มองกรณี “หนุ่มแว่น” ผ่านเลนส์กฎหมายอาญา

เวลาประมาณ 10.58 น. ของวันที่ 23 ตุลาคม 2562 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “โต้ เจ็ทโด้” โพสต์ภาพถ่ายพร้อมวิดีโอคลิป ชายสวมเสื้อสีขาวสวมแว่นตาคนหนึ่งซึ่งทราบชื่อตามรายงานของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ภายหลังว่า รชฎ กำลังตะโกนต่อว่ากรณีที่รถของเขากับรถของผู้ถ่ายวิดีโอเฉี่ยวชนกัน
ตามคลิปวิดีโอ รชฎตะโกนด่าผู้ที่กำลังถ่ายคลิปวิดีโอด้วยถ้อยคำหยาบคาย นอกจากการต่อว่า ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับรถและการพูดถึงสถานภาพทางสังคมหรือการเงินของคู่กรณีที่กำลังบันทึกวิดีโอคลิปแล้ว รชฎยังพูดถึงคนไทยในทำนองว่า ด้อยพัฒนา ไม่มีการศึกษา รวมทั้งยังระบุในทำนองว่า เขาไม่แคร์คนไทยและเขาสามารถต่อว่าหรือดูถูกใครก็ได้รวมถึงนายกรัฐมนตรีและพระมหากษัตริย์
หลังคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่วงสายของวันที่ 23 ตุลาคม คลิปดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ หากนับจนถึงเวลา 13.30 น. มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาแสดงความรู้สึกบนเฟซบุ๊กที่เป็นต้นทางในการเผยแพร่คลิปอย่างน้อย 367,737 บัญชี นอกจากนั้นก็มีสำนักข่าวๆ ต่างนำไปเผยแพร่ต่อ และส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ประชาชนมากกว่า 100 คน มารวมตัวที่หน้าสภ.พุทธมณฑล ระหว่างที่ “หนุ่มแว่น” ถูกควบคุมตัวอยู่ แต่ก็สลายตัวไปหลังมีข่าวว่าเขาไม่อยู่ที่สถานีตำรวจแล้ว
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” และจะส่งตัวเขาไปฝากขังที่ศาลแขวงนครปฐมในวันที่ 24 ตุลาคม 2562
คำพูดของรชฎน่าจะถูกมองโดยคนในสังคมส่วนหนึ่งโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ว่า มีลักษณะก้าวร้าวรุนแรง มีการพาดพิงถึงคนไทยในลักษณะลดทอดคุณค่าแบบเหมารวม รวมถึงพาดพึงถึงบุคคลสำคัญอย่างนายกรัฐมนตรีและมีการเอ่ยคำว่า “พระมหากษัตรย์” ด้วย กรณีดังกล่าวทำให้ราเชน ตระกูลเวียง ประธานกลุ่มสหพันธ์คนไทยปกป้องสถาบัน นำหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอไปพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษรชฎในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
พาดพิงสถานะทางสังคมของคู่กรณี อาจเข้าข่าย “ดูหมิ่นซึ่งหน้า”
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ซึ่งเป็นข้อหาที่มีระหวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 10000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ “ความผิดลหุโทษ” คือ มีโทษไม่สูงนัก
คำว่า “ดูหมิ่น” ไม่มี กฎหมายใดให้คำนิยามไว้ จึงต้องอาศัยคำนิยามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งระบุว่า คำว่า ดูหมิ่น เป็นคำกิริยา หมายถึง แสดงกิริยาท่าทาง พูด หรือเขียน เป็นเชิงดูถูกว่า มีฐานะตํ่าต้อยหรือไม่ดีจริงไม่เก่งจริง เป็นต้น
การ “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” จึงหมายถึงการแสดงออกในลักษณที่เหยียดหรือดูถูกว่า บุคคลอื่นด้อยกว่าตัวเอง และเกิดขึ้นต่อหน้าบุคคลนั้น การกระทำตามคลิปวิดีโอที่เกิดขึ้นจึงอาจจะเข้าข่ายความผิดนี้เนื่องจากรชฎพูดถึงสถานะภาพทางสังคมของคู่กรณีในทำนองว่า ต่ำกว่าสถานะทางสังคมของตัวเอง
ในคลิปวิดีโอยังปรากฎเหตุการณ์ที่รชฎหันไปพูดใส่บุคคลที่ขับรถผ่านไปมาและพยายามห้ามปรามให้พูดกันดีๆ ว่า “เสือก” ซึ่งคำดังกล่าพจนานุกรมระบุว่า เป็นคำกิริยา โดยปริยายหมายถึงเข้าไปจุ้นจ้านในเรื่องของคนอื่นโดยไม่ใช่หน้าที่หรือโดยไม่สมควร (เป็นคำไม่สุภาพ) ผู้ที่ถูกรชฎดูหมิ่นซึ่งหน้าโดยตรงจึงอาจมีทั้งคู่กรณีของเขากับบุคคลที่ขับรถผ่านมาและพยายามห้ามปรามด้วย
ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าบุคคลที่ถูกรชฎ ตะโกนใส่ต่อหน้านั้นเดินทางมาแจ้งความดำเนินคดีรชฎต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ แต่เนื่องจากความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าไม่ได้ถูกกำหนดไว้เป็นความผิดเฉพาะตัวที่ผู้เสียหายจะต้องมาแจ้งความเพื่อเริ่มคดีด้วยตัวเองพนักงานสอบสวนจึงสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นและออกหมายเรียกให้รชฎมารับทราบข้อกล่าวหาเองได้
ดูหมิ่น “คนไทย” เป็นความผิดหรือไม่ตามกฎหมายอาญา
การดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญากำหนดความผิดในสองลักษณะ คือการดูหมิ่นซึ่งหน้า หมายถึงการกระทำเกิดขึ้นต่อหน้าตัวผู้ถูกกระทำ และด้วยการโฆษณา หมายถึงตัวผู้กระทำเผยแพร่การกระทำของตัวเองผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เห็นในวงกว้าง
หากพิจารณาโดยฐานดังกล่าว “คนไทย” ที่ถูก “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” เท่าที่มีข้อมูลในขณะนี้ จึงมีเพียงบุคคลที่เป็นคู่กรณีจากเหตุรถเฉี่ยวชนของรชฎ กับบุคคลที่พยายามห้ามปรามให้รชฎเจรจากับคู่กรณีดีๆ แล้วถูกรชฎตอบโต้ซึ่งปรากฎตามคลิปวิดีโอ
สำหรับกรณีที่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่จนทำให้ผู้ที่พบเห็นอาจรู้สึกว่า ได้รับความเสียหาย น่าจะไม่เข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าเพราะเมื่อพิจารณาในแง่ของผู้ที่พูดแล้ว ไม่ได้จงใจที่จะพูดและเผยแพร่ข้อมูลนั้นออกไปในวงกว้าง หากเป็นกรณีการถ่ายคลิปตัวเองและโพสต์ลงเฟซบุ๊กด้วยตัวเอง อาจจะพอเห็นเจตนาที่จะ “โฆษณา” ได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นจะสังเกตว่า ผู้พูดไม่ได้สนใจว่า กำลังมีการถ่ายคลิปวีดีโออยู่ และไม่มีเป็นผู้โพสต์วีดีโอนั้นด้วยตัวเอง จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า รชฏ กระทำควาผิดฐานดูหมิ่น “คนไทย” หรือบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยการโฆษณา
ไม่เหมาะสมแต่น่าจะยังไม่ถึงขั้นผิดกฎหมาย
กรณีที่รชฎพูดว่า “กูหมิ่นทุกคนแม้กระทั่งนายก” แม้ในทางสังคมการพูดลักษณะดังกล่าวอาจถูกมองว่า ไม่เหมาะสมแต่ก็อาจจะยังไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายเนื่องจาก การพูดในลักษณะดังกล่าวเพียงแต่สื่อว่ารชฎอาจจะทำสิ่งใด หรือจะทำสิ่งใดได้ แต่เมื่อดูวิดีโอคลิปต้นทางทั้งหมดแล้วก็ไม่ปรากฎว่า รชฎกล่าวถ้อยคำที่เป็นการดูหมิ่นต่อนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด เมื่อยังไม่มีข้อความใดที่มีลักษณะลดทอนสถานะของนายกรัฐมนตรีให้ต่ำลง ก็ยังถือไม่ได้ว่า รชฏ พูดจาดูหมิ่นนายกรัฐมนตรีแล้ว
เช่นเดียวกับกรณีที่รชฎพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ ตามคลิปวิดีโอที่เผยแพร่เขาก็พูดทำนองเดียวกับที่พาดพิงถึงนายกรัฐมนตรี คือ พูดว่า เขาสามารถทำได้ แต่ไม่ได้มีการกล่าวถ้อยคำที่อาจเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การกระทำของรชฎที่ปรากฎตามคลิปวิดีโอจึงไม่น่าที่จะเข้าข่ายความผิดในเรื่องนี้ด้วย
หากการกระทำเกิดขึ้นระหว่างมีอาการป่วยทางจิต ศาลอาจไม่ลงโทษหรือลงโทษต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
ระหว่างที่รชฎให้การกับพนักงานสอบสวนในช่วงค่ำวันที่ 23 ตุลาคม เขาได้นำยารักษาโรคซึมเศร้ามาแสดงต่อพนักงานสอบสวนมาแสดงต่อศาล ขณะที่พ่อของรชฎก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า รชฎเคยเข้ารับการรักษาอาการซึมเศร้าที่โรงพยาบาลมนารมย์ บางนา
ในทางคดีหากมีการส่งตัวรชฎไปเข้ารับการตรวจกับโรงพยาบาลของรัฐและผลออกมาว่า เขามีอาการป่วยทางจิตจริง และการกระทำที่ถูกดำเนินคดีนั้นเป็นผลมาจากอาการป่วย ศาลจะต้องพิพากษาโทษของรชฎตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับการลงโทษบุคคลกรณีผู้กระทำความผิดกระทำการในขณะที่มีอาการป่วยทางจิตไว้ว่า
“ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
หมายความว่า หากข้อเท็จจริงปรากฎว่าขณะเกิดเหตุผู้กระทำความผิดไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดีได้เลย ศาลอาจไม่ลงโทษผู้กระทำความผิดเลยก็ได้ แต่หากศาลเห็นว่าขณะเกิดเหตุผู้กระทำความผิดน่าจะพอรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง บุคคลดังกล่าวจะต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่ศาลสามารถลงโทษต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ อย่างไรก็ตามหากรชฎถูกดำเนินคดีในความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าเพียงข้อหาเดียว ข้อยกเว้นตามมาตรา 65 วรรคสองก็อาจไม่มีความจำเป็น เพราะความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าเพียงแต่กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้ หากท้ายที่สุดศาลเห็นว่าขณะเกิดรชฎพอรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง ศาลสามารถใช้ดุลพินิจกำหนดโทษต่ำเท่าใดก็ได้อยู่แล้ว