“หนักแผ่นดิน” จากวาทกรรมสู่การตอบโต้ของประชาชนที่ลงท้ายด้วยการดำเนินคดี

วันนี้ (11 ตุลาคม 2562) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยในการบรรยายผบ.ทบ.มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น พูดถึงกรณีที่มีนักการเมืองไทยถ่ายภาพกับโจชัวร์ หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง
พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. ตั้งคำถามถึงการที่ โจชัวร์ หว่องเคยมาพบกับบุคคลประเภทไหนในประเทศไทย มีวาระซ่อนเร้นหรือวางแผนคบคิดทำอะไรกันหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในขณะที่มีการชุมนุมในฮ่องกงก็มีนักการเมืองไทยไปถ่ายภาพด้วยคล้ายไปให้กำลังใจหรือให้การสนับสนุน
นอกจากนี้ ผบ.ทบ. ยังพูดถึงบทบาทของทหารกับการรักษาความมั่นคงของประเทศด้วยว่า ไม่ว่าบุคคลใดมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทหารก็ทำงานให้ตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่กลับมีกลุ่มคนที่พยายามสร้างวาทกรรมต่างๆมาโจมตีว่าทหารเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย 
“เพราะทหารคือหลักไงครับ คือหลักแห่งความมั่นคง ที่จะต้องปกป้องอธิปไตย จึงมีวาทกรรมต่างๆเกิดขึ้น ทุกครั้ง เอามาหวังผลทางการเมือง เอาใจเด็กๆน้องๆวัยรุ่น ไม่ต้องเกณฑ์ทหารบ้างหล่ะ ลดงบประมาณกองทัพบก ลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม จัดซื้ออาวุธทำไม หนักแผ่นดิน” 
ที่น่าสนใจคือ ผบ.ทบ. พูดคำว่า “หนักแผ่นดิน” หลังพูดเรื่องการใช้วาทกรรมโจมตีทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการซื้ออาวุธและการปรับลดงบประมาณของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหม ซึ่งการพูดเรื่อง “หนักแผ่นดิน” เคยถูกหยิบมาใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ช่วงที่พรรคการเมืองต่างๆอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ผบ.ทบ.ก็เคยพูดลักษณะนี้มาก่อนแล้ว
ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคเพื่อไทยจัดปราศรัยหาเสียงที่ลานคนเมือง โดยช่วงหนึ่งของการปราศรัยมีการพูดถึงนโยบายการลดงบประมาณกองทัพ ซึ่งในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์ผบ.ทบ.ถึงการหาเสียงในประเด็นดังกล่าว ผบ.ทบ.ก็ตอบว่า
 “เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้ ก็เพลงหนักแผ่นดินไง”
หลังจากนั้นก็มีกระแสข่าวว่าผบ.ทบ.จะให้วิทยุในเครือกองทัพบกนำเพลงหนักแผ่นดินและเพลงปลุกใจอื่นๆไปเปิดระหว่างวัน แต่ต่อมาก็มีการยกเลิกแนวคิดดังกล่าว เหลือเพียงให้เปิดเพลงในค่ายทหารแทน
การให้สัมภาษณ์ของผบ.ทบ.ในครั้งนั้นทำให้มีประชาชนอย่างน้อยสี่คนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าเพลงหนักแผ่นดิน เป็นเพลงที่เคยใช้ปลุกระดมและสร้างความเกลียดชังช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์สังหารผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 
กรณีแรกคือกรณีของนักกิจกรรมนักศึกษา พริษฐ์หรือ “เพนกวิ้น” และธนวัฒน์ หรือ “บอล” ที่ไปอ่านจดหมายเปิดผนึกคัดค้านแนวคิดของผบ.ทบ.ในการนำเพลงหนักแผ่นดินมาเปิดทั้งในกรณีการเปิดทางวิทยุและกรณีการเปิดในค่ายทหาร โดยทั้งสองมาทำกิจกรรมที่บริเวณเกาะกลางถนนตรงข้ามกองทัพบก
ภาพพริษฐ์และธนวัฒน์ทำกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ. ภาพโดย  Wassana Nanuam
พริษฐ์หรือ “เพนกวิ้น” ระบุตอนหนึ่งว่า 
“เนื้อหาเพลงหนักแผ่นดินมีเนื้อหาโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมืองว่าเป็นผู้บ่อนทำลายสังคม ดูถูกเพื่อนร่วมชาติว่ารับใช้อิทธิพลจากต่างประเทศ ทั้งที่ความเป็นจริงการที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เนื้อหาของเพลงก่อให้เกิดแห่งความเกลียดชัง มีเป้าประสงค์เพื่อชี้ชวนให้มองว่าผู้เห็นต่างเป็นพวกหนักแผ่นดิน บั่นทอนความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงได้ และที่ผ่านมาเพลงดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างบรรยากาศให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงในหลายเหตุการณ์ ผมขอให้ผบ.ทบ.ยกเลิกการเปิดเพลงดังกล่าว”
ระหว่างที่พริษฐ์กับเพื่อนๆไปทำกิจกรรมเขากับเพื่อนได้นำป้ายเขียนข้อความ 
“หนักแผ่นดินไม่อินดี้ ฟังประเทศกูมี ดีกว่ามั้งลุง” ไปถือด้วย
ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีนักกิจกรรมอีกสองคนได้แก่เอกชัยและโชคชัย นำตุ๊กตาหมีพร้อมลำโพงไปที่บริเวณเกาะกลางถนนตรงข้ามกองทัพบกเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เปิดเพลง “ประเทศกูมีให้” ผบ.ทบ.ฟัง 
พร้อมทั้งจำลองเหตุการณ์คนใช้เก้าอี้ตีศพเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นทั้งมิวสิควิดีโอของเพลงประเทศกูมี และเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเพลง หนักแผ่นดิน ด้วยการนำตุ๊กตาหมีไปแขวนและใช้เก้าอี้ตี อย่างไรก็ตามระหว่างที่เอกชัยและโชคชัยกำลังทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ก็ยึดตุ๊กตาหมีไป ทำให้เอกชัยต้องใช้เก้าอี้ทำท่าตีโชคชัยเพื่อจำลองเหตุการณ์แทน 
ในวันเดียวกันนักกิจกรรมทั้งสี่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากสถานที่ทำกิจกรรมไปตั้งข้อกล่าวหา ไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยแยกการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นสองคดี
เอกชัยและโชคชัยทำกิจกรรมเปิดเพลงประเทศกูมีและจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา ภาพจาก Banrasdr Photo
คดีของเอกชัยและโชคชัย ศาลแขวงดุสิตพิพากษาปรับทั้งสองเป็นเงินคนละ 2000 บาท เพราะเห็นว่าสถานที่ทำกิจกรรมเป็นสถานที่สาธารณะ และบุคคลทั้งสองมีการโพสต์ข้อความต่อสาธารณะแจ้งวัน เวลา สถานที่จัดกิจกรรมรวมทั้งระบุวัตถุประสงค์ของกิจกรรมว่าจะมาแสดงออกเพื่อคัดค้านหรือสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การกระทำของทั้งสองจึงเข้าข่ายเป็นการชุมนุมและทั้งสองเข้าข่ายเป็นผู้จัดการชุมนุม เมื่อทั้งสองไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าตามกฎหมายจึงมีความผิด   
สำหรับคดีของพริษฐ์และธนวัฒน์ ศาลแขวงดุสิตสืบพยานแล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 และนัดจำเลยทั้งสองฟังคำพิพากษาวันที่ 28 ตุลาคม 2562 พล.อ. อภิรัชต์  คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก บรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” 11 ตุลาคม 2562
หมายเหตุ ข้อความบนภาพของผบ.ทบ. ถอดความมาจักคำบรรยายนานทีที่ 28.38 – 29.16 ของคลิปวิดีโอ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ของมติชนทีวี