ายออก ซึ่งเจ้าของบ้านก็นำลงแต่โดยดี ขณะที่จังหวัดพะเยาก็มีการ “เชิญ” แกนนำนปช.จังหวัดพะเยาเข้าค่ายเพื่อพูดคุย “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงในพื้นที่ 
ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 มีการเปิดศูนย์ปราบโกงอย่างเป็นทางการในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่กรุงเทพ แกนนำกลุ่มนปช. 19 คนนัดผู้สื่อข่าวแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงอย่างเป็นทางการที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว แต่ปรากฎว่าก่อนจะมีโอกาสแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าคุมพื้นที่จัดงาน ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแกนนำกลุ่มนปช.จังหวัดต้องปลดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ หลังถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวไปทำข้อตกลงว่าจะไม่เปิดศูนย์ปราบโกง  
ในขณะที่การเปิดศูนย์ปราบโกงที่กรุงเทพ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และพะเยาถูกสกัดกั้น ก็มีบางพื้นที่ที่ทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติได้สำเร็จ เช่น ที่จังหวัดสุรินทร์ แกนนำกลุ่มนปช.จังหวัดร่วมกันถ่ายภาพกับป้ายศูนย์ปราบโกงและแถลงวัตถุประสงค์ของการเปิดศูนย์ปราบโกงว่า มุ่งหวังให้คนไทยออกไปใช้สิทธิ์ในวันที่ 7 สิงหาคมให้มากที่สุด โดยปราศจากการครอบงำจากทุกกลไกอำนาจ และขอให้ คสช.ยุติการประชาสัมพันธ์โดยรัฐเพียงฝ่ายเดียว พร้อมเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างอิสระ  
การเปิดศูนย์ปราบโกงที่จังหวัดสุรินทร์ ภาพจาก ประชาไท
ที่จังหวัดอุดรธานี แกนนำนปช.ผู้ไม่ประสงค์ออกนามให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยสรุปได้ว่า บ้านของแกนนำนปช.จังหวัดที่อยู่ในอำเภอเมืองและอำเภอโนนสะอาดมีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่องก่อนวันที่ 19 กันยายน อย่างไรก็ตามในช่วงตีห้าของวันที่ 19 มิถุนายนเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าบ้านของแกนนำในพื้นที่อำเภฮโนนสะอาดได้ถอนตัวออกไปเพราะเข้าใจว่าน่าจะไม่มีการจัดกิจกรรม แต่บ้านของแกนนำที่อำเภอเมืองยังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดทางกลุ่มจึงหาทางประสานผู้ต้องการร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงประมาณสองถึงสามร้อยคนมาทำกิจกรรมขึ้นป้ายเปิดศูนย์ปราบโกงร่วมกันที่บ้านของแกนนำในพื้นที่อำเภอโนนสะอาด และสามารถเปิดศูนย์ปราบโกงได้สำเร็จ
บรรยากาศการเปิดศูนย์ปราบโกงที่อุดรธานี ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
แกนนำคนเดียวกันเล่าด้วยว่า หลังทางกลุ่มถ่ายภาพ และแถลงเปิดศูนย์ปราบโกงแล้วก็มีการถ่ายภาพส่งให้ผู้สื่อข่าวรวมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าพวกเขาทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เร่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อปลดป้าย เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งที่เข้ามาในพื้นที่พูดกับแกนนำคนดังกล่าวทำนองว่า “มาทำแบบนี้ในบ้านผมได้อย่างไร” ซึ่งเธอก็ตอบไปว่า “ท่านย้ายมากจากพื้นที่อื่นแต่บ้านของฉันอยู่ที่นี่”
ขณะที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี การทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติสามารถทำไปได้โดยไม่มีเจ้าหน้าที่มาแทรกแซงแต่ผู้ร่วมกิจกรรมมาถูกดำเนินคดีหลังมีประชาชนในพื้นที่นำเรื่องไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจในภายหลังดังที่ระบุไปข้างต้น

นักรบย่อมมีแผล: ชะตากรรมจำเลยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ

เท่าที่มีข้อมูลนอกจากประชาชน 18 คน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ในคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่งแล้ว ยังมีประชาชนอีกอย่างน้อย  119คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันจากการทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงในพื้นที่อื่นๆ เช่น 23 คนที่จังหวัดอุดรธานี 17คน ที่จังหวัดสุรินทร์ 19 คน ที่กรุงเทพมหานคร และ 22 คน ที่จังหวัดสกลนคร เป็นต้น ในจำนวนนี้ผู้ตถูกตั้งข้อกล่าวหาบางส่วนที่ยอมเข้าโครงการปรับทัศนคติในค่ายทหารเจ้าหน้าที่จะถือว่าคดีให้เลิกแล้วกันไป แต่คนที่ไม่ยอมเข้ารับการปรับทัศนคติก็จะถูกดำเนินคดีต่อ โดยมีคดีที่น่าสนใจดังนี้
คดีเปิดศูนย์ปราบโกงที่จังหวัดสกลนคร ผู้ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกง 20 คน จากทั้งหมด 22 คนที่ตัดสินใจสู้คดีแทนการเข้ารับการปรับทัศนคติ ตัดสินใจให้การรับสารภาพหลังคดีเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลทหารอุดรธานีเนื่องจากจำเลยส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่ต้องเหมารถมาขึ้นศาลทหารที่จังหวัดอุดรธานีเพราะที่จังหวัดสกลนครไม่มีศาลทหารทำให้ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจึงตัดสินใจรับสารภาพเพื่อให้ศาลทหารสั่งปรับและคดีจบ จะได้ไม่ต้องมีภาระในระยะยาว 
คดีเปิดศูนย์ปราบโกงที่จังหวัดอุดรธานี แกนนำนปช.ที่ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ข้างต้นให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมถ่ายภาพเปิดศูนย์ปราบโกงรวม 23 คน เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมกิจกรรมต้องรับภาระในการสู้คดีผู้เข้าร่วม 19 คน ยอมเข้ารับการปรับทัศนคติกับเจ้าหน้าที่ส่วนผู้เข้าร่วมและแกนนำอีกรวมสี่คนตัดสินใจไม่เข้าร่วมการปรับทัศนคติและขอต่อสู้คดีก่อนจะมาให้การรับสารภาพในชั้นศาลและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 เดือน 15 วัน แต่โทษจำคุกได้รับการรอลงอาญา 
สำหรับคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าวของ 19 แกนนำกลุ่ม นปช. คดียุติลงด้วยการจำหน่ายคดีของศาลทหารกรุงเทพช่วงเดือนมกราคม 2562 เพราะในระหว่างที่คดียังอยู่ในชั้นศาลมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558  
จำเลยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติและทนายความถ่ายภาพที่หน้าศาลแขวงราชบุรี หลังอัยการฟ้องคดีต่อศาล 30 กรกฎาคม 2562 
ในส่วนของคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติบ้านโป่งซึ่งเท่าที่ไอลอว์มีข้อมูลเป็นคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติคดีสุดท้ายที่อยู่ในสาระบบความของศาล แม้ถึงที่สุดศาลแขวงราชบุรีจะมีคำพิพากษาในเดือนกันยายน 2562 แต่จำเลยที่ต่อสู้คดีมาอย่างน้อยสามปีสามเดือนนับจากถูกออกหมายเรียกในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ต่างไม่รู้สึกว่าการยกฟ้องคือความยุติธรรม  
ภาณุวัฒน์หรือ “เหน่อ” หนึ่งในจำเลยระบุว่า ระหว่างถูกดำเนินคดีเขากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ การต่อสู้คดีทำให้เขาต้องขาดเรียนและบางครั้งก็ขาดสอบเพื่อมารายงานตัวตามนัดตำรวจหรืออัยการ ต้องเสียเวลาเสียเงิน ไปกับการสู้คดีอยู่ไม่น้อย แต่คดีนี้มีการเลื่อนนัดฟังคำสั่งอัยการออกไปอย่างน้อยแปดครั้งเท่ากับว่าหลายๆครั้งที่มารายงานตัวเขาต้องจ่ายทั้งเงินและเวลาไปอย่างสูญเปล่าสำหรับเขาแม้จะเคารพคำพิพากษาของศาลแต่ก็ไม่ได้มองว่าการยกฟ้องทำให้เขาได้รับความยุติธรรม
ขณะที่ “ป้าแดง” จำเลยวัย 74 ปี ก็ระบุว่า การถูกดำเนินคดีทำให้เธอไม่สามารถใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างสงบเพราะต้องคอยพะวงเรื่องการมารายงานตัวกับอัยการซึ่งทุกครั้งสามีเธอซึ่งเป็นจำเลยคดีนี้และอายุเท่ากับเธอก็ต้องขับรถไปกลับเกือบ 70 กิโลจากบ้านที่อำเภอบ้านโป่งมาที่สำนักงานอัยการในอำเภอเมืองจังหวัดราชบุรีเพื่อรายงานตัวซึ่งมีอย่างน้อยแปดครั้งที่การมาของเธอและสามีเป็นการขับรถไปกลับ 70 กิโลเมตรเพียงเพื่อมารับทราบคำสั่งเลื่อนนัดอัยการซึ่ง “ป้าแดง” น่าจะบรรยายความรู้สึกแทนจำเลยคนอื่นๆในคดีนี้ได้อย่างดีว่า “รู้สึกว่าเบื่อ มันเบื่อเหลือเกิน”