1808 1375 1573 1011 1038 1898 1148 1389 1672 1189 1015 1162 1854 1030 1519 1016 1839 1687 1615 1851 1736 1817 1562 1882 1481 1961 1356 1555 1808 1460 1589 1653 1867 1839 1037 1134 1437 1658 1155 1234 1611 1133 1318 1176 1274 1453 1111 1290 1446 1459 1819 1257 1545 1256 1455 1337 1686 1032 1158 1130 1844 1295 1690 1934 1715 1619 1988 1790 1791 1232 1536 1311 1039 1225 1551 1630 1940 1351 1510 1766 1678 1759 1260 1197 1594 1297 2000 1351 1952 1237 1932 1898 1793 1500 1534 1528 1651 1878 1836 Thailand Post Election Report: ข้อหา "หมิ่นประมาท" มาแรง ใช้ฟ้อง "ปิดปาก" ได้เกือบทุกเรื่อง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Thailand Post Election Report: ข้อหา "หมิ่นประมาท" มาแรง ใช้ฟ้อง "ปิดปาก" ได้เกือบทุกเรื่อง

 

ปี 2562 เป็นปีที่เทรนด์การฟ้องคดีแบบเก่าๆ กลับมาฮิตมากขึ้นอีกครั้งเมื่อข้อหา หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา ถูกเอามาใช้ฟ้องคดีเพื่อ “ปิดปาก” การวิพากษ์วิจารณ์สารพัดเรื่อง เกิดเป็นคดีขึ้นมาจำนวนมาก ทั้งการหมิ่นเหมืองแร่, หมิ่นฟาร์มไก่, หมิ่นทหาร, หมิ่น กกต., หมิ่นบ้านป่าแหว่ง, หมิ่นสารพิษ ฯลฯ
 
 
ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ใน มาตรา 326 โดยมีมาตรา 328 เป็นบทเพิ่มโทษที่ใช้กันบ่อย ดังนี้
 
            "มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
 
            "มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการ กระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
 
จะเห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ต้องมี "บุคคลที่สาม" เป็นผู้รับสารด้วย การด่ากันต่อหน้าเพียงสองคนยังไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท และเนื้อหาที่จะเป็นความผิดได้ต้องมีลักษณะที่จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องเป็นการพูดความเท็จ การพูดความจริงที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายก็ยังเป็นความผิดได้เช่นกัน
 
ถ้าหากการหมิ่นประมาททำผ่านสื่อไม่ว่า สื่อประเภทใดๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ ก็จะต้องใช้มาตรา 328 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อเป็นการ "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา" ก็จะมีโทษเพิ่มสูงขึ้น คดีหมิ่นประมาทส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะกระทำผ่านสื่ออย่างใดอย่าหนึ่ง และเมื่อมาตรา 326 ถูกหยิบมาใช้ ก็มักจะมาคู่กันกับมาตรา 328 ด้วย
 
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญายังมีข้อยกเว้นความรับผิดให้สำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งข้อยกเว้นที่ยกขึ้นอ้างได้อย่างกว้างขวางและใช้คุ้มครองผู้ต้องหาได้บ่อยที่สุด คือ ข้อยกเว้นตาม มาตรา 329 (3) หากเป็นการแสดงความเห็นติชม วิพากษ์วิจารณ์ ในลักษณะที่ประชาชนทั่วไปต่างก็กระทำกันเป็นปกติวิสัย แม้ว่า อาจจะเป็นการใส่ความบุคคลอื่นให้เสียหายอยู่บ้างก็ตาม ก็ยังได้รับการยกเว้นไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
 
นอกจากนี้ในมาตรา 330 ยังยกเว้นให้อีกชั้นหนึ่งสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ และเป็นการพูดความจริง หรือเป็นกรณีที่ผู้ที่พูดนั้นเชื่อโดยสุจริตว่า สิ่งที่พูดเป็นความจริง ถ้าหากแสดงความคิดเห็นภายในกรอบนี้แม้จะเป็นความผิดแต่ก็ไม่ต้องรับโทษ
 
คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทส่วนใหญ่ที่ฟ้องร้องกันไม่ได้นำไปสู่การลงโทษให้ผู้ที่แสดงความเห็นต้องโทษ ถึงขนาดเข้าไปอยู่ในเรือนจำจริงๆ ส่วนใหญ่คดีจะจบที่การเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ นำไปสู่การถอนฟ้อง หรือศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง หรือถ้าศาลพิพากษาว่า มีความผิดก็จะให้รอการลงโทษ คดีที่ศาลตัดสินให้ผู้แสดงความคิดเห็นต้องจำคุกจริงๆ ก็มีอยู่บ้าง แต่ถือเป็นส่วนน้อยมาก
 
อย่างไรก็ดีกระบวนการพิจารณาคดีถือว่า สร้างภาระให้กับจำเลยเป็นอย่างมาก เพราะจำเลยในคดีอาญาต้องวางหลักทรัพย์เพื่อประกันตัว ต้องมีหน้าที่เดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาคดีทุกนัด ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ค่าเอกสาร ค่าทนายความ และต้องใช้เวลาไปกับการเตรียมตัวต่อสู้คดีอย่างมาก แม้ผลสุดท้ายอาจจะชนะคดีแต่ก็เกิดผลกระทบกับจำเลยขึ้นอย่างมากแล้ว ถือได้ว่า เป็นช่องทางที่จะหยิบยืมมือกระบวนการยุติธรรมเพื่อกลั่นแกล้งคู่ขัดแย้งได้
 
 
 
1307
 
 
ในปี 2562 หลังจากที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขบังคับใช้มาได้กว่าสองปี และเริ่มเห็นแนวทางการตีความที่ชัดเจนขึ้นว่า คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทจะใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) มาดำเนินคดีควบคู่กันไม่ได้ ผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และต้องการดำเนินคดี จึงต้องเลือกเอากฎหมายหมิ่นประมาทมาใช้เป็นข้อหาหลักข้อหาเดียวเพื่อตอบโต้ผู้แสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ ซึ่งก็เป็นการฟ้องคดีเพื่อ “ปิดปาก” หรือหวังให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพื่อไม่ให้สังคมร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนั้นๆ ในลักษณะเดียวกันอีก ในปี 2562 โดยเฉพาะเมื่อผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว เกิดคดีที่น่าสนใจมากมาย ตัวอย่างเช่น
 
 
 
คดีหมิ่นเหมืองแร่ถ่านหิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
 
27 พฤศจิกายน 2562 นักศึกษากลุ่มเสรีอินทนิล จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้สี่คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีมีทนายความที่ได้รับมอบอำนาจของบริษัทเหมืองแร่ถ่านหิน ในอ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนักศึกษาทั้ง 4 คน ข้อกล่าวหาครั้งนี้มาจากการที่นักศึกษาเผยแพร่รายงานข่าว เรื่องการลงพื้นที่รับฟังการสะท้อนปัญหาและความกังวลของชาวบ้านกรณีเตรียมสร้างเหมืองแร่ถ่านหินใน อ.อมก๋อย โดยระบุว่า มีการข่มขู่และหลอกลวงให้ขายที่ดินของชาวบ้าน โดยไม่ได้บอกว่าจะมีการนำไปจัดทำเหมืองแร่ถ่านหิน
 
12 ตุลาคม 2562 แกนนำชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหินในอ.อมก๋อย 2 ราย ก็ได้รับหมายเรียกด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน จากการเดินขบวนถือป้ายรณรงค์คัดค้านการทำเหมืองแร่ในอ.อมก๋อย ของประชาชน นักเรียน และนักศึกษากว่า 2,000 คน และมีการขึ้นปราศรัยถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ถ่านหิน เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายน 2562
 
 
 
คดีหมิ่นฟาร์มไก่ เรื่องละเมิดสิทธิแรงงาน
 
23 พฤศจิกายน 2562 อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า ได้รับหมายเรียกในฐานะจำเลย ในคดีที่ บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจฟาร์มไก่ที่ตั้งอยู่ ในจังหวัดลพบุรียื่นฟ้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาททางอาญา จากการแชร์โพสต์ซึ่งมีลิ้งค์ (links) เชื่อมต่อไปยังคำแถลงการณ์ขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และในแถลงการณ์ดังกล่าวมีลิงก์เชื่อมไปยังคลิปวีดีโอที่แรงงานได้กล่าวอ้าวว่าตนถูกละเมิดสิทธิแรงงาน
 
ความขัดแย้งครั้งนี้เริ่มจากการที่ลูกจ้างชาวพม่า 14 คน ออกมาเปิดเผยถึงสภาพการจ้างงานและการ จ่ายค่าจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของบริษัทธรรมเกษตร นำไปสู่การฟ้องคดีที่ศาลแรงงาน และศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเพิ่ม คดีข้อพิพาทแรงงานจบไปแล้ว แต่บริษัทธรรมเกษตร ยัง คงเดินหน้ายื่นฟ้องคดี “หมิ่นประมาท” และข้อหาอื่นๆ ต่ออดีตลูกจ้างชาวพม่า และองค์กรด้านสิทธิมนุ ษยชน สื่อมวลชน และนักวิชาการ ที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ คดีนี้เป็นคดีที่ 18 เป็นอย่างน้อย ที่บริษัท ธรรมเกษตรยื่นฟ้องจากการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน
 
ปลายปี วันที่ 24 ธันวาคม 2562 ศาลจังหวัดลพบุรีอ่านคำพิพากษา หนึ่งในชุดคดีของบริษัทธรรมเกษตร ที่ฟ้องสุชาณี นักข่าววอยซ์ทีวี จากการทวีตข้อความรายงานข่าวความขัดแย้งกรณีนี้และใช้ข้อความกล่าวหาบริษัทว่า "ใช้แรงงานทาส" ซึ่งศาลจังหวัดลพบุรีพิพากษาให้มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ให้จำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา แต่จำเลยยังได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
 
ดูโพสต์ของอังคณาได้ที่ คลิกที่นี่ 
 
 
คดีหมิ่นศาล บ้านป่าแหว่ง เชียงใหม่
 
20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11.00 น. ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ และเรืองยศ สินธิโพธิ์ 2 เดินทางไปที่สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 7 ถนนรัชดาภิเษก โดยพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ผู้รับผิดชอบได้มีความเห็นส่งสำนวนและสงตัวผู้ต้องหาเพื่อฟ้องคดีต่อศาล จากกรณีปัญหาหมู่บ้านข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ (บ้านป่าแหว่ง) ที่สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กับแกนนำและสมาชิกแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
 
สำหรับคดีของธีระศักดิ์ ถูกสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งความ 2 คดี จากการให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ภายหลังจากถูกค้นบ้านเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561[1] และการให้สัมภาษณ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 61[2] ส่วนคดีของเรืองยศ สินธิโพธิ์ ถูกสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งความจากการแชร์รูปภาพข้อความจาก Facebook ชื่อว่า “เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” จากเว็ปไซต์สำนักข่าวมติชนออนไลน์ ซึ่งมีข้อความว่า “ย่ำยีหัวใจคนเชียงใหม่ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพดอยสุเทพ” และระบุรายชื่อตุลาการ(ชุดแรก)ที่ยังพักอาศัยในอาคารชุดป่าแหว่ง
 
 
 
คดีหมิ่น กกต. จากกิจกรรมเข้าชื่อถอดถอน
 
11 เมษายน 2562 ผู้ต้องโบว์ ณัฏฐา, อนุสรณ์ และศศินทร์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีแชร์แคมเปญล่ารายชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บนเว็บไซต์ www.change.org และเรียกร้องให้คนลงชื่อเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้การเกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจจัดการเลือกตั้งของ กกต.
 
ก่อนหน้านี้ 5 เมษายน 2562 คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับบุคคลที่แชร์แคมเปญรณรงค์ถอดถอน กกต. ทางเว็บไซต์ Change.org ที่สน.ทุ่งสองห้องโดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แถลงข่าวระบุว่าได้มีการดำเนินคดีบุคคลแล้ว 7 ราย ในจำนวนนี้มี 3 ราย ได้เข้ารับการสอบปากคำกับพนักงานสอบสวนไปแล้ว
 
30 เม.ย.2562 พะเยาว์ อัคฮาด หรือ “แม่น้องเกด”, พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” เดินเท้าเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พญาไท จากเหตุที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เหตุทั้ง 3 คนได้ปราศรัยในกิจกรรมล่าชื่อถอดถอน กกต. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 ที่สกายวอล์คสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
 
 
 
คดีหมิ่นสารพิษ ต้องแบนหรือไม่แบน
 
2 ธันวาคม 2562 ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.บางเขนเพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHI) ในฐาน “หมิ่นประมาท” ไบโอไทยยังได้นำข้อความที่ สมาคมวัชพืชฯ โพสต์ว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซต แต่ เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟสิเนต” มากากบาท พร้อมระบุข้อความว่า “แถบสีน้ำเงินไกลโฟเซตคือสารก่อมะเร็ง แถบสีเหลืองพาราควอต มีสารพิษมากกว่าที่เคยแบนแล้ว 43 เท่า”
 
ดร.จรรยาเปิดเผยว่า วันนี้เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ ผอ.ไบโอไทย หลังจากที่แชร์ข้อมูลทางสื่อโซเชี่ยล เป็นเหตุให้ตนเองและสมาคมได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้กระทำมีความผิด ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหมิ่นประมาทในการโฆษณา ซึ่งสมาคมฯ ไม่ได้กล่าวถึงพาราควอต จนทำให้สมาคมได้รับความเสียหาย
 
อ่านเรื่องนี้ ต่อได้ที่ เว็บไซต์ข่าวสด
 
 
 
1308
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ประเภทรายงาน: