10 ข้อสงสัยที่คนไปร่วมการ #ชุมนุม ต้องรู้

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 สหภาพนักเรียน นิสิต และนักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม Flash Mob “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” บริเวณลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ การชุมนุมครั้งนั้นเบื้องต้นเป็นปฏิกิริยาต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่แต่จากนั้นประเด็นในการชุมนุมได้พัฒนาไปสู่การคัดค้านเผด็จการ การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนถึงการแสดงความไม่พอใจต่อสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากนั้นนิสิตนักศึกษาและนักเรียนมัธยมก็จัดการชุมนุมในที่ตั้งของแต่ละกลุ่มต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์และเป็นไปได้ว่าอาจมีการชุมนุมอีกในอนาคตอันใกล้

การชุมนุมในช่วงนี้ทั้งผู้จัดและผู้ร่วมชุมนุมหลายคนเป็นคน “หน้าใหม่” ที่มาร่วมการชุมนุมหรือจัดการชุมนุมเป็นครั้งแรก ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับการชุมนุมเกิดขึ้นมามากมาย ไอลอว์จึงได้รวม 10 คำถาม ที่ผู้ประสงค์ไปร่วมชุมนุมหรือจัดการชุมนุมอาจสงสัยมาตอบไว้ในที่นี้

49613705712_b3a487a891_o

 

ข้อ 1 ตำรวจขอตรวจบัตรประชาชนได้ ต้องยศร้อยตรีขึ้นไปเท่านั้น

กฎหมายกำหนดให้ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ต้องพกบัตรประชาชนติดตัวตลอดเวลา หาก “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ตรวจพบว่าไม่พกบัตรประชาชน สามารถเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายได้ 200 บาท ตาม พระราชบัญญัติบัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ. 2526 แต่กฎหมายที่กำหนดว่าใครคือ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” บ้าง มีกำหนดไว้อยู่ใน คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1496/2561 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจบัตร

ซึ่งกำหนดให้ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ได้แก่

  1. ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรภายในเขตอำนาจหน้าที่
  2. ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ตามด่านตรวจที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตร เฉพาะในด่านตรวจนั้น

ซึ่งหมายความว่า ตามข้อ 1. “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ที่เป็นตำรวจสามารถขอตรวจบัตรประชาชนในพื้นที่ทั่วไปได้ ต้องเป็นตำรวจยศตั้งแต่ ร้อยตำรวจตรี ขึ้นไป เท่านั้น ส่วนตำรวจชั้นประทวนจะขอดูบัตรประชาชนได้ต้องอยู่ที่ด่านตรวจที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

เพราะฉะนั้นหากถูกขอตรวจบัตรประชาชน เราสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจว่าเป็นตำรวจจริงหรือไม่ และมียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่ โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบ และสามารถสอบถามได้ด้วยว่ามีเหตุอันใดจึงมาขอตรวจบัตร

แม้ตำรวจจะสามารถตรวจบัตรประชาชนได้ แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ ให้ตำรวจสามารถจะถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือขอยึดบัตรประชาชนไว้กับตัวของตำรวจได้เลย เนื่องจากบัตรประชาชนของเราถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเราทั้งใบ การใช้สำเนาบัตรประชาชนยังต้องมีการเซ็นรับรองสำเนา

เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตำรวจในส่วนนี้ไว้ ก็ไม่สามารถทำได้ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากพบเห็นการกระทำอย่างนั้นสามารถถามตำรวจได้เลยว่าเขาใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายข้อใด ในการถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือยึดบัตรประชาชนของเราไป

และถึงแม้ตำรวจจะตรวจบัตรได้แต่ก็ไม่ควรจะกระทำเกินสมควรเกินกว่าเหตุ จนกระทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้น เช่นเดินเข้าไปตรวจบัตรคนที่กำลังเขียนแผ่นป้าย หรือกำลังปราศรัย เป็นต้น

 

ข้อ 2 จัดกิจกรรมในสถานศึกษา ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม ไม่อยู่ใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นดังนี้

  1. การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
  2. การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
  3. การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าของผู้จัดการชุมนุมนั้น
  4. การชุมนุมภายในสถานศึกษา
  5. การชุมนุมหรือการประชุมตามกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ
  6. การชุมนุมสาธารณะในการหาเสียงเลือกตั้ง

ดังนั้นการจัดการชุมนุมภายในสถานศึกษาจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่ต้องไปแจ้งการชุมนุมกับผู้กำกับการสถานีตำรวจที่รับผิดชอบท้องที่

 

ข้อ 3 อายุไม่ถึง 18 ปี ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ร่วมชุมนุมได้ เพราะเป็นเสรีภาพของทุกคน

ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”

ซึ่งคำว่า “บุคคล” หากตีความกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 กำหนดไว้ว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

หมายความว่าประชาชนทุกคน มีเสรีภาพในการชุมนุมได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ

 

ข้อ 4 การชุมนุมในสถานศึกษา ตำรวจไม่สามารถสั่งให้เลิกการชุมนุมได้

การชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตำรวจไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หากมีกรณีที่ผู้ชุมนุมบางคนกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา เช่น ทำลายทรัพย์สินทางราชการหรือการทำร้ายร่างกาย ตำรวจย่อมมีอำนาจระงับเหตุ และจับกุมบุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าว

แต่การกระทำนั้นย่อมไม่สะท้อนเจตนาของการชุมนุมโดยรวม หากผู้จัดการชุมนุมไม่ได้ปราศรัยปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมไปกระทำการดังกล่าว

 

ข้อ 5 การจัดชุมนุมในสถานศึกษาเดินขบวนได้ตลอด แต่จัดข้างนอกห้ามเดินขบวนหลัง 18.00 น.

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดห้ามเดินขบวนในการชุมนุม ไว้ในมาตรา 16 (8) ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ “ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า หากเข้าร่วมการชุมนุม ที่เป็นการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้ชุมนุมจะไม่สามารถเดินขบวนได้ตามเวลาที่กฎหมายห้าม ยกเว้นตำรวจจะอนุญาต

ส่วนการชุมนุมในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้อยู่ใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ การเคลื่อนขบวนภายในมหาวิทยาลัยจึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

 

ข้อ 6 สถานศึกษาสั่งห้ามชุมนุม อาจขัดรัฐธรรมนูญ

ในเรื่องนี้ต้องใช้เรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายมาอธิบาย โดยหลักการดังกล่าวมีอยู่ว่า “กฎหมายที่อยู่ลำดับต่ำกว่านั้น ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายในลำดับขั้นที่สูงขึ้นไป” โดยระบบกฎหมายของไทย เรียงลำดับศักดิ์ของกฎหมาย ดังนี้

  • รัฐธรรมนูญ
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
  • พระราชบัญญัติ / พระราชกำหนด
  • พระราชกฤษฎีกา
  • กฎกระทรวง
  • ระเบียบกระทรวง / ระเบียบมหาวิทยาลัย

จากลำดับดังกล่าว จะเห็นว่า “ระเบียบของมหาวิทยาลัย” หรือ “ระเบียบของโรงเรียน” เป็นกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นท้ายๆ ถ้าระเบียบจะเขียนห้ามการกระทำใดๆ จะทำได้ก็ต่อเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายที่ลำดับสูงกว่าอย่างรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติ

ดังนั้น การพิจารณาเรื่อง “เสรีภาพในการชุมนุม” ต้องเริ่มพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งอยู่ในมาตรา 44 ที่กำหนดให้ประชาชนทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมตามที่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ โดยจำกัดเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็น และได้สัดส่วนกับเสรีภาพที่ถูกจำกัด

แต่เมื่อพิจารณาจากกฎหมายในลำดับชั้นถัดมาคือ ระดับพระราชบัญญัติ ก็พบว่า เรามี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยหลักการสำคัญของกฎหมายดังกล่าว คือ การจัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เมื่อแจ้งแล้วต้องสามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือหมายความว่า การชุมนุมในสถานศึกษาจะอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก คือ การชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ

หากระเบียบมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนแห่งใด เขียนว่า การชุมนุมต้อง “ขออนุญาต” ย่อมขัดกับกฎหมายที่ลำดับศักดิ์สูงกว่า ทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และรัฐธรรมนูญ และเมื่อกฎหมายที่ลำดับศักดิ์ต่ำกว่า ขัดต่อกฎหมายที่ลำดับศักดิ์สูงกว่า ก็จะใช้บังคับไม่ได้

สรุปง่ายๆ ก็คือ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ การชุมนุมในสถานศึกษาจะถูกจำกัดไม่ได้ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและปราศจากอาวุธ หรือมีข้อจำกัดอื่นตามกฎหมายเพื่อความมั่นคงเท่านั้น การที่เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารในสถานศึกษาสั่งห้ามจัดกิจกรรมชุมนุม เป็นคำสั่งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่ใช้บังคับรองรับ

อย่างไรก็ดี หากสถานศึกษาใดออกคำสั่งห้ามนักเรียนนักศึกษาจัดกิจกรรม หรือออกคำสั่งลงโทษนักเรียนนักศึกษาที่ฝ่าฝืน และผู้ได้รับคำสั่งไม่เห็นด้วย ข้อท้าทายที่ว่า คำสั่งใดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น องค์กรที่มีอำนาจชี้ขาด คือ ศาลปกครอง และการกระทำนั้นอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย

 

ข้อ 7 ตำรวจขอเลขบัตรประชาชน โดยอ้างเหตุเพื่อคัดกรองโรคไม่ได้ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พบว่า ในกฎหมายไม่มีการให้อำนาจตำรวจไว้เพื่อใช้อำนาจในการคัดกรองโรค หรือควบคุมโรคใดใดทั้งสิ้น

ทำให้ตำรวจไม่สามารถอ้างอำนาจใดเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อได้

 

ข้อ 8 การใช้เครื่องขยายเสียงยังต้องขออนุญาต

พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 กำหนดไว้ในมาตรา 4 ให้ “ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า จะต้องขอรับอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงทำการโฆษณาได้”

และหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไว้ไม่เกิน 200 บาทเพียงสถานเดียว

 

ข้อ 9 ไปชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยได้

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 16 (2) กำหนดห้ามการปิดบังหรืออําพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกาย ตามปกติประเพณี

การสวมหน้ากากอนามัยผู้สวมใส่ไม่ได้มีเจตนารปิดบังอำพรางตนเองแต่เป็นการใส่หน้ากากเพื่อเหตุผลด้านสุขอนามัย จึงไม่ถือเป็นความผิด เช่นเดียวกับกรณีที่มีการรณรงค์ด้วยการแสดงออกด้วยวิธีการสวมหน้ากาก หากเป็นการสวมใส่เพื่อมุ่งแสดงออกในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ย่อมสามารถทำได้เพราะไม่ได้เจตนาสวมใส่เพื่อปิดบังอำพรางตัว

 

ข้อ 10 ตำรวจสั่งห้ามถือป้ายไม่ได้ กำกับเนื้อหาไม่ได้ หากแผ่นป้ายใดเข้าข่ายความผิดอาจดำเนินคดีเป็นรายไป

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมฯ ซึ่งหมายถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจท้องที่ที่จัดการชุมนุมในการดูแลการชุมนุมไว้ในมาตรา 19 ว่ามีหน้าที่

  1. อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม
  2. รักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวก หรือบรรเทาเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม
  3. รักษาความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม
  4. อำนวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด

โดยเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ทั้งสี่ข้อข้างต้น ผู้กำกับ สน.ท้องที่ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม แต่เงื่อนไขดังกล่าวต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสี่ข้อข้างต้นเท่านั้น

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลเนื้อหาของการชุมนุม จึงย่อมไม่อาจอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 19(5) มาสั่งห้ามการเขียนหรือการแสดงแผ่นป้ายในการชุมนุมได้ หากเจ้าหน้าที่พบว่าข้อความบนป้ายใดอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญาก็มีอำนาจจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับแผ่นป้ายนั้นๆ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้เป็นรายกรณี แต่ไม่มีอำนาจสั่งห้ามการชุมนุม หรือสลายการชุมนุม

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว