1939 1205 1208 1836 1590 1091 1011 1211 1580 1578 1545 1510 1588 1355 1269 1473 1780 1292 1101 1108 1732 1246 1192 1357 1033 1774 1334 1643 1837 1888 1593 1314 1039 1361 1735 1834 1669 1210 1536 1633 1502 1147 1690 1758 1788 1634 1005 1754 1554 1186 1585 1757 1098 1115 1534 1203 1154 1872 1139 1371 1274 1308 1953 1325 1178 1796 1530 1017 1518 1263 1880 1088 1816 1879 1589 1883 1254 1143 1254 1714 1980 1195 1060 1138 1345 1632 1867 1258 1679 1638 1387 1131 1713 1849 1743 1399 1071 1231 1808 สำรวจเสรีภาพเพื่อนบ้าน ชะตากรรมชาวลาวที่(กล้า)วิพากษ์โครงการพัฒนา | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สำรวจเสรีภาพเพื่อนบ้าน ชะตากรรมชาวลาวที่(กล้า)วิพากษ์โครงการพัฒนา


ปี 2562 ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) องค์กรที่เก็บข้อมูลและจัดอันดับเสรีภาพในหลายประเทศทั่วโลกรายงานว่าประเทศในเขตลุ่มน้ำโขงอย่างไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม อยู่ในกลุ่มประเทศที่ไร้เสรีภาพ คะแนนเสรีภาพเต็ม 100 คะแนน ไทยได้ 30, กัมพูชาได้ 26, เวียดนามได้ 20 ส่วนลาวได้น้อยที่สุด 14 คะแนน ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียได้คะแนนมากที่สุดในภูมิภาคที่ 62 คะแนน
 
 
เราอาจคุ้นเคยการจำกัดเสรีภาพแบบไทยๆ ที่ใช้ทั้งกฎหมายและความรุนแรงนอกกฎหมายในประเด็นการเมืองเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการต่างๆ ก็มักได้คดีความติดตัวกันไป รายงานชิ้นนี้จะพาไปสำรวจสถานการณ์เพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวว่า หนักหนาไม่แพ้กันและอาจจะยิ่งกว่า โดยเฉพาะโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ที่มุ่งขายไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้ไทย ภายใต้กระแสไฟฟ้าที่เราจะได้ใช้ คนที่นั่นต้องจ่ายราคาอย่างไรบ้าง
 

1339

อ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำแห่งหนึ่งในประเทศลาว

ภาพจาก Asian Development Bank

 

ทบทวนสถานการณ์เสรีภาพของลาว

 
ลาวเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ บริหารด้วยพรรคการเมืองเดียวคือพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครอบงำการจัดการในทุกแง่มุมทางการเมืองและจำกัดสิทธิพลเมืองอย่างหนักหน่วง การพัฒนาเศรษฐกิจของลาวขับเคลื่อนไปพร้อมกับความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชนในเรื่องที่ดินและสิ่งแวดล้อม และดูเหมือนผู้ปกครองจะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนหรือภาคประชาสังคมส่งเสียงถึงความไม่พอใจมากนัก ดูได้จากรูปแบบการจำกัดเสรีภาพที่กล่าวถึง
 
 
1.เสรีภาพในการแสดงออก
 
 
แม้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกและการขีดเขียนจะถูกรับรองในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญลาว แต่ลาวยังมีกฎหมายอาญาอื่นๆ ที่องค์ประกอบความผิดกว้างแบบนำไปใช้จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนได้ เช่น มาตรา 117 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
 
บุคคลใดโฆษณาใส่ร้ายป้ายสีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวบิดเบือนแนวทางของพรรคและนโยบายของรัฐ หรือเผยแพร่ข่าวลืออันเป็นเท็จที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายด้วยการพูด การเขียน การพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ วิดีโอ ภาพถ่าย เอกสาร หรือสื่ออื่นๆ ที่มีเนื้อหาต่อต้าน สปป.ลาว โดยมีเป้าหมายเพื่อบ่อนทำลายหรือทำให้อำนาจแห่งรัฐอ่อนแอลง มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี และปรับเป็นเงินห้าล้านกีบ(ประมาณ 17,000 บาท) ถึง 20 ล้านกีบ(ประมาณ 68,000 บาท) 
 
 
2.เสรีภาพของสื่อมวลชน
 
 
เสรีภาพของสื่อมวลชน สำหรับลาวแล้วเป็นถ้อยคำที่ห่างไกลความจริงจนแทบจะเรียกได้ว่าเพ้อฝัน เพราะรัฐเป็นเจ้าของสื่อเกือบทั้งหมดและควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดให้ลาวเป็นประเทศที่มีเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ในอันดับที่ 171 แทบจะเป็นประเทศสุดท้ายจากทั้งหมด 180 ประเทศ
 
 
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังคงมีสื่อต่างประเทศที่ยังทำหน้าที่รายงานข่าวในลาวอยู่ แต่สถานการณ์เริ่มแย่ลง ในปี 2558 เพราะรัฐบาลลาวออกพระราชกฤษฎีกากิจกรรมขององค์กรสื่อมวลชนต่างประเทศ ภารกิจการทูตต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศในลาว บังคับให้สื่อต่างประเทศที่ต้องการมีสำนักงานในลาวส่งเอกสารเพื่อให้รัฐบาลลาวพิจารณาและให้การอนุญาตและสำนักข่าวต่างประเทศมีข้อผูกพันตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ในการส่งเนื้อหาข่าวให้แก่กระทรวงต่างประเทศทำการตรวจสอบก่อนการอนุญาตเผยแพร่
 
 
การขาดแคลนสื่ออิสระและมาตรการควบคุมสื่อที่เข้มงวดขนาดนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สาธารณชนจะได้รับรู้ข้อมูลด้านลบเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจใดๆ
 
 
3.เสรีภาพในการรวมตัว
 
 
จากรายงานเงา (Shadow report) ของสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ ร่วมกับขบวนการลาวเพื่อสิทธิมนุษยชน เสนอในรอบการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนษุยชนของลาว ปี 2563 อ้างถึงข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาลลาวว่า นับถึงปี 2559 องค์กรภาคประชาสังคมที่ลงทะเบียนไว้กับรัฐบาลไม่มีการขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและกิจกรรมทางการเมือง !
 
 
ไม่แปลกที่จะกล่าวได้ถึงเพียงนั้น ในปี 2560 รัฐบาลลาวได้ออกพระราชกฤษฎีกาเรื่ององค์กร โดยจำกัดและควบคุมกิจกรรมขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศมากกว่าเดิม ให้อำนาจรัฐในการอนุญาตการจัดตั้งองค์กรและระงับการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ทั้งยังพยายามตัดขาดองค์กรภาคประชาสังคมของลาวออกจากองค์กรภาคประชาสังคมของประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
 
 
การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ พันธกิจขององค์กรภาคประชาสังคมอาจเริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลเพื่อสื่อสารกับประชาชน ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยข้อมูลมักมีความแตกต่างกับรัฐ แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชนอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกก่อนการตัดสินใจจนถึงกระบวนการในการดำเนินโครงการใดๆ นอกจากนี้องค์กรภาคประชาสังคมมีทรัพยากรอย่างการสื่อสารภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ก่อสร้าง อันจะช่วยทลายข้อจำกัดในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนได้
 
 
แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่คิดเช่นนั้น
 
 

เซเปียน เซน้ำน้อย กับหลายชีวิตที่พังทลาย

 
 
แบตเตอรี่แห่งเอเชียคือสมญานามของลาว ข้อมูลของสำนักข่าวสารแห่งประเทศลาวระบุว่า อุตสาหกรรมพลังงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดความยากจนในลาว ปัจจุบันลาวมีเขื่อนพลังงานน้ำมากกว่า 40 แห่ง และอีก 47 แห่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยภายในปี 2020 ลาวจะมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำมากกว่า 100 แห่ง ตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์  มากกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนที่ผลิตได้นั้นถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซีย
 
 
ข้อมูลจากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจที่รุดหน้า ชาวลาวในชนบทกลับถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เกือบร้อยละ 90 ของคนเหล่านั้นต่อสู้อยู่กับความยากจน และถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยการบังคับย้ายถิ่นเพื่อหลีกทางให้แก่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ปัญหาสำคัญของโครงการพัฒนาเหล่านี้คือ ขาดกระบวนการให้ความรู้และปรึกษาหรือตัดสินใจร่วมกันอย่างมีคุณภาพระหว่างรัฐและประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
 
 
องค์กรแม่น้ำนานาชาติระบุว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นำไปสู่การอพยพผู้คนจำนวนมาก ขณะที่เงินชดเชยที่รัฐให้ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการสูญเสียรายได้และแหล่งอาหารในถิ่นที่อยู่เดิมของพวกเขา พื้นที่ที่รัฐโยกย้ายประชาชนไปตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์น้อย หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรกรรม ทั้งที่ที่ดินมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงทางอาหาร การสูญเสียที่ดินทำให้ผู้คนต้องถูกบังคับโดยสภาพให้ใช้ชีวิตพึ่งพิงอยู่กับการซื้ออาหารยังชีพ และบางครั้งหมายรวมถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค นำไปสู่สภาวการณ์ยากลำบากในการซื้อหาอาหารอย่างเพียงพอและมีราคาที่พวกเขาสามารถจ่ายได้
 
 
กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือ เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ในจังหวัดอัตตะปือ
 
 
โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2556 เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ในแผนการเจรจาซื้อขายไฟฟ้าไทย-ลาว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในลาวเพื่อจำหน่ายให้แก่ไทย คาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2562 โดยตั้งเป้าว่าร้อยละ 90 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งต่อมาให้ไทย ในกระบวนการก่อสร้างนั้นชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่สร้างเขื่อนจะต้องถูกอพยพออกไป ประเมินกันว่า มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 6,000 ครอบครัว
 
 
แหล่งข่าวระบุว่า รัฐให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง บางครั้งมีการนำที่ดินของคนอื่นมาบอกต่อชาวบ้านว่าหากชาวบ้านย้ายออกไปจะได้พื้นที่ผืนนี้ ชาวบ้านทั้งหวาดกลัวและทั้งมีหวังในคำสัญญาของรัฐจึงยอมย้ายออก แต่ปรากฏว่า ที่ดินที่รัฐนำมาให้ดูไม่ตรงกับที่ดินที่ได้จริง ส่วนค่าชดเชยที่รัฐให้ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางครั้งมีการสัญญากับชาวบ้านว่าจะให้ค่าชดเชยเป็นงวดแต่ไม่ได้ให้ตามที่สัญญา ทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องออกจากบ้านเกิดไปทำงานรับจ้าง
 
 
นอกจากนี้บางส่วนของพื้นที่สร้างเขื่อนยังเป็นที่ที่ชาวบ้านทำไร่กาแฟ ต้นกาแฟจะต้องใช้เวลาปลูกประมาณ 3-4 ปีจึงเก็บเกี่ยวได้ ตอนที่ชาวบ้านต้องย้ายออกต้นกาแฟเริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว ตามกฎหมายรัฐต้องชดเชยให้ 16,000 กีบหรือ 53 บาทต่อหนึ่งต้น แต่รัฐกลับให้จริงเพียง 3,000 กีบหรือ 10 บาทต่อหนึ่งต้น
 
 

โซเชียลเน็ตเวิร์ค การเกิดใหม่ของการต่อสู้ภาคประชาชนในลาว

 
 
ในยุคสมัยนี้ ข้อมูลความไม่เป็นธรรมดังกล่าวไม่สามารถถูกปิดเงียบอีกต่อไป มันแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยเฉพาะเฟซบุ๊กซึ่งได้รับความนิยมมากในลาว ข้อมูลจากรัฐบาลลาวระบุว่า ประชากรลาวประมาณ 2,500,000 คนลงทะเบียนใช้เฟซบุ๊ก
 
 
กล่าวได้ว่า โซเชียลเน็ตเวิร์คได้ทลายกำแพงที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อจำกัดเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนตลอดมา เมื่อข้อมูลต่างๆ ไหลเวียน บทสนทนาเกิดขึ้นมากมาย ผู้คนจึงเริ่มตั้งคำถามตั้งแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจนกระทั่งถึงความไม่เป็นธรรมของระบอบการปกครอง
 
 
ความพยายามเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ในลาวทำให้หลายคนต้องหลบลี้หนีภัยออกจากประเทศ ตัวอย่างหนึ่งในนั้นคือ คนรุ่นใหม่ชาวลาวคนหนึ่งรวมตัวกับเพื่อนตั้งคำถามถึงปัญหาความยากจน การคอร์รัปชั่น หรือความไม่เป็นธรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชน พวกเขานำประเด็นปัญหาสังคมในขณะนั้นมาประชุม วิเคราะห์สถานการณ์ และหาแนวทางว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างไร จากนั้นพวกเขาก็แจกจ่ายงานกันทำ ใครที่พอจะมีความรู้เรื่องกฎหมายให้ช่วยชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีแล้ว ส่วนใครที่พอจะสามารถสื่อสารต่อสาธารณะได้ก็ทำในส่วนของการเก็บรวมรวมข้อเท็จจริงเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ โดยใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือหลัก
 
 
ทั้งหมดนั้นทำในสภาพการเมืองปิด เสรีภาพแทบจะเป็นศูนย์ พวกเขารู้ดีว่าการเคลื่อนไหวที่คัดง้างกับผู้ปกครองประเทศจะเป็นภัยต่อพวกเขาในภายหลัง จึงเรียกทำงานที่ทำซึ่งก็มีเพียงแค่การรวบรวมข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาว่า “งานใต้ดิน”
 
 
อาจเป็นโชคดีที่เฟซบุ๊กไม่ระบุชื่อนามสกุลจริงและภาพถ่ายส่วนตัวของพวกเขาจึงทำให้เขายังสื่อสารได้เรื่อยๆ จนมีเพื่อนในเฟซบุ๊ก 5,000 คนและผู้ติดตามอีกกว่า 100,000 คน มันกลายเป็นพื้นที่แสดงความคับแค้นใจถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมลาว การไหล่บ่าของทุนต่างประเทศที่เข้ามาและส่งผลกระทบต่อประชาชนลาวอย่างมากโดยเฉพาะทุนใหญ่จากจีนซึ่งไม่มีใครจะแข่งขันด้วยได้ ฝันของลาวที่ต้องการเปลี่ยนที่ดินให้เป็นสินทรัพย์ส่งผลให้ชาวบ้านถูกบังคับย้ายถิ่นฐานและต้องกลายเป็นลูกจ้างในพื้นที่การเกษตรที่เต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายต่อสุขภาพ
 
 
“รัฐบาลไม่มีปัญญาที่จะสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้ มีแต่จะขายทรัพยากร เหมืองแร่ที่ทำก็ไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก...ในลาวมีสัมปทานการปลูกกล้วยของจีน สารเคมีส่งผลให้ปลาในแม่น้ำตายและคนล้มป่วยเยอะมากในประเทศลาว คนลาวไม่มีทางเลือกมากนัก” แหล่งข่าวกล่าว
 
 
เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย นับเป็นหนึ่งในฝันของผู้ปกครองลาว หากเป็นเมื่อก่อนเราคงรับทราบเพียงความคืบหน้าของการก่อสร้าง แต่ในวันนี้เราเริ่มมองเห็น “ตัวคน” ในนั้น เมื่อคนรุ่นใหม่หัวดื้อจำนวนหนึ่งเข้าไปในพื้นที่แล้วสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบหลายคนนำมาตัดเป็นคลิปวิดีโอลงโซเชียลมีเดีย เนื้อหาสรุปได้ว่า รัฐบาลให้ค่าชดเชยไม่เหมาะสมกับต้นทุนการเกษตรที่สูญเสียไป มีการข่มขู่ชาวบ้านว่า หากไม่ย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อนตำรวจและทหารจะมาจับกุม ที่สำคัญ วิดีโอนี้มีผู้เข้าชมกว่า 800,000 ครั้ง
 
 
หลังวิดีโอถูกเผยแพร่ ผู้คนเริ่มให้เห็นใจชาวบ้านและวิพากษ์วิจารณ์นายทุนและรัฐบาล เมื่อกระแสจุดติด รัฐบาลลาวเริ่มทำการตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้โพสต์วิดีโอและมีกระแสข่าวการพยายามจับกุม ผู้เคลื่อนไหวจึงต้องหนีไปอยู่ที่อื่น ตัดขาดตัวเองออกจากโลกอินเทอร์เน็ต
 
 
จนกระทั่งวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย แตกทำให้น้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้านที่อยู่ใต้เขื่อน ประชาชนมากกว่า 6,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัยในทันที ภัยพิบัติดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทำให้คนรุ่นใหม่ที่หลบลี้หหนีหายเพื่อหลีกเลี่ยงการคุกคามของรัฐตัดสินใจกลับมาทำงานรณรงค์เรื่องเขื่อนนี้อีกครั้ง ครั้งนี้มีการเปิดเผยตัวตนผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ด้วย เรียกว่าออกตัวเป็นผู้ดำเนินเรื่องเองเพื่อสื่อสารปัญหาการสร้างเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย โดยการนำข้อมูลเก่าที่เคยสัมภาษณ์ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไว้มาสื่อสารใหม่
 
 
นอกจากนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีกรณีนักรณรงค์รุ่นใหม่ที่ใช้เฟซบุ๊ครณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันในแวดวงราชการประเทศลาวด้วย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ผู้ที่จะสามารถเข้ารับราชการได้นั้นจะต้องเป็นคนมีเส้นสาย ส่วนคนที่ไม่มีเส้นสายต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกกับตำแหน่งราชการ นักรณรงค์สนใจปัญหานี้เพราะเจอกับตัวเองถูกโกงเงินร่วม 100,000 บาทเพื่อให้ญาติได้เข้ารับราชการ
 
 
ในที่สุดเขาออกมาไลฟ์เฟซบุ๊กเล่าเรื่องดังกล่าว และขายเสื้อรณรงค์ไม่ให้มีการซื้อตำแหน่งราชการด้วย กระทั่งเขาถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามด้วยการบีบให้บริษัทนำเที่ยวไล่ออกจากงาน แต่เขาก็ไม่หยุด ยังคงใช้เฟซบุ๊กรณรงค์ในเรื่องอื่นๆ เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้สัมปทานต่างๆ กับเอกชน การศึกษา ปัจจุบันมีผู้ติดตามเฟซบุ๊กนับ 100,000 คน
 
 
กรณีของเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เขาคนนี้ก็มีส่วนขับเคลื่อนให้ความช่วยเหลือเข้าถึงผู้ประสบภัย เพราะช่วงแรกหลังเขื่อนแตก รัฐบาลลาวพยายามจำกัดการรายงานข่าว[15] มีการปฏิเสธไม่ให้หน่วยกู้ภัยของไทยหรือผู้สื่อข่าวจากองค์กรต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ภัยพิบัติ เมื่อเขาไลฟ์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ มีผู้เข้าชมหลายแสนครั้ง จุดกระแสความไม่พอใจในสังคมเป็นอย่างมาก จนกระทั่งภาครัฐต้องออกมาชี้แจงการจัดการภัยพิบัติและเปิดทางให้หน่วยกู้ภัยและผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศเข้าในพื้นที่
 
 
เมื่อข้อมูลที่คนเหล่านี้สื่อสารออกไปสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม นั่นทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในอันตรายเนื่องจากมีสัญญาณหลายอย่างที่ทำให้เขาเชื่อว่าเขามีโอกาสจะถูกควบคุมตัวหรือบังคับสูญหายในไม่ช้า คนหนึ่งจึงตัดสินใจที่จะเดินทางออกมาจากลาว ขณะที่อีกคนหนึ่งถูกเรียกไปปรับทัศนคติที่สถานีตำรวจก่อนให้ลงนามยอมรับว่า จะไม่วิจารณ์รัฐบาลอีกแล้ว
 
 

จำคุก-ลี้ภัย การปราบปรามการใช้เสรีภาพการแสดงออก

 
 
ดูเหมือนการปรับทัศนคติทำงานไม่ได้ นักรณรงค์คนรุ่นใหม่ยังไม่หยุดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาว โดยเฉพาะการจัดการกับภัยพิบัติพายุในพื้นที่ลาวตอนใต้ที่เกิดขึ้นอีกในเดือนกันยายน 2563  การไลฟ์วิจารณ์ความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐมีผู้เข้าชมประมาณ 150,000 ครั้ง
 
 
ครั้งนี้รัฐบาลลาวไม่รอให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ขยายวงกว้างออกไป หลังไลฟ์ได้ไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนักรณรงค์และดำเนินคดีตามมาตรา 117 ของประมวลกฎหมายอาญา ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปีและปรับ 20 ล้านกีบ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 68,000 บาท
 
 
ผลของการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาลทำให้บางคนติดคุก บางคนต้องหนีออกนอกประเทศ และรอลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม อย่างไรก็ตาม ปี 2562 ปรากฏรายงานว่า ชาวลาวที่เข้ามาทำงานและลี้ภัยในไทยหายตัวไปจากไทย 2 คน และยังไม่ทราบชะตากรรมจนถึงปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม 1 คนหายตัวไปจากห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปทุมธานี หลังจากนั้นครอบครัวของผู้ลี้ภัยรายดังกล่าวได้รับแจ้งว่า เขาถูกควบคุมตัวที่เรือนจำในเวียดนาม องค์กรสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงมีความร่วมมือกันในการปราบปรามผู้ลี้ภัย
 
 
ชีวิตของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ พวกเขาต้องพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมใหม่ และยังต้องดิ้นรนในการยื่นสถานะเป็นผู้ลี้ภัยต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ทั้งยังต้องกังวลเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัย เนื่องจากผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศภูมิภาคนี้ต่างประสบความเสี่ยงต่อการถูกบังคับสูญหายด้วยกันทั้งสิ้น บางคนที่ลี้ภัยมาประเทศไทยก็ต้องตัดขาดกับครอบครัวและญาติมิตรด้วยกลัวครอบครัวจะเดือดร้อน รวมถึงเลิกติดต่อเพื่อนฝูงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเนื่องจากเพื่อนอาจโดนกดดันจากเจ้าหน้าที่ให้บอกแหล่งที่พักพิง
 
 
“ถ้าคุณจะเปลี่ยนแปลงสังคม ลำพังคนเจ็ดแปดคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มันต้องคนอยู่ในประเทศด้วยที่จะมีสำนึก มีความรู้ในคุณค่าของประชาธิปไตย เข้าใจว่าสิทธิและเสรีภาพมันสำคัญขนาดไหน เขาต้องดูให้เห็นว่า ระบบการปกครองที่เป็นอยู่นั้นเป็นเผด็จการ เอื้อทุน ทำลายประเทศ” ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งกล่าว

 

 

 

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
เรียบเรียงจากแหล่งข้อมูล

Freedom in the world 2019

Hydropower in Laos

Report of the Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights

ประมวลกฎหมายอาญาของลาว

Decree on activities of foreign media in Laos No. 377/GOV

Submission to the United Nations Special Rapporteur  on Extreme Poverty and Human Rights by International Rivers 

กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย

National report submitted in accordance with paragraph 5 of the annex to Human Rights Council resolution 16/21* Lao People’s Democratic Republic

Lao Authorities Arrest Woman for Criticizing Flood Relief Efforts on Facebook
 



 

ชนิดบทความ: