ผบ.ตร.ยันทหารไม่ได้แทรกแซงดูแลวิ่งไล่ลุง ระบุไม่อยากเห็นม็อบลงถนน

19 กุมภาพันธ์ 2563 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบส่วนงานด้านสืบสวนสอบสวน เดินทางมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เป็นประธาน ซึ่งพิจารณากรณีการใช้อำนาจในการแทรกแซงการจัดงานวิ่งไล่ลุงของนิสิต นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.จักรทิพย์ติดภารกิจและมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชามาแทนหลายครั้ง แต่ผู้แทนไม่สามารถตอบคำถามของที่ประชุมได้

พรรณิการ์ วานิช รองประธาน กมธ. สอบถามว่า ที่ผ่านมา กมธ.เชิญตำรวจจากหลายภาครวมถึงตำรวจสันติบาลมาให้ข้อมูลเรื่องการใช้อำนาจของตำรวจในกรณีการวิ่งไล่ลุง เนื่องจากพบว่าการปฏิบัติของตำรวจต่อผู้ชุมนุมมีทิศทางและเงื่อนไขที่แตกต่างกันมาก เช่น ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดอุบลราชธานีและพะเยาถูกคุกคามและมีการแจ้งข้อหาตามมา ขณะที่บางพื้นที่สามารถจัดกิจกรรมได้ ดังนั้นจึงขอถามว่า แนวการปฏิบัติจากส่วนกลางในเรื่องวิ่งไล่ลุงเป็นอย่างไร เหตุใดในบางพื้นที่ถูกห้ามจัดกิจกรรมหรือมีข้อห้ามปลีกย่อยอื่นๆ เช่น การห้ามไม่ให้ใส่เสื้อวิ่งไล่ลุง

พรรณิการ์กล่าวต่อว่า ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นอกจากตัวกฎหมายแล้วยังมีแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะแบ่งเป็น 4 ขั้นคือ ขั้นเตรียมการ เผชิญเหตุ เข้าคลี่คลายสถานการณ์ และฟื้นฟู อยากให้ช่วยอธิบายขั้นเตรียมการซึ่งระบุไว้ด้วยว่ามีการสืบข่าวเพื่อหาข้อมูลว่ามีการชุมนุมที่ใดบ้าง

พล.ต.อ.จักรทิพย์ตอบว่า แนวนโยบายหลักคือการดูแลความปลอดภัยกับประชาชนที่เข้ามาทำกิจกรรม โดยตำรวจจะใช้กฎหมายปกติและใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นหลัก ในส่วนของเรื่องความมั่นคงจะขอให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ชี้แจง

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า ส่วนกลางไม่ได้มีข้อสั่งการในรายละเอียดมากนัก แต่เน้นย้ำให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยและการใดที่เหลือให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นความผิดให้ดำเนินคดีทางอาญาไป ที่ผ่านมาทางตำรวจไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่านี้ แผนที่พรรณิการ์อ้างถึงอาจจะเป็น ‘แผนกรกฎ’ เดิมซึ่งทุกวันนี้เราได้ทำการทบทวนว่ายังเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ อย่างไรก็ตามการสืบสวนหาข่าวเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เรื่องการกดดันจะต้องไปดูในรายละเอียดเป็นกรณีไป

พล.ต.อ.จักรทิพย์ตอบคำถามเรื่องมีทหารสั่งการให้ดูแลการชุมนุมวิ่งไล่ลุงหรือไม่ว่า ขอยืนยันว่า ฝ่ายทหารไม่ได้มีการแทรกแซงตำรวจเลย การชุมนุมที่ผ่านมามีแนวทางในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนให้มากที่สุด สิ่งที่ตำรวจไม่อยากเห็นคือ การลงถนน และเป็นเรื่องต่อเนื่องไม่จบไม่สิ้น นำไปสู่คดีความขึ้นศาล

“…ผมไม่ใช่คู่ขัดแย้ง การกระทบกระทั่งในหน้างานนั้นมีบ้าง แต่เจรจากันได้ ท่านอย่าสงสัยว่า ตำรวจเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ผมเอียงไม่ได้ ผมเอียงไปผมถูกมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่…”

พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าว

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการฯ ถามคำถาม 3 ข้อ

1. ดูเหมือนส่วนกลางไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการควบคุมงานวิ่งไล่ลุง จึงอยากทราบว่าในกรณีที่มีข้อร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่มีการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ตำรวจจะทบทวนการทำงานของผู้ปฏิบัติการในพื้นที่อย่างไร จะมีกระบวนการเรียกเจ้าพนักงานในพื้นที่มาดำเนินการหรือไม่อย่างไร หรือมีบทลงโทษต่อเจ้าพนักงานในพื้นที่อย่างไร

2. พล.ต.อ.จักรทิพย์มีแนวทางในการบอกแจ้งเรื่องการดำเนินการต่อผู้ร้องเรียน หรือต่อสาธารณะอย่างไร

3. หลักการของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช่การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้ประชาชนจัดการชุมนุม เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบเท่านั้น แต่เท่าที่ได้รับฟังข้อเท็จจริงมาเห็นว่า ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้น้ำหนักไปเรื่องอำนาจในการอนุญาตให้ประชาชนชุมนุม หรือสร้างเงื่อนไขให้แก่ประชาชนอย่างไรก็ได้ซึ่งขัดกับหลักการของกฎหมาย จึงอยากทราบว่าจะมีแนวทางในการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ส่วนทัศนคติของ ผบ.ตร.ที่ว่าไม่อยากเห็นคนลงถนน ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งมีความขัดแย้งและน่ากังวลใจต่อประชาชนที่อยากจะใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

พล.ต.อ.สุวัฒน์เป็นผู้ตอบคำถามอย่างรวบรัดว่า ในภาพรวมเรื่องทัศนคติ กฎหมายบังคับอยู่ว่า เจ้าพนักงานที่รับแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะต้องได้รับการอบรมอยู่แล้ว เท่าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีใครทำอะไรที่ผิดกฎหมาย แต่วิธีการปฏิบัติของเขาอาจแตกต่างกันตามระดับความวิตกกังวล แนวทางการปรับปรุงการดูแลการชุมนุมสาธารณะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ดูว่าตัวแบบที่ใช้ในปัจจุบันสอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่

“…ขอยืนยันว่าตำรวจเข้าใจหลักการประชาธิปไตย แต่เราไม่อยากเป็นประเทศฝรั่งเศส เขาก็ชุมนุมถูกต้อง แต่เผาปารีสกันเป็นเดือนๆ ส่วนประเด็นเรื่องการสืบสวนหาข่าวก่อนเกิดเหตุอย่างไรเราก็ต้องทำ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้สองฝ่ายสบายใจต้องมาพูดคุยกัน…”

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าว

รอง ผบ.ตร.ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจำนวน 17 คดี เป็นของกลุ่มวิ่งไล่ลุง 15 คดีและกลุ่มเดินเชียร์ลุง 2 คดี

จากการรวบรวมข้อมูลเท่าที่ทราบหลังกิจกรรมปรากฏว่า มีประชาชนทั้งที่เป็นผู้จัดกิจกรรมและผู้ร่วมกิจกรรม (ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัด) ถูกตำรวจออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะไปแล้วอย่างน้อย 16 ราย ใน 12 จังหวัด แยกเป็นจังหวัดในภาคอีสาน 5 รายคือ บุรีรัมย์, นครพนม, สุรินทร์, ยโสธร และกาฬสินธุ์ ภาคกลาง 3 รายคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และนครสวรรค์ ภาคเหนือ 6 รายจากจังหวัดลำพูนและเชียงราย ภาคใต้อีก 1 ราย จากอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว