ประเด็นกฎหมายชุมนุมที่ยังต้องเถียงกันต่อ จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 มีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แม้กิจกรรมดังกล่าวไม่มีการยื่นข้อเรียกร้อง ไม่มีเวทีปราศรัย ไม่มีการปักหลักยืดเยื้อ เป็นแต่เพียงการรวมตัวกันออกกำลังกายและแยกย้ายกันกลับหลังกิจกรรมยุติ แต่ในความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ “ลุง” ในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” หมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้า คสช. แม้กิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน ผู้จัดกิจกรรมแต่ละพื้นที่อาจจะไม่เคยรู้จักกันและไม่ได้บริหารจัดการกิจกรรมร่วมกัน แต่ภาพที่ประชาชนร่วมใจกันออกมาวิ่งแสดงพลังในวันเดียวกัน ภายใต้ข้อความ “ไล่ลุง” ก็ดูจะเป็นเหมือน “สัญญาณแรง” ของความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ชัดเจนที่สุดในรอบห้าปี

นับตั้งแต่ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก ของเขาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 มกราคม 2563 การจัดกิจกรรมดังกล่าวก็อยู่ภายใต้การจับตาของเจ้าหน้าที่เรื่อยมา และเมื่อเวลาจัดกิจกรรมงวดเข้ามาการแทรกแซงและการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 

กิจกรรมวิ่งไล่ที่กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนสถานที่จัดแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมถึงสามครั้ง โดยเจ้าของสถานที่อย่างสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย และโรงแรมรัตนโกสินทร์ขอยกเลิกการให้เช่าพื้นที่อย่างกะทันหันโดยให้เหตุผลว่า ถูกกดดันโดยเจ้าหน้าที่ ขณะที่ผู้จัดกิจกรรมในต่างจังหวัดก็เผชิญการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ ภายหลังพวกเขาประกาศจัดกิจกรรมในพื้นที่ของตัวเองผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น มีเจ้าหน้าที่มาติดตามหรือกดดันที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานศึกษา (ดู ประมวลการคุกคามการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง) แม้ว่าในวันที่ 12 มกราคม 2563 การจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” หลายแห่งจะดำเนินไปได้ตามที่ผู้จัดวางแผนไว้ แต่หลังกิจกรรมผ่านพ้นไปก็มีการส่งหมายเรียกผู้ต้องหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปยังผู้จัดในหลายๆ พื้นที่

ในช่วงก่อนและระหว่างที่กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ดำเนินไป ไอลอว์และองค์กรพันธมิตร เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการแทรกแซงการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง โดยการส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครไปสังเกตการณ์กิจกรรมหลายจังหวัด รวมทั้งเปิดรับข้อมูลให้ผู้จัดกิจกรรมและผู้ร่วมกิจกรรมรายงานเข้ามา ซึ่งหากพิจารณาจากลักษณะการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และการใช้อำจาจในลักษณะอื่น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

กิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ที่จังหวัดแพร่

 

ไม่มี “การชุมนุมทางการเมือง” ตามระบบกฎหมายปกติ

ในระหว่างที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่ในอำนาจ “การชุมนุมทางการเมือง” ถือเป็นความผิดทางอาญา 

22 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 กำหนด “ห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 กำหนดว่า “ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย” คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ก็ถูกยกเลิก

ตลอดระยะเวลาที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกบังคับใช้ มีประชาชนอย่างน้อย 421 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการร่วมทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะตามโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ “การชุมนุมทางการเมือง” ยังเป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อปิดกั้นหรือแทรกแซงการทำกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น 

ในวันที่ 15 สิงหาคม 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยแจ้งข่าวบนเพจเฟซบุ๊กว่า เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โทรศัพท์มาแจ้งให้งดจัดกิจกรรม Light Up Night ค่ำคืนสิทธิมนุษยชน ณ เชียงใหม่ ตอน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในกาซ่า” โดยระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557  

วันที่ 20 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จังหวัดสงขลาสั่งให้กลุ่มประชาชนที่รวมตัวทำกิจกรรมเดินเท้า “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ยุติการทำกิจกรรมเดินเท้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงาน โดยให้เหตุผลว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการชุมนุมตั้งแต่ห้าคน  

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ปทุมวัน โทรศัพท์และส่งหนังสือไปที่หอศิลปกรุงเทพฯ ว่า กิจกรรม “รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?” ของเว็บไซต์ประชามติ อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ให้เจ้าของงานขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อนการจัดงาน แต่เมื่อผู้จัดงานยื่นหนังสือชี้แจงไปก็ไม่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ในเวลาสมควร ทำให้หอศิลปฯ ยกเลิกการให้ใช้พื้นที่  

เมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมถูกยกเลิกไป กฎหมายที่ใช้ควบคุมการชุมนุมโดยเฉพาะที่เหลืออยู่ ก็คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) (ดูตัวบท พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) นอกจากนั้นก็มีข้อหาอื่นๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองที่มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งเมื่อไม่มีคำสั่งของคณะรัฐประหารแล้วตัวบทของทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และประมวลกฎหมายอาญา ไม่พบว่ามีการกำหนดให้ “การชุมนุมทางการเมือง” เป็นความผิด 

การรวมตัวกันที่จะเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่ได้พิจารณาที่เนื้อหาของกิจกรรมว่า เป็น “การเมือง” หรือไม่ใช่การเมืองอีกต่อไป 

อย่างไรตามในกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พบว่า เจ้าหน้าที่ยังคงสับสนเรื่องกฎหมายและอำนาจของตัวเองอยู่บ้าง เช่น กรณีที่ พ.ต.อ.กิตติพงศ์ ทองทิพย์ ผู้กำกับ สภ.ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เปิดเผยกับผู้จัดการออนไลน์ว่า “ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ มีการชูป้ายขับไล่ เรียกร้อง มีการตะโกนประยุทธ์ออกไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ตามลักษณะ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 … โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการรวบรวมหลักฐานเอาไว้เพื่อสืบหาตัวผู้จัดการชุมนุม พร้อมเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล เพื่อหาตัวผู้จัดการชุมนุมเข้ารับทราบข้อกล่าวหา” หากผู้กำกับ สภ.ตะกั่วป่าให้สัมภาษณ์ในลักษณะนี้จริงก็ถือได้ว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้กำหนดคำว่า “การชุมนุมทางการเมือง” ไว้ในตัวบท อันจะเป็นเงื่อนไขให้การจัดการชุมนุมเป็นความผิด

ขณะที่กิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างที่ผู้จัดกิจกรรมกำลังจะเริ่มวิ่งตามเวลาที่นัดหมายในช่วงเย็น พ.ต.อ.วีรภัสส์ ห้วยหงษ์ทอง ผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่นำคำสั่งห้ามการชุมนุมของ สภ.เมืองนครสวรรค์มาอ่านให้ผู้จัดกิจกรรมฟัง ซึ่งความตอนหนึ่งของคำสั่งระบุว่า “ตามที่ท่านได้ประกาศเชิญชวนประชาชนทั่วไป ให้มาร่วมกิจกรรม วิ่งไล่ลุง อันเป็นกิจกรรมทางการเมือง … ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวท่านมิได้แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ซึ่งถือว่ากิจกรรมที่ท่านได้จัดขึ้นนี้ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 วรรคสาม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงห้ามจัดกิจกรรมอันเป็นการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ระบุในคำสั่งว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมทางการเมือง เพิ่มเติมไปในคำสั่งห้ามการชุมนุมด้วย ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้มีการกำหนดนิยามหรือกำหนดกฎเกณฑ์ของ “การชุมนุมทางการเมือง” หรือกิจกรรมทางการเมืองเป็นการจำเพาะเจาะจงแยกจาก “การชุมนุมสาธารณะ” ในประเด็นอื่นๆ จึงไม่มีความจำเป็นที่คำสั่งฉบับนี้จะต้องระบุว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

คำสั่งให้เลิกการชุมนุม ที่ผู้กำกับ สภ.นครสวรรค์นำส่งผู้จัดกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ที่นครสวรรค์

กรณีที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ รองผู้กำกับการ สภ.สตึก เรียกตัวผู้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมวิ่งไล่ลุงในพื้นที่ไปพูดคุย และบทสนทนาตอนหนึ่งรองผู้กำกับก็สอบถามผู้โพสต์เฟซบุ๊กทำนองว่า ทราบหรือไม่ว่ากิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เป็นกิจกรรมทางการเมือง

สามกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แม้คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองจะยกเลิกไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังคงมีทัศนคติในทางลบกับ “การชุมนุมทางการเมือง” หรือ “กิจกรรมทางการเมือง” ทั่งที่กฎหมายที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองไม่มีอยู่แล้ว จึงย่อมเป็นเสรีภาพของประชาชนที่จะชุมนุมทางการเมืองได้ และเจ้าหน้าที่ย่อมไม่อาจอ้างเหตุในการปิดกั้นหรือแทรกแซงเพียงเพราะกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็น “การชุมนุมทางการเมือง”

ผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ อ่านคำสั่งให้เลิกการชุมนุมให้ผู้จัดกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ที่นครสวรรค์ฟัง

 

วิ่งไล่ลุง การกีฬาหรือการชุมนุมสาธารณะ

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดนิยามของ”การชุมนุมสาธารณะ” ว่า “การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่” กิจกรรมใดๆ ที่เข้าข่ายตามนิยามของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ย่อมอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายนี้ ทำให้ผู้ที่จะจัดการชุมนุมย่อมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจท้องที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 

ขณะที่มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็มีข้อยกเว้นไว้ด้วยว่า กิจกรรมประเภทใดบ้างที่ไม่เข้าข่ายเป็น “การชุมนุมสาธารณะ” ตามกฎหมาย” นี้

มาตรา 3 (3) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดว่า “การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น” ไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมที่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้จัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ส่วนหนึ่งเข้าใจว่า กิจกรรมของตัวเองเป็นการจัดกิจกรรมกีฬา เข้าตามข้อยกเว้นของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงไม่ไปแจ้งการชุมนุม แต่ก็มีผู้จัดบางส่วน เช่น ผู้จัดกิจกรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่เลือกวิธีการไปแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย 

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า “กีฬา” ไว้ จึงต้องอาศัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ซึ่งให้ความหมายว่า “กิจกรรมหรือการเล่นที่มีกฎกติกากำหนด เพื่อความสนุกเพลิดเพลินผ่อนคลายความเครียด หรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และอาจใช้เป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ หมากรุก ปีนเขา ล่าสัตว์ 

หากพิจารณารูปแบบของกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นกิจกรรมกีฬาที่ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพราะมีลักษณะเป็นการวิ่งออกกำลังกาย เพื่อความสนุกเพลิดเพลินและเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงตามนิยามของคำว่า “กีฬา” 

ขณะที่ผู้จัดกิจกรรมบางแห่งทำอุปกรณ์ เช่น เหรียญที่ระลึก หรือป้ายติดเสื้อบอกหมายเลขประจำตัวนักวิ่ง มาแจกจ่ายด้วย กิจกรรมที่สวนรถไฟทางผู้จัดยังเตรียมถ้วยรางวัลมาให้ผู้ร่วมกิจกรรมที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับต้นๆ ด้วย ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนที่อยากได้ถ้วยรางวัลต้องแข่งกันทำความเร็วเพื่อให้ตัวเองเข้าเส้นชัยในอันดับที่จะได้รับถ้วยรางวัล กรณีนี้จึงน่าจะเข้าข่ายเป็น “การแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ” ตามความหมายของคำว่า “กีฬา” ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายๆ พื้นที่ก็เห็นว่า กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” นั้นเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ เห็นได้จากการที่ผู้จัดกิจกรรมหลายแห่ง เช่น ที่สวนรถไฟ ที่นครสวรรค์ ที่นครพนม และที่บุรีรัมย์ ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่พิจารณาว่า แม้รูปแบบกิจกรรมจะเป็นกิจกรรมกีฬา แต่ภายในกิจกรรมก็มีการแสดงออกในลักษณะต่างๆ เช่น การสวมเสื้อสัญลักษณ์ที่ตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านหรือแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล หรือการนำป้ายเขียนข้อความต่างๆ มาถือ จึงเข้าข่ายเป็นการ “เรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” ตามนิยามของการชุมนุมสาธารณะ

ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อสรุปทางกฎหมายที่แน่ชัดว่ากิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เป็นการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่เพราะยังไม่มีคำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุดออกมาชี้ขาด จากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า เมื่อคดีฐานไม่แจ้งการชุมนุม “วิ่งไล่ลุง” เข้าสู่ชั้นพิจารณา ศาลจะมีคำพิพากษามาในแนวทางใด หากศาลยึดรูปแบบกิจกรรมเป็นหลัก กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ก็น่าจะเป็นกิจกรรมการกีฬาที่ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่หากศาลถือเจตนาในการแสดงออกเป็นหลักกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ก็อาจจะเป็นการชุมนุมสาธารณะตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การจัดกิจกรรมวิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากเป็นการวิ่งที่มีการรณรงค์ประเด็นต่างๆ เช่น วิ่งเพื่ออากาศบริสุทธิ์ หรือวิ่งเพื่อสันติภาพ ก็ย่อมจะต้องถูกพิจารณาว่า เป็นการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายนี้ไปด้วย ยกเว้นแต่กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นกิจกรรมปิดที่ผู้ไม่ลงทะเบียนหรือไม่ชำระเงินไม่มีสิทธิเข้าร่วม หรือไปจัดในสถานที่ของเอกชน กิจกรรมดังกล่าวก็จะไม่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะเพราะไม่ได้จัดในสถานที่สาธารณะ และบุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมได้           

 

การกำหนดเงื่อนไขในที่ชุมนุมทำได้แต่ต้องเป็นไปเพื่อการอำนวยความสะดวกเท่านั้น 

ระหว่างการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ร่วมกิจกรรมบางคนที่สวมเสื้อ “วิ่งไล่ลุง” ไปเปลี่ยนเสื้อ โดยแจ้งว่า ขัดเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับผู้จัดการชุมนุม เจ้าหน้าที่ยังจัดเตรียมเสื้อมาให้ผู้ร่วมงานบางส่วนเปลี่ยนด้วย แต่ก็มีผู้เข้าร่วมงานส่วนหนึ่งที่ใส่เข้าไปในงานได้ นอกจากนั้นระหว่างที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกำลังอบอุ่นร่างกายเจ้าหน้าที่แจ้งกับผู้มาร่วมงานว่า ผู้ที่สวมเสื้อที่มี “ข้อความหมิ่นเหม่” อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ไปเปลี่ยนเสื้อที่เจ้าหน้าที่เตรียมมาไว้ คำถามทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้จึงมีอยู่ว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการสั่งให้ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนไปเปลี่ยนเสื้อ

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่อุบลราชธานี

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 19 วรรคแรกกำหนดให้หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ของสถานที่จัดการชุมนุม ซึ่งในกรณีนี้คือผู้กำกับ สภ.เมืองอุบลราชธานี  เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ขณะที่วรรคสี่ กำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีหน้าที่ (1) อํานวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม (2) รักษาความปลอดภัย อํานวยความสะดวก หรือบรรเทาเหตุเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม (3) รักษาความปลอดภัยหรืออํานวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม (4) อํานวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด และความใน (5) ของมาตราเดียวกันก็กำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมปฏิบัติตาม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่สี่ข้อข้างต้น

หากการกำหนดเงื่อนไข “ห้ามใส่เสื้อ” เป็นการกำหนดเงื่อนไขโดยเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 19 ที่ควรจะตั้งคำถามต่อไปว่า การจำกัดข้อความบนเสื้อนั้นมีความจำเป็น หรือได้สัดส่วน ต่อการดูแลให้การชุมนุมเป็นไปโดยความเรียบร้อยตามอนุมาตราใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 19 ที่ยกมาข้างต้นอย่างไร 

แต่หากการขอให้เปลี่ยนเสื้อไม่ใช่การใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็เป็นคำถามต่อไปว่า การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ภาคสนามในการแทรกแซงหรือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนเช่นนี้ หรือการห้ามชูป้ายเขียนข้อความหรือการแสดงออกโดยสันติรูปแบบอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นการใช้อำนาจที่มีกฎหมายใดรองรับ หรือแท้ที่จริงการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นเพียงการอาศัยอำนาจจาก “เครื่องแบบ” มาเป็นฐานในการออกคำสั่ง