Thailand Post Election Report: สถานการณ์เสรีภาพหลังเลือกตั้งยังไม่พ้นเงาคสช.

การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่คนไทยหลายคนรอคอย เพราะนับจากปี 2554 ประเทศไทยก็ยังไม่มีการเลือกตั้งอีกเลย แม้ปี 2557 จะมีการจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตรยุบสภาแต่การเลือกตั้งครั้งนั้นก็ถูกประกาศให้เป็นโมฆะเพราะกลุ่มกปปส.ไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งบางแห่ง ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทุกหน่วยพร้อมกันทั่วประเทศได้ตามกฎหมาย และเมื่อคสช.ยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 บทสนทนาเรื่องการเลือกตั้งก็เลือนหายไปจากสังคมไทย 
 
ภายใต้การบริหารประเทศโดยคสช. สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ถูกกดทับ การชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกประกาศให้เป็นความผิดทางอาญา ผู้แสดงความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจบ้างถูกดำเนินคดี บ้างถูกเรียกไปปรับทัศนคติหรือมีตำรวจทหารไปหาที่บ้านหรือที่ทำงาน ผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ฯถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตลอดเวลาที่คสช.อยู่ในอำนาจอย่างน้อย 98 คน 
 
เมื่อมีการประกาศจัดการเลือกตั้งในปี 2562 ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าพื้นที่เสรีภาพการแสดงออกจะเปิดกว้างขึ้นทว่าด้วยระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทก์การคงอยู่ในอำนาจของคสช. เช่น การออกแบบระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมหรือการให้สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ และสมาชิกคสช.คนสำคัญ อย่างพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ยังคงอยู่ในอำนาจรัฐในวันที่คสช.ยุติบทบาทไป ขณะเดียวกันกฎหมายที่ออกในยุคคสช. เช่น 
พ.ร.บ.ชุมนุมฯยังคงถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับคนที่ทำกิจกรรมต่อต้านผู้มีอำนาจ ขณะที่วิธีการคุกคามอย่างการไปติดตามนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่บ้านที่เป็นแนวปฏิบัติในยุคคสช.ก็ยังคงถูกหยิบมาใช้จนถึงเรื่อยมา ขณะเดียวกันการจัดกิจกรรมสาธารณะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองก็ยังต้องเผชิญอุปสรรคและการขัดขวางในหลายๆวิธีการ เช่นกรณีของกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่สถานที่จัดแถลงข่าวถูกกดดันจนต้องยกเลิกการให้เช่าสถานที่
 
การแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการพาดพึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่เหมาะสม แม้จะไม่มีรายงานการตั้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 ในส่วนที่เป็นคดีใหม่ แต่ก็มีรายงานการนำมาตรการอื่นมาบังคับใช้แทน เช่น การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือการให้เจ้าหน้าที่เชิญตัวมาปรับทัศนคติและเซ็นข้อตกลง 
 
อีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่มีความน่ากังวลหลังการเลือกตั้ง ได้แก่การที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ควรจะทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญรวมถึงพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งถูกบัญญัติรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงของประเทศ กลับบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ในเดือนกันยายน 2562 ทั้งที่ก่อนหน้านี้นับแต่ประเทศไทยเริ่มมีศาลรัฐธรรมนูญในปี 2540 ก็ไม่เคยมีการกำหนดฐานความผิดดังกล่าว 
 
ยิ่งในสถานการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเข้ามาวินิจฉัยคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะชนท่ามกลางสถานการณ์ที่คนในสังคมมีความกระตือรือล้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมือง ศาลรัฐธรรมนูญจึงย่อมหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อทำคำวินิจฉัยคดีสำคัญได้ยากและการมีอยู่ของฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็อาจทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนจนอาจไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาล  

จากกรณีทั้งหมดที่ยกมาจึงพอสรุปได้ว่าสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกหลังการเลือกตั้งแม้จะดีขึ้นและพื้นที่การแสดงออกพอจะเปิดกว้างขึ้นบ้าง หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในยุคที่คสช.ยังบริหารประเทศ แต่ด้วยกลไกที่คสช.วางไว้ในช่วงที่ยังมีอำนาจ รวมทั้งบุคคลในคสช. ยังอยู่ในอำนาจรัฐ ในสถานะอื่น เช่น บุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือส.ว.และกฎหมายที่ออกในยุคคสช.เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯยังคงบังคับใช้อยู่ สถานการณ์เสรีภาพในไทยจึงยังไม่ดีขึ้นตามมาตรฐานของสังคมประชาธิปไตย  
 
 
1330
 
 
 
1332
 
 
 
1333
 
 
 
 
1334
 
 
 
 
1335
 
 
 
 
1337
 
 
 
 
 
 


 
 
ประเภทรายงาน: