Change.NCPO จิรวัฒน์ “ตั้ม” คดีความ โรคซึมเศร้า การตกผลึก และสภาวะตาสว่าง

ผมเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็กๆ คุณแม่ผมรับราชการส่วนคุณพ่อเปิดร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าเล็กๆ ถ้าจะให้นิยามชีวิตวัยเด็กก็คงต้องบอกว่าผมก็เป็นคนในครอบครัวคนชั้นกลางในเมืองทั่วไป
ผมเริ่มมีคำถามกับสถาบันทางสังคมอย่างสถาบันศาสนาตั้งแต่เด็กๆ ตอนที่เรียนอยู่ชั้นประถมมีครั้งหนึ่งที่ญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต จำได้ว่าวันที่จะเผาศพผมมีสอบช่วงกลางวัน พอสอบเสร็จก็รีบกลับมาบวชหน้าไฟโดยไม่ได้กินข้าว พอบวชเณรเสร็จคุณแม่เอาข้าวมาให้ผมกิน พระรูปหนึ่งมาเห็นก็ตำหนิทำนองว่าผมทำผิดศีลและว่าถ้าไม่พร้อมก็ไม่ควรบวช ผมก็ยอมรับนะว่าตอนนั้นผมก็คงทำผิดพระวินัยจริงๆแต่เชื่อหรือไม่ว่าวันรุ่งขึ้น ผมเห็นพระรูปเดิมไปลุ้นหวยอยู่
ประสบการณ์ตรงครั้งนั้นทำให้เริ่มเกิดคำถามต่อโครงสร้างหรือสถาบันทางสังคมอย่างสถาบันศาสนาว่าที่เห็นและเป็นอยู่มันคืออะไร พอเริ่มเรียนชั้นมัธยมห้องสมุดมันก็ใหญ่กว่าตอนเรียนประถม ผมเริ่มศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนาอย่างจริงจัง เริ่มหาหนังสือของพระที่เป็นนักคิดนักเขียนอย่างพระพุทธทาสหรือพระปัญญานันทภิกขุมาอ่าน ผมก็เริ่มเห็นว่าศาสนามันก็มีความเทาๆอยู่ มีเรื่องแก่นมีเรื่องกระพี้ และบางครั้งผมก็รู้สึกว่าเรื่องที่คนเอามาต่อว่า เอามาประณามกันมันก็เป็นแค่กระพี้ไม่ใช่แก่นจริงๆของศาสนา
ช่วงปี 2545 – 2549 ผมเรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถึงแม้จะเรียนวิชาเกี่ยวกับการเมืองและช่วงนั้นก็มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ขับไล่รัฐบาลของทักษิณ แต่ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่ค่อยสนใจประเด็นการเมืองเท่าไหร่ ไปสนใจหาความรู้เรื่องปรัชญาและศาสนามากกว่า
ผมมาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นโครงสร้างทางการเมืองครั้งแรกน่าจะเป็นช่วงอายุ 20 ปีเศษๆ จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งผมคุยกับน้องชาย คุยกันเรื่องอะไรก็ไม่รู้แล้วน้องผมก็ถามขึ้นว่า โครงสร้างที่สังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันควรจะเป็นแบบนี้จริงๆหรือ แล้วถ้าโครงสร้างบางอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปสังคมเราจะพังทลายลงไปเลยหรือ คำถามของน้องคำถามนั้นน่าจะกลายเป็นคำถามที่เปลี่ยนชีวิตผมไปเลย
คำถามของน้องทำให้ผมหวนกลับไปศึกษาเรื่องสังคมการเมืองอย่างหนักขึ้น ผมไปค้นตำราทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อมาหาคำตอบให้น้องชาย จริงๆแล้วคำถามของน้องชายผมบางคนอาจจะมองว่ามันการตั้งคำถามที่ไม่เข้าท่า หรือเป็นคำถามที่ไม่ควรถาม แต่ตัวผมเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนามาตั้งแต่ตอนเด็กๆแล้วตัวผมจึงค่อนข้างเปิดรับกับคำถามและคิดว่าอยากจะหาคำตอบ
ที่ผ่านมาผมก็อยู่แต่กรุงเทพ ถ้าเป็นแบบนี้ผมคงหาคำตอบให้น้องชายไม่ได้ เลยเริ่มมองหาลู่ทางที่จะออกไปดูโลก ไปดูว่าคนที่อยู่ที่อื่นๆของประเทศเขาอยู่กันอย่างไร สังคมของเขาเหมือนหรือต่างจากผมอย่างไร ผมเลยเลือกประกอบอาชีพตัวแทนขายเพราะผมจะมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัด และก็มีรายได้มาเลี้ยงตัวเอง ผมมีโอกาสเดินทางไปหลายๆจังหวัดในภาคใต้ ภาคเหนือ รวมทั้งภาคกลาง น่าจะมีแต่ภาคอีสานที่ผมไม่มีโอกาสเดินทางไป  
ช่วงที่ผมเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆก็น่าจะประมาณ 10 ปีก่อน ผมได้เห็นภาพที่สะเทือนใจผมมาทุกวันนี้คือภาพเด็กตัวเล็กที่จังหวัดกาญจนบุรีไปโรงเรียนโดยเบียดเสียดกันไปบนรถสองแถวและมีบางคนต้องขึ้นไปอยู่บนหลังคารถ ผมได้แต่เฝ้าถามตัวเองจากวันนั้นว่าผมกับเขาอยู่ประเทศเดียวกันแต่ทำไมคุณภาพชีวิตเราถึงได้ต่างกันมากขนาดนั้นและก็ถามตัวเองต่อไปว่าในโครงสร้างของสังคมไทย อะไรคือสิ่งที่กดทับทำให้คุณภาพชีวิตของคนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทหรือความเหลื่อมล้ำของคนรวยกับคนจนในเมือง
ผมมาเริ่มติดตามการเมืองอย่างจริงจังน่าจะเป็นช่วงตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 แต่ช่วงหลังการรัฐประหารใหม่ๆผมก็ยังไม่ได้ทำกิจกรรมแบบจริงจังนะ ได้แต่ติดตามข่าวจากหน้าสื่อหรือเขียนวิจารณ์การเมืองบนเฟซบุ๊ก ตัวผมมาเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยตัวเองก็เมื่อครั้งที่มีนักกิจกรรมคนหนึ่งที่ชื่อธเนตร (นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116) ถูกจับตัวไปจากโรงพยาบาล ครั้งนั้นผมรู้สึกไม่โอเคมากๆ สำหรับผมมันเป็นเรื่องที่แย่นะ ที่เจ้าหน้าที่จะมาเอาตัวคนที่ป่วยไปจากโรงพยาบาลเพียงเพราะเขาแสดงความเห็นต่่างจากรัฐ จำได้ว่าครั้งนั้นผมร่วมทำกิจกรรมและร่วมตามกับเพื่อนจนไปเจอว่าเขาถูกควบคุมตัวไปที่ไหน หลังเริ่มทำกิจกรรมครั้งนั้นผมก็ทำกิจกรรมชุมนุมบ้าง ไปฟังการเสวนาทางการเมืองบ้าง ตามแต่เงื่อนไขในอาชีพของผมจะเอื้ออำนวย
ผมมาถูกดำเนินคดีเองก็คือในวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 วันนั้นผมนัดกับเพื่อนอีกสองคนที่สำนักงานเขตบางนาซึ่งเป็นที่ที่เพื่อนของผมสองคนจะไปใช้สิทธิ วันนั้นตั้งใจกันว่าเพื่อนใช้สิทธิเสร็จก็จะไปหาที่นั่งคุยเรื่องธุรกิจกับเรื่องเหตุบ้านการเมืองกัน  เพื่อนผมคนหนึ่งบอกผมว่าเขาตั้งใจจะไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเอาปากกาไปเขียนที่ชื่อของเขาตรงบอร์ดติดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิทำนองว่า “เมื่อไม่มีสิทธิร่างก็จะไม่ขอร่วม”
เพื่อนผมขอผมว่าให้ช่วยถ่ายและโพสต์ภาพของเขาตอนทำกิจกรรมในเฟซบุ๊กของผมเพราะเฟซบุ๊กของผมมีผู้ติดตามเยอะ เพื่อนผมตั้งใจจะสื่อกับสังคมว่าร่างรัฐธรรมนูญมันมีปัญหา และคนที่รณรงค์ให้ข้อมูลต่างจากรัฐก็ถูกปิดปาก เขาหวังที่จะสื่อสารกับสังคมว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและถูกประกาศใช้ก็จะมีปัญหาตามมาซึ่งตอนนี้เราก็เห็นกันอยู่ว่ามันมีปัญหา
ตอนแรกเพื่อนผมบอกว่าหลังจากเขียนกระดานแล้วเขาจะไม่เข้าไปใช้สิทธิแต่สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนใจและบอกผมว่าเขาจะเข้าไปใช้สิทธิ ผมกับเพื่อนอีกคนเลยถ่ายคลิปวิดีโอตอนที่เพื่อนเข้าไปใช้สิทธิ ตอนนั้นผมก็บอกเจ้าหน้าที่นะว่าจะขอใช้ถ่ายรูปเพื่อนใช้สิทธิซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยก็บอกผมว่าถ้ายืนถ่ายข้างนอกก็ทำได้ แต่อย่าถ่ายในหน่วยออกเสียงซึ่งผมก็ทำตาม พอเพื่อนผมเดินเข้าไปในหน่วยผมก็ถ่ายคลิปไปเรื่อยจนกระทั่งเพื่อนผมฉีกบัตรประชามติในหน่วย จากนั้นเขาก็ถูกควบคุมตัว
ตอนที่เกิดเหตุน่าจะเป็นช่วงเที่ยงๆ พอเพื่อนคนที่ฉีกบัตรถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวผมกับเพื่อนอีกคนที่อยู่ด้านนอกก็เข้าไปร่ำลาเพื่อจะกลับบ้าน จากนั้นผมกับเพื่อนอีกคนก็เดินมาที่รถแต่ปรากฎว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบเดินตามถามคำถามพวกผม ตอนนั้นก็รู้แล้วว่าน่าจะมีปัญหาแน่ ผมกับเพื่อนของผมพยายามถามย้ำเจ้าหน้าที่ว่าเราสองคนทำอะไรผิด ถ้าทำอะไรก็ให้แจ้งข้อหามาเลย
ตำรวจคนนั้นก็ไม่ได้แจ้งข้อหาผม บอกแค่ว่า “กลับไม่ได้ นายอยากคุยด้วย” ผมกับเพื่อนอีกคนก็ตัดสินใจปฏิบัติตามและคิดกันว่าก็ดีจะได้ติดตามเพื่อนไปที่สถานีตำรวจด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ขอติดรถของผมไปที่สถานีตำรวจบางนาด้วย ผมไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ขึ้นรถไปกี่คนแต่มากกว่าหนึ่งคนแน่นอน พอไปถึงสน.โทรศัพท์ของผมถูกยึดไปตรวจ ส่วนผมกับเพื่อนอีกคนที่นั่งรถไปด้วยกันก็ถูกเจ้าหน้าที่กักตัวไว้ในห้อง
เราสองคนถูกกักตัวกระทั่งช่วงเย็นก็มีตำรวจมาบอกว่าจะไม่ตั้งข้อหาแล้วให้กลับบ้านได้ แต่พอผมกับเพื่อนอีกคนเดินไปที่รถก็มีตำรวจมาตามบอกว่ากลับไม่ได้แล้ว ผมกับเพื่อนจะถูกตั้งข้อหาร่วมกับเพื่อนคนที่ฉีกบัตร ท้ายที่สุดผมกับเพื่ออีกสองคนก็ถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงประชามติ ส่วนเพื่อนที่เป็นคนฉีกบัตรก็โดนเรื่องฉีกบัตรเพิ่มเติม นับจากวินาทีนั้นชีวิตของผมก็ถึงจุดเปลี่ยนแบบที่ไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิม
คดีของผมเป็นข่าวที่มีคนสนใจ ผมคิดว่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่บริษัทหลายคนคงไม่สบายใจเรื่องที่ผมถูกดำเนินคดีที่เป็นคดีการเมือง หบัวถูกตั้งข้อหาได้ประมาณอาทิตย์เดียวผมก็ลาออกจากงานประจำเลยซึ่งงานนั้นผมมีรายได้ประมาณสองเกือบสามหมื่นบาท
หลังออกจากงาน ผมก็พยายามหาสมัครงานใหม่แต่กลายเป็นว่าแทบไม่มีบริษัทไหนยอมรับผมทำงาน บางที่ระหว่างสัมภาษณ์เขาถามว่าผมเป็นคนที่ถูกดำเนินคดีแล้วออกข่าวหรือเปล่า พอผมบอกว่าใช่ผมก็ไม่ถูกเรียกไปทำงาน บางที่ๆผมไปสมัครเค้าไม่ได้ถามผมเรื่องคดีแต่สุดท้ายเค้าก็ไม่เรียกผมไปทำงาน เป็นไปได้ว่าเค้าอาจไปได้ข้อมูลมาจากบางที่ สุดท้ายผมว่างงานไปหกเดือน ซึ่งเป็นเวลาที่ผมว่างงานนานที่สุดในชีวิต
หกเดือนที่ว่างงานเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แน่นอนครอบครัวอาจช่วยผมเรื่องค่าใช้จ่ายแต่สภาพจิตใจผมก็เริ่มแย่ ผมคิดว่าตัวเองถูกมองว่าเป็นพวก “ตัวปัญหา” เป็นพวกหัวแข็งที่ไม่มีใครอยากรับเข้าทำงาน การเสียโอกาสในชีวิตทำให้ผมรู้สึกกดดัน
ผมเริ่มเบื่อสิ่งที่ผมรักคือการอ่านหนังสือโดยไม่มีเหตุผลทั้งที่ปกติผมเป็นคยรักการอ่านแล้วก็พาลไปรู้สึกเบื่อไม่อยากทำอะไร อยากหายไปจากสังคม แม้ผมจะโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์การเมืองอยู่บ้างแต่ก็ไม่บ่อยเหมือนเดิมและบางทีผมก็รู้สึกเบื่อเฟซบุ๊ก ผมรู้ว่าน่าจะต้องมีอะไรผิดปกติกับตัวเอง ผมลองไปทำแบบทดสอบตามเว็บต่างๆ ซึ่งผลออกมาตรงกันว่าผมอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้า
ในเดือนธันวาคมปี 2559 อัยการฟ้องคดีผมต่อศาล ตอนแรกพวกผมสามคนตั้งใจจะใช้ตำแหน่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นหลักประกันเลยไม่ได้เตรียมเงินประกันมาเพราะเข้าใจว่าจะได้แต่สุดท้ายศาลไม่อนุญาต ผมกับเพื่อนเลยต้องไปนอนเรือนจำกันคืนนึง มองย้อนกลับไปหนึ่งคืนในเรือนจำมันก็เป็นประสบการณ์ชีวิตนแต่อีกมุมนึงผมรู้สึกแย่มากนะ
ผมได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่แย่ อาหาร ห้องน้ำมันไม่ถูกสุขลักษณะ สภาพความเป็นอยู่ก็แออัดและง่ายต่อการแพร่กระตายของเชื้อโรค คนที่อยู่ในนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรสิ่งหนึ่งที่เขายังเป็นคือเป็นคนที่ควรจะต้องอยู่อย่างมีศักดิศรีกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในเรือนจำ นึกย้อนไปตัวผมเองต้องถือว่าโชคดีเพราะอยู่ในนั้นแค่คืนเดียว ไม่งั้นผมคงจะรู้สึกแย่กว่านี้
ในทางคดีไม่มีพยานหลักฐานข้อไหนเลยที่ชีว่าพวกผมก่อความวุ่นวายแม้แต่พยานโจทก์เองก็ยอมรับว่าวันเกิดเหตุไม่มีความวุ่นวาย คนไปใช้สิทธิก็ทำได้ตามปกติแม้แต่ตอนที่เพื่อนผมฉีกบัตรก็ยังมีคนใช้สิทธิตามปกติ สุดท้ายศาลชั้นต้นก็ยกฟ้องพวกผมซึ่งก็ไม่ผิดคาด ผมเคารพผลคำตัดสินที่ศาลยกฟ้องแต่ถ้าถามว่ามันคือความยุติธรรมหรือไม่ ผมไม่แน่ใจเพราะจากพยานหลักฐานมันไม่ควรเป็นคดีแต่แรกและการยกฟ้องก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของผมที่พังไปแล้วกลับคืนมา
ช่วงปี 2560 ผมตัดสินใจไปพบหมอเพื่อเช็คเรื่องอาการซึมเศร้า หมอวินิจฉัยว่าผมเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ ผมทำตามคำแนะนำของหมอเพื่อรักษาตัวเอง ทั้งกินยา ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ แต่คำแนะนำหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับหมอคือให้ยุติการแสดงความเห็นทางการเมือง คุณหมอให้เหตุผลทำนองว่าการเมืองเหมือนเป็นสิ่งปฏิกูล การที่ผมติดตามและไปเอามาลงเฟซบุ๊กมันก็เหมือนผมไปเอาของสกปรกมาขยี้ซ้ำจนมือเลอะ ซึ่งผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตของผมทั้งทางตรงทางอ้อม ไม่ว่าผมจะสนใจมันหรือไม่ ผมจึงต้องสนใจความเป็นมาเป็นไปของการเมืองในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่อาจทำตามคำแนะนำของหมอได้
หลังตกงานได้หกเดือนผมก็ไปสมัครงานบริษัทแห่งหนึ่งย่านนครปฐม แต่การกลับไปทำงานในระบบไม่ได้ทำให้ชีวิตผมดีขึ้น สิ่งที่ผมตกตะกอนในชีวิตตั้งแต่การเริ่มตั้งคำถามถึงโครงสร้างของสังคม การถูกดำเนินคดี การตกงานและการเป็นโรคซึมเศร้ามันทำให้ผมมองสังคมการทำงานในระบบทั้งระบบราชการและเอกชนว่ามันมีความไม่เป็นธรรมและการเอารัดเอาเปรียบ ผมเห็นนายจ้างในบริษัทผมเอาเปรียบลูกจ้าง ผมเริ่มมองสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็น “ธรรมดาของโลก” ว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ การเห็นคนในที่ทำงานถูกกดทับมันกระตุ้นผมให้อยู่ในสภาวะ “ดิ่ง” ของโรคซึมเศร้า
หลังผมกลับไปทำงานในระบบเป็นพนักงานบริษัทอีกครั้งผมเปลี่ยนงานสี่ครั้งในรอบสองปี จนกระทั่งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (2562) ผมก็ตัดสินใจออกจากงานอีกครั้งเพื่อไปประกอบอาขีพอิสระ ทึ่แม้รายได้จะไม่แน่นอนเหมือนงานประจำของผม แต่ชีวิตของผมก็เริ่มดีขึ้นโดยเฉพาะจิตใจ ที่สำคัญผมรู้สึกเป็นไทแก่ตัวได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก ได้พูดสิ่งที่ตัวเองคดิมากขึ้น ตัวอย่างแรกเลยคือบทสนทนานี้ (บทสัมภาษณ์นี้) ถ้าผมยังเป็นพนักงานบริษัทเหมือนเมื่อก่อนผมก็คงต้องตอบปฏิเสธไป
ผมคิดว่าชีวิตของผมมันคล้ายๆกับหนังเรื่อง The Matrix ภาคแรก สิ่งที่ผมพบเจอเมื่อครั้งบวชหน้าไฟ คำถามของน้องชาย การอ่านและการหาความรู้ด้วยตัวเองของผมไปจนถึงการถูกดำเนินคดีมันทำให้ผมตกผลึกเกี่ยวกับการกดทับเชิงโครงสร้างของสังคมได้ในระดับหนึ่ง ในระดับทีี่ผมไม่สามารถกลับไปอยู่แบบเดิมได้แล้ว ในอดีตก่อนที่ผมจะถูกดำเนินคดีผมก็พอรู้อยู่ว่าการทำงานในระบบไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัทมันต่างก็มีความไม่เป็นธรรมและการกดทับระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย นายจ้างกับลูกจ้าง สมัยนั้นผมก็ปลอบตัวเองว่าทำไปอย่างน้อยก็เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเอง แต่หลังจากผ่านเรื่องราวหลายอย่างที่เล่าไป
แต่ในครั้งหลังที่ผมเริ่มกลับมาทำงานในระบบผมกลับรู้สึกว่าตัวเองทนอยู่ในระบบไม่ได้แล้ว เหมือนพระเอกในหนัง The Matrix ที่พอกินยาจนรู้ว่าโลกที่เขาเรื่องว่าสวยหรูแท้ที่จริงเขาก็เป็นเพียงทาสของเครื่องจักรเขาก็เลือกที่จะสู้กับเครื่องจักรแล้วไม่หันกลับไปอีก ตัวผมเองก็รู้สึกแบบนั้น ผมรู้สึกว่าผมคงไม่สามารถกลับไป “อยู่เป็น” ในการทำงานตามระบบที่มีการกดทับได้อีกต่อไปแม้ว่าคนที่ถูกกดทับจริงๆแล้วก็อาจจะไม่ใช่ตัวผม
ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ผมลาออกจากงานมาทำอาชีพอิสระ ผมเริ่มทำเพจล้อการเมืองชื่อคนกลมคนเหลี่ยม ชื่อนี้ก็ไม่ได้สื่อถึงใครเป็นพิเศษหรอก แค่ตัวการ์ตูนในเรื่องเป็นตัวกลมกับตัวเหลี่ยม จริงๆเรื่องการทำเพจมันอยู่ในใจผมมานานแล้ว แต่ด้วยหน้าที่การงานในตอนนั้น (ก่อนลาออกจากงาน) มันไม่เอื้อทั้งเวลาที่มีจำกัดและบริษัทหรือนายจ้างที่อาจไม่ค่อยชอบใจกับการทำกิจกรรมการเมืองซักเท่าไร แต่ตอนนี้ผมไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านั้นแล้ว
นอกจากผมจะใช้เพจ “คนกลมคนเหลี่ยม” เป็นช่องทางในการสื่อสารประเด็นทางการเมืองแล้วผมยังใช้มันเป็นเครื่องมือในการเยียวยาตัวเองด้วย เพราะผมชอบวาดการ์ตูน แต่ผมก็ไม่สามารถวาดมันได้ในช่วงที่ทำงานประจำ ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่ต้องวางมือจากสิ่งที่ตัวเองรักไปทำสิ่งที่อาจจะไม่ได้มีความสุขกับมันเท่าไหร่เพื่อปากท้องและความอยู่รอด
เพจ “คนกลมคนเหลี่ยม” ของผมจะหยิบเรื่องที่เกิดในสังคมไทยโดยเฉพาะประเด็นร้อนทางการเมืองมาแซวแบบขำๆ การเขียนความคิดเห็นเป็นสเตตัสยาวๆบางทีมันอาจแรงไปหรือหนักไป แต่พอมาทำเป็นการ์ตูนมันก็อาจจะเบาลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ในเพจผมก็ยังไม่ค่อยมีคนมาแสดงความเห็นต่างซักเท่าไหร่อาจเป็นเพราะเพิ่งเริ่มทำมันเลยยังไม่ดังมาก ถ้าเพจผมมีคนติดตามมากขึ้นก็คงถูกด่าเป็นธรรมดา แต่ผมก็โอเคนะเพราะเพจผมเปิดกว้างและเสรีอย่างแท้จริงไม่ได้ดีแต่ชื่อ
ได้เห็นภาพนี้อีกครั้ง (ภาพปิยรัฐ จำเลยคดีประชามติอีกคนหนึ่งกำลังฉีกบัตร) ก็แอบภูมิใจเล็กๆนะ เหตุการณ์ในวันประชามติเราไม่ได้มีการติดต่อให้สื่อมารอทำข่าว ผมเชื่อว่าภาพข่าว ไม่ต่ำกว่า 80% ที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์มันก็คงมาจากโทรศัพท์ของผมนี่แหละ ถามว่ามาถึงวันนี้ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมจะไปถ่ายรูปเพื่อนจนถูกดำเนินคดีจนชีวิตพลิกผันแบบนี้ไหม ผมตอบได้เลยว่าถ้าย้อนกลับไปได้ผมก็อาจจะทำอะไรมากกว่าแค่ไปถ่ายรูป
ตอนเดือนสิงหาคมปี 2561 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาคดีของผม ตัดสินว่า ผมมีความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตัวผมยอมรับการตัดสินของศาลนะ แต่ผมก็ไม่สามารถบอกได้ว่าผมเห็นด้วยเพราะพยานหลักฐานในคดีมันไม่มีตรงไหนเลยที่ชี้ได้ว่าผมกับเพื่อนไปก่อความวุ่นวายอะไรเพราะคนที่มาใช้สิทธิก็ทำได้โดยไม่ถูกขัดขวาง แต่พอฉุกคิดอีกทีผมก็ไม่แปลกใจ เพราะในเมื่อผมเลือกที่จะสู้กับระบบโครงสร้างที่มันกดทับ การถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินว่ามีความผิดมันก็คงเป็นบทลงโทษสำหรับคนที่บังอาจแข็งขืนต่อระบบโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมอย่างผม
—————————————————
จิรวัฒน์หรือ ตั้ม ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 60 (9) จากกรณีที่เขาถ่ายคลิปวิดีโอขณะที่ปิยรัฐหรือโตโต้ เพื่อนของเขาฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ พร้อมพูดว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สำนักงานเขตบางนาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และเผยแพร่คลิปดังกล่าวบนเฟซบุ๊กของเขาระยะเวลาหนึ่งก่อนจะถูกลบไป นอกจากตัวเขากับปิยรัฐที่เป็นคนฉีกบัตรแล้ว ในคดีนี้ทรงธรรมเพื่อนของเขาอีกคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ถูกดำเนินคดีไปด้วย
ในเดือนกันยายน 2560 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจิรวัฒน์และเพื่อนของเขาอีกสองคนในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติเพราะเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้มีเหตุวุ่นวายใดๆเกิดขึ้นและการออกเสียงในหน่วยยังคงดำเนินไปตามปกติ
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2561 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นพิพากษาว่าจิรวัฒน์และจำเลยอีกสองคนคือปิยรัฐและทรงธรรมมีความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติเพราะเห็นว่า
จำเลยทั้งสามมีลักษณะแบ่งงานหรือนัดแนะกันมาก่อนโดยให้ปิยรัฐเป็นคนฉีกบัตรส่วนจิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นคนถ่ายคลิปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตโดยหวังจะให้เกิดความวุ่นวาย ขณะที่ปิยรัฐศาลก็เห็นว่าหากไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถลงคะแนนไม่เห็นชอบได้แต่ปิยรัฐกลับเลือกใช้วิธีฉีกบัตรซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายจึงไม่ใช่การใช้สิทธิโดยชอบ ขณะนี้คดีของจิรวัฒน์กับเพื่อนยังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา
—————————————————
ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษของการปกครองโดย คสช. เป็นเวลาที่นานพอจะให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น เห็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้เคยปฏิเสธว่า ตัวเอง “ไม่ใช่นักการเมือง” กลายเป็นนักการเมืองแบบเต็มขั้น เห็นระบบการเมืองที่หวนคืนไปสู่ระบบการเมืองแบบวันวาน เช่น การมี ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 100% หรือเห็นรัฐธรรมนูญที่ย้อนกลับไปกำหนดให้นายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
ขณะเดียวกันระยะเวลาที่เนิ่นนานในยุค คสช. ก็นานพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการรัฐประหารหรือการปกครองโดย คสช. จนมีคดีการเมืองติดตัวเป็นของขวัญ ผลงานชุด Change.NCPO จึงคัดเลือกภาพและเสียงของนักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2557 – 2559 ซึ่งถือเป็นครึ่งแรกของการบริหารประเทศโดย คสช. มาบอกเล่าไว้ ณ ที่นี้